x close

ประกันสังคม จ่ายเท่าไหร่ คุ้มครองอะไรบ้าง สรุปทุกสิทธิและวิธีเช็กสิทธิประกันสังคม มาตรา 33, 39, 40

          ประกันสังคม คืออะไร ให้สิทธิประโยชน์อย่างไรกับผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 พร้อมแนะนำวิธีเช็กสิทธิประกันสังคมด้วยตัวเอง
ประกันสังคม

          ประกันสังคม คุ้มครองอะไรบ้าง ? คำถามนี้หลายคนอาจจะตอบได้ไม่ชัดเจนนัก เพราะแม้จะส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประสังคมทุกเดือน แต่ก็เคยใช้สิทธิประกันสังคมอยู่ไม่กี่รายการ ส่วนคนที่ยังไม่เคยเข้าระบบประกันสังคมก็คงอยากรู้เช่นกันว่า ถ้าสมัครประกันสังคม ต้องจ่ายเท่าไหร่ ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง วันนี้เราจึงสรุปทุกเรื่องสำคัญของประกันสังคม มาตรา 33, ประกันสังคม มาตรา 39 และประกันสังคม มาตรา 40 พร้อมแนะนำวิธีเช็กสิทธิประกันสังคมแบบง่าย ๆ ด้วยตัวเองมาบอก

ประกันสังคม คืออะไร

          ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตภายในกลุ่มที่เป็นสมาชิกประกันสังคมด้วยกัน โดยใช้หลักการเฉลี่ยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เปรียบเหมือนเราทำประกันกับรัฐบาลแล้วทุกเดือนจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อแลกกับความคุ้มครองในกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต การว่างงาน เป็นต้น

          ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็ใช้ระบบประกันสังคมเช่นนี้ เพื่อเป็นหลักประกันชีวิตให้กับประชาชนตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต

ประกันสังคม มีกี่แบบ แบบไหนบ้าง

          ประกันสังคมแบ่งตามสถานะของผู้ประกันตน หลัก ๆ จะมีอยู่ 3 ประเภท คือ
  • ประกันสังคม มาตรา 33 คือ ลูกจ้าง มนุษย์เงินเดือน หรือพนักงานประจำที่ทำงานให้กับนายจ้าง ในสถานประกอบการ 
  • ประกันสังคม มาตรา 39 คือ คนที่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาก่อน และได้ออกจากงานมาแล้ว แต่ยังต้องการรักษาสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม จึงสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ
  • ประกันสังคม มาตรา 40 คือ คนที่ทำงานอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า ฟรีแลนซ์ และไม่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 มาก่อน

          นอกจากนี้ ยังมีประกันสังคม มาตรา 38 และมาตรา 41 ซึ่งหลายคนอาจอยู่ในมาตรานี้โดยไม่รู้ตัว โดยทั้ง 2 มาตรา เป็นกลุ่มคนที่มีคุณสมบัติต่อไปนี้

  • ประกันสังคม มาตรา 38 คือ ผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ออกจากงานมาแล้ว แต่ยังมีสถานะเป็นผู้ประกันตนอยู่ และสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมได้เป็นเวลา 6 เดือน พูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อลูกจ้างมาตรา 33 ลาออกก็จะถูกจัดอยู่ในมาตรา 38 ทันที จนกว่าจะพ้น 6 เดือน โดยผู้ประกันตนในกลุ่มนี้ มี 2 ทางเลือก คือ สมัครมาตรา 39 ต่อ เพื่อรักษาสิทธิประกันสังคม กับ ปล่อยให้ผ่านไป 6 เดือน เท่ากับสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
  • ประกันสังคม มาตรา 41 คือ ผู้ประกันตนที่ลาออกจากมาตรา 39 แต่ยังมีสถานะเป็นผู้ประกันตนอยู่ และสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมได้เป็นเวลา 6 เดือน

