LTF ซื้ออย่างไร ลดหย่อนภาษีโค้งสุดท้ายแบบคนรู้จริง !

         วิธีซื้อ LTF กองทุนตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด พร้อมเรื่องสำคัญที่ต้องเคลียร์ให้ชัดก่อนซื้อ

LTF ซื้ออย่างไร ลดหย่อนภาษีโค้งสุดท้ายแบบคนรู้จริง

         ลดหย่อนภาษีด้วยวิธีการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว ทั้งช่วยเก็บออมเงิน และประหยัดภาษี ยิ่งช่วงไหนกระดานหุ้นขึ้นตัวแดง ๆ ยิ่งเป็นโอกาสทองของการซื้อ LTF ซึ่งขั้นตอนก็ไม่ได้ยุ่งยากเกินความเข้าใจ ถึงจะเป็นมือใหม่ก็ทำตามที่กระปุกดอทคอมแนะนำได้เลย

ใครควรซื้อ LTF ?

         คนที่ควรมองกองทุนนี้เป็นตัวเลือกลดหย่อนภาษีก็คือคนที่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่เสียภาษีเงินได้ประจำปีค่ะ ซึ่งแอบกระซิบบอกให้รู้ว่า คนที่มีฐานภาษีสูงจะได้ประโยชน์จากการซื้อ LTF มากกว่าคนที่มีฐานภาษีต่ำกว่า

          เช่น หากเราซื้อกองทุน LTF ที่ดัชนี 1,000 จุด และฐานภาษีอยู่ที่ 30% เท่ากับว่าต้นทุนในการซื้อกองทุนของเราจะเสมือนซื้อที่ดัชนี 700 จุด ในทางตรงกันข้าม หากฐานภาษีของเราอยู่ที่ 10% ต้นทุนในการซื้อกองทุนของเราจะเสมือนซื้อที่ดัชนี 900 จุด ดังนั้นคนที่มีรายได้สูง มีฐานภาษีสูง จะได้ประโยชน์จากกองทุน LTF มากกว่า

เงื่อนไข LTF ที่ต้องรู้และจำให้แม่น

         - ปี 2562 เป็นปีสุดท้ายที่สามารถซื้อ LTF เพื่อหักลดหย่อนภาษีได้ หากซื้อ LTF ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป จะไม่สามารถนำมายื่นลดหย่อนภาษีได้

         - LTF ซื้อได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี เช่น มีเงินได้รวมทั้งปี 1,000,000 บาท จะสามารถลงทุนในกองทุนรวม LTF ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท x 15% = 150,000 บาท เพราะฉะนั้นต้องคำนวณรายได้ตัวเองดี ๆ ก่อนซื้อ ถ้าซื้อเกินสิทธิ เงินส่วนที่เกินจะนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีไม่ได้ แถมยังต้องถือต่อไปจนครบระยะเวลา (คืออย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน) เมื่อครบเวลา ถ้านำไปขายแล้วได้กำไร ก็ยังต้องนำกำไรที่ได้จากเงินส่วนที่ซื้อเกินสิทธินั้นมารวมเป็นรายได้ประจำปี แล้วยื่นเสียภาษีอีกต่อ ดูยุ่งยากไม่ใช่เล่น

         - ซื้อแล้วต้องถือครองไว้อย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน (หรือ 5 ปี 2 วัน) เช่น ซื้อ LTF ในวันที่ 28 ธันวาคม 2562 จะต้องถือไปจนถึงวันที่ 2 มกราคม 2568 (วันที่ 1 เป็นวันหยุดราชการ ไม่สามารถซื้อ-ขายได้) จึงจะสามารถขายได้

         - หากเผลอขายหน่วยลงทุน LTF คืนก่อนวันที่กำหนด ต้องเสียภาษีย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ย

         - ซื้อปีไหนได้รับการลดหย่อนภาษีในปีนั้น โดยไม่จำเป็นจะต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี

         - กำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน ไม่ต้องเสียภาษี

LTF ซื้อช่วงไหนดี

         หลายคนคิดว่าควรซื้อ LTF ตอนปลายปีที่โบนัสออก หรือรอให้ถึงช่วงโค้งสุดท้ายจริง ๆ แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของความคุ้มค่าของการลงทุน เราควรซื้อ LTF ในช่วงที่หุ้นปรับตัวลดลงหรือหุ้นตกจะดีที่สุดค่ะ เพราะเราจะได้ต้นทุนต่ำ หากถือต่อไปอีก 7 ปี ช่วงเวลานั้นหุ้นอาจจะขึ้นสูงไปอีก เราก็จะได้กำไรจากการขาย LTF มากขึ้นด้วย แต่ถ้าไปซื้อตอนปลายปีทีเดียวเหมือนคนอื่น ๆ ช่วงนั้นตลาดหุ้นอาจปรับตัวสูงขึ้น จากความนิยมที่คนมักซื้อกันในช่วงนั้น ก็จะทำให้ต้นทุนในการซื้อกองทุน LTF ของเราสูงขึ้นไปด้วย

