x close

ประกันสังคม เยียวยาโควิด 19 ข้อมูลล่าสุดปี 2564 สำหรับผู้ประกันตน ม.33, 39, 40

          สิทธิประกันสังคม เยียวยาโควิด 19 รวมข้อมูลสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 39 40 ในปี 2564 มีมาตรการช่วยเหลืออะไรบ้าง กรณีเงินว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ถูกเลิกจ้าง ตกงาน ลาออก ปรับลดเงินสมทบประกันสังคม รวมถึงอัปเดตล่าสุด เงินเยียวยาจากคำสั่งล็อกดาวน์ช่วงเดือนกรกฎาคม

          สถานการณ์ โควิด 19 ในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย  ๆ ซึ่งส่งผลให้พนักงานและลูกจ้างจำนวนไม่น้อยต้องตกงานและได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

          สำหรับผู้ที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 33, มาตรา 39 หรือมาตรา 40 จะได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิประกันสังคม แตกต่างกันไปตามแต่ละมาตรา วันนี้เราจึงสรุปมาให้ทราบกันชัด ๆ ว่า สิทธิประกันสังคมที่ผู้ประกันตนมาตราต่าง ๆ จะได้รับความช่วยเหลือนั้นมีอะไรบ้าง รวมถึงล่าสุดที่มีการอนุมัติเงินเยียวยาจากคำสั่งล็อกดาวน์ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม 2564

อ่านข่าว : เช็กสิทธิประกันสังคม ของตัวเองผ่าน 2 วิธีง่าย ๆ ที่ผู้ประกันตนควรรู้

ประกันสังคม

ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, 40 คือใครบ้าง
ประกันสังคม

ภาพจาก Tavarius / Shutterstock.com ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

  • ผู้ประกันตน มาตรา 33 คือ พนักงาน มนุษย์เงินเดือน หรือลูกจ้างเอกชนที่ยังทำงานกับนายจ้างอยู่ในสถานประกอบการ ซึ่งทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะส่งเงินสมทบเดือนละ 5% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 750 บาท
     
  • ผู้ประกันตน มาตรา 39 คือ พนักงาน-ลูกจ้างเอกชนที่เคยเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 โดยจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 12 เดือน แต่ปัจจุบันได้ลาออกจากงาน ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว และสมัครใจเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 เพื่อรักษาสิทธิประกันสังคม ภายใน 6 เดือน หลังลาออก
     

  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 คือ บุคคลทั่วไปที่ทำอาชีพอิสระ หรือเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น พ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร ช่างก่อสร้าง ฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ และอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 หรือ 39 แต่สมัครใจสมัครเป็นผู้ประกันตนประกันสังคมเพื่อรับสิทธิต่าง ๆ  

สิทธิประโยชน์กรณีตรวจโควิด 19

1. ตรวจโควิดฟรีที่หน่วยตรวจโควิด 19 เชิงรุกของสำนักงานประกันสังคม

          โดยผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33, 39 และ 40 สามารถตรวจโควิดฟรี ณ วัน-เวลา และสถานที่ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เช่น การตรวจคัดกรองเชิงรุกตามสถานประกอบการ หรือหน่วยบริการตรวจหาเชื้อโควิด 19 เชิงรุก ที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

          ทั้งนี้ ต้องติดตามประกาศจากทางสำนักงานประกันสังคมว่าจะเปิดหน่วยคัดกรองเชิงรุกที่ไหนบ้าง โดยลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ sso.icntracking  

ประกันสังคมตรวจโควิดฟรี เผยขั้นตอนจองคิว รับผลตรวจ ทำตามนี้..

