ก่อนจะยื่นภาษี 2567 ลองมาเช็กเบื้องต้นกันหน่อยว่าเงินเดือนอย่างเราต้องเสียภาษีไหม แล้วจะต้องจ่ายภาษีกี่บาท ถ้าไม่มีค่าลดหย่อนภาษีใด ๆ เลย
สำหรับคนที่ยังไม่มีเวลาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของตัวเองอย่างละเอียด แต่อยากรู้คร่าว ๆ ว่าเงินเดือนเท่าไหร่ถึงเสียภาษี แล้วถ้ามีเงินเดือน 30,000 หรือ 50,000 จะต้องจ่ายภาษีมาก-น้อยแค่ไหน วันนี้เรารวบรวมข้อมูลอัตราภาษีที่ต้องจ่ายมาบอกให้ทราบกัน เพื่อจะได้ใช้วางแผนลดหย่อนภาษี หรือเตรียมตัวยื่นภาษี 2567 และขอคืนภาษีในช่วงต้นปี 2568
เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี
กรณีทำงานประจำ มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ไม่มีโบนัส ค่าคอมมิชชั่น ค่าโอที เงินปันผล หรือรายได้ส่วนอื่น ๆ หากมีเงินเดือนมากกว่า 25,833 บาท หรือมีรายได้รวมทั้งปีมากกว่า 310,000 บาท อาจเข้าข่ายเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เนื่องจากหากมีรายได้ไม่เกิน 310,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท (ใช้สิทธิ์นี้ได้ทุกคน รวม 160,000 บาท) จะเหลือเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท (310,000-160,000)
โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่า เงินได้สุทธิที่ไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนเงินได้สุทธิที่เกิน 150,000 บาท ต้องเสียภาษี 5-35% ตามตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต่อไปนี้
1. คนมีเงินเดือนไม่ถึง 25,833 บาท อาจต้องเสียภาษีเงินได้ฯ
เพราะบางคนได้เงินเดือนน้อยก็จริง แต่มีรายได้อื่น ๆ นอกจากเงินเดือนที่ต้องนำมารวมเป็นรายได้ทั้งปีด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าคอมมิชชั่น, เงินโอที, เบี้ยเลี้ยงพิเศษ, โบนัส, เงินปันผล, รายได้จากการทำฟรีแลนซ์, รายได้จากการขายของออนไลน์, กำไรจากการขายคริปโต ฯลฯ
เช่น นายเอ มีเงินเดือน 20,000 บาท แต่ได้ค่าคอมมิชชั่นทั้งปี รวม 50,000 บาท ได้โบนัสอีก 30,000 บาท มีรายได้จากการทำฟรีแลนซ์ 60,000 บาท กรณีนี้เมื่อรวมกันแล้ว เท่ากับนายเอมีรายได้ทั้งปี 380,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อนส่วนตัว 160,000 บาท จะเหลือรายได้สุทธิ 220,000 บาท หากนายเอไม่มีค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ มาหักลบออก ก็จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ฐานภาษี 5%
2. คนที่มีเงินเดือนมากกว่า 25,833 บาท อาจไม่ต้องเสียภาษีก็ได้
สำหรับคนที่มีเงินเดือนสูง แต่มีค่าลดหย่อนภาษีหลายรายการก็อาจไม่ต้องเสียภาษีเลย
เช่น นางสาวบี มีเงินเดือน 30,000 บาท แต่มีค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท ลดหย่อนบิดา-มารดา รวม 60,000 บาท จ่ายประกันสังคม 9,000 บาท จ่ายเบี้ยประกันชีวิต 20,000 บาท ซื้อกองทุนรวม RMF 10,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อนส่วนตัว 160,000 บาท จะเหลือรายได้สุทธิ 71,000 บาท จึงไม่ต้องเสียภาษี
ได้เงินเดือนเท่านี้ ต้องเสียภาษีกี่บาท
เงินเดือน 25,000 เสียภาษีเท่าไหร่
ถ้าไม่มีรายได้ทางอื่นอีกจะไม่ต้องเสียภาษีเลย เนื่องจากคนที่มีเงินเดือนไม่เกิน 25,833 บาท เมื่อรวมรายได้ทั้งปีจะไม่เกิน 310,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อนส่วนบุคคลแล้ว ได้รับการยกเว้นภาษี
เงินเดือน 26,000 เสียภาษีเท่าไหร่
หลังจากหักค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อนส่วนตัว 160,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิ 152,000 บาท เท่ากับเสียภาษี 100 บาท
เงินเดือน 27,000 เสียภาษีเท่าไหร่
หลังจากหักค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อนส่วนตัว 160,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิ 164,000 บาท เท่ากับเสียภาษี 700 บาท
เงินเดือน 28,000 เสียภาษีเท่าไหร่
หลังจากหักค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อนส่วนตัว 160,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิ 176,000 บาท เท่ากับเสียภาษี 1,300 บาท
