ประกันสังคม มาตรา 40 จ่ายเบี้ยเท่าไร ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง


          ประกันสังคม มาตรา 40 คืออะไร มีสิทธิประโยชน์อะไร ต่างจาก ประกันสังคม มาตรา 33 หรือ ประกันสังคม มาตรา 39 อย่างไร และครอบคลุมความคุ้มครองส่วนไหนบ้าง ล่าสุดให้คนที่มีอายุ 60-65 ปี สมัครได้แล้วด้วย
 

          หากคุณเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เกษตรกร ฟรีแลนซ์ หรือกลุ่มแรงงานอิสระอื่น ๆ ก็สามารถสมัครประกันสังคม มาตรา 40 เพื่อรับสิทธิประโยชน์ดี ๆ ได้ โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ทางเลือก ซึ่งแต่ละทางเลือกจะให้ความคุ้มครองแตกต่างกัน

          ใครที่ยังไม่เข้าใจว่าสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ในกลุ่มของมาตรา 40 มีอะไรบ้าง และยังลังเลว่าจะสมัครดีไหม วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากกันว่า ประกันสังคม มาตรา 40 คุ้มครองอะไรบ้าง อยากสมัครต้องทำอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง มาดูกันเลย 

แรงงาน

ประกันสังคม มาตรา 40 คืออะไร ?


          ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับประกันสังคม มาตรา 40 กันก่อนว่าคืออะไร โดยจุดมุ่งหมายของประกันสังคม มาตรา 40 คือ การขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ รวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร รวมไปถึงพนักงานอิสระต่าง ๆ ได้มีหลักประกันในชีวิตนั่นเอง ส่วนค่ารักษาพยาบาลนั้นสามารถใช้บัตรทอง หรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ได้

ประกันสังคม

ประกันสังคม มาตรา 40 ใครสมัครได้บ้าง ?


          ผู้ที่จะสมัครประกันสังคม มาตรา 40 ได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

          1. มีสัญชาติไทย

          2. เป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยมีมติ ครม. ผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยเลขบัตรประจำตัวหลักแรกเป็นเลข 6 หรือ 7

          3. เป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยเลขประจำตัวหลักแรกเป็น 0 ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ยกเว้นผู้ที่มีเลขประจำตัวหลักแรกและหลักที่สองเป็น 0)

          4. มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563)

          5. ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามประกันสังคม มาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 (บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้)

          6. ไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการต่าง ๆ หรือไม่เป็นสมาชิกกองทุนของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีลักษณะเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญของส่วนราชการ

          7. ผู้ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยขึ้นต้นด้วยเลข 0, 6, 7 (ยกเว้นขึ้นต้นด้วย 00)

          8. หากเป็นผู้พิการให้ระบุลักษณะหรืออาการของผู้พิการโดยละเอียด (ยกเว้นผู้พิการทางสติปัญญาและผู้พิการที่ไม่อาจรับรู้สิทธิที่พึงจะได้รับจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่สามารถสมัครและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้)

อาชีพค้าขาย
ภาพจาก amadeustx/Shutterstock

ประกันสังคม มาตรา 40 จ่ายเงินสมทบเท่าไร สิทธิประโยชน์มีอะไรบ้าง ?

 
         ทางเลือกที่ 1 :
ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นจ่ายสมทบ 100 บาท ซึ่งรับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ และเงินค่าทำศพกรณีเสียชีวิต

          สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

          1. กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย
             - นอนโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 300 บาทต่อวัน ไม่เกิน 30 วันต่อปีปฏิทิน
             - ไม่ได้นอนโรงพยาบาล (ผู้ป่วยนอก) แต่มีใบรับรองแพทย์สั่งให้หยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนวันละ 200 บาท ไม่เกิน 30 วันต่อปีปฏิทิน
             - กรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกทั้ง 2 ข้อข้างต้น สามารถใช้สิทธิ์รวมกันได้ไม่เกิน 30 วันต่อปีปฏิทิน
             - กรณีไม่ได้นอนโรงพยาบาล (ผู้ป่วยนอก) และมีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักไม่เกิน 2 วัน จะได้เงินทดแทน ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี

            ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 ใน 4 เดือน ก่อนประสบเหตุอันตรายถึงเจ็บป่วย จึงได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้
 
          2. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทน 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานาน 15 ปี โดยมีเงื่อนไข คือ

          - จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 10 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 500 บาทต่อเดือน
          - จ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 20 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 650 บาทต่อเดือน
          - จ่ายเงินสมทบครบ 24 เดือน ภายใน 40 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 800 บาทต่อเดือน
          - จ่ายเงินสมทบครบ 36 เดือน ภายใน 60 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 1,000 บาทต่อเดือน


          3. กรณีเสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 25,000 บาท (เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายใน 12 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต ยกเว้นกรณีเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต) และได้เพิ่มเงินสงเคราะห์ให้อีก 8,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน

          * หมายเหตุ : ปรับเพิ่มค่าทำศพของผู้ประกันตน ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 จาก 20,000 บาท เป็น 25,000 บาท และเพิ่มเงินสงเคราะห์ จากเดิม 3,000 บาท เป็น 8,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564
 
สิทธิประโยชน์ ม.40

         ทางเลือกที่ 2 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ และเงินบำเหน็จชราภาพ
 
          สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

          1. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ และเงินค่าทำศพ จะได้รับเช่นเดียวกับผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 1
 
          2. เงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ซึ่งเงินบำเหน็จจะคำนวณจากเงินที่รัฐบาลอุดหนุนเดือนละ 50 บาท นำมาคูณด้วยระยะเวลาที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเพื่อกรณีชราภาพ และบวกด้วยเงินผลกำไรที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน

          ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมในรูปแบบการออมเงิน ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท

          หากผู้ประกันเสียชีวิตก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพแก่สามี ภรรยา บิดา มารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน หรือบุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ว่าให้มีสิทธิ์รับเงินบำเหน็จชราภาพ ในจำนวนเท่า ๆ กัน

สิทธิประโยชน์ ม.40

          ทางเลือกที่ 3 : เป็นตัวเลือกที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แรงงานนอกระบบ ใกล้เคียงกับแรงงานในระบบมากขึ้น โดยให้ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินสงเคราะห์บุตร
 
          สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

          1. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย กรณีเจ็บป่วยและนอนโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) ให้อยู่ที่ 300 บาทต่อวัน (ไม่เกิน 90 วัน) ส่วนกรณีไม่นอนโรงพยาบาล แต่แพทย์สั่งให้หยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท (ไม่เกิน 90 วัน) ทั้งนี้ กรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกรวมกันไม่เกิน 90 วันต่อปีปฏิทิน

          2. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทน 500-1,000 บาทต่อเดือน ตลอดชีวิต โดยมีเงื่อนไข คือ

          - จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 10 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 500 บาทต่อเดือน
          - จ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 20 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 650 บาทต่อเดือน
          - จ่ายเงินสมทบครบ 24 เดือน ภายใน 40 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 800 บาทต่อเดือน
          - จ่ายเงินสมทบครบ 36 เดือน ภายใน 60 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 1,000 บาทต่อเดือน

          3. กรณีเสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท (เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายใน 12 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต ยกเว้นกรณีเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต)

          * หมายเหตุ : ปรับเพิ่มค่าทำศพของผู้ประกันตน ทางเลือกที่ 3 จาก 40,000 บาท เป็น 50,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป
 
