อัตราภาษีเงินได้
บุคคลธรรมดา 2567
วิธีคำนวณภาษีเงินได้
บุคคลธรรมดา 2567
1. นำรายได้ทุกช่องทางตลอดทั้งปีนั้นมารวมกัน
2. หักค่าใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งแตกต่างกันตามประเภทของเงินได้ คือ
-
เงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 : หักค่าใช้จ่ายรวมกันได้ไม่เกิน 50% ของเงินได้ และไม่เกิน 100,000 บาท (มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่จะอยู่ในข้อนี้ คือหักได้ไม่เกิน 100,000 บาท)
-
เงินได้ประเภทที่ 3 : หักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือตามที่จ่ายจริง
-
เงินได้ประเภทที่ 4 : ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้
-
เงินได้ประเภทที่ 5 : หักค่าใช้จ่ายได้ 10-30% (ขึ้นอยู่กับประเภททรัพย์สิน) หรือหักตามจริง
-
เงินได้ประเภทที่ 6 : หักค่าใช้จ่ายได้ 30-60% (ขึ้นอยู่กับอาชีพ) หรือหักตามจริง
-
เงินได้ประเภทที่ 7 : หักค่าใช้จ่ายได้ 60% ของเงินได้ หรือหักตามจริง
-
เงินได้ประเภทที่ 8 : หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 40-60% ของเงินได้ หรือหักตามจริง
เงินได้พึงประเมิน คืออะไร แต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่
3. หักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่เรามี เช่น ประกันสังคม, ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, ค่าลดหย่อนบุตร, ช้อปดีมีคืน ฯลฯ
4. เหลือเงินเท่าไรจะเรียกว่า “เงินได้สุทธิ” ที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีต่อไป
แต่ถ้ายังคำนวณไม่ถูก ลองเช็กวิธีคำนวณภาษีเงินได้ ที่นี่
ลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง
สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์มีอยู่หลายประเภท อาจแบ่งเป็นหมวดใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
-
หมวดลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
-
หมวดประกันชีวิตและสุขภาพ
-
หมวดลงทุนเพื่อการออมและการเกษียณ
-
หมวดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
-
หมวดเงินบริจาค
ตามมาอ่านรายละเอียดของแต่ละกลุ่มว่ามีค่าลดหย่อนเท่าไรบ้าง
ลดหย่อนภาษี
หมวดลดหย่อนส่วนตัว
และครอบครัว
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว
2. ค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ 60,000 บาท
-
ต้องเป็นสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส
-
คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน ไม่ได้แยกยื่นภาษี
3. ลดหย่อนภาษี ฝากครรภ์และคลอดบุตร
เงื่อนไข
-
หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง
-
ต้องเป็นค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2567
-
สำหรับคนที่ตั้งครรภ์ปี 2567 แต่จะไปคลอดบุตรปี 2568 ให้ลดหย่อนตามปีที่ใช้สิทธิ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เช่น จ่ายค่าฝากครรภ์ในปี 2567 จำนวน 20,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนภาษี ปี 2567 ได้ 20,000 บาท ส่วนสิทธิที่เหลืออีก 40,000 บาท นำไปใช้ในการคลอดบุตรปี 2568 ได้
-
กรณีคลอดบุตรแฝด สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์คราวเดียว
-
สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตรมาหักลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่
-
สิทธิลดหย่อนภาษีดังกล่าวเมื่อนำไปรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรจากสวัสดิการภาครัฐและเอกชนต้องไม่เกิน 60,000 บาท
4. ลดหย่อนภาษีบุตร
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
-
หากเป็นบุตรตามกฎหมาย สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร
-
หากเป็นบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
-
กรณีมีทั้งบุตรตามกฎหมายและบุตรบุญธรรม ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดมาหักก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหัก รวมกันได้ไม่เกิน 3 คน
-
กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่รวมเป็นจำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้
สำหรับตัวบุตรที่จะนำมาหักลดหย่อนภาษีต้องมีคุณสมบัติตามนี้ด้วย
-
บุตรมีอายุอยู่ระหว่างแรกเกิดจนถึง 20 ปี ในปีภาษีนั้น
-
หากบุตรมีอายุระหว่าง 21-25 ปี ในปีภาษีนั้น ต้องกำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
-
หากบุตรมีอายุ 25 ปีขึ้นไป ในปีภาษีนั้น ต้องเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
-
บุตรต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป (ยกเว้นเงินปันผล) หรือรายได้ที่มีนั้นได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย
5. ลดหย่อนภาษี บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป
เงื่อนไข
-
ต้องเป็นบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป และต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
-
ใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนบุตรในข้อ 3 อีก 30,000 บาท ดังนั้น บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตร รวม 60,000 บาท)
-
นับลำดับของบุตรทุกคนไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม
6. ลดหย่อนภาษี ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนสำหรับบิดา-มารดาของตัวเอง และบิดา-มารดาคู่สมรส ได้คนละ 30,000 บาท ดังนั้น จะใช้สิทธิได้มากที่สุดคือ 4 คน จำนวนไม่เกิน 120,000 บาท
-
บิดา-มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
-
หากเป็นบิดา-มารดาของคู่สมรส จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ก็ต่อเมื่อคู่สมรสต้องไม่มีรายได้
-
บิดา-มารดาออกหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ให้กับบุตรที่จะขอลดหย่อนภาษีด้วย
-
ลูกใช้สิทธิได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เช่น หากลูกคนที่ 1 ใช้สิทธินี้ไปแล้ว ลูกคนอื่น ๆ ไม่สามารถใช้ได้อีก
7. ลดหย่อนภาษี ค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ
-
ใช้สิทธิได้ 60,000 บาทต่อคน
-
ต้องเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
-
ผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
