x close

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นมีวิธีคำนวณอย่างไร มาดูกันเลย


          ยื่นภาษี 2566  และยื่นภาษีออนไลน์ อย่างไร พร้อมวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่หลายคนมีคำถาม

วิธีคำนวณภาษี

          ทุก ๆ ปี คนไทยทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนดจะต้องยื่นแสดงรายได้ต่อกรมสรรพากร โดยจากโครงสร้างภาษีในปัจจุบัน เราจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได ตั้งแต่ 5-35% โดยผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่ถึง 310,000 บาท/ปี หรือมีเงินเดือนไม่ถึง 25,833 บาทก็จะไม่ต้องเสียภาษี แต่สำหรับคนที่มีรายได้สูงกว่านี้ก็อาจไม่ต้องเสียภาษีได้เช่นกัน ส่วนจะคำนวณภาษีอย่างไรนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมนำข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นภาษี พร้อมวิธีคำนวณภาษีมาแจกแจงให้ทราบกัน ลองไปอ่านกันเลย

ภาษี2560


ใครมีหน้าที่ยื่นภาษี 2566


          หลายคนมักเข้าใจผิดว่า ถ้ามีเงินได้มากกว่าเดือนละ 25,833 บาท หรือมีเงินได้ต่อปีสูงกว่า 300,000 บาท จึงจะมีหน้าที่ยื่นเสียภาษี ซึ่งความเข้าใจนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องค่ะ เพราะกรมสรรพากรได้กำหนดให้คนที่มีเงินได้แม้มีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ก็ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายได้ ในกรณีต่อไปนี้

           คนโสด

          - กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท

          - กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

          - กรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
          
          - คนมีคู่

          - กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 220,000 บาท

          - กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท

          - กรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท

ลดหย่อนภาษี


ยื่นภาษีแบบไหน


          แบบยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ดูง่าย ๆ ว่าใครจะยื่นแบบไหนคือ คนมีเงินเดือน โบนัส ค่าครองชีพก็ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ส่วนคนที่มีรายได้อื่น ๆ หรือมีทั้งเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90

ยื่นภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต


          สำหรับคนที่ต้องการยื่นภาษี สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้เลย >> ยื่นภาษีผ่านเน็ต  


ยื่นภาษี 2566 ได้ถึงวันที่เท่าไร


          โดยปกติจะสามารถยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2567 แต่หากยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th หรือยื่นผ่าน Rd smart tax application ทางโทรศัพท์มือถือ จะได้รับสิทธิ์ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ออกไปอีก 8 วัน (ไม่รวมวันหยุด) ดังนั้นจะสามารถยื่นภาษีได้จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2567


ตรวจสอบค่าลดหย่อนภาษี


          ก่อนที่จะไปคำนวณภาษีกัน ผู้เสียภาษีควรทราบข้อมูลของค่าลดหย่อนต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการคำนวณภาษีด้วยเหมือนกัน ลองตรวจสอบค่าลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ได้ที่นี่เลย


          นอกจากนี้ยังมีกรณียกเว้นเงินได้เพิ่มเติมคือ

          * กรณีเป็นผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน ได้รับยกเว้นเงินได้ จำนวนเงิน 190,000 บาท

          * กรณีเป็นผู้สูงอายุ มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี ได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น

เช็กลิสต์เอกสารประกอบการยื่นภาษี


          ก่อนยื่นภาษี อย่าลืมตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ให้ครบก่อนนะคะ เพราะจะทำให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในกรณีที่สรรพากรต้องการตรวจสอบเอกสาร จะได้จัดส่งได้โดยเร็วค่ะ โดยอาจมีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เช่น

           1. หนังสือรับรองเงินเดือนและการหักภาษี (50 ทวิ) ซึ่งได้รับจากนายจ้าง โดยหนังสือรับรองจะระบุผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวนเงินได้ทั้งปี (รวมเงินเดือน โบนัสและเงินพิเศษต่าง ๆ) ภาษีที่หักและนำส่งไว้ รวมถึงเงินที่จ่ายเข้า กบข./กสจ./กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

