หักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว จะต้องยื่นคำนวณภาษีอีกไหม

          จัดการกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย อย่างรายได้ เงินปันผลกองทุนรวม และเงินปันผลหุ้นสามัญอย่างถูกวิธี จะช่วยให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างคุ้มค่า

ภาษี ณ ที่จ่าย

          ช่วงเดือนมีนาคมน่าจะเป็นเวลาที่หลายคนกำลังรวบรวมเอกสารต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปัญหาที่มักพบบ่อย ๆ คือ คนที่มีรายได้อื่นนอกจากเงินเดือนแต่ไม่ได้ยื่นแสดงรายได้ดังกล่าวด้วยสาเหตุบางอย่าง เช่น ไม่รู้ว่าต้องนำมารวมในแบบประเมิน หรือคิดว่าหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว แปลว่าเราหมดภาระภาษีแล้ว หรือจงใจเลี่ยงไม่แสดงรายได้เพราะคิดว่าทางการไม่น่าจะตรวจเจอ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ช้าก็เร็วจะทำให้เกิดการลงโทษคือ มีเบี้ยปรับตามมา แล้วเราจะจัดการกับภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายไปแล้วอย่างไร K-Expert มีคำแนะนำในเรื่องนี้มาฝากค่ะ

          ในทางกฎหมาย "ไม่รู้ไม่ได้แปลว่าไม่ผิด" เพราะการจะแยกระหว่างคนที่ไม่รู้แล้วไม่ได้ยื่นภาษีออกจากคนที่รู้แต่จงใจไม่ยื่นภาษีนั้นทำได้ยาก จึงเป็นหน้าที่ของผู้ยื่นแบบประเมินที่จะต้องทำความเข้าใจเพื่อให้สามารถยื่นภาษีอย่างถูกต้องและครบถ้วนค่ะ

          หลายคนมีรายได้เสริม เช่น เป็นวิทยากรในงานสัมมนา เป็นอาจารย์รับเชิญสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิช่วยออกข้อสอบ เป็นต้น เงินที่ได้มาจากงานเหล่านี้ถือเป็นเงินได้ประเภท 40 (2) คือมาจากการรับจ้างที่จะได้เงินเมื่อทำงานเสร็จสิ้น เวลาได้เงินมานั้นผู้ว่าจ้างจะทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งกรมสรรพากร 3% ของเงินได้

          สำหรับคนที่รับงานในลักษณะที่เข้าข่ายนักแสดงสาธารณะ เช่น ถ่ายโฆษณา เล่นละคร แสดงตลก ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ของเงินได้

          ผู้มีเงินได้อย่างเรา ๆ มักคิดไปเองว่า ผู้ว่าจ้างได้ "จ่ายภาษีแทน" ให้เรียบร้อยแล้ว แต่การหักภาษี ณ ที่จ่ายเหล่านี้เป็นเพียงการนำส่งภาษีบางส่วนเท่านั้น ดังนั้นผู้มีเงินได้ยังคงต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้ประเภทอื่น ๆ ของตัวเองเพื่อยื่นภาษีอีกครั้ง

ภาษี ณ ที่จ่าย

          หลายคนมักถามว่าแล้วกรมสรรพากรจะรู้ได้อย่างไร กรมสรรพากรรู้ค่ะ เพราะตอนผู้ว่าจ้างทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้นต้องมีการระบุว่ารายได้นี้จ่ายให้ใคร โดยบันทึกข้อมูลเลขที่บัตรประชาชนของผู้รับเงินไว้ด้วย ซึ่งข้อมูลนี้อยู่ในระบบเรียบร้อยแล้ว ใครที่คิดว่าตัวเองยื่นภาษีพลาดไปก็ขอให้ไปแจ้งสำนักงานสรรพากรพื้นที่เพื่อคำนวณภาษีใหม่จะดีกว่าค่ะ

          ส่วนคนที่ได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวมเวลาที่เราไปเปิดบัญชีกองทุนรวมนั้นจะมีช่องให้เลือกว่าจะยินยอมให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ไว้หรือไม่ หลายคนมักเลือกไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย แต่การทำแบบนี้จะทำให้เกิดภาระความรับผิดชอบตามมาโดยผู้มีเงินได้ต้องนำเงินปันผลจากกองทุนรวมมายื่นเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีด้วย และที่สำคัญกว่านั้นผู้ที่เลือกยินยอมบ้าง ไม่ยินยอมบ้าง ต้องยื่นแสดงเงินปันผลของกองทุนรวมอื่น ๆ ทุกรายการ แม้ว่าบางกองทุนจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้วก็ตามค่ะ

          สำหรับคนที่คาดว่าจะมีรายได้ในฐานภาษีตั้งแต่ 15% ขึ้นไป แนะนำให้เลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และต้องหักสำหรับทุกกองทุนรวมด้วยเพราะการหักภาษี ณ ที่จ่ายในกรณีของเงินปันผลกองทุนรวมนั้นถือเป็นภาษีสุดท้ายคือ "จ่ายแล้วจบ" ไม่ต้องนำมารวมคำนวณในฐานภาษีของเราทำให้เกิดประโยชน์ทางภาษีมากกว่าค่ะ

          การลืมแสดงรายการเงินได้สองประเภทที่ได้กล่าวข้างต้นนั้นจะส่งผลให้เกิดการตีความว่ามีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงภาษีและทำให้เกิดเบี้ยปรับตามมา อย่างไรก็ดี มีเงินได้อีกประเภทหนึ่งที่เรามักลืมนำมาแสดง ทำให้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่คุ้มเงินได้นั้นก็คือ "เงินปันผลหุ้นสามัญ" ค่ะ

          เงินปันผลที่เราได้รับจากหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และถือเป็นภาษีสุดท้ายเช่นกัน แต่การละเลยไม่นำเงินปันผลจากหุ้นมารวมคำนวณนี้อาจทำให้พลาดโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จาก "เครดิตภาษีเงินปันผล" เพราะเงินปันผลที่เราได้รับมานั้นเป็นกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่หักภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว หากนำเงินก้อนเดียวกันที่เคยถูกหักภาษีไปแล้วมารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดาอีกจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการเสียภาษี กรมสรรพากรจึงกำหนดเรื่องเครดิตภาษีเงินปันผลขึ้นมาเพื่อขจัดความซ้ำซ้อนนี้ และทำให้เราเสียภาษีตามความเป็นจริงค่ะ

          เห็นไหมคะว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายมีความสำคัญต่อการวางแผนภาษีไม่น้อยเลย อย่าลืมศึกษารายละเอียดให้เข้าใจและยื่นภาษีให้ถูกต้องกันด้วยนะคะ

K-Expert Action

          - เลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ของเงินปันผลกองทุนรวม สำหรับผู้ที่มีฐานภาษีตั้งแต่ 15% ขึ้นไป
          - ขอเครดิตภาษีเงินปันผลจากหุ้นสามัญเพื่อไม่ให้เสียภาษีซ้ำซ้อน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว จะต้องยื่นคำนวณภาษีอีกไหม อัปเดตล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2564 เวลา 17:32:09 55,920 อ่าน
TOP
x close