หมายเหตุ :
-
กรณีผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา-มารดา-บุตร-คู่สมรสของผู้มีเงินได้ สามารถใช้สิทธิรวมกันได้ เช่น บิดาอายุ 85 ปี เป็นผู้พิการ ไม่มีรายได้ เราสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 90,000 บาท (ค่าลดหย่อนบิดา 30,000 + ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000 บาท)
-
กรณีคู่สมรสเป็นผู้พิการและไม่มีรายได้ สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 + ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000)
ลดหย่อนภาษี
หมวดประกันชีวิตและสุขภาพ
1. ลดหย่อนภาษี ประกันสังคม
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง คือ
-
มนุษย์เงินเดือน ซึ่งเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 9,000 บาท
-
ผู้ประกันตน มาตรา 39 สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 5,184 บาท
-
ผู้ประกันตน มาตรา 40 สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 3,600 บาท
2. ลดหย่อนภาษี ประกันชีวิต/ประกันสะสมทรัพย์
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อทำประกันชีวิตทั่วไป ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต
เงื่อนไขประกันชีวิต/ประกันสะสมทรัพย์
- เป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- มีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสม (เงินปันผลหรือเบี้ยคืนรายปี)
- ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย
- หากเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี ถือว่าผิดเงื่อนไข จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
เงื่อนไขเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต
- ต้องเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิตกับธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- ฝากเงินตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป โดยผู้มีเงินได้เป็นผู้ฝากเท่านั้น
- ได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี ต้องไม่เกิน 20% ของเงินฝากรายปี
- หักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่ฝากเงินจริง แต่เมื่อรวมกับเงินที่ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
3. ลดหย่อนภาษี ประกันสุขภาพตัวเอง
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตของตัวเองและเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
เงื่อนไขประกันสุขภาพที่นำมาลดหย่อนภาษีได้
-
ประกันให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
-
ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
-
ประกันภัยโรคร้ายแรง
-
ประกันภัยการดูแลระยะยาว
4. ลดหย่อนภาษี ประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้
-
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
-
ต้องเป็นการซื้อประกันชีวิตให้คู่สมรสตามกฎหมายที่ไม่มีรายได้
-
ต้องเป็นสามี-ภรรยาตลอดทั้งปีภาษี หมายความว่า หากจะใช้สิทธิในปี 2567 จะต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสมาก่อนปี 2566
5. ลดหย่อนภาษี ประกันสุขภาพบิดา-มารดา
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิได้ทั้งบิดา-มารดาของตัวเอง หรือบิดา-มารดาของคู่สมรส โดยต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป
-
บิดาหรือมารดาต้องอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 180 วัน ในปีภาษีนั้น
-
ลูกที่จะใช้สิทธิต้องเป็นบุตรตามกฎหมายเท่านั้น บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิได้
-
ลูกสามารถใช้สิทธิได้หลายคน โดยหารเฉลี่ยกัน เช่น ลูก 2 คน ร่วมกันซื้อประกันสุขภาพให้บิดา จำนวน 15,000 บาท ดังนั้น ลูกแต่ละคนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพบิดาไปลดหย่อนภาษีได้คนละ 7,500 บาท
-
แบบประกันสุขภาพของบิดา-มารดาที่นำมาลดหย่อนภาษีได้จะต้องเป็นความคุ้มครองด้านใดด้านหนึ่งใน 4 ด้านเท่านั้น คือ ค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย กรณีเจ็บป่วยทั่วไป, ค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย กรณีอุบัติเหตุ, ประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง และประกันคุ้มครองการพยาบาลสำหรับการเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care)
ลดหย่อนภาษี
หมวดลงทุนเพื่อการออม
และการเกษียณ
1. ลดหย่อนภาษี กองทุนรวม Thai ESG
กองทุน Thai ESG หรือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) เป็นกองทุนรวมที่เลือกลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศไทยที่เข้าเงื่อนไขการเป็น ESG คือ Environment (สิ่งแวดล้อม), S คือ Social (สังคม) และ G คือ Governance (ธรรมาภิบาล) โดยปัจจุบันมีการปรับเงื่อนไขเพื่อกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เฉพาะในปี 2567-2569
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
-
ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2567 จึงจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2567 ได้
-
ต้องถือครองกองทุนรวม Thai ESG ไม่ต่ำกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ หากขายก่อนครบกำหนดจะถือว่าทำผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี และต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้น
-
ไม่นับวงเงินรวมกับกลุ่มลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณอื่น ๆ
กองทุน Thai ESG ปี 2567 ปรับใหม่ ใช้ลดหย่อนภาษีมากกว่าเดิม เช็กเงื่อนไขเลย
2. ลดหย่อนภาษี SSF หรือ กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund)
กองทุนรวม SSF (Super Savings Fund) เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ที่สามารถเลือกลงทุนได้หลายสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น แบบผสม ทรัพย์สินทางเลือกอื่น ๆ
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
-
ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2567 จึงจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2567 ได้
-