           2. ทะเบียนสมรส กรณีกรมสรรพากรเรียกตรวจ หากใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน

           3. เอกสารรับรองบุตร หรือสูติบัตรของบุตร กรณีสรรพากรเรียกตรวจ

           4. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนบิดา-มารดาของตัวเองได้คนละ 30,000 บาท รวมทั้งบิดา-มารดาของคู่สมรส อีกคนละ 30,000 บาท โดยบิดา-มารดาต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีเงินได้เป็นผู้เลี้ยงดูบิดา-มารดา ทั้งนี้บิดา-มารดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท

           5. เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา ลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดา-มารดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท

           6. เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

           7. หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันแบบบำนาญกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี  

           8. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
          
                      - คนพิการ จะต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ และระบุชื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ โดยคนพิการต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 60,000 บาท

                      - คนทุพพลภาพ จะต้องเป็นผู้ทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน มีใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิ์หักลดหย่อน และมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ

           9. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

           10. หลักฐานการเป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนต่าง ๆ ที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้

           11. ใบเสร็จรับเงินบริจาค เพื่อสาธารณกุศลทั่วไป สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ แต่หากเป็นเงินสนับสนุนการศึกษา การช่วยเหลือสังคม โรงพยาบาล และเงินบริจาคให้กองทุนยุติธรรม สามารถหักลดหย่อนได้เป็น 2 เท่าของเงินบริจาค

           12. ค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร นำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 60,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์ในแต่ละครั้ง สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีกับค่าใช้จ่ายที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป >> [ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร ถ้าตั้งครรภ์ หรือคลอดลูกในปี 2566 เรื่องที่คุณแม่ต้องรู้ !]

           13. เอกสารเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น แนะนำให้สมัครสมาชิกที่เว็บไซต์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วดาวน์โหลดเอกสารไปใช้ยื่นสรรพากรโดยที่เราไม่ต้องคำนวณให้ยุ่งยาก

           14. หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย กองทุนรวมต่าง ๆ กรณีที่เราลงทุนในกองทุนรวมที่มีการจ่ายปันผล เงินปันผลที่ได้รับนั้นจะถูกหักภาษี 10%

          15. หนังสือหรือเอกสารรับรองเงินได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน

          ทั้งนี้ หากใครยื่นภาษีเป็นประจำทุกปี แล้วเคยยื่นเอกสาร อาทิ ทะเบียนสมรส สูติบัตรของบุตร
หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา ฯลฯ ไปแล้ว ในปีต่อ ๆ ไป ทางสรรพากรอาจไม่เรียกตรวจเอกสารอีก แต่เตรียมพร้อมไว้ก่อนก็ดีนะคะ จะได้ไม่ล่าช้าหากถูกเรียกตรวจ

          * หมายเหตุ : ตั้งแต่ปีภาษี 2565 เป็นต้นไป ผู้ซื้อกองทุนรวม SSF และ RMF จะต้องแจ้งความประสงค์ต่อ บลจ. ว่าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เพื่อให้ บลจ. ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรโดยตรง เราจึงสามารถใช้สิทธิลดหย่อนจากการซื้อกองทุนรวมได้ หากไม่แจ้งความประสงค์จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ เนื่องจากกรมสรรพากรจะยอมรับหลักฐานการซื้อหน่วยลงทุนจาก บลจ. โดยตรงเท่านั้น


ซื้อของลดหย่อนภาษี
 

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 - ภ.ง.ด.91)

  
          สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่า แบบภาษี ภ.ง.ด.90 กับ ภ.ง.ด.91 แตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะไปคิดคำนวณภาษีกันลองมาทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ กันก่อน เมื่อรูัแล้วก็ลองไปดูวิธีคิดภาษีกันได้เลย

                -  ภ.ง.ด.90 คือ ผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เงินปันผล หรืออื่น ๆ

                -  ภ.ง.ด.91 คือ ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรายได้ทางอื่น