          4. ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน

          - คำนวณจากเงินที่ผู้ประกันตนและรัฐบาลจ่ายสมทบเพื่อกรณีชราภาพ เดือนละ 150 บาท คูณจำนวนเดือนที่ส่งเงินสมทบ พร้อมดอกผลจากการนำเงินไปลงทุน
          - กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน รับเงินก้อนอีก 10,000 บาท
          - ผู้ประกันตนสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน
          - หากผู้ประกันเสียชีวิตก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพแก่สามี ภรรยา บิดา มารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน หรือบุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ว่าให้มีสิทธิ์รับเงินบำเหน็จชราภาพ ในจำนวนเท่า ๆ กัน

          5. ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร
           - ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือน ภายใน 36 เดือน
           - ในระหว่างรับเงินสงเคราะห์บุตร หากเดือนใดไม่ได้ส่งเงินสมทบ จะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรในเดือนนั้น ๆ
           - ได้เงินสงเคราะห์ 200 บาทต่อเดือน ต่อบุตร 1 คน ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์
           - สามารถใช้สิทธิ์ได้คราวละไม่เกิน 2 คน เช่น หากบุตรคนแรกอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์แล้ว สามารถนำบุตรคนที่ 3 รับเงินสงเคราะห์บุตรแทนได้จนครบอายุ 6 ปีบริบูรณ์

สิทธิประโยชน์ ม.40
 

ตารางสรุปสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 40


ประกันสังคม มาตรา 40 ลดหย่อนภาษีได้ไหม ?


          เงินสมทบในแต่ละปีสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยใช้ใบเสร็จรับเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเป็นหลักฐาน หรือขอหนังสือรับรองการชำระเงินสมทบได้จากสำนักงานประกันสังคม

ประกันสังคม มาตรา 40 สมัครอย่างไร ?


           สำหรับใครที่มองเห็นสิทธิประโยชน์ดี ๆ และต้องการที่จะสมัครประกันสังคม มาตรา 40 สามารถดำเนินการสมัครด้วยตนเองโดยสมัครใจ มีรายละเอียดการยื่นใบสมัครผู้ประกันตน มาตรา 40 ดังนี้
 
1. สมัครผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม

          - คลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sso.go.th ของสำนักงานประกันสังคม
          - เลื่อนลงมาด้านล่าง เลือกลงทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แล้วกรอกข้อมูลตามขั้นตอน
          - รอรับ SMS ยืนยันการสมัคร

2. สมัครผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect

          - ดาวน์โหลดแอปฯ SSO Connect
          - เลือกลงทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แล้วกรอกข้อมูลตามขั้นตอน
          - รอรับ SMS ยืนยันการสมัคร

3. สมัครที่สำนักงานประกันสังคม คือ

          - กรุงเทพฯ : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

          -  ภูมิภาค : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา

           หลักฐานการสมัคร

          - บัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง หรือบัตรอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชน
 
4. สมัครผ่านหน่วยบริการรับสมัครผู้ประกันตนตามมาตรา 40

         เช่น เครือข่ายประกันสังคมทั่วประเทศ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เคาน์เตอร์ห้างบิ๊กซี เคาน์เตอร์ ธ.ก.ส. โดยยื่นบัตรประชาชนให้พนักงานทำการสมัครให้ได้เลย
 

วิธีจ่ายเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 40


          - จ่ายเงินสมทบเป็นรายเดือนวันที่เท่าไรของเดือนก็ได้

          - สามารถจ่ายเงินสมทบงวดปัจจุบัน และล่วงหน้าได้ 12 งวดเดือน

          - หากเดือนใดไม่ได้จ่ายเงินสมทบจะไม่สามารถจ่ายย้อนหลังได้ แต่จะยังคงเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40

          - ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 2 หรือ 3 สามารถขอจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมในส่วนของเงินออมกรณีชราภาพเพิ่มได้ ตั้งแต่ 1 บาท แต่สูงสุดไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท และสามารถจ่ายล่วงหน้าได้ไม่เกิน 12 เดือน

          - จ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม รวมถึงเคาน์เตอร์เซอร์วิส เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เคาน์เตอร์ ธ.ก.ส. ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ห้างเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี ตู้บุญเติม ฯลฯ

