x close

ลดหย่อนภาษี 2561 มีอะไรบ้าง รู้ไว้คำนวณภาษี ก่อนยื่นภาษี ต้นปี 2562

          ลดหย่อนภาษี 2561 เรามีสิทธิอะไรบ้าง เที่ยวเมืองรอง ประกันสุขภาพ ใช้ลดหย่อนภาษีได้ไหม มาเช็กเงื่อนไขก่อนคำนวณภาษี เพื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ช่วงต้นปี 2562

          ช่วงสิ้นปีเป็นช่วงที่มนุษย์เงินเดือน และบุคคลธรรมดาผู้มีรายได้ กำลังวางแผนจัดการภาษี เพื่อเตรียมยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2561 ในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งถ้าเราทราบว่ามีค่าใช้จ่ายหรือสิทธิอะไรที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้ ก็จะช่วยให้เราเสียภาษีน้อยลง และในปีภาษี 2561 รัฐบาลก็ได้อนุมัติค่าลดหย่อนเพิ่มเติมอีกหลายประเภท กระปุกดอทคอม จึงขอสรุปรวมค่าลดหย่อนภาษี 2561 ทุกรายการมาแจกแจงให้ทราบกัน เพื่อให้เราได้ใช้สิทธิที่มีอย่างเต็มที่

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2561 ใครบ้างต้องยื่นแบบ ?

          ก่อนอื่นต้องบอกว่า ไม่ใช่ว่ามีเงินเดือนน้อยแล้วจะไม่ต้องยื่นแบบ เพราะจริง ๆ แล้วกรมสรรพากรได้กำหนดให้คนที่มีเงินได้แม้มีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ก็ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายได้ด้วยเช่นกัน คือ

          คนโสด
          - หากมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท

          - หากมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
         
          คนมีคู่

          - หากมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 220,000 บาท

          - หากมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท

เช็กอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2561

          ในปีภาษี 2561 จะใช้โครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาเหมือนกับปี 2560 โดยกำหนดอัตราการเสียภาษีแบบขั้นบันได ตั้งแต่ 5-35% สำหรับผู้ที่มีเงินได้สุทธิที่ไม่เกิน 150,000 บาท ยังได้รับการยกเว้นภาษีเช่นเดิม ดังนั้นแล้วจึงเท่ากับว่า คนที่มีเงินเดือนประมาณ 25,833 บาทขึ้นไป หรือมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่เกิน 310,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนตัวรวม 160,000 บาทแล้ว จะเหลือเงินได้สุทธิ 150,000 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี
 

          แต่หากใครมีรายได้ตลอดทั้งปีมากกว่า 310,00 บาท ก็จะต้องเสียภาษี แต่จะเสียภาษีมาก-น้อยแค่ไหนนั้น ต้องมาคิดคำนวณจากค่าลดหย่อนที่เรามีด้วย
 

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2561

           ใครที่ยังคำนวณไม่เป็น ก็ลองมาดูวิธีคำนวณภาษีเงินได้ที่นี่
 

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นภาษี

รายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2561

          การจะคำนวณหาเงินได้สุทธิของตัวเอง เราต้องหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ออกจากรายได้ในปีนั้นก่อน ซึ่งนอกจากรายการลดหย่อนภาษีที่เหมือนกับปี 2560 แล้ว ในปี 2561 ก็ยังมีเพิ่มเติมค่าลดหย่อนเข้ามาอีกหลายประเภท โดยเฉพาะเรื่องค่าลดหย่อนการคลอดบุตร และท่องเที่ยวเมืองรอง เราลองไปเช็กเงื่อนไขของแต่ละรายการกัน

กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

1. ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล
          ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท ทันทีที่เรายื่นแบบภาษี

2. ค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้
          ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท สำหรับสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส โดยคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน ไม่ได้แยกยื่นแบบ

3. ค่าลดหย่อนบุตร

          ค่าลดหย่อนจากการเลี้ยงดูบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ คนละ 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ

          • หากเป็นบุตรตามกฎหมายสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร
          • หากเป็นบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
          • หากมีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดมาหักก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหัก รวมกันได้ไม่เกิน 3 คน
          • กรณีผู้มีเงินได้มีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่รวมเป็นจำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้

          นอกจากนี้ บุตรที่จะนำมาหักลดหย่อนภาษีต้องมีคุณสมบัติตามนี้ด้วย

          • บุตรมีอายุอยู่ระหว่างแรกเกิดจนถึง 20 ปีในปีภาษีนั้น
          • ถ้าบุตรมีอายุระหว่าง 21-25 ปีในปีภาษีนั้น ต้องกำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
          • ถ้าบุตรมีอายุ 25 ปีขึ้นไปในปีภาษีนั้น ต้องเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
          • บุตรต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป (ยกเว้นเงินปันผล) หรือรายได้ที่มีนั้นได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย เช่น บุตรที่อายุไม่เกิน 20 ปี และรับเงินปันผล ซึ่งเงินปันผลนั้นจะถือว่าเป็นเงินของผู้ปกครอง และไม่ถือว่าบุตรมีรายได้

4. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา

          ลดหย่อนจากบิดา-มารดา (ตัวเอง) และบิดา-มารดาคู่สมรส ได้คนละ 30,000 บาท มากสุดคือ 4 คน ไม่เกิน 120,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ

          • บิดา-มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
          • หากเป็นบิดา-มารดาของคู่สมรส จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ก็ต่อเมื่อคู่สมรสต้องไม่มีรายได้

          ทั้งนี้ต้องให้บิดา-มารดาออกหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ให้กับบุตรที่จะขอลดหย่อนภาษีด้วย เพราะลูกที่จะรับสิทธิลดหย่อนภาษี จะสามารถใช้สิทธิได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เช่น หากลูกคนโตใช้สิทธินี้ไปแล้ว ลูกคนอื่น ๆ ก็ไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้อีก


5. ค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ

          สามารถใช้ลดหย่อนได้สูงสุดคนละ 60,000 บาท หากเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี

          ทั้งนี้ หากผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา-มารดา-บุตร-คู่สมรสของผู้มีเงินได้ ก็สามารถใช้สิทธิควบคู่กันได้เลย เช่น บิดาอายุเกิน 60 ปี เป็นผู้พิการ ไม่มีรายได้ เราสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด (30,000+60,000 บาท) เท่ากับ 90,000 บาท

          หรือหากคู่สมรสเป็นผู้พิการและไม่มีรายได้ ก็สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 + ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000)
 

ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ

6. ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร

           เป็นค่าลดหย่อนที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในปีนี้ โดยกำหนดให้ผู้ที่มีเงินได้หรือคู่สมรส สามารถนำค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ โดยมีเงื่อนไขคือ

           • เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจครรภ์ รับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด ค่ากินอยู่ในโรงพยาบาล

           • นำมาหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท

           • สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับค่าใช้จ่ายที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

           • หากเป็นค่าคลอดบุตรในการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน เช่น ตั้งครรภ์ปี 2561 แต่คลอดปี 2562 จะได้รับสิทธิลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริงในปีที่ใช้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท

                เช่น ในปี 2561 จ่ายค่าฝากครรภ์ไปจำนวน 10,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนภาษีปี 2561 ได้ 10,000 บาท ส่วนอีก 50,000 บาท สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเมื่อคลอดบุตรในปี 2562 ได้

           • หากจ่ายค่าฝากครรภ์หรือคลอดบุตรหลายคราวในปีภาษีเดียวกัน สามารถลดหย่อนภาษีได้คราวละไม่เกิน 60,000 บาท

                เช่น จ่ายค่าคลอดบุตรคนแรกในเดือนมกราคม 2561 จะสามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท และถ้าหากในเดือนธันวาคม 2561 มีการตั้งครรภ์และฝากครรภ์บุตรคนที่ 2 อีก ก็จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมอีกตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท

           • กรณีคลอดบุตรแฝด สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์คราวเดียว

           • สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตรมาหักลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่

           • สามีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีค่าคลอดบุตรได้ไม่เกิน 60,000 บาท หากภรรยาไม่มีเงินได้

           • กรณีสามีและภรรยามีเงินได้ทั้งคู่ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีค่าตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้ 2 กรณีคือ
                - สามี-ภรรยา แยกยื่นภาษี : ภรรยาจะเป็นผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท ส่วนสามีไม่สามารถใช้สิทธิได้
                - สามี-ภรรยา ยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน : ผู้ที่ยื่นภาษีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท

           • สิทธิลดหย่อนภาษีดังกล่าว เมื่อนำไปรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรจากสวัสดิการภาครัฐและเอกชน ต้องไม่เกิน 60,000 บาท

                อธิบายง่าย ๆ ก็คือ หากใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรจากสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ / สิทธิประกันสังคม / สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับจากนายจ้างภาคเอกชนแล้ว จะสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้แค่ส่วนที่ยังไม่เกิน 60,000 บาทเท่านั้น
 

           เอกสารหลักฐานที่นำมาใช้ยื่นภาษี
           - ใบรับรองแพทย์
           - ใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าได้จ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรให้แก่สถานพยาบาล

7. ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป
          ผู้มีเงินได้ หากมีบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่คลอดในปี 2561 สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มอีก 30,000 บาทต่อคน รวมเป็น 60,000 บาท ไม่ว่าบุตรคนแรกจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ โดยค่าลดหย่อนนี้ประกาศใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2561

กลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

1. ประกันสังคม
         เงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่เราโดนหักกัน 5% ทุกเดือน ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน โดยลดหย่อนได้ตามจริงเท่าที่จ่ายไป มีเพดานสูงสุดอยู่ที่ปีละ 9,000 บาท (คำนวณจากรายได้สูงสุดที่เดือนละ 15,000 บาท)

2. เบี้ยประกันชีวิต

          สำหรับการขอลดหย่อนด้วยการซื้อประกันชีวิตนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีก็คือ

          - ประกันชีวิตแบบทั่วไป

          ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ

             • ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
             • มีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสม (เงินปันผลหรือเบี้ยคืนรายปี)
             • ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย
             • หากเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี ถือว่าผิดเงื่อนไข จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
             • หากเราซื้อประกันชีวิตให้คู่สมรสไว้ และคู่สมรสไม่มีรายได้ แต่ยังจ่ายเบี้ยประกันอยู่ ก็ยังสามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายไปมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท
 

          - ประกันชีวิตแบบบำนาญ

          ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ

             • ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป
             • ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย
             • จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปีต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
             • เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันที่จ่ายให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

          หมายเหตุ

          หากมีประกันชีวิตแบบทั่วไปอยู่แล้ว แต่ยังไม่ครบ 1 แสนบาท สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปรวมกับสิทธิลดหย่อนประกันชีวิตแบบทั่วไปได้ให้ครบ 1 แสนบาทก่อน ส่วนที่เหลือก็ยังสามารถนำมาลดหย่อนโดยใช้สิทธิเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้ 15% ของเงินได้ที่เสียภาษีแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
 

3. เบี้ยประกันสุขภาพ

          สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยประกันสุขภาพที่นำมาลดหย่อนได้ มีดังนี้

          • ประกันให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
          • ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
          • ประกันภัยโรคร้ายแรง
          • ประกันภัยการดูแลระยะยาว

          อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ตรวจสอบกับบริษัทประกันก่อนว่า ประกันสุขภาพที่เราสนใจจะซื้อ หรือที่มีอยู่แล้วนั้นสามารถลดหย่อนภาษีได้หรือไม่

4. เบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา

          ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา-มารดาของผู้มีเงินได้ ก็สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ
          • บิดา-มารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป
          • บิดาหรือมารดาต้องอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 180 วันในปีภาษีนั้น
          • ลูกที่จะใช้สิทธิต้องเป็นบุตรตามกฎหมายเท่านั้น บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิได้
          • ลูกสามารถใช้สิทธิได้หลายคน โดยหารเฉลี่ยกัน เช่น ลูก 2 คน ร่วมกันซื้อประกันสุขภาพให้บิดา จำนวน 15,000 บาท ดังนั้นลูกแต่ละคนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพบิดาไปลดหย่อนภาษีได้คนละ 7,500 บาท

          อย่างไรก็ตาม แบบประกันสุขภาพของบิดา-มารดาที่นำมาลดหย่อนภาษีได้จะต้องเป็นความคุ้มครองด้านใดด้านหนึ่งใน 4 ด้านเท่านั้น คือ

          • คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล หรือจ่ายเงินชดเชย จากการเจ็บป่วยทั่วไป
          • คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล หรือจ่ายเงินชดเชย จากกรณีอุบัติเหตุ
          • คุ้มครองกรณีที่เป็นโรคร้ายแรง
          • ประกันคุ้มครองการพยาบาลสำหรับการเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care)

5. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ Long term equity fund (LTF)

         อีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับนักลงทุนก็คือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ซึ่งสามารถนำจำนวนเงินที่ซื้อกองทุนมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย

          ทั้งนี้ ได้มีการปรับเงื่อนไขการถือครอง LTF ใหม่ โดยผู้ที่ซื้อ LTF ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป จะต้องถือครองไว้อย่างน้อย 7 ปี (หรือ 5 ปี 2 วัน) จากเดิม 5 ปี (หรือ 3 ปี 2 วัน) ซึ่งจะนับตามปี พ.ศ. เช่น ซื้อ LTF ปี 2561 จะต้องถือไว้จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นอย่างน้อย และไม่สามารถโอนหรือจำนำไปเพื่อเป็นหลักประกันได้

          *ตัวอย่างการคำนวณลดหย่อนภาษีจาก LTF

          เช่น ผู้มีรายได้สุทธิ 3 ล้านบาทต่อปี หากสมมติว่าเสียภาษีในอัตรา 30% เมื่อคำนวณแล้วจะเท่ากับ 9 แสนบาท แต่เมื่อซื้อกองทุน LTF 15% ของรายได้แล้ว จะสามารถซื้อกองทุน LTF ได้วงเงินสูงสุด 450,000 บาท จึงนำรายได้สุทธิ 3 ล้านนั้น หักลดหย่อนจากกองทุนออก 450,000 เท่ากับ 2,550,000 บาท ก็จะได้เงินสุทธิที่เหลือจริง แล้วจึงนำไปคำนวณการจ่ายภาษีที่ 2,550,000 X 30% = 765,000 บาท ซึ่งจะลดลงจากเดิมที่ต้องจ่ายภาษี 9 แสนบาท


6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF)

          สำหรับคนที่อยากมีเงินออมไว้ใช้ในวัยเกษียณ การซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF เป็นอีกหนึ่งตัวช่วย พร้อมทั้งได้รับผลตอบแทนจากการลดหย่อนภาษีคือ หักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

          แต่ไม่ใช่ว่าจะหักลดหย่อนเท่าไรก็ได้ เพราะถ้าเรามีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว เมื่อนำมารวมกับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนใน RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทเช่นกัน

          สามารถคิดได้ตามสูตร RMF + กบข. + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนครูโรงเรียนเอกชน + ประกันชีวิตแบบบำนาญ + กองทุนการออมแห่งชาติ รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท

7. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

          บริษัทบางแห่งตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานได้เก็บออม โดยหักเงินจากพนักงานทุกเดือนแล้วบริษัทสมทบให้เป็นจำนวนเท่ากัน ดังนั้นหากเราเป็นคนหนึ่งที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็สามารถนำจำนวนเงินที่จ่ายไปตามจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท มากรอกลดหย่อนภาษีได้ ส่วนจำนวนเงินที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่ต้องเสียภาษี