เช็กอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2566


ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

          กรณีมีรายได้ประเภทที่ 1 (เงินเดือน) และประเภทที่ 2 (ค่าจ้างทั่วไป-ฟรีแลนซ์) จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้น จากตารางนี้แสดงว่าหากใครมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่เกิน 310,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนส่วนตัวรวม 160,000 บาทแล้ว จะเหลือเงินได้สุทธิ 150,000 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี

          แต่หากใครมีรายได้สุทธิมากกว่า 310,000 บาท แสดงว่าเราต้องยื่นภาษี แต่จะเสียภาษีมาก-น้อยแค่ไหนนั้น ต้องคิดคำนวณจากค่าลดหย่อนด้วย โดยมีวิธีคำนวณภาษีดังนี้

(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

ขั้นตอนที่ 1 นำรายได้ทั้งปีมาหักค่าใช้จ่าย

          นำรายได้ตลอดทั้งปีมาหักค่าใช้จ่าย แยกตามประเภทของรายได้ และหักลดหย่อนตามรายการต่าง ๆ เพื่อหารายได้สุทธิ

ตัวอย่างที่ 1

          หากนาย A เป็นฟรีแลนซ์ มีรายได้ทั้งปี 600,000 บาท จะต้องหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นดังนี้

              - หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท

              จะเหลือรายได้สุทธิ 500,000 บาท


ขั้นตอนที่ 2 นำรายได้ที่เหลือมาหักค่าลดหย่อน

              จากนั้น ลองสำรวจดูว่าเรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง แล้วนำค่าลดหย่อนนั้นมาลบออกจาก 500,000 บาท

              เช่น หากปีนี้ นาย A ซึ่งมีภรรยา 1 คน มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท ทั้งคู่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว แต่ไม่มีบุตร, มีบิดาอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ต้องเลี้ยงดู 1 คน, ซื้อ SSF ไป 50,000 บาท, ซื้อประกันสุขภาพ 9,000 บาท ก็สามารถนำค่าลดหย่อนทั้งหมดมาหักออกจาก 500,000 บาท ดังนี้

              - หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
              - หักค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
              - หักค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดา 1 คน จำนวน 30,000 บาท
              - หักค่าซื้อ SSF ไป 50,000 บาท
              - หักค่าประกันสุขภาพ 9,000 บาท
              รวมหักไป 209,000 บาท

              จะเหลือรายได้สุทธิ 291,000 บาท


ขั้นตอนที่ 3 นำรายได้สุทธิที่ได้ มาเทียบอัตราภาษี

          ปัจจุบันใช้วิธีเสียภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งอัตราภาษีในปี 2566 เป็นดังนี้ 

          อัตราภาษีแบบขั้นบันได

                -  รายได้ 0-150,000 บาท ยกเว้นอัตราภาษี    

                -  รายได้ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5% (ภาษีที่ต้องเสียสูงสุดในขั้นนี้คือ 7,500 บาท)

                -  รายได้ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 20,000 บาท)

                -  รายได้ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 37,500 บาท)

                -  รายได้ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 50,000 บาท)

                -  รายได้ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 250,000 บาท)

                -  รายได้ 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 900,000 บาท)

                -  รายได้ 5,000,000 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%
      
          กรณีของนาย A มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 291,000 บาท เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 5% แต่ในจำนวนนี้ 150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี จึงคงเหลือส่วนที่ต้องเสียภาษีอยู่ที่ (291,000-150,000) = 141,000 บาท ที่อัตรา 5% คิดเป็นเงินภาษี 7,050 บาท

คำนวณภาษี


ตัวอย่างที่ 2

          นางสาวบี ทำงานมีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว รวมทั้งปี 350,000 บาท ส่งเงินสมทบประกันสังคม 9,000 บาท ซื้อประกันชีวิตไว้ 40,000 บาท บริจาคเงินสาธารณกุศล 2,000 บาท

          คำนวณภาษีได้ดังนี้

              - หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท
              - หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
              - หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท
              - หักค่าซื้อประกันชีวิต 40,000 บาท
              - หักเงินบริจาค 1 เท่า คือ 2,000 บาท
             
