x close

สิทธิประกันสังคมกรณีว่างงาน ต้องแจ้งประกันสังคมอย่างไร ให้ได้รับเงินเดือนแม้ตกงาน !

          สิทธิประกันสังคมที่คนว่างงานต้องรู้ เพราะสิ่งนี้เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่ไม่ว่าคุณจะตกงาน ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน ไม่รู้จะหาทางออกยังไง ก็อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะยังมีประกันสังคมรองรับอยู่

ประกันสังคม ว่างงาน

          สำหรับคนที่เป็นสมาชิกประกันสังคมและส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลาย้อนหลัง 15 เดือน หากตอนนี้คุณกำลังตกงาน จะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ถ้าไม่ได้ออกจากงานเพราะทำผิดกฎหมาย หรือทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ก็อย่าเพิ่งท้อแท้หรือหมดหวัง อยากให้ลองนึกย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่เราทำงานแล้วพอเงินเดือนออกสำนักงานประกันสังคมก็จะหัก 5% ในทุก ๆ เดือน ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจว่าหักไปทำไม เพราะเงินเดือนที่ได้ก็แทบจะไม่พอใช้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้แหละครับ ตอนที่เรากำลังลำบาก สำนักงานประกันสังคมได้นำเงินที่เรา ๆ ท่าน ๆ เสีย 5% ในทุก ๆ เดือน มาช่วยเหลือเราในยามที่เราตกทุกข์ได้ยาก ด้วยการให้เงินเดือน พร้อมหางานให้เราฟรี ๆ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรติดตามอ่านได้จากบทความนี้นะครับ

          โดยสิ่งแรกที่ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง ลาออกจากงาน หรือว่างงาน ต้องทำคือ รีบไปขึ้นทะเบียนหางาน ณ สำนักจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ลาออก หรือถูกเลิกจ้าง ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมจะได้ให้ความช่วยเหลือตามสิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงาน โดยหลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับมีดังนี้

หลักเกณฑ์ที่จะทำให้ผู้ประกันตนมีสิทธิในกรณีว่างงาน


          ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่น สมมติตกงานวันที่ 1 เดือนกรกฎาคม 2566 ให้นับย้อนไป 15 เดือน คือนับตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2565 - มิถุนายน 2566 แล้วดูว่าในช่วงนั้นเราส่งเงินถึง 6 เดือนไหม ถ้าภายใน 15 เดือนตามช่วงเวลาดังกล่าวผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 6 เดือนก็สามารถใช้สิทธิตรงนี้ได้

ประกันสังคม

เมื่อว่างงานแล้วผู้ประกันตนจะต้องทำอย่างไร


            1. ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์กรมจัดหางาน หรือที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิ์ในเบื้องต้น

            2. มีความสามารถในการทำงานและพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้

            3. ไม่ปฏิเสธการฝึกงาน

            4. ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานหรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเว็บไซต์กรมจัดหางาน ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง และผู้ที่ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี มีดังนี้

            - ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
            - จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
            - ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง
            - ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
            - ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างรับความเสียหายอย่างร้ายแรง
            - ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
            - ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

           ทั้งนี้ผู้ประกันมีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 นับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย

 ประกันสังคม ช่วยได้ ถึงจะว่างงาน ก็ยังได้รับเงินเดือน

สิทธิประกันสังคมว่างงานที่จะได้รับประโยชน์ทดแทน


กรณีถูกเลิกจ้าง


          ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ (อัตราค่าจ้างจริงต่ำสุด) 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน (อัตราค่าจ้างจริงสูงสุด) 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น  ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท หรือถ้าหากผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ยมากกว่าหรือเท่ากับ 15,000 บาท ผู้ประกันตนก็จะได้รับเงินเดือนที่คิดจากฐานไม่เกิน 15,000 บาท หรือเท่ากับ 15,000 x 50/100 = 7,500 บาท 

กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา


          ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

          อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ลาออก) สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต)

          ประโยชน์ทดแทนทุกกรณีเมื่อมีสิทธิต้องยื่นเรื่องรับเงินภายใน 1 ปี เว้นแต่กรณีว่างงาน ผู้ประกันตนจะต้องยื่นขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ต้องยื่นสิทธิภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากยื่นสิทธิเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง และหากยื่นสิทธิเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

          ในกรณียื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน
            

ยื่นว่างงานประกันสังคม ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง


          1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) กรณียื่นผ่านอินเทอร์เน็ตสามารถกรอกในเว็บไซต์ได้

