เงินได้พึงประเมิน คืออะไร แต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่

           เงินได้พึงประเมิน คืออะไร มีกี่ประเภท รู้ไหมว่าแต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน ใครมีรายได้หลายทางควรรู้
เงินได้พึงประเมิน คืออะไร

          สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เคยยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือเคยยื่นภาษีแล้ว แต่ตัวเองมีรายได้หลายทาง อาจเกิดความสับสนกับคำว่า เงินได้พึงประเมิน หรือที่บางคนเรียกว่า รายได้พึงประเมิน คืออะไรกันแน่ แล้วเงินที่เราได้รับมานั้นจัดอยู่ในเงินได้ประเภทไหน ใครสงสัยตามมาหาคำตอบกัน

เงินได้พึงประเมิน คืออะไร

          เงินได้พึงประเมิน หรือ รายได้พึงประเมิน คือ เงินได้ที่เข้าข่ายต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในที่นี้นับรวมทั้งเงิน ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใดที่คำนวณได้เป็นตัวเงิน รวมทั้งเครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด 

          อธิบายง่าย ๆ ก็คือ เงินและผลประโยชน์ที่เราได้รับมาล้วนเป็นเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้น เช่น เงินเดือน เงินโบนัส เงินที่ได้มาจากการประกอบอาชีพ เงินที่ได้จากการขายของ ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ เครดิตภาษีเงินปันผล ฯลฯ ยกเว้นบางรายการที่มีกฎหมายเขียนระบุว่าเป็น "เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี" เช่น ดอกเบี้ยและเงินรางวัลจากสลากออมทรัพย์ ตรงนี้จะไม่นับว่าเป็นเงินได้พึงประเมินและไม่ต้องเสียภาษี

เงินได้พึงประเมิน มีกี่ประเภท

เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท

          เงินได้พึงประเมิน แบ่งออกเป็น 8 ประเภท ซึ่งแหล่งที่มาของเงินและการหักค่าใช้จ่ายในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแตกต่างกัน ดังนี้

เงินได้ประเภทที่ 1

          คือเงินที่ได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินค่าที่พักที่ได้รับจากนายจ้าง เป็นต้น สามารถหักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

เงินได้ประเภทที่ 2

          คือเงินที่ได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ เช่น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ส่วนลด เบี้ยประชุม บำเหน็จ เงินโบนัส รวมถึงค่าตอบแทนต่าง ๆ ที่ไม่ได้ให้ในฐานะเจ้านายกับลูกน้อง เงินได้ประเภทนี้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เหมือนประเภทที่ 1 คือ หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท 

          อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่มีรายได้ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 จะหักค่าใช้จ่ายรวมกันได้ไม่เกิน 50% ของเงินได้ และไม่เกิน 100,000 บาท เท่านั้น

เงินได้ประเภทที่ 3

          คือค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือตามที่จ่ายจริง

เงินได้ประเภทที่ 4

           คือเงินได้ที่ได้รับมาจากดอกเบี้ย (เช่น ดอกเบี้ยธนาคาร ดอกเบี้ยหุ้นกู้) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร (เช่น เงินปันผลหุ้น เงินปันผลกองทุนรวม กำไรจากการซื้อ-ขายคริปโทเคอร์เรนซี กำไรจากการขายกองทุนรวม LTF / RMF / SSF) เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ โดยเงินได้ประเภทนี้ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ได้

เงินได้ประเภทที่ 5

          คือเงินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน (เช่น ให้เช่าบ้าน เช่าที่ดิน เช่ายานพาหนะ) เงินที่ได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน หรือการผิดสัญญาซื้อ-ขายเงินผ่อน สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 10-30% (ขึ้นอยู่กับประเภททรัพย์สิน) หรือหักตามจริง

เงินได้ประเภทที่ 6

          คือเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ 6 อาชีพ ได้แก่ วิชาชีพกฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ (แพทย์) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งมีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้ 

          ทั้งนี้ หากเป็นแพทย์ประกอบโรคศิลปะ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือตามจริง ส่วนอาชีพนักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์ หักค่าใช้จ่ายได้ 30% หรือหักตามจริง  

เงินได้ประเภทที่ 7

          คือเงินที่ได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญจากการใช้เครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง เป็นการลงทุนที่ต้องรับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ 60% ของเงินได้ หรือหักตามค่าใช้จ่ายจริง ทั้งนี้ หากเป็นการรับเหมาเฉพาะค่าแรง ไม่ได้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ จะถือเป็นการว่าจ้างธรรมดาตามรายได้ประเภทที่ 2