ประกันสังคม มาตรา 33, 39, 40 แตกต่างกันยังไง

เปรียบเทียบประกันสังคม

          ประกันสังคมทั้ง 3 มาตรา มีข้อแตกต่างสำคัญในเรื่องต่อไปนี้

  1. สถานะของผู้ประกันตน : อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ผู้ประกันตน มาตรา 33 จะต้องเป็นพนักงานประจำที่มีนายจ้าง ส่วนมาตรา 39 ต้องเป็นคนที่ลาออกจากมาตรา 33 แล้วมาสมัครในมาตรา 39 ขณะที่ผู้ประกันตน มาตรา 40 คือ ผู้มีอาชีพอิสระที่ไม่เคยเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 มาก่อน
  2. จำนวนเงินสมทบที่จ่ายต่อเดือน : ผู้ประกันตนแต่ละมาตราจะส่งเงินสมทบไม่เท่ากัน โดยมาตรา 33 จะส่งเงินสมทบ 5% ของรายได้ต่อเดือน (คิดจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท) มาตรา 39 ส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ส่วนมาตรา 40 ขึ้นอยู่กับทางเลือกที่สมัคร
  3. สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ : 

      - ผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้รับความคุ้มครอง 7 รายการ ครอบคลุมการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย และเงินชดเชยการว่างงาน

      - ผู้ประกันตน มาตรา 39 ได้รับความคุ้มครองเหมือนกับผู้ประกันตน มาตรา 39 ยกเว้นจะไม่ได้รับเงินชดเชยการว่างงาน

      - ผู้ประกันตน มาตรา 40 ได้รับความคุ้มครองตามแผนที่เลือก แต่จะไม่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย (ต้องใช้บัตรทองแทน) ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยแล้วแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว จะได้รับเป็นเงินทดแทนรายวัน

      4. วิธีสมัครเป็นผู้ประกันตน

          มาตรา 33 ไม่ต้องสมัครเอง แต่นายจ้างจะดำเนินการให้ ส่วนมาตรา 39 และ 40 จะต้องสมัครเอง

          เมื่อทราบข้อมูลอย่างคร่าว ๆ แล้ว คราวนี้เราจะไปเจาะลึกสิทธิประกันสังคมแต่ละมาตราให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ประกันสังคม มาตรา 33

ประกันสังคม มาตรา 33

ประกันสังคม มาตรา 33 คืออะไร ใครสมัครได้บ้าง

          ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่ทำงานให้กับนายจ้างในสถานประกอบการ อย่างพนักงานออฟฟิศ พนักงานบริษัทเอกชน ถือเป็นผู้ประกันตนภาคบังคับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ที่นายจ้างต้องขึ้นทะเบียนให้ลูกจ้าง โดยลูกจ้างต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ในวันเข้าทำงาน
  • สัญชาติไทย หรือเป็นคนต่างด้าวก็สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคม มาตรา 33 ได้
  • กรณีเป็นคนต่างด้าว ต้องมีใบอนุญาตทำงาน มีบัตรประจำตัวที่กรมการปกครองออกให้ หรือมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

ประกันสังคม มาตรา 33 จ่ายเท่าไหร่

          นายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ดังนี้

  • ลูกจ้าง ส่งเงินสมทบ 5% ของค่าจ้าง คำนวณจากฐานค่าจ้างต่ำสุด 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ดังนั้น ลูกจ้างจะส่งเงินสมทบอยู่ระหว่าง 82.50-750 บาทต่อเดือน หากใครมีเงินเดือนเกิน 15,000 บาท ก็จะส่งเงินสมทบสูงสุดแค่ 750 บาท 
  • นายจ้าง ส่งเงินสมทบ 5% เท่ากับลูกจ้าง
  • รัฐบาล ร่วมจ่ายสมทบในอัตรา 2.75%

ประกันสังคม มาตรา 33 มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

          สิทธิประกันสังคมของมาตรา 33 แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

  1. กองทุนประกันสังคม ให้สิทธิประโยชน์ 7 กรณี ซึ่งต้องไม่เกิดจากการทำงาน
  2. กองทุนเงินทดแทน ให้ความคุ้มครองเมื่อประสบเหตุอันเนื่องจากการทำงาน 4 กรณี  

