x close

ลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง ช้อปดีมีคืน ประกัน เงินบริจาคหักได้เท่าไร คำนวณดูก่อนยื่นภาษี

ลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง ใครที่ซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ใช้จ่ายไปกับช้อปดีมีคืน หรือมีค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนบิดา-มารดา มาตรวจสอบกันอีกทีว่าแต่ละอย่างหักลดภาษีได้เท่าไร

ลดหย่อนภาษี 2566

ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน พนักงานประจำ ฟรีแลนซ์ พ่อค้า-แม่ค้า มีรายได้มากหรือน้อย ก็ควรรู้วิธีคำนวณภาษี เพื่อวางแผนลดภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้แต่เนิ่น ๆ โดยในแต่ละปีเราสามารถเลือกใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อยู่หลายหมวด วันนี้เราสรุปรวมรายการลดหย่อนภาษี 2566 มาให้พิจารณากันก่อนยื่นภาษี 2566 ในช่วงต้นปี 2567

ใครต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566

คนโสด

  • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีรายได้เกิน 120,000 บาท

  • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น มีรายได้จากการค้าขาย ค่าลิขสิทธิ์ เงินปันผล รายได้จากการเป็นฟรีแลนซ์ ฯลฯ จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

  • กรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

คนมีคู่

  • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 220,000 บาท

  • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท

  • กรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท

วิธีคํานวณภาษี 2566

คำนวณภาษี 2566

ก่อนจะหาวิธีลดหย่อนภาษี ควรทราบว่าเรามีรายได้เท่าไร ต้องเสียภาษีเท่าไร เพราะหากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้ตัวช่วยลดหย่อนภาษีเลยก็ได้ โดยสามารถคำนวณภาษีได้ ดังนี้

     1. นำรายได้ทุกประเภทที่มีในปีนั้นมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง เงินเดือน โบนัส เงินจากการทำธุรกิจ เงินปันผล ฯลฯ

     2. นำค่าลดหย่อนต่าง ๆ มาลบออกจากรายได้ เช่น

          - กรณีมีเงินได้จากเงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เบี้ยเลี้ยง เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ฯลฯ สามารถหักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

          - หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

          - หักค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ตามที่เรามี

     3. หลังจากนำค่าลดหย่อนทั้งหมดมาลบออกจากรายได้แล้ว เงินส่วนที่เหลือจะเรียกว่า "เงินได้สุทธิ" ซึ่งจะต้องนำเงินจำนวนนี้ไปคำนวณภาษี เพื่อเสียภาษีตามขั้นบันได 5-35% ดังนี้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เมื่อบวกลบกันแล้ว ใครที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้น คนที่มีเงินเดือนไม่เกิน 25,833 บาท และไม่มีรายได้ส่วนอื่น ๆ จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเมื่อรวมรายได้ทั้งปีจะไม่เกิน 310,000 บาท หลังจากหักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท ก็จะเหลือเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทนั่นเอง

แต่ถ้าใครยังคำนวณไม่เป็น ก็ลองมาดูวิธีคำนวณภาษีเงินได้ที่นี่ หรือเช็กจากตารางเงินเดือนได้เลย

ลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง

เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2566 ได้หลายกลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

  • กลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

  • กลุ่มค่าลดหย่อนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

  • กลุ่มเงินบริจาค

  • กลุ่มค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

ตามมาอ่านรายละเอียดของแต่ละกลุ่มว่ามีค่าลดหย่อนเท่าไรบ้าง

ลดหย่อนภาษี
กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

1. ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล

  • จำนวน : 60,000 บาท
  • เงื่อนไข : ลดหย่อนภาษีได้ทันทีที่ยื่นแบบฯ

2. ค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้

  • จำนวน : 60,000 บาท

  • เงื่อนไข :

    • สำหรับสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส
    • คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน ไม่ได้แยกยื่นแบบฯ

3. ลดหย่อนภาษีบุตร

  • จำนวน : ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (ไม่จำกัดจำนวนบุตร)

  • เงื่อนไข :                  

    • หากเป็นบุตรตามกฎหมาย สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร
    • หากเป็นบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
    • หากมีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดมาหักก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหัก รวมกันได้ไม่เกิน 3 คน
    • กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่รวมเป็นจำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้