ถือครองอย่างน้อย 10 ปี (วันชนวัน) หากขายก่อนครบกำหนดจะถือว่าทำผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี และต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้น
-
วงเงินที่ซื้อกองทุน SSF เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
3. ลดหย่อนภาษี RMF หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund)
กองทุนรวม RMF (Retirement Mutual Fund) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเป็นกองทุนรวมที่เน้นการออมในระยะยาว เพื่อให้เงินงอกเงยและสร้างความมั่นคงทางการเงินเมื่อเกษียณ
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
-
ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2567 จึงจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2567 ได้
-
ต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ซื้อแล้วต้องรอจนอายุ 55 ปี ถึงขายได้)
-
ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็ม นับจากวันที่ลงทุนวันแรก โดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน คือปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีการลงทุนในปีนั้น
-
ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี โดยไม่กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการซื้อ
-
วงเงินที่ซื้อกองทุน RMF เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
4. ลดหย่อนภาษี กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของรายได้
-
จำนวนเงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
5. ลดหย่อนภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ โดย 10,000 บาทแรก หักเป็นรายการลดหย่อน ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท หักเป็นรายการยกเว้นเงินได้ ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี โดยสามารถนำเงินส่วนเกินนี้ไปหักออกจากเงินได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายได้
-
จำนวนเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กองทุนรวม RMF, กบข., กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
6. ลดหย่อนภาษี กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้
-
จำนวนเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, RMF, กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
7. ลดหย่อนภาษี กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
-
จำนวนเงินสมทบกองทุนการออมแห่งชาติ เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, RMF, กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
8. ลดหย่อนภาษี ประกันชีวิตแบบบำนาญ
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 15% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
-
หากวงเงินที่ซื้อประกันชีวิตแบบทั่วไปยังไม่ครบ 100,000 บาท สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปรวมกับสิทธิลดหย่อนประกันชีวิตทั่วไปให้ครบ 100,000 บาทก่อน ส่วนที่เหลือจึงสามารถใช้สิทธิเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้
-
แบบประกันบำนาญต้องจ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
-
ต้องเป็นประกันบำนาญที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป
-
ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย
-
วงเงินที่จ่ายเบี้ยประกันบำนาญ เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนรวม SSF หรือกองทุนรวม RMF แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ลดหย่อนภาษี
หมวดกระตุ้นเศรษฐกิจ
1. ลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt (ช้อปดีมีคืน)
โครงการ Easy E-Receipt หรือบางคนเรียกว่า ช้อปดีมีคืน ให้สิทธิผู้เสียภาษีเงินได้สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการที่ตรงตามเงื่อนไข ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 มาใช้ลดหย่อนภาษีในปี 2567 ได้
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
-
ต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการ และจ่ายค่าสินค้าหรือค่าบริการนั้น ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567
-
ต้องซื้อสินค้า-บริการจากร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น (ใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีแบบกระดาษไม่สามารถใช้ได้)
-
สินค้าและบริการเหล่านั้นต้องเสียภาษี VAT หากเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษี VAT จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ยกเว้นสินค้า 3 รายการที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับโครงการนี้ได้ คือ ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร E-book สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
2. ลดหย่อนภาษี เที่ยวเมืองรอง
เงื่อนไข
-
ต้องเป็นการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 พฤศจิกายน 2567
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
-
ต้องเป็นค่าใช้จ่ายค่าที่พักในโรงแรม / ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย / ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่ใช่โรงแรม / ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว
-
ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice)
เที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษี ชี้พิกัด 55 เมืองรอง กับที่เที่ยวสวย ๆ ทั่วไทย
3. ลดหย่อนภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
-
เป็นดอกเบี้ยจากการกู้ซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้าน คอนโด โดยเราต้องอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ด้วย
-
ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ สถาบันการเงินอื่น สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยทรัพย์สินที่กู้ต้องใช้มาเป็นหลักในการค้ำประกันการกู้ (จำนอง) ด้วย
-
หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
-
กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน โดยไม่สนใจว่าผู้กู้ร่วมมีรายได้ที่จะเสียภาษีหรือไม่ และรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