          2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

          3. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้

          4. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)

          5. สำเนาสมุดบัญชีธนาคารประเภทออมทรัพย์ หน้าที่มีชื่อผู้ประกันตน
      

ขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียนว่างงาน เพื่อขอรับเงินชดเชย


ลงทะเบียนว่างงาน

          1. ลงทะเบียนขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานด้วยตัวเองทางอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์กรมจัดหางาน ภายใน 30 วันนับจากลาออกจากงาน

          2. คลิกเข้าสู่ระบบสำหรับบุคคลทั่วไป แล้วลงชื่อเข้าใช้งาน หากยังไม่เคยสมัครให้กด "ลงทะเบียน (เฉพาะผู้ใช้งานใหม่)" เพื่อพิสูจน์ตัวตนในระบบ Digital ID ก่อน

          3. เลือก "ขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงาน" แล้วกดดำเนินการต่อ

          4. คลิกเมนูขึ้นทะเบียนว่างงาน แล้วกรอกข้อมูลต่าง ๆ พร้อมแนบไฟล์เอกสารสำเนาสมุดบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าที่มีชื่อผู้ประกันตน

          5. กดบันทึก ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว (ไม่ต้องส่งเอกสารที่สำนักงานจัดหางานหรือสำนักงานประกันสังคมอีก)


          หากไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด/สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ตามที่สะดวก หรือติดต่อเจ้าหน้าที่สายด่วนกรมการจัดหางาน 1506 กด 2

วิธีรายงานตัวกรณีว่างงาน


          หลังจากลงทะเบียนแล้วจะต้องรายงานตัวผ่านเว็บไซต์ โดยระบบจะแจ้งเตือนเมื่อถึงกำหนดการรายงานตัว

          1. เข้าเว็บไซต์กรมจัดหางาน แล้วเข้าสู่ระบบสำหรับบุคคลทั่วไป 

          2. เลือก "ขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงาน" แล้วกดดำเนินการต่อ

          3. คลิกเมนูรายงานตัว และกดปุ่มรายงานตัว โดยกรอกข้อมูลว่าปัจจุบันมีงานทำแล้ว หรือยังไม่มีงานทำ พร้อมกับค้นหาตำแหน่งงานว่างและเลือกสมัครงานได้

          4. กดบันทึก ระบบจะแสดงข้อความว่าการรายงานตัวเรียบร้อย



          มนุษย์เราชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นรนกันต่อไป ดังนั้นผู้ประกันตนที่กำลังว่างงานอยู่ในขณะนี้ก็อย่าเพิ่งท้อแท้สิ้นหวัง ขอให้ลองมองดูรอบ ๆ ตัวว่ามีโอกาสอะไรยังเปิดกว้างอยู่หรือไม่ ซึ่งหนึ่งในโอกาสนั้นก็คือการไปขึ้นทะเบียนที่สำนักจัดหางานของรัฐ เพื่อให้ช่วยประสานงานในการจัดหางานให้ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะทั้งประหยัดเงิน ประหยัดเวลา ได้เงินมาใช้ แถมยังมีโอกาสได้งานอีกด้วย กระปุกดอทคอมหวังว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้คนว่างงานได้ยิ้มออกกันบ้างนะครับ

          สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยในการลงทะเบียนว่างงาน สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในพื้นที่ใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1506 กด 2
 
 

บทความที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม


          - ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ตกงานสายฟ้าแลบ ! ทำยังไงดี ได้เงินชดเชยเท่าไหร่
 
          - คู่มือมนุษย์เงินเดือน ! ลาออกจากงาน...ต้องทำยังไงกับประกันสังคม

          - ขอคืนเงินประกันสังคม บำเหน็จ บำนาญชราภาพ ก่อนอายุ 55 ปี ได้ไหม ถ้าตกงาน หรือลาออก ?
 
          - ประกันสังคม มาตรา 33 กับสิทธิประโยชน์ที่มนุษย์เงินเดือน-ลูกจ้างจำเป็นต้องรู้ !


ขอบคุณภาพจาก : กรมการจัดหางาน
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม, ราชกิจจานุเบกษา, กรมการจัดหางาน (1), (2) 
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สิทธิประกันสังคมกรณีว่างงาน ต้องแจ้งประกันสังคมอย่างไร ให้ได้รับเงินเดือนแม้ตกงาน ! อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2566 เวลา 16:34:10 377,022 อ่าน
TOP