     นอกจากนี้ บุตรที่จะนำมาหักลดหย่อนภาษีต้องมีคุณสมบัติตามนี้ด้วย

  • บุตรมีอายุอยู่ระหว่างแรกเกิดจนถึง 20 ปี ในปีภาษีนั้น
  • ถ้าบุตรมีอายุระหว่าง 21-25 ปี ในปีภาษีนั้น ต้องกำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
  • ถ้าบุตรมีอายุ 25 ปีขึ้นไป ในปีภาษีนั้น ต้องเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
  • บุตรต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป (ยกเว้นเงินปันผล) หรือรายได้ที่มีนั้นได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย เช่น บุตรที่อายุไม่เกิน 20 ปี และรับเงินปันผล ซึ่งเงินปันผลนั้นจะถือว่าเป็นเงินของผู้ปกครอง และไม่ถือว่าบุตรมีรายได้

4. ลดหย่อนภาษี บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป

  • จำนวน : 30,000 บาทต่อคน (เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนบุตรอีก 30,000 บาท เท่ากับลดหย่อนบุตรคนที่ 2 รวม 60,000 บาท)
  • เงื่อนไข :
    • ต้องเป็นบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่คลอดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
    • ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
    • นับลำดับของบุตรทุกคน ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม

5. ลดหย่อนภาษี ฝากครรภ์และคลอดบุตร

  • จำนวน : หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง

  • เงื่อนไข :          

    • ต้องเป็นค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2566  
    • กรณีตั้งครรภ์ปีนี้ แต่คลอดบุตรปีหน้า ให้ลดหย่อนได้ตามปีที่ใช้สิทธิ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เช่น ตั้งครรภ์ปี 2566 จ่ายค่าฝากครรภ์ไปจำนวน 15,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนภาษีปี 2566 ได้ 15,000 บาท และเมื่อคลอดบุตรในปี 2567 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปี 2567 ได้อีกไม่เกิน 45,000 บาท 
    • กรณีคลอดบุตรแฝด สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์คราวเดียว
    • สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตรมาหักลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่
    • สามีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีค่าคลอดบุตรได้ไม่เกิน 60,000 บาท หากภรรยาไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่ยื่นภาษีรวมกัน
    • สิทธิลดหย่อนภาษีดังกล่าวเมื่อนำไปรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรจากสวัสดิการภาครัฐและเอกชน ต้องไม่เกิน 60,000 บาท

         กรณีอื่น ๆ รวมทั้งหลักฐานที่ใช้ประกอบการยื่นภาษี สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่

6. ลดหย่อนภาษี พ่อแม่ (ค่าเลี้ยงดูอุปการะบิดา-มารดา)

  • จำนวน : ลดหย่อนจากบิดา-มารดา (ตัวเอง) และบิดา-มารดาคู่สมรส ได้คนละ 30,000 บาท มากสุดคือ 4 คน ไม่เกิน 120,000 บาท
  • เงื่อนไข :
    • บิดา-มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
    • หากเป็นบิดา-มารดาของคู่สมรส จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ก็ต่อเมื่อคู่สมรสต้องไม่มีรายได้
    • บิดา-มารดาออกหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ให้กับบุตรที่จะขอลดหย่อนภาษีด้วย
    • หากมีลูกหลายคนจะสามารถใช้สิทธิได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เช่น หากลูกคนโตใช้ไปแล้ว ลูกคนอื่น ๆ ก็ไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้อีก

7. ลดหย่อนภาษี ค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ

  • จำนวน : 60,000 บาทต่อคน

  • เงื่อนไข :

    • ต้องเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
    • ผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
    • ทั้งนี้ หากผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา-มารดา-บุตร-คู่สมรสของผู้มีเงินได้ ก็สามารถใช้สิทธิควบคู่กันได้เลย เช่น มารดาอายุเกิน 60 ปี เป็นผู้พิการ ไม่มีรายได้ เราสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด (30,000+60,000 บาท) เท่ากับ 90,000 บาท

         หรือหากคู่สมรสเป็นผู้พิการและไม่มีรายได้ ก็สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 + ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000)

ลดหย่อนภาษี กลุ่มประกัน
การออมและการลงทุน

ลดหย่อนภาษี 2566

1. ลดหย่อนภาษี ประกันสังคม

  • จำนวน : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง 

    • ผู้ประกันตน มาตรา 33 สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 9,000 บาท

    • ผู้ประกันตน มาตรา 39 สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 5,184 บาท 

    • ผู้ประกันตน มาตรา 40 สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 840-3,600 บาท ตามที่จ่ายจริง

