แยกยื่นภาษีสามี-ภรรยา VS รวมยื่น แบบไหนเหมาะกับใคร

          คำนวณภาษีก่อนยื่นจริงเพื่อเลือกยื่นแบบเสียภาษีที่ช่วยให้ครอบครัวประหยัดเงินได้มากที่สุด

แยกยื่นภาษีสามี-ภรรยา VS รวมยื่น แบบไหนเหมาะกับใคร

          ช่วงต้นปีถือเป็นช่วงเวลาของการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ใครที่ยังไม่มีคู่อยู่แบบเป็นโสด วิธียื่นภาษีก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร แค่กรอกรายได้ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ ให้ครบถ้วนก็สามารถคำนวณภาษีได้แล้ว แต่สำหรับคนที่มีคู่มีวิธีในการยื่นภาษีถึง 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่ ยื่นรวมเงินได้ทุกประเภท, แยกยื่นเฉพาะเงินเดือน และแยกยื่นเงินได้ของแต่ละฝ่าย แล้วจะเลือกยื่นแบบไหนดีถึงจะช่วยประหยัดภาษีได้มากกว่า K-Expert มีแนวทางในการพิจารณาเพื่อช่วยตัดสินใจในเรื่องนี้มาฝากค่ะ

คู่สมรสที่ฝ่ายหนึ่งมีค่าลดหย่อนสูงกว่ารายได้ของตัวเอง -> ยื่นรวม


          หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งมีค่าลดหย่อนสูงกว่ารายได้ซึ่งการแยกยื่นจะทำให้ใช้สิทธิลดหย่อนไม่เต็มที่ แต่หากยื่นรวมรายได้ทุกประเภทจะทำให้รายได้สุทธิรวมของทั้งคู่ลดลง เพราะฝ่ายที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีได้ใช้ประโยชน์จากค่าลดหย่อนของคู่สมรสค่ะ

ลองดูตัวอย่างกันค่ะ

          ภรรยามีรายได้จากดอกเบี้ยทั้งปี 50,000 บาท แต่มีค่าลดหย่อน ได้แก่ ค่าลดหย่อนส่วนตัวและค่าลดหย่อนบิดา-มารดา รวมกันเท่ากับ 120,000 บาท ทำให้รายได้สุทธิของภรรยาติดลบ แต่เมื่อนำรายได้และค่าลดหย่อนไปรวมกับสามี จะทำให้ทั้งคู่เสียภาษีน้อยลงค่ะ

กรณีคู่สมรสที่ฝ่ายหนึ่งมีค่าลดหย่อนสูงกว่ารายได้ของตัวเอง

คู่สมรสที่ฝ่ายหนึ่งมีรายได้ที่เป็นเงินเดือนสูง และมีรายได้ประเภทอื่นด้วย -> แยกยื่นเฉพาะเงินเดือน


          หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งมีรายได้ที่เป็นเงินเดือนสูง และมีรายได้ประเภทอื่นด้วย รวมถึงมีฐานภาษีที่สูงกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ฝ่ายที่มีเงินเดือนสูงยื่นเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง แล้วนำรายได้ประเภทอื่นไปยื่นรวมกับคู่สมรส โดยรวมแล้ว วิธีนี้อาจทำให้ทั้งคู่เสียภาษีน้อยกว่าการแยกยื่นรายได้ของแต่ละคนค่ะ

ยกตัวอย่าง

          รายได้ทั้งปีของสามี มีเงินเดือนหลังหักค่าใช้จ่าย 1,000,000 บาท และมีเงินได้ประเภทอื่นหลังหักค่าใช้จ่าย 50,000 บาท ส่วนรายได้ทั้งปีของภรรยา มีเงินเดือนหลังหักค่าใช้จ่าย 300,000 บาท และมีเงินได้ประเภทอื่นหลังหักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท หากแยกยื่น สามีจะมีฐานภาษีอยู่ที่ 25% ส่วนภรรยาจะมีฐานภาษีอยู่ที่ 10% แต่ถ้านำรายได้ประเภทอื่นของสามีไปยื่นรวมกับภรรยา ภรรยาก็ยังคงเสียภาษีในฐาน 10% ส่วนสามีซึ่งยื่นเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง ฐานภาษีจะลดลงมาอยู่ที่ 20% ค่ะ

          จะเห็นว่า การนำรายได้ประเภทอื่นไปยื่นรวมกับคู่สมรส จะทำให้รายได้ของคู่สมรสสูงขึ้น แต่ถ้าโดยรวมแล้ว ทั้งคู่เสียภาษีน้อยกว่าการแยกยื่น การแยกยื่นเฉพาะเงินเดือนแบบนี้จะช่วยประหยัดภาษีได้ค่ะ

กรณีคู่สมรสที่ฝ่ายหนึ่งมีรายได้ที่เป็นเงินเดือนสูง และมีรายได้ประเภทอื่นด้วย

คู่สมรสที่รายได้อยู่ในฐานภาษีเดียวกัน ->แยกยื่น


          ถ้ารายได้ของคู่สมรสอยู่ในฐานภาษีเดียวกัน เช่น อยู่ที่ฐานภาษี 20% เท่ากัน หากลองคำนวณแบบยื่นรวม หรือแยกยื่นเฉพาะเงินเดือนของตัวเองแล้วไม่ได้ช่วยให้ภาษีโดยรวมของทั้งคู่ลดน้อยลง ก็ให้ใช้วิธีแยกยื่นภาษีของแต่ละฝ่ายไปค่ะ

          คู่สามี-ภรรยาที่กำลังตัดสินใจว่า ควรยื่นภาษีแบบไหนที่ช่วยให้คุ้มค่าและประหยัดภาษีได้มากกว่า คงพอมีแนวทางในการพิจารณาแล้วนะคะโดยให้ดูที่ประเภทของรายได้ และรายได้ทั้งปีของทั้งคู่เป็นหลัก ทั้งนี้ แนะนำให้ลองคำนวณดูอีกครั้งค่ะว่า แยกยื่น หรือยื่นรวมดีกว่า อาจเสียเวลาในการคำนวณเปรียบเทียบบ้างเล็กน้อย แต่หากช่วยให้ครอบครัวประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้ก็คุ้มค่านะคะ
          
          เมื่อรู้แล้วว่าจะยื่นภาษีแบบไหน ก็มาเริ่มยื่นภาษีกันได้เลยโดยสามารถเลือกได้ว่าต้องการไปยื่นด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร หรือยื่นภาษีแบบออนไลน์ก็ได้ โดยทางกรมสรรพากรได้ทำเว็บไซต์ให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปยื่นด้วยตัวเอง ณ ที่ทำการ เพียงแค่เข้าเว็บไซต์ หรือแอพลิเคชั่นของกรมสรรพากร ก็สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง ง่ายๆ ยื่นครั้งแรกก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองแล้ว

K-Expert Action

       -  รวบรวมเอกสารรายได้ และรายการลดหย่อนต่าง ๆ ที่มีของทั้งสองฝ่าย เพื่อยื่นภาษี
       -  ลองคำนวณการยื่นภาษีแต่ละแบบว่าแบบไหนประหยัดภาษีได้มากกว่ากัน

ขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แยกยื่นภาษีสามี-ภรรยา VS รวมยื่น แบบไหนเหมาะกับใคร อัปเดตล่าสุด 17 ธันวาคม 2567 เวลา 14:22:41 162,928 อ่าน
TOP
x close