              รวมหักค่าลดหย่อนไป 211,000 บาท

              ดังนั้น รายได้สุทธิของนางสาวบี คือ 350,000-211,000 เท่ากับมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 139,000 บาท จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2566 เพราะรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้น

ตัวอย่างที่ 3

          นายซี ทำงานมีรายได้รวมทั้งปี 800,000 บาท เลี้ยงดูบุตรอายุ 6 ขวบ และ 4 ขวบ ส่งเงินสมทบประกันสังคม 6,300 บาท ซื้อประกันชีวิตไว้ 50,000 บาท เลี้ยงดูบิดา-มารดา 2 คน คำนวณภาษีได้ดังนี้

              - หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท
              - หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
              - หักค่าลดหย่อนบุตร 2 คน รวม 60,000 บาท
              - หักค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา 2 คน รวม 60,000 บาท
              - หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท
              - หักค่าซื้อประกันชีวิต 50,000 บาท

              รวมหักค่าลดหย่อนไป 339,000 บาท

              จะเหลือรายได้สุทธิ 800,000-339,000 = 461,000 บาท จึงต้องเสียภาษีที่ขั้น 10% ซึ่งคำนวณแต่ละขั้นได้ดังนี้

              - 150,000 บาทแรก ไม่เสียภาษี
                  จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณ (461,000-150,000) = 311,000 บาท

              - ส่วนต่อมาเสียภาษี 5% ซึ่งจำนวนเงินภาษีของฐาน 5% คือ 7,500 บาท
                  จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณต่อที่ฐาน 10% (311,000-150,000) = 161,000 บาท

              - เงินส่วนที่เหลือ 161,000 บาท นำมาคิดภาษีที่ฐาน 10% จะเท่ากับ 16,100 บาท

            นำเงินภาษีแต่ละขั้นมารวมกัน (7,500+16,100) เท่ากับนายซีต้องเสียภาษี 23,600 บาท

            หรือถ้าบางคนยังงง ๆ กับการคิดภาษีของนายซีว่าทำไมต้องคิดที่ฐาน 5% ด้วย แล้วจะคิดฐาน 10% ทีเดียวเลยไม่ได้เหรอ งั้นลองมาคิดง่าย ๆ ที่ฐาน 10% ทีเดียวเลยก็ได้ค่ะ

            ก็คือ นายซีมีเงินได้สุทธิ 461,000 บาท ก็จะตกฐานภาษี 10% ดังนั้นนายซีต้องจ่ายภาษีสะสมในขั้น 5% คือ 7,500 บาทแล้วแน่ ๆ
    
            ทีนี้ส่วนที่เหลือคือ เงินได้สุทธิ - 300,000 จะเท่ากับ 461,000-300,000  = 161,000 ให้นำมาคิดที่ฐาน 10%

          ดังนั้น 10% ของ 161,000 บาท จะเท่ากับ 16,100 บาท เมื่อรวมกับภาษีสะสมของขั้น 5% คือ 7,500 บาท จะเท่ากับว่านายซีต้องเสียภาษี 7,500+16,100 = 23,600 บาท เช่นกันค่ะ

กรณีมีเงินได้ประเภทอื่น


          สำหรับคนที่มีเงินได้ประเภทอื่นนอกจากเงินเดือนด้วย จะมีการหักค่าใช้จ่ายที่ต่างกันไป ซึ่งต้องนำไปคำนวณอีกที ได้แก่