         แต่สำหรับใครที่ไม่มีเวลาติดตามเรื่องหุ้น เลยหาจังหวะเข้าซื้อไม่ถูก ก็แนะนำให้ทยอยซื้อแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) คือการเฉลี่ยต้นทุน เช่น เราอาจจะซื้อทุกเดือน เดือนละเท่า ๆ กัน โดยไม่สนว่าช่วงนั้นหุ้นจะขึ้นหรือลง ก็จะทำให้ต้นทุนเราออกมาเป็นค่าเฉลี่ยของทั้งปี ไม่ต้องมากะเก็งการขึ้น ๆ ลง ๆ ของราคาหุ้นให้เหนื่อย
   
LTF ซื้ออย่างไร ลดหย่อนภาษีโค้งสุดท้ายแบบคนรู้จริง

LTF ซื้ออย่างไร ซื้อที่ไหน ขั้นตอนไม่ยากอย่างที่คิด

         สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่สนใจลงทุน LTF เพื่อหวังสิทธิลดหย่อนภาษี ถ้ายังไม่เคยซื้อกองทุนรวมมาก่อน มาอ่านขั้นตอนข้างล่างนี้แล้วทำตามได้เลย

1. เลือกกองทุน LTF ที่จะซื้อ

         แน่นอนว่าเวลาจะซื้อของอะไร เราก็ต้องเลือก กับกองทุน LTF ก็เช่นกัน ปัจจุบันมีให้เลือกมากมายหลายกองทุนจากหลายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซึ่งแต่ละกองทุนก็มีนโยบายการลงทุนแตกต่างกันไปอีก สิ่งที่เราต้องพิจารณาก็คือ..

         - นโยบายการลงทุนของกองทุน : ลงทุนในธุรกิจอะไร เน้นหุ้นเติบโต หุ้นปันผล หุ้นขนาดใหญ่ หรืออ้างอิงตามดัชนี SET50 โดยหาอ่านได้จาก "หนังสือชี้ชวน" ซึ่งมีข้อมูลอยู่ในเว็บไซต์ของแต่ละกองทุน

         - เรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน : ความเสี่ยงในที่นี้ก็คือความเสี่ยงที่จะขาดทุน หากรับความเสี่ยงได้มากก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 75% หรือมากกว่านี้ ซึ่งถ้าหุ้นขึ้นเราก็จะได้ผลตอบแทนมากขึ้นตามไปด้วย แต่หากรับความเสี่ยงได้ไม่มากนัก อาจเลือกกองทุนที่อ้างอิงตามดัชนี SET50 หรือลงทุนในหุ้นไม่เกิน 70% ซึ่งอาจจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่า แต่ถ้าหุ้นตก เราก็จะขาดทุนน้อยกว่าเช่นกัน

         - มีการจ่ายปันผลหรือไม่ : ข้อนี้ก็สำคัญ หลายคนอยากได้เงินปันผลมาใช้ระหว่างที่ถือครอง LTF อยู่ จึงเลือกซื้อกองทุนที่มีนโยบายจ่ายปันผล แต่ต้องบอกให้รู้ไว้หน่อยนะคะว่า หากกองทุนไหนมีการจ่ายปันผล เราจะต้องเสียภาษี 10% ของเงินปันผลนั้นด้วย ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบหัก ณ ที่จ่าย หรือไม่หัก ณ ที่จ่าย ถ้าเลือกไม่หัก ณ ที่จ่าย ต้องนำเงินปันผลนั้นมารวมกับเงินได้ประจำปี เพื่อเสียภาษีตามฐานภาษีของเราค่ะ ส่วนใครที่เลือกกองทุนแบบไม่จ่ายปันผล ก็ไม่ต้องกังวลกับปัญหาข้อนี้

