ลดหย่อนภาษี 2564 มีอะไรบ้าง รู้ไว้ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

           ลดหย่อนภาษี 2564 ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ซื้อ SSF RMF ใช้สิทธิ์ได้เท่าไร มีรายการอื่นอีกไหม ก่อนยื่นภาษีต้องรู้

          เป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกปี เมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด โดยกฎหมายให้เราสามารถนำค่าใช้จ่ายบางรายการไปยื่นหักลดหย่อนภาษีก่อนคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายได้ ซึ่งจะช่วยให้จ่ายภาษีน้อยลง หรือได้เงินคืนภาษีกลับมาด้วย ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ลองมาดูข้อมูลลดหย่อนภาษี ปี 2564 สำหรับมนุษย์เงินเดือนได้เลย 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2564
ใครต้องยื่นภาษีบ้าง ?

ลดหย่อนภาษี 2564

คนโสด

  • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท
  • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

คนมีคู่

  • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 220,000 บาท
  • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท
คํานวณภาษี 2564 ได้อย่างไร

ถ้าอยากรู้ว่าจะต้องเสียภาษีเท่าไร ลองใช้วิธีคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา คือ

     1. นำรายได้ทั้งหมดที่มีในปีนั้นมารวมกัน

     2. นำค่าลดหย่อนต่าง ๆ มาลบออกจากรายได้ เช่น

          - กรณีเป็นเงินได้จากเงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เบี้ยเลี้ยง เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ฯลฯ สามารถหักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

          - หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

          - หักค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ตามที่เรามี

     3. หลังจากนำค่าลดหย่อนทั้งหมดมาลบออกจากรายได้แล้ว เงินส่วนที่เหลือจะเรียกว่า "เงินได้สุทธิ" ซึ่งจะต้องนำเงินจำนวนนี้ไปคำนวณภาษี เพื่อเสียภาษีตามขั้นบันได 5-35% ดังนี้

ลดหย่อนภาษี 2564

          โดยผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นภาษี เท่ากับว่าคนที่มีเงินเดือนไม่เกิน 25,833 บาท จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเมื่อรวมรายได้ทั้งปีจะไม่เกิน 310,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทนั่นเอง

          แต่ถ้าใครยังคำนวณไม่เป็น ก็ลองมาดูวิธีคำนวณภาษีเงินได้ที่นี่
 

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นภาษี

ลดหย่อนภาษี 2564 มีอะไรบ้าง

ในปี 2564 จะมีตัวช่วยลดหย่อนภาษีอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
  • กลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
  • กลุ่มค่าลดหย่อนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
  • กลุ่มเงินบริจาค
  • กลุ่มค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

          ลองไปดูรายละเอียดของแต่ละกลุ่มกันเลย

ลดหย่อนภาษี
กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
ลดหย่อนภาษี 2564

1. ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล

  • จำนวน : 60,000 บาท
  • เงื่อนไข : ลดหย่อนภาษีได้ทันทีที่ยื่นแบบฯ

2. ค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้

  • จำนวน : 60,000 บาท
  • เงื่อนไข :

          - สำหรับสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส

          - คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน ไม่ได้แยกยื่นแบบฯ

3. ค่าลดหย่อนบุตร

  • จำนวน : ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (ไม่จำกัดจำนวนบุตร)
  • เงื่อนไข :                  

            - หากเป็นบุตรตามกฎหมาย สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร

            - หากเป็นบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน

            - หากมีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดมาหักก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหัก รวมกันได้ไม่เกิน 3 คน

            - กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่รวมเป็นจำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้
 

      นอกจากนี้ บุตรที่จะนำมาหักลดหย่อนภาษีต้องมีคุณสมบัติตามนี้ด้วย

            - บุตรมีอายุอยู่ระหว่างแรกเกิดจนถึง 20 ปี ในปีภาษีนั้น

            - ถ้าบุตรมีอายุระหว่าง 21-25 ปี ในปีภาษีนั้น ต้องกำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป

            - ถ้าบุตรมีอายุ 25 ปีขึ้นไป ในปีภาษีนั้น ต้องเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

            - บุตรต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป (ยกเว้นเงินปันผล) หรือรายได้ที่มีนั้นได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย เช่น บุตรที่อายุไม่เกิน 20 ปี และรับเงินปันผล ซึ่งเงินปันผลนั้นจะถือว่าเป็นเงินของผู้ปกครอง และไม่ถือว่าบุตรมีรายได้

4. ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป

  • จำนวน : 30,000 บาทต่อคน (เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนบุตรอีก 30,000 บาท เท่ากับลดหย่อนบุตรคนที่ 2 รวม 60,000 บาท)
  • เงื่อนไข :