เงินได้ประเภทที่ 8

          คือ เงินได้จากการทำธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเงินได้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินได้ประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 และไม่ได้รับการยกเว้นภาษี อาทิ รายได้ที่ได้รับจากต่างประเทศ เงินที่ได้จากการขายที่ดิน เงินได้จากการแสดง เงินได้จากการขายของ เป็นต้น สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 40-60% ของเงินได้ หรือหักตามจริง

เงินได้พึงประเมิน กับเงินได้สุทธิ 
เหมือนหรือแตกต่างกัน

เงินได้สุทธิ

          เงินได้พึงประเมิน แตกต่างกับ เงินได้สุทธิ เพราะ เงินได้พึงประเมิน คือเงินที่ยังไม่ได้หักค่าลดหย่อนภาษีใด ๆ จึงเป็นรายได้ที่เราได้รับทั้งหมดทั้งมวลในปีภาษีนั้น ในขณะที่ เงินได้สุทธิ เป็นรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ออกไปแล้ว เพื่อนำไปคำนวณภาษีเงินได้ฯ ในปีนั้น และยื่นภาษีต่อไป

          ตัวอย่างเช่น นาย A มีรายได้ทั้งปีรวม 500,000 บาท ส่วนนี้คือเงินได้พึงประเมิน แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนตัว (160,000 บาท) หักเงินสมทบประกันสังคม (9,000 บาท) หักค่าซื้อประกันชีวิต (10,000 บาท) หักค่าซื้อกองทุนรวม SSF (20,000 บาท) จะเหลือเป็นเงินได้สุทธิ 301,000 บาท โดยเงินจำนวน 301,000 บาทนี้จะต้องนำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป

เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี มีอะไรบ้าง

           เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมาย ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อยื่นภาษีฯ มีอยู่หลายรายการ ยกตัวอย่างเช่น

  • ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร บัญชีออมทรัพย์ทุกธนาคารที่รวมกันทั้งปีไม่เกิน 20,000 บาท
  • ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์
  • ดอกเบี้ยเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือนขึ้นไป ที่มียอดฝากไม่เกินเดือนละ 25,000 บาท และเงินฝากรวมทั้งหมดไม่เกิน 600,000 บาท
  • ดอกเบี้ยและเงินรางวัลที่ได้รับจากการฝากสลากออมทรัพย์สิน ทั้งธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ 
  • เงินรางวัลจากการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล
  • เงินที่ได้รับจากการประกันภัยหรือประกันชีวิต หรือการฌาปนกิจสงเคราะห์
  • ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด  
  • เงินที่ได้รับจากกองทุนประกันสังคม เช่น เงินชราภาพ เงินค่าคลอดบุตร เงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน
  • เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลาออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
  • เงินที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เช่น เงินที่ได้รับจากมรดก จากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี เช่น เงินสินสอด อั่งเปา
  • เงินที่ได้จากการขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือสังหาริมทรัพย์ ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร แต่ไม่รวมถึงเรือกำปั่น เรือที่มีระวางตั้งแต่ 6 ตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป หรือแพ
  • เงินที่ได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดก หรือได้จากการให้โดยเสน่หาที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเมืองพัทยา ยกเว้นภาษีเฉพาะเงินได้จากการขายในส่วนที่ไม่เกิน 200,000 บาทแรก
  • ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะที่ลูกจ้างได้รับตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่นั้น 
  • บำเหน็จดำรงชีพของข้าราชการบำนาญ
  • เบี้ยประชุมกรรมาธิการหรือกรรมการ หรือค่าสอน ค่าสอบ ที่ทางราชการหรือสถานศึกษาของทางราชการจ่ายให้
  • เงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ แต่ไม่รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม
  • เงินได้ของผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษีที่ได้รับ และอยู่ในประเทศไทย ได้รับยกเว้นเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
          ทั้งนี้ หากอยากทราบว่าตัวเองมีรายได้พึงประเมินเท่าไร ให้นำรายได้ประเภทที่ 1-8 ที่เราได้รับมาทั้งหมดในปีภาษีนั้น ๆ มารวมกัน โดยไม่ต้องรวมกับรายได้ในส่วนที่ได้รับยกเว้นภาษี หรือถ้าใครยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีนี้ไปแล้ว สามารถตรวจสอบรายได้พึงประเมินของตัวเองจากข้อมูลในแบบภาษีได้เช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้องกับเงินได้พึงประเมิน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เงินได้พึงประเมิน คืออะไร แต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่ อัปเดตล่าสุด 1 ตุลาคม 2567 เวลา 14:28:59 22,627 อ่าน
TOP
x close