         - ผลการดำเนินงานย้อนหลัง : ลองตรวจสอบดูว่ากองทุนที่เราสนใจมีผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี 5 ปี หรือ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไบ้าง กำไรเท่าไร ขาดทุนแค่ไหน ถ้าเป็นกองทุนที่จ่ายปันผลก็ต้องดูว่าจ่ายปันผลเท่าไร สม่ำเสมอหรือไม่ ลองเข้าไปเช็กผลตอบแทนย้อนหลังของแต่ละกองทุนที่เว็บไซต์ wealthmagik.com หรือ morningstarthailand อย่างไรก็ตาม ขอย้ำเตือนไว้หน่อยว่า ผลตอบแทนในอดีตและปัจจุบัน ไม่ได้เป็นตัววัดผลตอบแทนในอนาคตนะคะ

2. เตรียมเอกสารให้พร้อม

         เมื่อเลือกกองทุน LTF ในดวงใจได้แล้ว ก็มาเตรียมเอกสารให้พร้อมไปเปิดบัญชีกัน สามารถเข้าไปตรวจสอบเอกสารที่ต้องใช้ได้ตามเว็บไซต์ของ บลจ. ที่เราสนใจ แต่โดยทั่ว ๆ ไป ก็จะใช้ "บัตรประจำตัวประชาชน" และ "สำเนาหน้าแรกของสมุดเงินฝากธนาคาร" กรณีรับเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนผ่านบัญชีหรือรับเงินปันผล

         มาถึงตรงนี้หลายคนมีคำถามว่าจำเป็นต้องใช้บัญชีธนาคารเดียวกับ บลจ. ที่เราจะซื้อกองทุนหรือไม่ เช่น จะซื้อกองทุนของ บลจ. A เราต้องมีบัญชีเงินฝากของธนาคาร A หรือไม่ ?

         คำตอบคือไม่จำเป็นค่ะ เพราะ บลจ. ส่วนใหญ่ สามารถใช้บัญชีเงินฝากของธนาคารใด ๆ ก็ได้ในการรับชำระเงินหรือขายคืนหน่วยลงทุน เพื่อความสะดวกในการลงทุน แต่อาจมีบางธนาคารที่กำหนดมาเลยว่าต้องใช้บัญชีเงินฝากของธนาคารนั้นโดยเฉพาะ เช่น บลจ.บัวหลวง ต้องใช้บัญชีธนาคารกรุงเทพเท่านั้น ดังนั้นขอให้ตรวจสอบรายละเอียดจากเว็บไซต์ของธนาคาร หรือสอบถามเจ้าหน้าที่ของธนาคารเพื่อความชัดเจน แต่หากเราไม่มีบัญชีของธนาคารนั้น ก็สามารถเปิดบัญชีเงินฝากพร้อมกับบัญชีกองทุนได้ที่ธนาคารในคราวเดียวกันเลยค่ะ

    LTF ซื้ออย่างไร ลดหย่อนภาษีโค้งสุดท้ายแบบคนรู้จริง

3. ไปเปิดบัญชีกองทุน

         เมื่อพร้อมแล้วก็ได้เวลาไปเปิดบัญชีกองทุน โดยสามารถไปติดต่อที่ บลจ. หรือธนาคารที่เป็นผู้ดูแลกองทุนนั้นได้เลย ถ้าเป็นธนาคารก็สะดวกหน่อย เพราะเปิดบัญชีที่สาขาใดก็ได้ และสำหรับการเปิดบัญชีครั้งแรก ยังต้องกรอกเอกสารเหล่านี้เพิ่มเติมด้วย

         -  ใบคำขอเปิดบัญชีกองทุน
         -  บัตรลายมือชื่อ
         -  ใบคำขอใช้บริการธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต แนะนำให้เปิดใช้บริการนี้ไปด้วย เพราะครั้งต่อไปเมื่อเราจะซื้อ-ขายหน่วยลงทุน เราจะสามารถทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตได้เลย ไม่ต้องเดินทางไปที่ บลจ. หรือธนาคารให้เสียเวลา
         -  หนังสือขอให้หักบัญชีเงินฝาก กรณีที่เราต้องการชำระเงินด้วยการหักจากบัญชีธนาคาร หากเป็นธนาคารเดียวกับกองทุนที่เราซื้อ อาจจะใช้เวลาอนุมัติไม่นาน แต่หากเป็นคนละธนาคารกับกองทุนที่เราซื้อ อาจใช้ระยะเวลาอนุมัติราว ๆ 2-4 สัปดาห์
         -  แบบประเมินความเสี่ยงในการลงทุน
         -  FATCA (Foreign Account Tax Compliance Act) แบบแจ้งสถานะความเป็นบุคคลอเมริกัน/ไม่เป็นบุคคลอเมริกัน
         -  เอกสารอื่น ๆ (ขึ้นอยู่กับแต่ละ บลจ.)