            - ต้องเป็นบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่คลอดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

            - ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย

            - นับลำดับของบุตรทุกคน ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม

5. ค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตร

  • จำนวน : หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท
  • เงื่อนไข :          

            - ต้องเป็นค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2564  

            - กรณีตั้งครรภ์ปีนี้ แต่คลอดบุตรปีหน้า ให้ลดหย่อนได้ตามปีที่ใช้สิทธิ์ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เช่น ตั้งครรภ์ปี 2564 จ่ายค่าฝากครรภ์ไปจำนวน 20,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนภาษี ปี 2564 ได้ 20,000 บาท และเมื่อคลอดบุตรในปี 2565 จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี ปี 2565 ได้อีกไม่เกิน 40,000 บาท

            - กรณีคลอดบุตรแฝด สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์คราวเดียว

            - สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตรมาหักลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่

            - สามีสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีค่าคลอดบุตรได้ไม่เกิน 60,000 บาท หากภรรยาไม่มีเงินได้

            - สิทธิ์ลดหย่อนภาษีดังกล่าว เมื่อนำไปรวมกับสิทธิ์การเบิกค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรจากสวัสดิการภาครัฐและเอกชน ต้องไม่เกิน 60,000 บาท

         กรณีอื่น ๆ รวมทั้งหลักฐานที่ใช้ประกอบการยื่นภาษี สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่
 

สรุปอีกครั้ง ! ตั้งครรภ์ หรือคลอดลูก ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่

6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา

  • จำนวน : ลดหย่อนจากบิดา-มารดา (ตัวเอง) และบิดา-มารดาคู่สมรส ได้คนละ 30,000 บาท มากสุดคือ 4 คน ไม่เกิน 120,000 บาท
  • เงื่อนไข :

          - บิดา-มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท

          - หากเป็นบิดา-มารดาของคู่สมรส จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ก็ต่อเมื่อคู่สมรสต้องไม่มีรายได้

          - บิดา-มารดาออกหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ให้กับบุตรที่จะขอลดหย่อนภาษีด้วย

          - หากมีลูกหลายคนจะสามารถใช้สิทธิ์ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เช่น หากลูกคนโตใช้ไปแล้ว ลูกคนอื่น ๆ ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้อีก

ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา 

7. ค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ

  • จำนวน : 60,000 บาทต่อคน
  • เงื่อนไข :

          - ต้องเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

          - ผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
 

          ทั้งนี้ หากผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา-มารดา-บุตร-คู่สมรสของผู้มีเงินได้ ก็สามารถใช้สิทธิ์ควบคู่กันได้เลย เช่น มารดาอายุเกิน 60 ปี เป็นผู้พิการ ไม่มีรายได้ เราสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด (30,000+60,000 บาท) เท่ากับ 90,000 บาท

         หรือหากคู่สมรสเป็นผู้พิการและไม่มีรายได้ ก็สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 + ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000)

ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ

ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ

ลดหย่อนภาษี กลุ่มประกันชีวิต
การออมและการลงทุน
ลดหย่อนภาษี 2564

1. ประกันสังคม

  • จำนวน : ลดหย่อนได้ตามจริง โดยในปี 2564 ผู้ประกันตน มาตรา 33 สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 5,100 บาท เนื่องจากมีการปรับลดเงินสมทบประกันสังคมในเดือนมกราคม-มีนาคม และมิถุนายน-พฤศจิกายน 2564 เพื่อช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์โควิด 19

          ส่วนผู้ประกันตน มาตรา 39 สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 3,003 บาท ขณะที่ผู้ประกันตน มาตรา 40 จะลดหย่อนได้ไม่เกิน 700-3,000 บาท ตามที่จ่ายจริง

2. ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต

  • จำนวน : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • เงื่อนไขประกันชีวิต :

          - ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

          - มีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสม (เงินปันผลหรือเบี้ยคืนรายปี)

          - ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย

          - หากเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี ถือว่าผิดเงื่อนไข จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

  • เงื่อนไขเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต :

          - ต้องเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต (ปัจจุบันมี 2 ธนาคาร คือ ออมสิน และ ธ.ก.ส.)

          - ฝากเงินตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

          - ผู้มีเงินได้เป็นผู้จ่ายเงินฝากเท่านั้น

          - กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี ต้องไม่เกิน 20% ของเงินฝากรายปี

          - มีหลักฐานจากธนาคารผู้รับฝากเงิน

          - หักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่ฝากเงินจริง แต่เมื่อรวมกับเงินที่ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

          ตัวอย่างเช่น หากจ่ายเบี้ยประกันชีวิตในปีนั้นไปแล้ว 40,000 บาท เราจะมีสิทธิ์นำเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตไปลดหย่อนภาษีได้อีก 60,000 บาท

3. ประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้

  • จำนวน : หักตามจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
  • เงื่อนไข : 

          - ต้องเป็นการซื้อประกันชีวิตให้คู่สมรสตามกฎหมายที่ไม่มีรายได้

          - ต้องเป็นสามี-ภรรยาตลอดทั้งปีภาษี ดังนั้น หากเพิ่งแต่งงานกันในปี 2564 จะยังไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ เพราะความเป็นสามี-ภรรยา ไม่ได้มีอยู่ตลอดทั้งปี

4. ประกันสุขภาพตัวเอง

  • จำนวน : ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิต และเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท 
  • เงื่อนไข : ประกันสุขภาพที่นำมาลดหย่อนได้ มีดังนี้

          - ประกันให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ

          - ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก

          - ประกันภัยโรคร้ายแรง

          - ประกันภัยการดูแลระยะยาว

5. ประกันสุขภาพบิดา-มารดา

  • จำนวน : ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  • เงื่อนไข :

          - บิดา-มารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป

          - บิดาหรือมารดาต้องอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 180 วัน ในปีภาษีนั้น

          - ลูกที่จะใช้สิทธิ์ต้องเป็นบุตรตามกฎหมายเท่านั้น บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้

          - ลูกสามารถใช้สิทธิ์ได้หลายคน โดยหารเฉลี่ยกัน เช่น ลูก 2 คน ร่วมกันซื้อประกันสุขภาพให้บิดา จำนวน 15,000 บาท ดังนั้น ลูกแต่ละคนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพบิดาไปลดหย่อนภาษีได้คนละ 7,500 บาท

          - แบบประกันสุขภาพของบิดา-มารดาที่นำมาลดหย่อนภาษีได้จะต้องเป็นความคุ้มครองด้านใดด้านหนึ่งใน 4 ด้านเท่านั้น คือ ค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย กรณีเจ็บป่วยทั่วไป, ค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย กรณีอุบัติเหตุ, ประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง และประกันคุ้มครองการพยาบาลสำหรับการเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care)

6. ประกันชีวิตบำนาญ

  • จำนวน : 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  • เงื่อนไข :

          - ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป

          - ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย

          - จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น

          - เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันที่จ่ายให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

          - หากมีประกันชีวิตแบบทั่วไปอยู่แล้ว แต่ยังไม่ครบ 1 แสนบาท สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปรวมกับสิทธิ์ลดหย่อนประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ครบ 1 แสนบาทก่อน ส่วนที่เหลือก็ยังสามารถนำมาลดหย่อนโดยใช้สิทธิ์เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้ 15% ของเงินได้ที่เสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

7. กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund) หรือกองทุนรวม SSF

          กองทุน SSF หรือ Super Savings Fund เป็นกองทุนรวมเพื่อการออมที่ลงทุนหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนดัชนี ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ปรับรูปแบบมาจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF (Long Term Equity Fund) ที่ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก

  • จำนวน : สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  • เงื่อนไข :

          - ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2564 จึงจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในปี 2564 ได้

          - ต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปี (วันชนวัน) โดยไม่สามารถขายได้ หากขายก่อนครบกำหนด จะถือว่าทำผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี และต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้น

          - จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี

8. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF)

  • จำนวน : หักลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท 
  • เงื่อนไข :

          - เมื่อซื้อ RMF รวมกับกองทุนรวม SSF + กบข. + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนครูโรงเรียนเอกชน + ประกันชีวิตแบบบำนาญ + กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

          - ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ

          - ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี

          - ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็ม นับจากวันที่ลงทุนวันแรก โดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน คือ ปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีการลงทุนในปีนั้น

          - ต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

9. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

  • จำนวน : ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท ส่วนจำนวนเงินที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
  • เงื่อนไข : เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กองทุนรวม RMF, กบข., กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

10. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

  • จำนวน : ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
  • เงื่อนไข :มื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

11. กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน

  • จำนวน : ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
  • เงื่อนไข : เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กบข., RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

12. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

  • จำนวน : ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท
  • เงื่อนไข : เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กบข., RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

(อ่านเพิ่มเติม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร)

ลดหย่อนภาษี กลุ่มอสังหาริมทรัพย์

ลดหย่อนภาษี 2564

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย

  • จำนวน : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • เงื่อนไข :

          - เป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้การเช่าซื้อบ้าน คอนโด หรือที่อยู่อาศัย โดยเราต้องอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ด้วย

          - ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่บนที่ดินของตัวเอง หรือกู้เพื่อซื้อคอนโดมิเนียม

          - ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐต่าง ๆ โดยทรัพย์สินที่กู้ต้องใช้มาเป็นหลักในการค้ำประกันการกู้ (จำนอง) ด้วย

          - หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

          - กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ก็ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน โดยไม่สนใจว่าผู้กู้ร่วมมีรายได้ที่จะเสียภาษีหรือไม่ และรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ลดหย่อนภาษี กลุ่มเงินบริจาค

ลดหย่อนภาษี 2564

          แบ่งเป็นกลุ่มเงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และกลุ่มเงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง
เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

1. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา

  • จำนวน : 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่นก่อนหักลดหย่อนเงินบริจาค เช่น หากบริจาคเงินให้สถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด 3,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่า คือ 6,000 บาท
  •  เงื่อนไข :

          - ต้องเป็นสถานศึกษาที่ ศธ. กำหนด   

          - ต้องบริจาคและบันทึกข้อมูลผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น

ตรวจสอบรายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ให้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนเงินบริจาค

2. เงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ

  • จำนวน : 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
  •  เงื่อนไข :

          - เป็นการบริจาคให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ของราชการ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา องค์การมหาชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ

          - ต้องมีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือมีการบันทึกข้อมูลบริจาคผ่านระบบ e-Donation ซึ่งส่งข้อมูลถึงกรมสรรพากรโดยตรง

          - การบริจาคเงินให้สภากาชาดไทยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลของทางราชการที่หักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 2 เท่า  

3. เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬา

  • จำนวน : 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
  • เงื่อนไข :

          - เป็นการบริจาคเงินให้หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย

          - มีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือมีการบันทึกข้อมูลบริจาคผ่านระบบ e-Donation ซึ่งส่งข้อมูลถึงกรมสรรพากรโดยตรง

ตรวจสอบรายชื่อหน่วยงานด้านกีฬาที่หักลดหย่อนได้ 2 เท่า

ตรวจสอบรายชื่อหน่วยรับบริจาคที่ใช้ระบบ e-Donation

4. เงินบริจาคเพื่อการพัฒนาสังคม

ยกตัวอย่างเช่น

  • กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น

  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก  

  • โครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนหรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม 

  • กองทุนยุติธรรม

  • การจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน 

  • การบริจาคเงินให้แก่กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม

  • มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

  • กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา
     

  • จำนวน : 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
     

เช็กลิสต์ ! บริจาคเงินแบบไหน...ลดหย่อนภาษี 2564 ได้ 2 เท่า

เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ตามปกติ (เท่าที่จ่ายจริง)

1. เงินบริจาคทั่วไป

  • จำนวน : ตามที่บริจาคจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น
  • เงื่อนไข :

          - เป็นการบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ให้แก่วัดวาอาราม มูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล สถานสงเคราะห์ ฯลฯ

ตรวจสอบรายชื่อมูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล ที่หักลดหย่อนเงินบริจาคได้

ตรวจสอบรายชื่อสถานสงเคราะห์ สถานพักฟื้นบำบัดและฟื้นฟูเด็ก คนชรา คนพิการ ที่หักลดหย่อนเงินบริจาคได้

2. เงินบริจาคให้พรรคการเมือง

  • จำนวน : ตามจำนวนที่บริจาคจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 10,000 บาท
กรณียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

          * กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้พิการ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผู้อยู่ในไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น

           * กรณีเป็นผู้สูงอายุ มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น

          * กรณีมีเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น ใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล โดยแนะนำให้สมัครสมาชิกที่เว็บไซต์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วดาวน์โหลดเอกสารไปใช้ยื่นสรรพากร โดยที่เราไม่ต้องคำนวณให้ยุ่งยาก หรือหากยื่นภาษีทางออนไลน์ ก็สามารถดาวน์โหลดไฟล์ไปใส่ในเว็บไซต์ยื่นภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากรได้เลย

สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2564
ลดหย่อนภาษี 2564

ลดหย่อนภาษี 2564

ลดหย่อนภาษี 2564

ลดหย่อนภาษี 2564

           เมื่อทราบว่าปีนี้มีค่าลดหย่อนอะไรบ้างแล้ว ก็เตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อม เพื่อยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งปัจจุบันสามารถยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรได้แล้วด้วย โดยศึกษาขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์ ดูได้เลย

บทความที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 23 ธันวาคม 2564
 

ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสรรพากร (1), (2), (3)
เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลดหย่อนภาษี 2564 มีอะไรบ้าง รู้ไว้ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัปเดตล่าสุด 22 เมษายน 2565 เวลา 12:02:03 317,453 อ่าน
TOP
x close