           นอกจากนี้ยังสามารถหักผ่านบัญชีธนาคารต่าง ๆ ตามนี้

          - ธนาคารเพื่่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

          - ธนาคารออมสิน

          - ธนาคารกสิกรไทย

          - ธนาคารไทยพาณิชย์

          - ธนาคารกรุงไทย

          - ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

          - ธนาคารกรุงเทพ

          - ธนาคารทหารไทยธนชาต

          โดยจะหักเงินทุกวันที่ 20 ของเดือน หากตรงกับวันหยุดจะเลื่อนไปหักบัญชีในวันทำการถัดไป

ประกันสังคม มาตรา 40
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน - Social Security Office

ประกันสังคม มาตรา 40 เปลี่ยนทางเลือกได้ไหม ?


          เราสามารถยื่นขอเปลี่ยนทางเลือกจ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคม ปีละ 1 ครั้ง โดยเมื่อยื่นขอเปลี่ยนแปลงทางเลือกแล้วจะมีผลในเดือนถัดไป

ผู้ประกันสังคม ทางเลือกที่ 1 หรือ 2 จะขอเปลี่ยนเป็นทางเลือกที่ 3 เพื่อรับเงินสงเคราะห์บุตรได้ไหม ?


          สามารถเปลี่ยนทางเลือกได้ปีละ 1 ครั้ง ดังนั้นจึงเปลี่ยนเป็นทางเลือกที่ 3 ได้ แต่จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับว่าเราได้ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 24 เดือน ภายใน 36 เดือน หรือยัง เท่ากับว่าต้องเปลี่ยนมาเป็นทางเลือกที่ 3 อย่างน้อย 3 ปี จึงจะเบิกเงินสงเคราะห์บุตรได้
 

ประกันสังคม มาตรา 40 ได้เยียวยาอะไรบ้างจากเหตุโควิด 19 ?


          - ค่ารักษาพยาบาล กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา จะต้องใช้สิทธิบัตรทอง เนื่องจากประกันสังคม มาตรา 40 ไม่คุ้มครองกรณีเจ็บป่วย

          - เงินทดแทนรายได้อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยและต้องหยุดงาน ตามคำสั่งของแพทย์ ได้ตั้งแต่ 50-300 บาทต่อวัน ไม่เกิน 30 วันต่อปี (สำหรับผู้ประกันตนทางเลือกที่ 1 และ 2) หรือไม่เกิน 90 วันต่อปี (สำหรับผู้ประกันตนทางเลือกที่ 3)

          - ผู้ประกันตน มาตรา 40 จะไม่ได้รับเงินกรณีว่างงานเหมือนกับผู้ประกันตน มาตรา 33 แต่สามารถลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือจากกระทรวงการคลัง ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการเราชนะ ได้

          - ปรับลดอัตราเงินสมทบ ในปี 2564 และ 2565 จะได้ปรับลดอัตราส่งเงินสมทบเหลือ 60% เป็นเวลา 12 เดือน (ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 - กรกฎาคม 2565) ดังนั้นจะต้องจ่ายเงินสมทบดังนี้

               >> ทางเลือกที่ 1 จ่าย 42 บาทต่อเดือน จากเดิมจ่าย 70 บาท

               >> ทางเลือกที่ 2 จ่าย 60 บาทต่อเดือน จากเดิมจ่าย 100 บาท

               >> ทางเลือกที่ 3 จ่าย 180 บาทต่อเดือน จากเดิมจ่าย 300 บาท

          - ผู้ประกอบกิจการและกลุ่มคนอาชีพต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท
 

          สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม มาตรา 40 สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม หรือโทร. 1506

บทความที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม มาตรา 40





ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม, สำนักงานประกันสังคม, สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ, เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, antifakenewscenter   

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประกันสังคม มาตรา 40 จ่ายเบี้ยเท่าไร ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 22 มิถุนายน 2566 เวลา 14:51:58 1,737,747 อ่าน
TOP
x close