          และเช่นเดียวกัน เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อรวมกับ RMF, กบข., กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 

8. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

          ข้าราชการที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เดือนละ 3% โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มให้อีก 3% ด้วยเช่นกัน สามารถนำเงินในส่วนที่เราจ่ายไปมาลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับกองทุนอื่น ๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 

9. กองทุนครูโรงเรียนเอกชน
          ครู-อาจารย์ก็สามารถนำเงินที่จ่ายเข้ากองทุนครูโรงเรียนเอกชนมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับ RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

10. กองทุนการออมแห่งชาติ
          ผู้ที่เป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีจากเงินสะสมเข้า กอช. ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดก็คือปีละ 13,200 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนอื่น ๆ ข้างต้นที่กล่าวไปก็ต้องไม่เกินกว่า 500,000 บาทเหมือนกัน

กลุ่มค่าลดหย่อนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

1. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย

          ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยเป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้การเช่าซื้อบ้าน คอนโด หรือที่อยู่อาศัย โดยมีเงื่อนไขคือ

          • ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐต่าง ๆ โดยทรัพย์สินที่กู้ ต้องใช้มาเป็นหลักในการค้ำประกันการกู้ (จำนอง) ด้วย

          • ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่ บนที่ดินของตัวเองหรือกู้เพื่อซื้อคอนโดมิเนียม

          • หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

          • กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ก็ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนเช่นกัน


2. การซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (บ้านหลังแรก)

          ค่าลดหย่อนนี้สำหรับคนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์หลังแรกในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท และโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงวันที่ 13 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2559 ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อปี 2558 โดยสามารถนำราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 20% มาเฉลี่ยลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี หรือเท่ากับลดหย่อนภาษีได้ปีละ 4% ของราคาบ้านเป็นเวลา 5 ปีนั่นเอง ซึ่งสิทธิการลดหย่อนส่วนนี้ จะแยกกับการลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน

          ยกตัวอย่างเช่น ซื้อบ้านหรือคอนโดหลังแรกราคา 3 ล้านบาท โอนกรรมสิทธิ์วันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 จะสามารถนำค่าบ้าน 20% คือ 600,000 บาท มายื่นลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี เท่ากับปีละ 120,000 บาท ตั้งแต่ปี 2558-2562

          ส่วนบ้านที่โอนกรรมสิทธิ์ในปี 2559 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้ของปี 2559-2563 ซึ่งตอนที่ยื่นภาษีเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนบ้านหลังแรกในรอบนี้จะกรอกเป็นค่าลดหย่อนในช่อง "เงินได้ที่จ่ายเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์" ซึ่งต่างจากมาตรการบ้านหลังแรกที่ออกมาในช่วงปี 2554-2555 ที่ตอนยื่นภาษีจะกรอกในช่อง "ภาษีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์"

กลุ่มเงินบริจาค

1. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา

          ใครจะบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา อย่าลืมขอใบเสร็จรับเงินที่ระบุชื่อ-นามสกุลของเราอย่างครบถ้วน เพราะใบเสร็จรับเงินนี้สามารถนำมาเป็นหลักฐานยื่นลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่นก่อนหักลดหย่อนเงินบริจาค เช่น หากเราบริจาคเงินให้สถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด 2,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่า คือ 4,000 บาท เลยทีเดียว

          แต่สำหรับใครบริจาคร่วมกันหลายคน ก็ให้เฉลี่ยเงินบริจาคออกเป็นเท่า ๆ กันตามสัดส่วน เช่น บริจาคร่วมกับเพื่อน จำนวน 5,000 บาท ก็จะหารกันคนละ 2,500 บาท เมื่อหักลดหย่อนได้ 2 เท่า ก็เท่ากับลดหย่อนได้คนละ 5,000 บาท ลองมาตรวจสอบรายชื่อสถานศึกษาที่สามารถหักลดหย่อนได้กันก่อน
 

รายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ให้ใช้สิทธิลดหย่อนเงินบริจาค


2. เงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ
          สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค รวมทั้งกรณีบริษัทห้างหุ้นส่วน หรือนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้สถานพยาบาลของรัฐ ก็สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าเช่นกัน แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

3. เงินบริจาคเข้ากองทุนวิจัยและนวัตกรรม 4 กองทุน
          ประกอบด้วย กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ, กองทุนสนับสนุนการวิจัย, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข สามารถนำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับการบริจาคด้านการศึกษาต้องไม่เกิน 10% ของเงินบริจาค

          โดยการบริจาคประเภทนี้มีผลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพื่อส่งเสริมด้านการทำวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม กรณีบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป จะสามารถหักลดหย่อนได้ 1 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่น ๆ แล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

4. เงินบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ

          เงินบริจาคกลุ่มนี้ประกอบด้วย
          - เงินบริจาคให้แก่กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์
          - เงินบริจาคในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน
          - เงินบริจาคในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์
          - เงินบริจาคให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
          - เงินบริจาคให้โครงการฝึกอบรมอาชีพ และการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู สงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรือศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
          - เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา
          - เงินบริจาคเข้ากองทุนยุติธรรม เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน เพื่อสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน ยากไร้ ด้อยโอกาส ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม

          ทั้งหมดนี้สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับยกเว้นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่นก่อนหักลดหย่อนเงินบริจาค

          สำหรับการบริจาคที่จะนำมาใช้ลดหย่อนจะต้องมีใบเสร็จรับเงินบริจาค หรือใบอนุโมทนาบัตร ที่ระบุชื่อผู้บริจาคชัดเจนตรงกับชื่อ-นามสกุลของผู้เสียภาษี เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐาน


5. เงินบริจาคช่วยเหลือเหตุอุทกภัย

          ใครที่บริจาคเงินช่วยเหลือเหตุน้ำท่วมในเมืองไทยและประเทศลาวในช่วงปี 2561 สามารถนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เท่ากับจำนวนเงินที่บริจาคจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่น ๆ แล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ

          ทั้งนี้ต้องเป็นการบริจาคให้กับส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ หรือบริจาคผ่านบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นที่ได้แจ้งชื่อต่อกรมสรรพากรเพื่อเป็นสื่อกลางในการเป็นตัวแทนรับบริจาค


6. เงินบริจาคทั่วไป

          นอกจากการบริจาคเงินเพื่อการศึกษาและสาธารณประโยชน์ที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังสามารถนำเงินบริจาคเพื่อการกุศลอื่น ๆ ในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2561 มาหักลดหย่อนได้อีก แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น ลองตรวจสอบรายชื่อมูลนิธิและองค์กรการกุศลที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนเงินบริจาคกันดู

ตรวจสอบรายชื่อมูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล ที่หักลดหย่อนเงินบริจาคได้


7. เงินบริจาคให้พรรคการเมือง (รอประกาศใช้)
          สำหรับผู้มีสัญชาติไทยที่บริจาคเงินให้พรรคการเมือง หรือให้การสนับสนุนเงิน หรือทรัพย์สินจากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่บริจาค แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 10,000 บาท โดยมีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2561 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

          ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ นั้น ต้องรอการประกาศเป็นกฎหมายอีกครั้ง
 

กลุ่มค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

1. ท่องเที่ยวเมืองรอง

          เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองรอง รัฐบาลจึงไฟเขียวให้คนที่เดินทางไปท่องเที่ยวเมืองรอง สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ

          - ต้องเดินทางท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด ช่วงวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2561

          - เป็นค่าที่พักในโรงแรมเมืองรองที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

          - เป็นค่าที่พักโฮมสเตย์เมืองรองที่มีมาตรฐานผ่านการรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

          - เป็นค่าที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม โดยเจ้าของบ้านนําพื้นที่ในบ้านมาดัดแปลงเป็นห้องพักเพื่อหารายได้เสริม มีจํานวนไม่เกิน 4 ห้อง มีผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน และต้องจดแจ้งข้อมูลกับกระทรวงมหาดไทยแล้ว

