คำนวณภาษีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไร เมื่อออกจากงาน รู้ไว้ก่อนยื่นภาษี

          กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลาออกจากงาน ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ มีวิธีคำนวณยังไงบ้าง มนุษย์เงินเดือนต้องเช็กให้ดี ก่อนยื่นภาษี 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 
          กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นหนึ่งสวัสดิการชั้นดีของเหล่ามนุษย์เงินเดือน เพื่อเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่เอาไว้ใช้หลังเกษียณอายุ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำงานที่เดิมไปตลอดชีวิตจริงไหมล่ะ อาจจะย้ายงานไปที่ใหม่ หรือออกไปทำธุรกิจส่วนตัว จึงจำเป็นต้องลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปด้วย แต่เรารู้กันหรือเปล่าว่า...การลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนอายุ 55 ปีนั้น จะต้องเอาเงินที่ได้ไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยนะ พอได้ยินแบบนี้ หลายคนคงเริ่มอยากรู้แล้วล่ะว่าการคิดภาษีของเงินสำรองเลี้ยงชีพนั้น เขาคิดกันยังไง กระปุกดอทคอม มีรายละเอียดมาฝากกันแล้ว 
 

          ก่อนอื่นอยากให้มารู้จักกับ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" กันก่อนว่าคืออะไร ซึ่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เป็นเหมือนกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ มีไว้เพื่อเป็นเงินออมและหลักประกันทางการเงินให้ลูกจ้างไว้ใช้ยามเกษียณ ออกจากงาน ทุพพลภาพ รวมถึงเป็นหลักประกันให้ครอบครัวลูกจ้าง หากลูกจ้างเสียชีวิต
 
เงินสมทบ เงินสะสม คืออะไร

          ปกติแล้วเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมาจากเงินที่ลูกจ้างยินยอมให้นายจ้างหักเข้ากองทุนทุก ๆ เดือน ที่อัตราระหว่าง 2-15% ของเงินเดือน ซึ่งเงินส่วนนี้เรียกว่า "เงินสะสม" บวกกับ "เงินสมทบ" คือ เงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนเพื่อเป็นสวัสดิการให้ลูกจ้างของตัวเอง ซึ่งกฎหมายก็กำหนดไว้ว่านายจ้างจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง เช่น หากเราเลือกส่งเงินสะสมเข้ากองทุนที่ 5% นั่นคือ นายจ้างก็ต้องสมทบให้เราไม่น้อยกว่า 5% ด้วยเช่นกัน
 
          อย่างไรก็ดี การจ่ายเงินสมทบของแต่ละกองทุน จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักจะกำหนดจ่ายเงินสมทบตามอายุงานของลูกจ้าง เช่น อายุงานไม่ถึง 5 ปี ได้เงินสมทบเพียง 50% แต่ถ้าอยู่ครบ 5 ปีขึ้นไป ถึงจะได้ 100% เป็นต้น
 
          นอกจากนี้ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังมีในส่วนของเงินผลประโยชน์ของเงินสมทบและเงินสะสมอีกด้วย ซึ่งก็คือดอกผลที่เกิดจากการนำเงินสมทบและเงินสะสมไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ นั่นเอง

 
จะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตอนไหน

          เราจะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืน ก็ต่อเมื่อสิ้นสุดจากการเป็นสมาชิกของกองทุนนั้น ๆ ซึ่งมีทั้งหมด 4 กรณี ได้แก่ เกษียณอายุ (ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์), เสียชีวิต, โอนย้ายกองทุน และลาออกจากงาน โดยเงินกองทุนที่เราจะได้รับนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดไว้ในกองทุน ว่าจะจ่ายเงินสมทบเป็นจำนวนเท่าไหร่

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ลาออกจากงาน ทำยังไงกับกองทุนได้บ้าง

          คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าถ้าเราลาออกจากงานเดิมแล้ว จำเป็นต้องลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเลย แต่หารู้ไม่ว่ายังมีอีกหลายวิธีสำหรับจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เวลาที่เราลาออกจากงาน

          1. คงเงินไว้ที่กองทุนเดิม

          เราสามารถเลือกคงเงินไว้ที่กองทุนเดิมต่อไปได้ตามระยะเวลาที่กำหนดของแต่ละกองทุน แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการคงเงินไว้ด้วยนะ ซึ่งการทำแบบนี้มีข้อดีคือ ทำให้ออมเงินไว้ในกองทุนได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง แถมยังโอนเงินจากกองทุนเดิมไปออมต่อในกองทุนใหม่ เมื่อตอนที่เราได้งานใหม่ก็ได้
 
          อีกอย่างคือ ยังเป็นการช่วยลดภาระทางภาษีด้วย เพราะถ้าเรานำเงินออกจากกองทุนเดิม เงินส่วนนั้นจะถือเป็นรายได้ทันที จึงต้องนำไปคำนวณภาษี แต่ถ้าคงเงินไว้ แล้วค่อยย้ายเข้ากองทุนใหม่ตอนที่ได้งานใหม่ ก็จะไม่โดนนำเงินไปคำนวณภาษี หรือบางคนอาจต้องการคงเงินไว้เพื่อรออายุครบ 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเช่นกัน
 
          2. ย้ายไปกองทุนในที่ทำงานใหม่

          หากที่ทำงานใหม่ของเรามีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราสามารถย้ายเงินจากกองทุนเดิมไปกองทุนใหม่ได้ทันที โดยไม่ต้องเสียภาษีหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ แต่ต้องโอนเงินไปทั้งจำนวนเลย ไม่สามารถโอนได้แค่บางส่วนของเงินกองทุน
 
          3. ลาออกจากกองทุนเดิมไปเลย

          อีกทางเลือกเมื่อเราลาออกจากงาน คือ การลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมไปเลย เพื่อรับเงินทั้งจำนวนที่สะสมมา ได้แก่ เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์เงินของเงินสะสมและเงินสมทบ แต่จุดที่ควรระวังถ้าเราจะลาออกจากกองทุน คือ เรื่องการเสียภาษี เพราะเราจะได้รับยกเว้นภาษี ก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้วเท่านั้น ไม่อย่างนั้นก็ต้องลาออกจากกองทุน เนื่องจากทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

คำนวณภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อย่างไร

          อย่างที่บอกไป ถ้าเราลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเลย ปัญหาที่จะตามมาคือ ต้องมีภาระทางภาษีด้วย ซึ่งปกติแล้ว เมื่อเราลาออกจากกองทุนจะได้เงินมา 3 ส่วน ได้แก่ เงินสะสมของตัวเองที่โดนหักทุก ๆ เดือน, เงินสมทบของนายจ้าง และเงินผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ
 
          สำหรับวิธีคิดภาษี เราจะนำเฉพาะเงินสมทบ กับเงินผลประโยชน์เงินสะสมและเงินสมทบ ไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนเงินสะสม จะไม่นำมาคิดด้วย ซึ่งวิธีคำนวณภาษี ของเงินสำรองเลี้ยงชีพ แบ่งเป็น 2 แบบตามระยะเวลาทำงาน คือ ทำงานน้อยกว่า 5 ปี และทำงานมาแล้วมากกว่า 5 ปี
 

          1. ทำงานน้อยกว่า 5 ปี


          ต้องนำเงินที่ได้จากกองทุน ในส่วนของเงินสมทบ และเงินผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ ไปรวมกับเงินได้ทั้งปี เพื่อคำนวณการเสียภาษี ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
 
          2. ทำงานมากกว่า 5 ปี


          จะเลือกนำไปเสียภาษีแบบรวมกับเงินได้ทั้งปี หรือจะเสียแบบแยกยื่นก็ได้ ซึ่งวิธีคิดก็คล้ายกับแบบแรก คือ ไม่ต้องนำเงินสะสมมาคิด นำแค่เงินสมทบ และเงินผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบมาคิดเท่านั้น โดยคำนวณได้ตามนี้