2. ตรวจโควิดฟรีที่สถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน กรณีเข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง

          ผู้ประกันตนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสามารถตรวจคัดกรองได้ที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทุกแห่ง ซึ่งผู้เข้าข่ายตรวจฟรีมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

          1. มีอาการทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง (ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็วเหนื่อย หายใจลำบาก จมูกไม่ได้กลิ่น หรือลิ้นไม่รับรส)
          2. มีประวัติเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่ง คือ
              - เดินทางมาจากเขตติดโรค หรือพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
              - ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากเขตติดโรค หรือพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
              - สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัย หรือผู้ป่วยยืนยัน
              - เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน
          (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์)

          หากไม่เข้าเกณฑ์ 2 ข้อนี้ แต่อยากตรวจหาเชื้อ สามารถไปตรวจได้ที่สถานพยาบาลต่าง ๆ โดยจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
สิทธิประโยชน์กรณีรักษาโควิด 19
โควิด

          ตามหลักเกณฑ์แล้ว รัฐบาลได้ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคเจ็บป่วยฉุกเฉินที่สามารถใช้สิทธิตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิ์ทุกที่ หรือ UCEP ได้

          ดังนั้น ผู้ติดเชื้อโควิด 19 สามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหากเป็นสถานพยาบาลเอกชน ทางสถานพยาบาลจะส่งเรื่องเบิกเงินไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม เพื่อจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลของเอกชนโดยตรงต่อไป

          ทั้งนี้ หากผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงินและได้จ่ายเงินไปแล้ว สามารถร้องเรียนที่สายด่วน 1330 ของ สปสช. หรือ 1426 ของ สบส. เพื่อประสานขอเงินคืนได้

สิทธิประโยชน์กรณีฉีดวัคซีนโควิด

ประกันสังคม มาตรา 33

          สามารถลงทะเบียนกับนายจ้างเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนฟรี ตามจุดที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ทั้งสิ้น 45 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร และตามที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสถานประกอบการที่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนทำงานอยู่ 

          สำหรับต่างจังหวัดต้องรอการจัดสรรวัคซีนอีกครั้ง หากทางสำนักงานประกันสังคมได้รับวัคซีนเมื่อไร จะแจ้งให้ผู้ประกันตนเข้ารับการฉีดวัคซีนต่อไป

ประกันสังคม มาตรา 39 และมาตรา 40

          ไม่สามารถฉีดวัคซีนกับประกันสังคมได้ แต่สามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิดผ่านช่องทางของแต่ละจังหวัด เช่น ไทยร่วมใจของกรุงเทพมหานคร, นนน์พร้อมของจังหวัดนนทบุรี หรือหมอพร้อม เป็นต้น
สิทธิประโยชน์กรณีเงินทดแทนการขาดรายได้
        ผู้ประกันตนที่ติดโควิดต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ Hospitel และต้องหยุดงาน จะได้รับเงินทดแทน ดังนี้

ประกันสังคม มาตรา 33

 1. ค่าจ้างจากนายจ้าง
          สามารถใช้สิทธิลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างไม่เกิน 30 วัน/ปี

2. เงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคม
          กรณีใช้สิทธิลาป่วยกับนายจ้าง เกิน 30 วัน/ปี แล้ว แต่ยังต้องหยุดพักรักษาตัวเกินวันลา ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคมได้

          ใครมีสิทธิ : ต้องส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว

          จะได้รับเงินเท่าไร : กรณีเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนฯ ให้ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง หรือสูงสุดวันละ 250 บาท (คิดจากฐานอัตราเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท) โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับเงินทดแทนฯ ไม่เกิน 365 วัน แต่ต้องมีหนังสือรับรองจากนายจ้างว่าได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยครบ 30 วันทำงานใน 1 ปีปฏิทินแล้ว ส่วนที่ลาป่วยเกิน 30 วัน จึงสามารถยื่นขอรับเงินทดแทนฯ จากประกันสังคมได้

ประกันสังคม มาตรา 39

          ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยและต้องหยุดงาน ตามคำสั่งของแพทย์ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง หรือวันละ 80 บาท (คิดจากฐานเงินเดือน 4,800 บาท) โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน

          ใครมีสิทธิ : ต้องส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว

ประกันสังคม มาตรา 40

          ผู้ประกันตน มาตรา 40 ไม่สามารถใช้สิทธิได้ เนื่องจากประกันสังคม มาตรา 40 ไม่ครอบคลุมการรักษาพยาบาล หากต้องการใช้สิทธิตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา หรือรักษาพยาบาลเมื่อป่วยโควิด 19 ต้องใช้สิทธิบัตรทอง จาก สปสช.