          - เป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรอง

          - เป็นค่าบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรอง ร่วมกับจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยวรอง ตามเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา


          และครั้งนี้สามารถใช้ได้ทั้งใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป และใบเสร็จรับเงินที่แสดงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นหลักฐานในการยื่นหักลดหย่อนภาษีได้เลย แต่ใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงิน ต้องระบุชื่อผู้มีเงินได้ที่จ่ายเงิน จำนวนเงิน รวมทั้งวัน เดือน ปีที่จ่ายเงินไว้อย่างชัดเจน

          หากเป็นค่าบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ต้องระบุลำดับที่ได้รับการรับรองเส้นทางท่องเที่ยวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในหลักฐานการรับเงินด้วย

ลดหย่อนภาษี

2. ช้อปช่วยชาติ 2561

          สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้า มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท โดยสินค้าที่ซื้อและออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูประหว่างวันที่ 15-31 ธันวาคม 2561 จะนำมาลดหย่อนภาษีปี 2561 ได้

          หากซื้อสินค้าในวันที่ 1-16 มกราคม 2562 จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษี 2561 ได้ แต่ต้องนำไปลดหย่อนภาษีปี 2562 ที่จะยื่นแบบในปี 2563

          ทั้งนี้ ยอดค่าใช้จ่ายรวมตลอดทั้งโครงการต้องไม่เกิน 15,000 บาท

          สำหรับสินค้าที่เข้าร่วมโครงการช้อปช่วยชาติ 2561 มีเพียง 3 รายการ คือ

          - ยางรถ

          ไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน สามารถนำมาใช้สิทธิ์ครั้งนี้ได้ โดยต้องเป็นยางที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น และซื้อจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้ พร้อมกับต้องมีคูปองที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ออกให้เป็นหลักฐาน (คูปอง 1 ใบ ต่อยาง 1 เส้น)

          - หนังสือ

          สามารถซื้อได้ทั้งหนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์ (ทุกประเภท ยกเว้นนิตยสารและหนังสือพิมพ์) รวมทั้ง e-Book โดยต้องซื้อจากร้านที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และออกใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้
 

          - สินค้าโอทอป (OTOP)

          ต้องซื้อจากร้านค้าโอทอปที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน และมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ระบุว่าเป็นรายการซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

          * ตรวจสอบรายละเอียดสินค้าโอทอปที่ลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์กรมการพัฒนาชุมชน
 

กรณียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

          * กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้พิการ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผู้อยู่ในไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
 

          * กรณีเป็นผู้สูงอายุ มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
 

          * กรณีมีเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น ใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล โดยแนะนำให้สมัครสมาชิกที่เว็บไซต์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วดาวน์โหลดเอกสารไปใช้ยื่นสรรพากรโดยที่เราไม่ต้องคำนวณให้ยุ่งยาก หรือหากยื่นภาษีทางออนไลน์ ก็สามารถดาวน์โหลดไฟล์ไปใส่ในเว็บไซต์ยื่นภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากรได้เลย

สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2561

ลดหย่อนภาษี

ลดหย่อนภาษี

ลดหย่อนภาษี

ลดหย่อนภาษี

ลดหย่อนภาษี

          รวบรวมมาให้ครบกับค่าลดหย่อนภาษี ประจำปี 2561 ใครที่มีค่าลดหย่อนข้อไหนก็อย่าลืมเก็บเอกสารไว้ให้ดีเพื่อยื่นต่อกรมสรรพากรในช่วงต้นปี 2562

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 6 ธันวาคม 2561

ข้อมูลจาก กรมสรรพากร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลดหย่อนภาษี 2561 มีอะไรบ้าง รู้ไว้คำนวณภาษี ก่อนยื่นภาษี ต้นปี 2562 อัปเดตล่าสุด 10 กันยายน 2562 เวลา 11:46:19 610,696 อ่าน
TOP