4. ลดหย่อนภาษี ค่าสร้างบ้านใหม่ ปี 2567-2568
เงื่อนไข
-
ใช้สิทธิลดหย่อนได้ 10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุก 1 ล้านบาท (ล้านละหมื่น) รวม VAT แล้ว สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
-
ต้องเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 - 31 ธันวาคม 2568
-
ต้องเป็นการก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยขึ้นใหม่ ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด ขยาย ซ่อมแซม หรือรื้อถอนอาคาร
-
กรณีร่วมกันทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารหลายคน ให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีโดยเฉลี่ยคนละเท่า ๆ กัน
-
ผู้ใช้สิทธิต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัย ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร หรือใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคาร
-
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในปีภาษีที่ก่อสร้างอาคารเสร็จ โดยดูจากวันสิ้นสุดการก่อสร้างในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร หรือใบอนุญาต ใบแจ้งการก่อสร้างอาคาร แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง
5. ลดหย่อนภาษี เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
เงื่อนไข
-
บุคคลธรรมดาใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
-
สำหรับบุคคลธรรมดาที่ลงหุ้น หรือลงทุนเป็นหุ้นส่วน (ทั้งกรณีจัดตั้งและเพิ่มทุน) ในธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป
-
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลของไทยนั้น ต้องจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ประเภทไม่ประสงค์แบ่งปันกำไร
-
ผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต้องถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเลิกกิจการ เว้นแต่กรณีที่กำหนด
ลดหย่อนภาษี
หมวดเงินบริจาค
1. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ
เงื่อนไข
-
ต้องเป็นสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
-
ต้องบริจาคและบันทึกข้อมูลผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น (หากบริจาคเป็นเงินสด ไม่ได้ผ่านระบบ e-Donation จะลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า)
2. เงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ
เงื่อนไข
-
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เมื่อบริจาคให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ของราชการ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงสถานพยาบาลของสภากาชาดไทย
-
กรณีบริจาคให้มูลนิธิของโรงพยาบาลจะลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า ยกเว้น การบริจาคให้มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.), หน่วยไตเทียมมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ณ ตึกกัลยาณิวัฒนา, โรงพยาบาลสงฆ์ และหน่วยไตเทียมมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ณ ตึกศรีสังวาลย์ โรงพยาบาลอานันทมหิดล สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า (ข้อมูลปี 2567)
-
ต้องมีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือมีการบันทึกข้อมูลบริจาคผ่านระบบ e-Donation ซึ่งส่งข้อมูลถึงกรมสรรพากรโดยตรง
ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลของทางราชการที่หักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 2 เท่า
3. เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬา
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ
เงื่อนไข
-
เป็นการบริจาคเงินให้หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หรือกรมพลศึกษา
-
มีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือมีการบันทึกข้อมูลบริจาคผ่านระบบ e-Donation ซึ่งส่งข้อมูลถึงกรมสรรพากรโดยตรง
4. เงินบริจาคเพื่อการพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ
เงื่อนไข
ต้องบริจาคให้หน่วยงานเพื่อการพัฒนาสังคมผานระบบ e-Donation เช่น
-
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
-
กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา ตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ
-
กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
-
กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
-
กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
-
มูลนิธิชัยพัฒนา
-
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
5. เงินบริจาคให้แก่มูลนิธิด้านสาธารณสุข
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ
เงื่อนไข
ต้องเป็นการบริจาคเงินให้แก่กลุ่มมูลนิธิด้านสาธารณสุขดังต่อไปนี้ ผ่านระบบ e-Donation
-
ศิริราชมูลนิธิ
-
มูลนิธิจุฬาภรณ์
-
มูลนิธิโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช
-
มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี
-
มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า
-
มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
-
มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
-
มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
-
มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-
มูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา
-
มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก
-
มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
-
มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
1. เงินบริจาคทั่วไป
สามารถใช้หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่บริจาคจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
เงื่อนไข
-
เป็นการบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลให้แก่วัดวาอาราม มูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล สถานสงเคราะห์ ฯลฯ
ตรวจสอบรายชื่อมูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล ที่หักลดหย่อนเงินบริจาคได้