          อย่างไรก็ตาม กรณีแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว 3 วันขึ้นไป หรือกรณีเป็นผู้ป่วยในต้องนอนโรงพยาบาล ประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยให้ ดังนี้

ประกันสังคม มาตรา 40

การส่งเงินสมทบประกันสังคม

ประกันสังคม มาตรา 33

          ปกติผู้ประกันตน มาตรา 33 จะส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของเงินเดือน หรือสูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน (ฐานเงินเดือน 15,000 บาท) แต่ในปี 2564 มีการปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบหลายครั้ง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องส่งเงินสมทบ ดังนี้

  • เดือนมกราคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 3% เท่ากับว่าจากเดิมเคยส่งเงินสมทบสูงสุดเดือนละ 750 บาท จะเหลือแค่ 450 บาท 
     
  • เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 0.5% เท่ากับว่าจากเดิมเคยส่งเงินสมทบสูงสุดเดือนละ 750 บาท จะเหลือแค่ 75 บาท
     
  • เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 2.5% เท่ากับว่าจากเดิมเคยส่งเงินสมทบสูงสุดเดือนละ 750 บาท จะเหลือแค่ 375 บาท

ประกันสังคม มาตรา 39

  • เดือนมกราคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 278 บาท 
  • เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 38 บาท 
  • เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 216 บาท 

ประกันสังคม มาตรา 40

  • เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 ผู้ประกันตน มาตรา 40 ยังต้องส่งเงินสมทบเท่าเดิม
     
  • เดือนสิงหาคม 2564 - เดือนมกราคม 2565 ปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 60% เป็นเวลา 6 เดือน  ดังนี้

         - ทางเลือกที่ 1 จ่าย 42 บาทต่อเดือน จากเดิมจ่าย 70 บาท
         - ทางเลือกที่ 2 จ่าย 60 บาทต่อเดือน จากเดิมจ่าย 100 บาท
         - ทางเลือกที่ 3 จ่าย 180 บาทต่อเดือน จากเดิมจ่าย 300 บาท
สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย
ประกันสังคม

ประกันสังคม มาตรา 33

          สำหรับการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ จะมีเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชยแตกต่างจากการระบาดรอบแรกเมื่อต้นปี 2563 โดยรอบนี้จะได้รับเงินกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ตามเงื่อนไขดังนี้

            -  ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค

            -  ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน เนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ เช่น กรณีคนงานไซต์ก่อสร้าง ลูกจ้างร้านนวด สปา ฯลฯ 
 

          ใครมีสิทธิ :

            -  ต้องเป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนการว่างงานหรือถูกรัฐสั่งให้กักตัว หากส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน จะไม่สามารถรับเงินชดเชยได้

            -  ลูกจ้างจะต้องไม่ได้รับค่าจ้างใด ๆ จากนายจ้างตลอดระยะเวลาที่กักตัว หรือปิดกิจการชั่วคราว หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้บางส่วน หรือทั้งหมดตามปกติ จะไม่สามารถขอรับเงินชดเชยจากประกันสังคมได้
 

          รับเงินชดเชยเท่าไร : ได้รับเงิน 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ แล้วแต่กรณี แต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน ดังนั้น จะได้รับเงินสูงสุดไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท (คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท)

วิธียื่นรับสิทธิ

           1. ผู้ประกันตนกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) (ดาวน์โหลด) พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของตนเอง

                - กรณีกักตัวใช้เอกสารประกอบ คือ ใบรับรองแพทย์ให้กักตัว หรือคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สั่งให้กักตัว