         หรือหากใครไม่สะดวกไปกรอกหรือยื่นเอกสารที่ บลจ. หรือธนาคาร ก็เตรียมเอกสารข้างต้นทั้งหมดให้พร้อม (ดาวน์โหลดแบบฟอร์มต่าง ๆ ได้จากเว็บไซต์ของ บลจ.) แล้วส่งไปรษณีย์ไปยัง บลจ. ได้อีกช่องทางหนึ่งค่ะ

4. ซื้อกองทุน

         เมื่อเปิดบัญชีแล้ว เราสามารถซื้อกองทุนได้เลย โดยกรอกข้อมูลลงในใบคำขอซื้อ ก็จะได้สมุดบัญชีกองทุนมาอีก 1 เล่ม แต่หากใครยังไม่อยากซื้อกองทุนในวันนั้น ก็สามารถไปเปิดบัญชีกองทุนไว้ก่อน แล้วค่อยมาซื้อภายหลังได้เหมือนกันค่ะ ยิ่งถ้าเปิดบริการทำธุรกรรมผ่านทางอินเทอร์เน็ตไว้แล้ว เมื่อได้รับ Username และ Password มาแล้ว ก็สามารถคลิกเข้าไปซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แล้วชำระเงินผ่านการหักบัญชีธนาคาร

LTF ซื้ออย่างไร ลดหย่อนภาษีโค้งสุดท้ายแบบคนรู้จริง
   
        ทั้งนี้อย่าลืมตรวจสอบนะคะว่า กองทุนที่เราจะซื้อนั้น มีกำหนดขั้นต่ำในการซื้อครั้งแรกและครั้งต่อ ๆ ไปไว้เท่าไร เช่น บางกองทุนอาจกำหนดให้ซื้อหน่วยลงทุนขั้นต่ำครั้งแรก 2,000 บาท ส่วนครั้งต่อ ๆ ไปซื้อได้ขั้นต่ำ 1,000 บาท ดังนั้นถ้าเราจะซื้อครั้งแรกก็ต้องซื้อไว้ก่อนอย่างน้อย 2,000 บาท และถ้าเดือนหน้าเกิดอยากจะซื้อกองทุนตัวนี้อีก ก็สามารถซื้อขั้นต่ำได้ที่ 1,000 บาท

         สำหรับใครที่อยากจะซื้อกองทุน LTF หลาย ๆ กองทุน หรือหลาย ๆ บลจ. ไว้กระจายความเสี่ยงในการลงทุนก็เป็นวิธีที่ดี แต่จำนวนเงินที่ซื้อรวมกันทุกกองทุนจะต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปีค่ะ

รายชื่อ บลจ. ต่าง ๆ พร้อมเว็บไซต์

        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โซลาริส จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่า จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ฟิลลิป จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน จำกัด
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
        - บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด

        สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก็คือ เราสามารถซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีได้ภายในปีเดียวกันเท่านั้น เช่น ในปี 2562 วันสุดท้ายที่สามารถซื้อ LTF ได้คือวันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2562 เพราะวันที่ 31 ธันวาคม ถือเป็นวันหยุดราชการและเป็นวันหยุดธนาคารด้วย จะไม่สามารถซื้อได้ หากใครไปซื้อ LTF วันที่ 2 มกราคม 2563 ก็จะไม่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้แล้ว

        อีกเรื่องหนึ่งก็คือในช่วงปลายเดือนธันวาคมจะเป็นช่วงที่คนนิยมไปเปิดบัญชีซื้อ LTF กันเป็นจำนวนมาก หากไม่วางแผนดี ๆ เราอาจต้องรอคิวนานจนเลยเวลาทำการซื้อ-ขายก็เป็นได้ โดยเวลาปิดทำการซื้อ-ขายของแต่ละธนาคารจะกำหนดไม่ตรงกัน แต่อยู่ราว ๆ 15.00-16.00 น. เพราะฉะนั้นเรื่องเงื่อนไขเวลาสำคัญมาก ๆ ถ้าตัดสินใจได้แล้วว่าจะซื้อกองทุน LTF ในปีนี้ชัวร์ ๆ ก็ควรรีบไปเปิดบัญชีไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ค่ะ จะได้อุ่นใจว่าปีนี้เราได้ใช้สิทธิ์การประหยัดภาษีจาก LTF แน่นอน


***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 10 กันยายน 2562

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
LTF ซื้ออย่างไร ลดหย่อนภาษีโค้งสุดท้ายแบบคนรู้จริง ! อัปเดตล่าสุด 10 กันยายน 2562 เวลา 16:32:58 107,943 อ่าน
TOP
x close