2. ลดหย่อนภาษี ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต

  • จำนวน : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • เงื่อนไขประกันชีวิต :
    • ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
    • มีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสม (เงินปันผลหรือเบี้ยคืนรายปี)
    • ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย
    • หากเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี ถือว่าผิดเงื่อนไข จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
  • เงื่อนไขเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต :
    • ต้องเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต (ปัจจุบันมี 2 ธนาคาร คือ ออมสิน และ ธ.ก.ส.)
    • ฝากเงินตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
    • ผู้มีเงินได้เป็นผู้จ่ายเงินฝากเท่านั้น
    • กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี ต้องไม่เกิน 20% ของเงินฝากรายปี
    • มีหลักฐานจากธนาคารผู้รับฝากเงิน
    • หักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่ฝากเงินจริง แต่เมื่อรวมกับเงินที่ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

          ตัวอย่างเช่น หากจ่ายเบี้ยประกันชีวิตในปีนั้นไปแล้ว 80,000 บาท เราจะมีสิทธิ์นำเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตไปลดหย่อนภาษีได้อีก 20,000 บาท

3. ลดหย่อนภาษี ประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้

  • จำนวน : หักตามจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
  • เงื่อนไข
    • ต้องเป็นการซื้อประกันชีวิตให้คู่สมรสตามกฎหมายที่ไม่มีรายได้
    • ต้องเป็นสามี-ภรรยาตลอดทั้งปีภาษี ดังนั้น คนที่เพิ่งแต่งงานในปี 2566 ยังคงไม่สามารถใช้สิทธิได้ เพราะความเป็นสามี-ภรรยาไม่ได้มีอยู่ตลอดทั้งปี

4. ลดหย่อนภาษี ประกันสุขภาพตัวเอง

  • จำนวน : ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท 
  • เงื่อนไข : ประกันสุขภาพที่นำมาลดหย่อนได้ มีดังนี้
    • ประกันให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
    • ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
    • ประกันภัยโรคร้ายแรง
    • ประกันภัยการดูแลระยะยาว

5. ลดหย่อนภาษี ประกันสุขภาพบิดา-มารดา

  • จำนวน : ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  • เงื่อนไข :
    • บิดา-มารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป
    • บิดาหรือมารดาต้องอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 180 วัน ในปีภาษีนั้น
    • ลูกที่จะใช้สิทธิต้องเป็นบุตรตามกฎหมายเท่านั้น บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิได้
    • ลูกสามารถใช้สิทธิได้หลายคน โดยหารเฉลี่ยกัน เช่น ลูก 2 คน ร่วมกันซื้อประกันสุขภาพให้บิดา จำนวน 15,000 บาท ดังนั้น ลูกแต่ละคนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพบิดาไปลดหย่อนภาษีได้คนละ 7,500 บาท
    • แบบประกันสุขภาพของบิดา-มารดาที่นำมาลดหย่อนภาษีได้จะต้องเป็นความคุ้มครองด้านใดด้านหนึ่งใน 4 ด้านเท่านั้น คือ ค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย กรณีเจ็บป่วยทั่วไป, ค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย กรณีอุบัติเหตุ, ประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง และประกันคุ้มครองการพยาบาลสำหรับการเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care)

6. ลดหย่อนภาษี ประกันชีวิตบำนาญ

  • จำนวน : 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

  • เงื่อนไข :

    • ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป
    • ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย
    • จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
    • เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันที่จ่ายให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
    • หากมีประกันชีวิตแบบทั่วไปอยู่แล้ว แต่ยังไม่ครบ 100,000 บาท สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปรวมกับสิทธิลดหย่อนประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ครบ 100,000 บาทก่อน ส่วนที่เหลือก็ยังสามารถนำมาลดหย่อนโดยใช้สิทธิเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้ 15% ของเงินได้ที่เสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

7. ลดหย่อนภาษี SSF หรือ กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund)

ลดหย่อนภาษี 2566

          กองทุนรวม SSF หรือ Super Savings Fund เป็นกองทุนรวมเพื่อการออมที่ลงทุนหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนดัชนี ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ปรับรูปแบบมาจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF (Long Term Equity Fund) ที่ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก

  • จำนวน : สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  • เงื่อนไข :
    • ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2566 จึงจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2566 ได้
    • ต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปี (วันชนวัน) โดยไม่สามารถขายได้ หากขายก่อนครบกำหนดจะถือว่าทำผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี และต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้น
    • จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี

8. ลดหย่อนภาษี RMF หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund)

  • จำนวน : หักลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท 
  • เงื่อนไข :
    • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ
    • ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี
    • ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็ม นับจากวันที่ลงทุนวันแรก โดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน คือ ปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีการลงทุนในปีนั้น
    • ต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
    • เมื่อซื้อ RMF รวมกับกองทุนรวม SSF + กบข. + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนครูโรงเรียนเอกชน + ประกันชีวิตแบบบำนาญ + กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

9. ลดหย่อนภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

  • จำนวน : ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท ส่วนจำนวนเงินที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี โดยสามารถนำเงินส่วนเกินนี้ไปหักออกจากเงินได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายได้
  • เงื่อนไข : เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กองทุนรวม RMF, กบข., กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

10. ลดหย่อนภาษี กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

  • จำนวน : ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี 

  • เงื่อนไข : เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

11. ลดหย่อนภาษี กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

  • จำนวน : ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
  • เงื่อนไข : เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กบข., RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

12. ลดหย่อนภาษี กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

  • จำนวน : ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท

  • เงื่อนไข : เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กบข., RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

13. ลดหย่อนภาษี เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม)

  • จำนวน : ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • เงื่อนไข
    • สำหรับบุคคลธรรมดาที่ลงหุ้น หรือลงทุน (ทั้งกรณีจัดตั้งและเพิ่มทุน) ในธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) โดยธุรกิจนั้นต้องจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่ประสงค์แบ่งปันกำไร
    • ผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต้องถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเลิกกิจการ เว้นแต่กรณีที่กำหนด

14. ลดหย่อนภาษี กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)

          กองทุน Thai ESG หรือ Thailand ESG Fund เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารหนี้ที่เป็น ESG คือธุรกิจที่ให้ความสำคัญและตระหนักถึง Environment (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล)
  • จำนวน : สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • เงื่อนไข
    • ต้องซื้อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จึงจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2566 ได้
    • ต้องถือครองอย่างน้อย 8 ปีเต็ม (นับวันชนวัน) โดยไม่สามารถขายได้ หากขายก่อนครบกำหนดจะถือว่าทำผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี และต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้น (ยกเว้นกรณีทุพพลภาพหรือเสียชีวิต)
* รอประกาศรายละเอียดและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนอีกครั้ง

กองทุน Thai ESG คืออะไร เปรียบเทียบตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่ต่างจาก SSF และ RMF

ลดหย่อนภาษี กลุ่มอสังหาริมทรัพย์

ลดหย่อนภาษี 2566

1. ลดหย่อนภาษี ดอกเบี้ยบ้าน

  • จำนวน : ดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย สามารถใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • เงื่อนไข :
    • เป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้การเช่าซื้อบ้าน คอนโด หรือที่อยู่อาศัย โดยเราต้องอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ด้วย
    • ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่บนที่ดินของตัวเอง หรือกู้เพื่อซื้อคอนโดมิเนียม
    • ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐต่าง ๆ โดยทรัพย์สินที่กู้ต้องใช้มาเป็นหลักในการค้ำประกันการกู้ (จำนอง) ด้วย
    • หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
    • กรณีกู้ร่วมกันหลายคนก็ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน โดยไม่สนใจว่าผู้กู้ร่วมมีรายได้ที่จะเสียภาษีหรือไม่ และรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ลดหย่อนภาษี กลุ่มเงินบริจาค

ลดหย่อนภาษี บริจาค

แบ่งเป็นกลุ่มเงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และกลุ่มเงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง

เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

1. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา

  • จำนวน : 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น  
  •  เงื่อนไข :
    • ต้องเป็นสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด   
    • ต้องบริจาคและบันทึกข้อมูลผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น (หากบริจาคเป็นเงินสด ไม่ได้ผ่านระบบ e-Donation จะลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า)

2. เงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ

  • จำนวน : 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
  •  เงื่อนไข :
    • เป็นการบริจาคให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ของราชการ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา องค์การมหาชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ (แต่ถ้าบริจาคให้มูลนิธิของโรงพยาบาลจะลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า)
    • ต้องมีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือมีการบันทึกข้อมูลบริจาคผ่านระบบ e-Donation ซึ่งส่งข้อมูลถึงกรมสรรพากรโดยตรง
    • การบริจาคเงินให้สภากาชาดไทยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 - 31 ธันวาคม 2567 ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

3. เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬา

  • จำนวน : 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
  • เงื่อนไข :
    • เป็นการบริจาคเงินให้หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หรือกรมพลศึกษา
    • มีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือมีการบันทึกข้อมูลบริจาคผ่านระบบ e-Donation ซึ่งส่งข้อมูลถึงกรมสรรพากรโดยตรง

4. เงินบริจาคเพื่อการพัฒนาสังคม

  • จำนวน : 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
  • เงื่อนไข : ต้องบริจาคให้หน่วยงานเพื่อการพัฒนาสังคม เช่น
    • กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยาตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ 
    • กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 
    • กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
    • กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 
    • มูลนิธิชัยพัฒนา
    • มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
    • กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

5. เงินบริจาคให้แก่มูลนิธิด้านสาธารณสุข

  • จำนวน : 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

  • เงื่อนไข

     กลุ่มมูลนิธิด้านสาธารณสุข ได้แก่

  1. ศิริราชมูลนิธิ

  2. มูลนิธิจุฬาภรณ์

  3. มูลนิธิโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช

  4. มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี

  5. มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า

  6. มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

  7. มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

  8. มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

  9. มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  10. มูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา

  11. มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก 

  12. มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

  13. มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

  • ต้องบริจาคและบันทึกข้อมูลผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น

  • เป็นการบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2567

เช็กลิสต์ ! บริจาคเงินแบบไหน...ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง

1. เงินบริจาคให้กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

  • จำนวน : ตามที่บริจาคจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
  • เงื่อนไข
    • ต้องบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Donation ให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
    • สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ สำหรับการบริจาคตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 - 31 ธันวาคม 2566

2. เงินบริจาคทั่วไป

  • จำนวน : ตามที่บริจาคจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
  • เงื่อนไข :
    • เป็นการบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ให้แก่วัดวาอาราม มูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล สถานสงเคราะห์ ฯลฯ

3. เงินบริจาคให้พรรคการเมือง

  • จำนวน : ตามจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

ลดหย่อนภาษี
กลุ่มโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

ลดหย่อนภาษี ช้อปดีมีคืน

1. ลดหย่อนภาษี ช้อปดีมีคืน

  • จำนวน : ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยแบ่งเป็น
    • ค่าซื้อสินค้า-บริการ จำนวน 30,000 บาทแรก โดยออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษ หรือใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร
    • ค่าซื้อสินค้า-บริการ อีกจำนวน 10,000 บาท เฉพาะใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร
  • เงื่อนไข :
    • ต้องซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้ได้เท่านั้น ยกเว้นการซื้อสินค้าโอทอป (OTOP) และหนังสือหรือ E-book ที่ใช้ใบเสร็จรับเงินได้ โดยระบุชื่อ-นามสกุลให้ชัดเจน
    • สินค้าและบริการที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ต้องเป็นสินค้าและบริการที่เสียภาษี VAT หากเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษี VAT จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
    • ต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการ และจ่ายค่าสินค้าหรือค่าบริการนั้น ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2566

กรณียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ผู้พิการ

ผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้พิการ มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550  ผู้อยู่ในประเทศไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น

ผู้สูงอายุ

กรณีเป็นผู้สูงอายุ มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น

เครดิตภาษีเงินปันผล

สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น ใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารเงินปันผลจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วยื่นภาษีทางออนไลน์ได้เลย โดยไม่ต้องคำนวณเครดิตภาษีเอง

สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2566

ลดหย่อนภาษี 2566

ลดหย่อนภาษี ประกัน

ลดหย่อนภาษี 2566

ลดหย่อนภาษี ช้อปดีมีคืน

ลดหย่อนภาษี บริจาค

ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีลดหย่อนภาษีแบบใดก็ควรเก็บรวบรวมเอกสารและหลักฐานไว้ให้พร้อมเพื่อประกอบการยื่นภาษี สำหรับใครที่ต้องการได้เงินคืนภาษีเร็ว ๆ ก็สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้เลย

บทความที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร (1), (2), (3), (4), (5), (6), (7), (8), (9)  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง ช้อปดีมีคืน ประกัน เงินบริจาคหักได้เท่าไร คำนวณดูก่อนยื่นภาษี อัปเดตล่าสุด 28 ธันวาคม 2566 เวลา 14:50:54 55,283 อ่าน
TOP