           2. ผู้ประกันตนนำ สปส.2-01/7 และเอกสารอื่น ๆ ส่งให้นายจ้างรวบรวม

           3. นายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างตามแบบ สปส.2-01/7 และหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว ผ่านระบบ e-service ที่ www.sso.go.th (นายจ้างที่ใช้ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียนเพื่อใช้ระบบก่อน)

           4. เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e-Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บนเว็บไซต์ www.sso.go.th

           5. เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับข้อมูลของนายจ้างถูกต้องครบถ้วน จะทำการอนุมัติจ่าย รอบแรกเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ ส่วนที่เหลือโอนเข้าบัญชีทุกสิ้นเดือนจนครบ

แต่กรณีต่อไปนี้ ไม่สามารถขอรับเงินว่างงานจากประกันสังคมได้
  • ลูกจ้างถูกปรับลดเงินเดือน
  • ลูกจ้างยินยอมลางานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay)
  • สถานประกอบการหยุดชั่วคราว ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงาน แต่นายจ้างยังคงจ่ายเงินให้ลูกจ้างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าไรก็ตาม
  • นายจ้างหยุดชั่วคราวเนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และไม่ให้ลูกจ้างทำงาน (กรณีนี้ นายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้าง 75% ของค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน)

ประกันสังคมมาตรา 39 และ 40

          เนื่องจากประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 ไม่คุ้มครองกรณีว่างงาน ดังนั้น ผู้ประกันตนที่หยุดทำงานชั่วคราว หรือไม่ได้ทำงานประจำ จะไม่สามารถรับเงินเยียวยากรณีว่างงานจากประกันสังคมได้ 
กรณีลาออกเอง / สิ้นสุดสัญญาจ้าง

ประกันสังคม มาตรา 33

          รับเงินชดเชยเท่าไร : หากลาออกเองในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 (ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 - 28 กุมภาพันธ์ 2565) จะได้รับเงิน 45% ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 90 วัน ดังนั้น จะได้รับเงินสูงสุดไม่เกินเดือนละ 6,750 บาท (ฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท)

          ใครมีสิทธิ : ต้องเป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนการว่างงาน และอายุยังไม่เกิน 55 ปี

         วิธียื่นรับสิทธิ
         - ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน โดยใช้เลขบัตรประชาชนในการเข้าสู่ระบบ กรอกข้อมูลจากบัตรประชาชน พร้อมกรอกเลขหลังบัตรประชาชน (laser Code) จะได้รหัสผ่านเพื่อใช้งานระบบ
         - เมื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบเสร็จสิ้นแล้ว ให้ยื่นคำขอ "รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) e-form" บนเว็บไซต์
         - รายงานตัวเดือนละครั้ง ผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน

ประกันสังคม มาตรา 39 และ 40

          ไม่คุ้มครองกรณีดังกล่าว 

กรณีถูกเลิกจ้าง
ประกันสังคม

ประกันสังคม มาตรา 33

          รับเงินชดเชยเท่าไร : หากถูกเลิกจ้างในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 - 28 กุมภาพันธ์ 2565) จะได้รับเงิน 70% ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 200 วัน เท่ากับว่าจะได้รับเงินสูงสุดไม่เกินเดือนละ 10,500 บาท (ฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท)

          ใครมีสิทธิ
          - 
ต้องเป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนการว่างงาน
          - อายุไม่เกิน 55 ปี 
          - ไม่กระทำผิดจนถูกให้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน เช่น ทุจริตต่อหน้าที่, ทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง, จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย, ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร เป็นต้น
 

          วิธียื่นรับสิทธิ
          - ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน โดยใช้เลขบัตรประชาชนในการเข้าสู่ระบบ กรอกข้อมูลจากบัตรประชาชน พร้อมกรอกเลขหลังบัตรประชาชน (laser Code) จะได้รหัสผ่านเพื่อใช้งานระบบ
          - เมื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบเสร็จสิ้นแล้ว ให้ยื่นคำขอ "รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) e-form" บนเว็บไซต์
          - รายงานตัวเดือนละครั้ง ผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน

ประกันสังคม มาตรา 39 และ 40

          ไม่คุ้มครองกรณีดังกล่าว  
เงินเยียวยาช่วงโควิด

ประกันสังคม มาตรา 33

         เป็นความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มอบให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันเกิน 500,000 บาท จะได้รับเงินเยียวยาตามโครงการ ม.33 เรารักกัน จำนวน 4,000 บาท โดยแบ่งจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท รวม 4 ครั้ง ผ่านแอปฯ เป๋าตัง ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน 2564

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโควิด 19 ได้ระบาดซ้ำเป็นรอบที่ 3 ครม. จึงไฟเขียวจ่ายเงินเยียวยาเข้าโครงการ ม.33 เรารักกัน เฟส 2 เพิ่มให้อีก 2,000 บาท โดยแบ่งจ่ายครั้งแรกในวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 รวมรับเงิน 6,000 บาท

ประกันสังคม มาตรา 39 และมาตรา 40

          ไม่ได้รับสิทธิในโครงการ ม.33 เรารักกัน แต่สามารถลงทะเบียนในโครงการเราชนะได้ ซึ่งแจกเงิน 7,000 บาท ในเฟสแรก และยังให้เพิ่มเติมเฟส 2 อีก 2,000 บาท ในเดือนพฤษภาคม 2564 รวมรับเงิน 9,000 บาท

เงินเยียวยาช่วงล็อกดาวน์ 
เดือน ก.ค.- ส.ค. 2564

          เพื่อควบคุมสถานการณ์โควิดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐบาลได้สั่งล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา พร้อมกับให้สถานที่สุ่มเสี่ยงหยุดกิจการชั่วคราวหรือปิดทำการเร็วขึ้น ซึ่งกระทบต่อนายจ้าง-ลูกจ้าง

          ต่อมาได้ประกาศเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มอีก 16 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง ซึ่งจากคำสั่งล็อกดาวน์ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเงินเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้แก่ลูกจ้างและนายจ้าง ผู้ประกันตน ม.33, ม.39, ม.40 และอาชีพอิสระ ดังนี้

ประกันสังคม มาตรา 33 (ในกิจการ 9 หมวด ในพื้นที่สีแดงเข้ม)

สำหรับพื้นที่ 13 จังหวัด

  • ลูกจ้างที่หยุดงานตามคำสั่งทางการ รับ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) หากมีสัญชาติไทย ได้รับเพิ่ม 2,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน คือ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 รวมได้รับสูงสุด 20,000 บาท
  • ลูกจ้างที่ไม่ได้หยุดงาน และมีสัญชาติไทย รับ 2,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน คือ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 รวมได้รับ 5,000 บาท
  • นายจ้างรับตามจำนวนลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 200 คน เป็นเวลา 2 เดือน คือ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564

สำหรับพื้นที่ 16 จังหวัดที่ประกาศเพิ่มเติม

  • ลูกจ้างที่หยุดงานตามคำสั่งทางการ รับ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) หากมีสัญชาติไทย ได้รับเพิ่ม 2,500 บาท เป็นเวลา 1 เดือน คือ เดือนสิงหาคม 2564 รวมได้รับสูงสุด 10,000 บาท
  • ลูกจ้างที่ไม่ได้หยุดงาน และมีสัญชาติไทย รับ 2,500 บาท เป็นเวลา 1 เดือน คือ เดือนสิงหาคม 2564  
  • นายจ้างรับตามจำนวนลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 200 คน ในเดือนสิงหาคม 2564

ประกันสังคม มาตรา 39 (ในกิจการ 9 หมวด ในพื้นที่สีแดงเข้ม)

  • สำหรับพื้นที่ 13 จังหวัด : ได้รับ 5,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน คือ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 รวมได้รับสูงสุด 10,000 บาท
  • สำหรับพื้นที่ 16 จังหวัดที่ประกาศเพิ่มเติม : ได้รับ 5,000 บาท เป็นเวลา 1 เดือน คือ เดือนสิงหาคม 2564

ประกันสังคม มาตรา 40 (ในกิจการ 9 หมวด ในพื้นที่สีแดงเข้ม)

สำหรับพื้นที่ 13 จังหวัด จะได้รับเงินช่วยเหลือ 2 เดือน คือ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564

  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 ใน 9 กิจการ ได้รับ 5,000 บาทต่อเดือน
  • กรณีมีอาชีพอิสระ ถ้าขึ้นทะเบียน ม.40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับ 5,000 บาทต่อเดือน
  • นายจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ถ้าขึ้นทะเบียน ม.40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับ 5,000 บาทต่อเดือน
  • นายจ้างในระบบถุงเงิน (คนละครึ่ง, เราชนะ) ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ถ้าขึ้นทะเบียน ม.40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับ 5,000 บาทต่อเดือน

    ส่วนพื้นที่ 16 จังหวัดที่ประกาศเพิ่มเติม จะได้รับเงินช่วยเหลือ 1 เดือน คือ เดือนสิงหาคม 2564
     

กิจการที่ได้รับเงินเยียวยามีอะไรบ้าง

          ผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาล็อกดาวน์ต้องอยู่ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้มตามประกาศ และเป็นผู้ประกอบกิจการใน 9 หมวด ทั้งแบบมีนายจ้าง หรืออาชีพอิสระ คือ
          - ก่อสร้าง 
          - ที่พักและบริการด้านอาหาร เช่น โรงแรม เกสต์เฮ้าส์ ร้านอาหาร แผงลอย การจัดเลี้ยง
          - ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ เช่น สถานที่ออกกำลังกาย สวนสนุก การแสดงโชว์เพื่อความบันเทิง
          - ขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์ เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต ร้านค้าส่ง-ปลีกทั่วไป
          - ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เช่น แท็กซี่ รถสามล้อ รถจักรยานยนต์รับจ้าง การขนส่งสินค้าแช่เย็น การขนส่งผู้โดยสารทางรถโดยสารประจำทาง
          - กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน เช่น ธุรกิจนำเที่ยว บริการทำความสะอาด บริการรักษาความปลอดภัย การจัดประชุม การจัดแสดงสินค้า
          - กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ เช่น กิจกรรมการโฆษณา การตรวจสอบบัญชี
          - ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร เช่น การผลิตรายการโทรทัศน์ การฉายภาพยนตร์
          - การบริการด้านอื่น ๆ เช่น สปา ร้านทำผม ความงาม กิจกรรมเกี่ยวกับงานศพ

          รวมทั้ง 5 กิจการของผู้ประกอบการถุงเงิน (คนละครึ่ง, เราชนะ)
          - ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
          - ร้าน OTOP
          - ร้านค้าทั่วไป
          - ร้านค้าบริการ
          - กิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่)

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนทั้งในส่วนลูกจ้างและนายจ้างสามารถคลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม วิธีลงทะเบียนรับเงินเยียวยาโควิด ม.33 ม.39 ม.40 อาชีพอิสระ รวมถึงรายละเอียดเรื่อง เช็กสิทธิเงินเยียวยาโควิดจากคำสั่งล็อกดาวน์

วิธีตรวจสอบสิทธิประกันสังคมของตนเอง
          ผู้ประกันตนทุกคนสามารถตรวจสอบสิทธิประกันสังคมของตัวเองได้ง่าย ๆ ดังข้อมูลต่อไปนี้

เช็กสิทธิประกันสังคมผ่านเว็บไซต์

          หากตรวจสอบแล้วพบว่าเราเข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือด้านใด ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับสิทธินั้นได้ แต่ถ้ายังมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม โทร. 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่  4 สิงหาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานประกันสังคม, สำนักงานประกันสังคมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, สำนักงานประกันสังคม, ราชกิจจานุเบกษา         
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประกันสังคม เยียวยาโควิด 19 ข้อมูลล่าสุดปี 2564 สำหรับผู้ประกันตน ม.33, 39, 40 อัปเดตล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14:19:24 1,354,475 อ่าน
TOP