          โดยจะได้รับสิทธิก็ต่อเมื่อจ่ายเงินสมทบตามเงื่อนไขที่กำหนดในแต่ละกรณี

7 ความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคม สำหรับมาตรา 33

ประกันสังคมสิทธิ์รักษาพยาบาล

1. กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย ซึ่งไม่เกิดจากการทำงาน

          ให้ค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งกรณีตรวจสุขภาพประจำปี และทำฟัน ที่จะเบิกได้ปีละ 900 บาท

2. กรณีทุพพลภาพ ซึ่งไม่เกิดจากการทำงาน

          หากสูญเสียอวัยวะ หรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะ จนเป็นผู้ทุพพลภาพ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ เงินบำเหน็จชราภาพ และหากเสียชีวิต ผู้จัดการศพหรือทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต รวมทั้งค่าทำศพ 50,000 บาท

3. กรณีเสียชีวิต ซึ่งไม่เกิดจากการทำงาน

          ผู้จัดการศพจะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2-6 เดือน (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ) และค่าทำศพ 50,000 บาท

4. กรณีคลอดบุตร

          สำหรับผู้ประกันตนหญิงสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาทต่อครั้ง รวมทั้งค่าตรวจ-รับฝากครรภ์ และเงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอด 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 2 ครั้ง) ส่วนผู้ประกันตนชายที่มีภรรยาคลอดบุตร จะเบิกได้เพียงค่าคลอดบุตร 15,000 บาทต่อครั้ง

5. กรณีสงเคราะห์บุตร

          ผู้ประกันตนที่มีบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 800 บาทต่อเดือนต่อคน คราวละไม่เกิน 3 คน

6. กรณีชราภาพ

          จะได้รับเงินชราภาพเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 
เงินบำเหน็จชราภาพ คือ การจ่ายเงินให้ก้อนเดียว สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
เงินบำนาญชราภาพ คือ การจ่ายเงินเป็นรายเดือนตลอดชีวิต สำหรับคนที่จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี (ไม่จำเป็นต้องติดต่อกัน)

7. กรณีว่างงาน

  • กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน 
  • กรณีลาออกเอง จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในระหว่างการว่างงาน 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

4 ความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน สำหรับมาตรา 33

          จะได้รับการช่วยเหลือเมื่อบาดเจ็บ สูญหาย หรือเสียชีวิต ที่มีสาเหตุมาจากการทำงาน ได้แก่

  1. ค่ารักษาพยาบาล
  2. ค่าทดแทน เช่น ค่าทดแทนเมื่อแพทย์สั่งให้หยุดงาน ค่าทดแทนเมื่อสูญเสียอวัยวะ ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ ค่าทดแทนกรณีเสียชีวิต
  3. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน
  4. ค่าทำศพ

          สำหรับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กองทุนเงินทดแทนได้กำหนดไว้ รวมทั้งวิธียื่นขอรับเงินทดแทน สามารถอ่านต่อได้ที่นี่

          สำหรับเงื่อนไขและรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับประกันสังคม มาตรา 33 สามารถอ่านได้ที่บทความนี้

ประกันสังคม มาตรา 39

ประกันสังคม มาตรา 39

ประกันสังคม มาตรา 39 คืออะไร ใครสมัครได้บ้าง

          ประกันสังคม มาตรา 39 คือ ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ก่อนจะลาออกจากงานประจำ แต่ยังต้องการคงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของประกันสังคมไว้ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ได้ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่ออกจากงาน

          นอกจากนี้ ผู้ที่จะสมัครประกันสังคม มาตรา 39 ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

ประกันสังคม มาตรา 39 จ่ายเท่าไหร่

          ผู้ประกันตน มาตรา 39 ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน (คิดจากฐานสูงสุด 4,800 บาท) และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน

ประกันสังคม มาตรา 39 มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

          ผู้ประกันตน มาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ

1. กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย          

         สามารถรักษาพยาบาลได้ในสถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ รวมทั้งสามารถเบิกค่าทำฟันได้ปีละ 900 บาท นอกจากนี้หากเจ็บป่วยจนแพทย์สั่งให้หยุดงาน จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างรายวัน หรือวันละ 80 บาท ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