เงินเดือน 30,000 เสียภาษีเท่าไหร่
หลังจากหักค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อนส่วนตัว 160,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิ 200,000 บาท เท่ากับเสียภาษี 2,500 บาท
เงินเดือน 40,000 เสียภาษีเท่าไหร่
หลังจากหักค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อนส่วนตัว 160,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิ 320,000 บาท เท่ากับเสียภาษี 9,500 บาท
เงินเดือน 45,000 เสียภาษีเท่าไหร่
หลังจากหักค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อนส่วนตัว 160,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิ 380,000 บาท เท่ากับเสียภาษี 15,500 บาท
เงินเดือน 50,000 เสียภาษีเท่าไหร่
หลังจากหักค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อนส่วนตัว 160,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิ 440,000 บาท เท่ากับเสียภาษี 21,500 บาท
เงินเดือน 70,000 เสียภาษีเท่าไหร่
หลังจากหักค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อนส่วนตัว 160,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิ 680,000 บาท เท่ากับเสียภาษี 54,500 บาท
สำหรับตัวเลขทั้ง 2 ตารางเป็นจำนวนเงินภาษีสูงสุดที่อาจจะได้จ่าย โดยยังไม่ได้หักค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เช่น เงินสมทบประกันสังคม ซึ่งแต่ละปีอาจจ่ายไม่เท่ากัน ก็สามารถนำเงินสมทบที่จ่ายจริงในปีนั้นไปหักลดหย่อนภาษีได้
นอกจากนี้ ถ้ามีค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เช่น ค่าลดหย่อนบุตร บิดา-มารดา ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ดอกเบี้ยบ้าน กองทุนรวม RMF เงินบริจาคเพื่อการกุศล ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้จ่ายภาษีน้อยลงกว่าตัวเลขในตาราง
ส่วนคนที่มีเงินได้ประเภทอื่นนอกจากเงินเดือนด้วย จะมีการหักค่าใช้จ่ายที่ต่างกันไป ซึ่งต้องนำไปคำนวณอีกที ได้แก่
- เงินได้ประเภทที่ 3 (ค่าลิขสิทธิ์) : หัก 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือ หักเฉพาะค่าสิทธิ
- เงินได้ประเภทที่ 4 (ดอกเบี้ย, เงินปันผล) : หักค่าใช้จ่ายไม่ได้
- เงินได้ประเภทที่ 5 (ค่าเช่า) : หักค่าใช้จ่ายได้ 10-30% หรือหักตามจริง
- เงินได้ประเภทที่ 6 (ค่าวิชาชีพอิสระ) : แพทย์ประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือตามจริง ส่วนอาชีพนักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์ หักค่าใช้จ่ายได้ 30% หรือหักตามจริง
- เงินได้ประเภทที่ 7 (ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ) : หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือหักตามจริง
- เงินได้ประเภทที่ 8 (อื่น ๆ) : หักค่าใช้จ่ายได้ 60% (เฉพาะกิจการ 43 ประเภท) หรือหักตามจริง
* วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
บทความที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นมีวิธีคำนวณอย่างไร มาดูกันเลย
- ลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง อัปเดตวิธีประหยัดภาษี สำหรับบุคคลธรรมดา
- เงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี แล้วแบบนี้ยังต้องยื่นภาษีด้วยไหม ?
- แยกยื่นภาษีสามี-ภรรยา VS รวมยื่น แบบไหนเหมาะกับใคร
- หักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว จะต้องยื่นคำนวณภาษีอีกไหม
- ขายของออนไลน์เสียภาษีอย่างไร ? วิธีคำนวณง่าย ๆ ก่อนยื่นภาษี
- 6 วิธีขอคืนภาษีแบบได้รับเงินเร็วทันใจ ไม่ต้องรอนาน
- ยื่นภาษีออนไลน์ ขั้นตอนง่าย ๆ มือใหม่ทำตามได้
- คำนวณภาษีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไร เมื่อออกจากงาน รู้ไว้ก่อนยื่นภาษี
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คืออะไร พร้อมเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงรู้
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร