ประกันสังคม ผ่าคลอด สิทธิประโยชน์ที่คุณพ่อ-คุณแม่ควรรู้ เบิกเงินได้เท่าไหร่ ได้เงินช่วยเหลือเหมือนกับคลอดธรรมชาติหรือเปล่า มาหาคำตอบกัน
ผ่าคลอดบุตร เบิกประกันสังคมได้ไหม ?
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ประกันสังคมให้สิทธิผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าคลอดบุตรประกันสังคมได้
ทั้งกรณีที่เป็นผ่าคลอด หรือคลอดธรรมชาติก็ได้เช่นกัน
โดยจะจ่ายเหมาให้เป็นค่าตรวจและค่าฝากครรภ์ 1,500 บาท และค่าคลอดบุตร
รวมถึงค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์อื่น ๆ อีก 15,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง คือไม่ว่าเราจะจ่ายเงินค่าคลอดบุตรถูกหรือแพงแค่ไหน ก็จะได้เงินช่วยเหลือ 15,000 บาท เท่ากันทุกคน
ประกันสังคม คลอดบุตร ใครมีสิทธิ ?
ผู้ที่จะได้รับสิทธิเงินคลอดบุตรจากประกันสังคมนั้น อันดับแรกต้องเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39 ก่อน ซึ่งไม่รวมผู้ประกันตน มาตรา 40 และจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนคลอดบุตร
ประกันสังคม คลอดบุตร เบิกได้กี่คน ?
ประกันสังคมให้สิทธิผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง ตามจำนวนของบุตร โดยบุตร 1 คน จะเบิกได้ 1 ครั้ง
คลอดโรงพยาบาลอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้ไหม ?
เราไม่จำเป็นต้องไปฝากครรภ์และคลอดที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิก็ได้ โดยจะเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลไหนก็มีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรประกันสังคมได้เหมือนกันหมด
ประกันสังคม คลอดบุตร ได้เงินอะไรอีกบ้างนอกจากค่าคลอด
นอกจากจะได้รับค่าฝากครรภ์ 1,500 บาท และคลอดบุตรเหมาจ่าย 15,000 บาทแล้ว ผู้ประกันตนหญิงที่เป็นคุณแม่ยังมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย (ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุด 15,000 บาท) เป็นระยะเวลา 90 วัน ซึ่งจะใช้สิทธิกับบุตรได้เพียง 2 คนเท่านั้น ถ้ามีบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์หยุดงานแล้ว
ตัวอย่างเช่น มีเงินเดือน 15,000 บาท ก็จะได้เงินสงเคราะห์หยุดงานรวมทั้งหมด 22,500 บาท (7,500x3 เดือน)
ขณะเดียวกัน หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก็จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรอีกเดือนละ 800 บาท ต่อบุตร 1 คน (ปรับเพิ่มจากเดิม 600 บาท) โดยจะได้รับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ยังสามารถลงทะเบียนเพื่อรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดได้ 600 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ขวบ หากแม่หรือผู้ปกครองของเด็กมีคุณสมบัติ ดังนี้
- สัญชาติไทย
- อยู่ในครัวเรือนยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจน คือ มีรายได้รวมของครัวเรือนทั้งหมด หารด้วยจำนวนสมาชิกในครัวเรือนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี
- สัญชาติไทย
- อยู่ในครัวเรือนยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจน คือ มีรายได้รวมของครัวเรือนทั้งหมด หารด้วยจำนวนสมาชิกในครัวเรือนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี
ผู้ชายเบิกค่าคลอดบุตรประกันสังคมได้ไหม ?
กรณีผู้ประกันตนผู้ชายที่เป็นคุณพ่อ จะไม่สามารถเบิกค่าฝากครรภ์ 1,500 บาทได้ แต่จะเบิกค่าคลอดบุตร จำนวน 15,000 บาท และเงินสงเคราะห์บุตร เดือนละ 800 บาท ได้เหมือนกับฝ่ายหญิงเลย ซึ่งจะใช้สิทธิได้แค่เพียงฝ่ายเดียว คือถ้าทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ต้องเลือกว่าจะให้ใครใช้สิทธิ ไม่สามารถใช้สิทธิทั้ง 2 คนได้
ส่วนเงินสงเคราะห์หยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ที่จ่ายในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลา 90 วัน ผู้ประกันตนชายจะไม่สามารถเบิกส่วนนี้ได้ ให้สิทธิเฉพาะฝ่ายหญิงเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าใครเลือกจะให้ฝ่ายชายใช้สิทธิประกันสังคมคลอดบุตร ต้องคิดดูดี ๆ ก่อนนะ เพราะจะเสียสิทธิเงินสงเคราะห์หยุดงานไป แต่ถ้าคุณแม่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน เช่น เป็นแม่บ้าน ประกอบอาชีพอิสระ แต่คุณพ่อเป็นผู้ประกันตน ก็ยังสามารถใช้สิทธิคลอดบุตรของคุณพ่อได้ โดยจะได้เงินค่าคลอด 15,000 บาท ไม่ต่างกัน ทว่าจะไม่ได้เงินสงเคราะห์หยุดงานเหมือนคุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตน
เบิกค่าคลอดบุตรประกันสังคมได้ยังไงบ้าง ?
สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์คลอดบุตร ประกันสังคม ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ รวมถึงสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทุกแห่งทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) ในวัน-เวลาราชการ ซึ่งจะไปยื่นเองหรือให้ผู้อื่นไปยื่นแทนก็ได้ ขอเพียงเอกสารที่ยื่นมีความครบถ้วน ถูกต้อง และอย่าลืมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องให้ชัดเจนด้วย
หรือจะยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทางไปรษณีย์ก็ได้ ด้วยการส่งเอกสารไปตามที่อยู่ของสำนักงานประกันสังคมที่อยู่ใกล้บ้าน และจ่าหน้าซองว่า "ฝ่ายสิทธิประโยชน์"
เบิกค่าคลอดบุตรประกันสังคม ใช้เอกสารอะไรบ้าง ?
เอกสารเพื่อยื่นขอเบิกค่าคลอดบุตร ประกันสังคม มีดังนี้
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01 ให้ผู้ประกันตนกรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
2. สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
3. สำหรับผู้ประกันตนชายให้แนบสำเนาทะเบียนสมรส กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส
4. ใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคลอดบุตร
5. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ 11 ธนาคาร ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารธนชาต, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารอิสลาม, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ทั้งนี้ การยื่นเอกสารหากผู้ประกันตนต้องการจะเบิก ทั้ง 1. เงินค่าคลอดบุตรและเงินหยุดงานเพื่อคลอดบุตร 2. เงินสงเคราะห์บุตร จะต้องยื่นเอกสาร 2 ชุด คือ ชุดแรกสำหรับเงินค่าคลอดบุตรและเงินหยุดงานเพื่อคลอดบุตร ที่เราจะได้รับเป็นเงินก้อนมาเลยครั้งเดียว ส่วนอีกชุดสำหรับเงินสงเคราะห์บุตรที่ประกันสังคมจะจ่ายให้ทุก ๆ เดือน แต่ถ้าต้องการรับสิทธิแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง ยื่นเอกสารแค่ชุดเดียวก็พอ
เบิกค่าคลอดบุตร กี่วันได้เงิน ?
การจ่ายเงินคลอดบุตรนั้น ประกันสังคมจะทำการตรวจสอบข้อมูลและเอกสารของผู้ประกันตน ว่าถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ และหากไม่มีปัญหาอะไร ทางสำนักงานประกันสังคมก็จะโอนเข้าบัญชีของผู้ประกันตนภายใน 5-7 วันทำการ นับจากวันที่เอกสารได้รับอนุมัติ โดยเราสามารถตรวจสอบผลอนุมัติจ่ายเงินได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม
คลอดบุตรแฝด เบิกเงินประกันสังคม ได้เท่าไหร่ ?
กรณีคลอดบุตรแฝด การจ่ายเงินของประกันสังคมจะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. เงินค่าคลอดบุตรและเงินหยุดงานเพื่อคลอดบุตร จะเบิกได้เท่ากันกับคลอดปกติ คือ ได้เงินค่าคลอดแบบหมาจ่าย 15,000 บาท และเงินหยุดงานสูงสุดที่ 22,500 บาท ไม่ใช่ว่าคลอดแฝดจะได้ 2 เท่านะ เพราะประกันสังคมเหมาจ่ายการคลอดเป็นรายครั้ง ไม่ใช่ตามจำนวนบุตร
2. เงินสงเคราะห์บุตร จำนวน 800 บาทต่อเดือน ส่วนนี้จะเบิกได้ตามจำนวนบุตรที่คลอดเลย คือ ถ้าคลอดบุตรแฝด 2 คน ก็จะได้เงินสงเคราะห์บุตรไปเลย 1,600 บาทต่อเดือน แต่จะได้สูงสุดคราวละไม่เกิน 3 คน
แท้งบุตร เบิกเงินประกันสังคมได้ไหม ?
ผู้ประกันตนที่ตั้งครรภ์แล้วแท้งบุตร จะสามารถเบิกเงินค่าคลอดบุตรและเงินหยุดงานเพื่อคลอดบุตรได้เหมือนกัน ถ้ามีอายุครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์ แต่จะไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตร
สรุปแล้วจะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นการคลอดบุตรแบบผ่าคลอด หรือคลอดธรรมชาติ ก็ได้รับสิทธิประกันสังคมไม่ต่างกันเลย ใครที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์คลอดบุตร ประกันสังคม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม หรือโทร. 1506