2. กรณีทุพพลภาพ

          หากสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต และค่าทำศพ 50,000 บาท

3. กรณีเสียชีวิต

          จ่ายเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2-6 เดือน (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ) และค่าทำศพ 50,000 บาท ให้กับผู้จัดการศพ

4. กรณีคลอดบุตร

  • ผู้ประกันตนหญิง เบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาทต่อครั้ง รวมทั้งค่าตรวจ-รับฝากครรภ์ และเงินสงเคราะห์การหยุดงาน
  • ผู้ประกันตนชายที่มีภรรยาคลอดบุตร เบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาทต่อครั้ง 

5. กรณีสงเคราะห์บุตร

          ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาท ต่อบุตร 1 คน โดยจ่ายให้บุตรที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน

6. กรณีชราภาพ

          ผู้ประกันตน มาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบครบถ้วน มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จประกันสังคม และเงินบำนาญประกันสังคม เมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง 

  • เงินบำเหน็จชราภาพ คือ การจ่ายเงินให้ก้อนเดียว สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
  • เงินบำนาญชราภาพ คือ การจ่ายเงินเป็นรายเดือนตลอดชีวิต สำหรับคนที่จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี (ไม่จำเป็นต้องติดต่อกัน)

          สำหรับเงื่อนไขและรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับประกันสังคม มาตรา 39 สามารถอ่านได้ที่บทความนี้

ประกันสังคม มาตรา 40

ประกันสังคม มาตรา 40

ประกันสังคม มาตรา 40 คืออะไร ใครสมัครได้บ้าง

          ประกันสังคม มาตรา 40 คือ คนทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร พ่อค้า แม่ค้า เน็ตไอดอล อินฟลูเอนเซอร์ เจ้าของกิจการ ฟรีแลนซ์ แม่บ้าน ไรเดอร์ วินมอเตอร์ไซค์ ที่ไม่เคยเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 หากมีสัญชาติไทย อายุ 15-60 ปี ไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการต่าง ๆ หรือไม่เป็นสมาชิกกองทุนของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีลักษณะเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญของส่วนราชการ ก็สามารถสมัครได้

ประกันสังคม มาตรา 40 จ่ายเท่าไหร่

          ผู้สมัครประกันสังคม มาตรา 40 สามารถเลือกได้ 3 ทางเลือก ซึ่งจะจ่ายเงินสมทบไม่เท่ากัน ดังนี้

  • ทางเลือกที่ 1 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นจ่ายสมทบ 100 บาท  
  • ทางเลือกที่ 2 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท
  • ทางเลือกที่ 3 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท

ประกันสังคม มาตรา 40 มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

          สิทธิประกันสังคม มาตรา 40 ขึ้นอยู่กับแผนที่เลือกจ่ายเงินสมทบ สรุปคร่าว ๆ ได้ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 ได้รับความคุ้มครอง 3 กรณี

  1. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย 50-300 บาทต่อวัน (ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก)
  2. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานาน 15 ปี (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ)
  3. เงินค่าทำศพกรณีเสียชีวิต 25,000 บาท และหากจ่ายเงินสมทบมาครบ 60 เดือน ก่อนเสียชีวิต จะได้เพิ่มอีก 8,000 บาท

ทางเลือกที่ 2 ได้รับความคุ้มครอง 4 กรณี

  1. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย 50-300 บาทต่อวัน (ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก)
  2. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานาน 15 ปี (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ)
  3. เงินค่าทำศพกรณีเสียชีวิต 25,000 บาท และหากจ่ายเงินสมทบมาครบ 60 เดือน ก่อนเสียชีวิต จะได้เพิ่มอีก 8,000 บาท
  4. เงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ซึ่งเงินบำเหน็จจะคำนวณจากเงินที่รัฐบาลอุดหนุนเดือนละ 50 บาท นำมาคูณด้วยระยะเวลาที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเพื่อกรณีชราภาพ และบวกด้วยเงินผลกำไรที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน

ทางเลือกที่ 3 ได้รับความคุ้มครอง 5 กรณี

  1. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย 200-300 บาทต่อวัน (ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก)
  2. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน ตลอดชีวิต (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ)
  3. เงินค่าทำศพกรณีเสียชีวิต 50,000 บาท  
  4. เงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน โดยคำนวณจากเงินสะสมกรณีชราภาพเดือนละ 150 บาท คูณจำนวนเดือนที่ส่งเงินสมทบ พร้อมดอกผลจากการนำเงินไปลงทุน และหากจ่ายเงินสมทบมาแล้วครบ 180 เดือน จะได้รับเงินก้อนอีก 10,000 บาท
  5. เงินสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรแรกเกิดถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ จะได้รับคนละ 200 บาทต่อเดือน (คราวละไม่เกิน 2 คน)
สิทธิประกันสังคม มาตรา 40

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน - Social Security Office

ประกันสังคม มาตรา 40 รักษาพยาบาลได้ไหม

          สิทธิประกันสังคม มาตรา 40 ไม่ได้คุ้มครองการรักษาพยาบาล ดังนั้นหากผู้ประกันตนเจ็บป่วยจะต้องใช้สิทธิบัตรทองของ สปสช. แทน 

         สำหรับเงื่อนไขและรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับประกันสังคม มาตรา 40 สามารถอ่านได้ที่บทความนี้

วิธีสมัครประกันสังคมมาตราต่าง ๆ

วิธีสมัครประกันสังคม มาตรา 33

          เนื่องจากผู้สมัครมาตรา 33 ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือคนที่ทำงานตามบริษัทเอกชนทั่วไป ดังนั้นนายจ้างจะเป็นผู้ขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้เองภายใน 30 วัน

วิธีสมัครประกันสังคม มาตรา 39

          สามารถสมัครได้ที่สาขาของสำนักงานประกันสังคม หรือสมัครประกันสังคม มาตรา 39 ออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th

วิธีสมัครประกันสังคม มาตรา 40

          สามารถสมัครได้ 4 ช่องทาง คือ

  1. สำนักงานประกันสังคม 
  2. เว็บไซต์ www.sso.go.th
  3. แอปพลิเคชัน SSO Connect 
  4. หน่วยบริการรับสมัครผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เคาน์เตอร์ห้างบิ๊กซี เคาน์เตอร์ ธ.ก.ส. โดยยื่นบัตรประชาชนให้พนักงานทำการสมัครให้ได้เลย

วิธีเช็กสิทธิประกันสังคม 
ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ทำยังไง

          ถ้าอยากรู้ว่าเรามีเงินสะสมในกองทุนประกันสังคมเท่าไรแล้ว หรือจะได้รับสิทธิประกันสังคมอะไรบ้าง สามารถเช็กสิทธิประกันสังคมออนไลน์ได้ง่าย ๆ 3 วิธี
  1. เช็กสิทธิประกันสังคมผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th/
  2. เช็กสิทธิประกันสังคมผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect ของสำนักงานประกันสังคม 
  3. เช็กสิทธิประกันสังคมผ่าน LINE โดยค้นหา @ssothai เพื่อเพิ่มเพื่อน

          ดูขั้นตอนการใช้งานเพื่อเช็กสิทธิประกันสังคม ทั้ง 3 วิธี ได้ที่บทความนี้

ประกันสังคมว่างงาน ได้เงินเท่าไหร่ ใครมีสิทธิ

ประกันสังคม กรณีว่างงาน

          ประกันสังคมว่างงานให้สิทธิกับผู้ประกันตน มาตรา 33 เท่านั้น ส่วนผู้ประกันตน มาตรา 39 และมาตรา 40 จะไม่ได้รับความคุ้มครองกรณีว่างงาน

          ทั้งนี้ ผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ว่างงาน จะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน และถูกเลิกจ้าง หรือลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย จึงจะสามารถยื่นขอรับเงินว่างงานได้

          ศึกษาเงื่อนไขและขั้นตอนการลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม ได้ที่บทความนี้

เปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมได้ไหม

  • สามารถย้ายโรงพยาบาลประกันสังคมได้ปีละ 1 ครั้ง คือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม ของทุกปี
  • ยกเว้นว่าในระหว่างปี เราย้ายบ้าน ย้ายที่ทำงาน ไม่สะดวกไปรับบริการสถานพยาบาลเดิม จะสามารถขอเปลี่ยนโรงพยาบาลนอกช่วงเวลาที่กำหนดให้เปลี่ยนระหว่างปีได้ โดยต้องยื่นเรื่องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ย้ายที่พักอาศัยหรือย้ายสถานที่ทำงานประจำ

          ดูขั้นตอนการเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมทางออนไลน์ ได้ที่บทความนี้

ขาดส่งประกันสังคมยังใช้สิทธิได้ไหม กี่เดือนถึงหมดสิทธิ

ขาดส่งประกันสังคม มาตรา 33

          มักจะเกิดขึ้นในกรณีที่เราลาออกจากงานประจำมาแล้ว จึงไม่ได้ส่งเงินสมทบต่อ ดังนั้นเราจะยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้นาน 6 เดือน แต่ถ้าพ้น 6 เดือนหลังออกจากงานแล้วยังไม่ได้ทำงานที่ใหม่ หรือสมัครประกันสังคม มาตรา 39 ก็จะไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้อีก

          ยกเว้นว่าเมื่อเวลาผ่านไป ได้กลับเข้าไปเป็นพนักงานประจำอีกครั้ง นายจ้างจึงจะลงทะเบียนประกันสังคม มาตรา 33 และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 33

ขาดส่งประกันสังคม มาตรา 39

          ถ้าขาดส่งประกันสังคม มาตรา 39 มาแล้ว 3 เดือนติดต่อกัน หรือส่งไม่ครบ 9 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน จะหมดสิทธิการผู้ประกันตน มาตรา 39 ทันที และไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้ อีกทั้งไม่สามารถส่งเงินสมทบตามมาตรา 39 ต่อได้อีก ยกเว้นว่ากลับไปทำงานประจำกับนายจ้างใหม่ จะได้สิทธิเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33

ขาดส่งประกันสังคม มาตรา 40

          กรณีสมัครประกันสังคม มาตรา 40 ไว้ แต่ไม่ได้จ่ายเงินสมทบ ถือว่ายังคงมีสถานะเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 อยู่ แต่จะขาดสิทธิรับเงินกรณีต่าง ๆ เช่น เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ซึ่งสิทธิประโยชน์แต่ละประเภทล้วนมีเงื่อนไขว่าต้องส่งเงินสมทบมาแล้วกี่เดือน ภายในระยะเวลากี่เดือน จึงสามารถรับเงินช่วยเหลือได้

เบอร์ประกันสังคม ติดต่อประกันสังคมได้ที่ไหนบ้าง

          สำหรับใครมีข้อสงสัย ต้องการสอบถามข้อมูล หรือต้องการศึกษารายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้สิทธิประกันสังคม สามารถติดต่อได้ที่ช่องทางดังนี้

  • Call Center สำนักงานประกันสังคม โทร. 1506
  • เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th 
  • แอปพลิเคชัน SSO Connect ของสำนักงานประกันสังคม 
  • LINE Official โดยค้นหา @ssothai เพื่อเพิ่มเพื่อน
  • สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ โดยหากเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถตรวจสอบที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ได้ ที่นี่

สรุปสิทธิประกันสังคม มาตรา 33, 39 และ 40

สรุปสิทธิประกันสังคม

          จะเห็นว่า ประกันสังคม เป็นหลักประกันชีวิตขั้นพื้นฐานที่ช่วยคุ้มครองในยามที่เราประสบเคราะห์ภัยอันส่งผลต่อการทำงานและดำรงชีพ ดังนั้นหากต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้อย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องส่งเงินสมทบให้ครบตามเงื่อนไข

บทความที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประกันสังคม จ่ายเท่าไหร่ คุ้มครองอะไรบ้าง สรุปทุกสิทธิและวิธีเช็กสิทธิประกันสังคม มาตรา 33, 39, 40 อัปเดตล่าสุด 28 มิถุนายน 2566 เวลา 15:41:02 107,851 อ่าน
TOP