          - เงินได้ประเภทที่ 1 (เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าคอมมิชชัน เบี้ยเลี้ยง บำเหน็จ บำนาญ) : หัก 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท 
          - เงินได้ประเภทที่ 2 (เงินได้จากตำแหน่งงานที่ทำ หรือการรับทำงานให้ เช่น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า เบี้ยประชุม ฟรีแลนซ์) : หัก 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
          - เงินได้ประเภทที่ 3 (ค่าลิขสิทธิ์) : หัก 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือ หักเฉพาะค่าสิทธิ
          - เงินได้ประเภทที่ 4 (ดอกเบี้ย, เงินปันผล) : หักค่าใช้จ่ายไม่ได้
          - เงินได้ประเภทที่ 5 (ค่าเช่า) : หักค่าใช้จ่ายได้ 10-30% หรือหักตามจริง
          - เงินได้ประเภทที่ 6 (ค่าวิชาชีพอิสระ) : แพทย์ประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือตามจริง ส่วนอาชีพนักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์ หักค่าใช้จ่ายได้ 30% หรือหักตามจริง  
          - เงินได้ประเภทที่ 7 (ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ) : หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือหักตามจริง
          - เงินได้ประเภทที่ 8 (อื่น ๆ) : หักค่าใช้จ่ายได้ 60% (เฉพาะกิจการ 43 ประเภท) หรือหักตามจริง 

         และหากมีเงินได้ประเภทอื่น ๆ นอกจากเงินได้ประเภทที่ 1 (เงินเดือน โบนัส ค่าคอมมิชชัน เบี้ยเลี้ยง บำเหน็จ บำนาญ) รวมกันเกิน 1 ล้านบาทต่อปี จะต้องลองใช้วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา คือ

          (เงินได้ทั้งหมด - เงินได้ประเภทที่ 1) x 0.5%

          แล้วเปรียบเทียบกันดูว่า
          1. วิธีคำนวณภาษีแบบปกติ คือ (รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
          กับ 2. วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา  คือ (เงินได้ทั้งหมด - เงินได้ประเภทที่ 1) x 0.5%
          แบบไหนต้องจ่ายภาษีมากกว่าก็ให้ใช้วิธีนั้นในการคำนวณเพื่อเสียภาษี

          ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ สำหรับวิธีคำนวณภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปี หรือถ้าหากใครไม่อยากเสียเวลากับการนั่งคิดเลขทีละตัว ก็สามารถใช้ตัวช่วยได้ค่ะ โดยมีโปรแกรมคำนวณภาษีให้ลองไปใช้กัน เช่น

          - set.or.th
          - kasikornasset.com
          - scbam.com

           อ้อ ! สำหรับใครกำลังจะยื่นภาษีออนไลน์ด้วยตัวเอง เข้าไปดูวิธียื่นได้ที่ ขั้นตอนยื่นภาษีออนไลน์ ด้วยตัวเอง    
                              

ตรวจสอบการขอคืนภาษี


          หลังจากยื่นเอกสารไปแล้ว 1 วันทำการ สามารถสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร สอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี 

อ่านเพิ่มเติม: 6 วิธี ขอคืนภาษี 2566 แบบได้รับเงินเร็วทันใจ ไม่ต้องรอนาน

ยื่นภาษี
ภาพจาก : กรมสรรพากร


          ทั้งนี้ หากต้องการได้เงินภาษีคืนโดยเร็ว แนะนำให้ยื่นภาษีในช่วงเดือนมกราคม และเลือกคืนภาษีผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประจำตัวประชาชนนะคะ


บทความที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

          - เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี เช็กเลย...ถ้ามีรายได้เท่านี้ ต้องเสียภาษีกี่บาท
          - เงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี แล้วแบบนี้ยังต้องยื่นภาษีด้วยไหม ? 
          - ขายของออนไลน์เสียภาษีอย่างไร ? วิธีคำนวณง่าย ๆ ก่อนยื่นภาษี 
          - ขั้นตอนยื่นภาษีออนไลน์ ง่าย ๆ มือใหม่ก็ทำได้ 
          - ยื่นภาษีผิดทำไงดี ไม่ต้องตกใจไป แค่ยื่นใหม่ก็จบแล้ว ! 
          - แยกยื่นภาษีสามี-ภรรยา VS รวมยื่น แบบไหนเหมาะกับใคร 



* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : กรมสรรพากร, กรมสรรพากร 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นมีวิธีคำนวณอย่างไร มาดูกันเลย อัปเดตล่าสุด 9 มกราคม 2567 เวลา 11:27:59 4,725,434 อ่าน
TOP