          - นำเงินที่ได้จากกองทุน (เงินสมทบ + เงินผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ) หักค่าใช้จ่ายจำนวน 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน

          - เหลือเงินได้เท่าไหร่ ให้นำไปหักออกอีกครึ่งหนึ่ง

          - สุดท้ายจึงนำเงินได้ที่เหลือไปคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมตามปกติ ซึ่งจะยื่นแยก หรือจะนำไปยื่นรวมกับเงินได้ทั้งปีก็ได้
 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

          ใครที่ยังเห็นภาพไม่ชัด เรามีตัวอย่างการคำนวณง่าย ๆ เปรียบเทียบมาให้ดู ระหว่างกรณีที่ทำงานมากกว่า 5 ปี กับทำงานไม่ถึง 5 ปี ว่าแตกต่างกันอย่างไร
 

          กรณีแรก : นาย A เป็นสมาชิกกองทุนและทำงานมาแล้ว 5 ปี ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาทั้งหมด 370,000 บาท แบ่งเป็น เงินสะสม 150,000 บาท เงินสมทบรวมกับผลประโยชน์เงินสมทบและเงินสะสม 220,000 บาท มีวิธีคิดเงินที่ต้องนำไปยื่นภาษี ดังนี้

          - เงินได้ที่นำมาคิด (เงินสมทบรวมกับผลประโยชน์เงินสมทบและเงินสะสม) เท่ากับ 220,000 บาท

          - หักค่าใช้จ่ายตามปี 7,000 บาท คูณจำนวนปีที่ทำงาน :  7,000*5 = 35,000 บาท

          - เงินได้ที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่าย : 220,000-35,000 = 185,000 บาท

          - หักออกครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่เหลือ : 185,000/2 = 92,500 บาท

          สรุป เงินได้สุทธิที่นำมาคำนวณภาษี เท่ากับ 92,500 บาท
 
          กรณีสอง : นาย  A เป็นสมาชิกกองทุนและทำงานมาแล้ว 4 ปี ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาทั้งหมด 300,000 บาท แบ่งเป็น เงินสะสม 120,000 บาท เงินสมทบรวมกับผลประโยชน์เงินสมทบและเงินสะสม 180,000 บาท มีวิธีคิดเงินที่ต้องนำไปยื่นภาษี ดังนี้

          - เงินได้ที่นำมาคิด (เงินสมทบรวมกับผลประโยชน์เงินสมทบและเงินสะสม) เท่ากับ 180,000 บาท

          - ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้

          สรุป เงินได้สุทธิที่นำมาคำนวณภาษี จึงเท่ากับ 180,000 บาท

 

          เห็นได้ชัดเลยว่าเพียงแค่เรารอให้เวลาทำงานครบ 5 ปี ก่อนลาออกจากกองทุน มีข้อดีทั้งได้เงินในกองทุนเพิ่มขึ้น แถมยังเสียภาษีน้อยลงอีกด้วย เพราะได้สิทธิหักลดหย่อนค่าใช้จ่าย ต่างจากคนที่ทำงานไม่ถึง 5 ปี ที่ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายอะไรได้เลย

          ได้รู้แบบนี้แล้วใครที่กำลังคิดจะลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ลองชั่งใจดูให้ดี ๆ นะ เพราะถึงแม้เราจะได้เงินก้อนโตที่เก็บสะสมออกมาใช้เร็วขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับการไม่มีเงินหลักประกันไว้ใช้ยามเกษียณ แถมอาจจะต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คำนวณภาษีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไร เมื่อออกจากงาน รู้ไว้ก่อนยื่นภาษี อัปเดตล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2564 เวลา 16:52:56 277,495 อ่าน
TOP
x close