ลดหย่อนภาษี 2559 มีวิธีดี ๆ และหลักเกณฑ์ไหนบ้าง ที่จะช่วยให้เราจ่ายภาษีได้น้อยลง ใครที่ต้องเสียภาษีคราวละมาก ๆ ทุกปี ไม่รู้ไม่ได้แล้ว !
ใกล้สิ้นปีแบบนี้ ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี คงถึงช่วงเวลาที่ต้องเตรียมตัวยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันแล้ว และสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคิดถึงต่อมาคือ การขอลดหย่อนภาษี เพื่อลดภาระการจ่ายภาษีให้กับตัวเอง ซึ่งมีอยู่หลากหลายวิธี เอาล่ะ ลองไปดูกันว่าสำหรับในปีภาษี 2559 ที่จะยื่นภาษีกันในช่วงต้นปี 2560 มีหนทางไหนที่ช่วยลดหย่อนภาษีให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำอีกครั้งว่า ในปีภาษี 2559 ยังคงใช้ฐานภาษีและสิทธิ์ลดหย่อนแบบเดิมอยู่ ส่วนโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบใหม่นั้น จะเริ่มใช้สำหรับเงินได้ที่ได้รับมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป เพื่อจะยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2561 นะคะ
เช็กอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2559
เงินได้ที่ได้รับในปี 2559 ยังคงใช้โครงสร้างภาษีแบบเดิม คือ เงินได้ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น ส่วนที่เกินมานั้นให้คิดตามขั้นบันได สูงสุด 35% ดังตารางนี้...
จากตารางนี้แสดงว่าหากใครมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่เกิน 240,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนส่วนตัวรวม 90,000 บาทแล้ว จะเหลือเงินได้สุทธิ 150,000 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี
แต่หากใครมีรายได้สุทธิมากกว่า 240,000 บาท แสดงว่าเราต้องยื่นภาษี แต่จะเสียภาษีมาก-น้อยแค่ไหนนั้น ต้องคิดคำนวณจากค่าลดหย่อนด้วย โดยสิ่งที่นำมาลดหย่อนภาษีปี 2559 ได้ มีดังนี้
รายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2559
1. ลดหย่อนส่วนบุคคล
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ทันที 30,000 บาท
* กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้พิการ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผู้อยู่ในไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
* กรณีเป็นผู้สูงอายุ มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
2. ลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท สำหรับสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส โดยคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน
3. ลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตร และการศึกษาบุตร
ค่าลดหย่อนจากการเลี้ยงดูบุตร นับจากบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นได้ทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรตามกฎหมาย โดยหักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 คน (มากสุด 45,000 บาท) ในกรณีที่...
• บุตรมีอายุอยู่ระหว่างแรกเกิดจนถึง 20 ปีในปีภาษีนั้น
• บุตรมีอายุระหว่าง 21-25 ปีในปีภาษีนั้น และกำลังศึกษาในระดับ ปวส. ขึ้นไป
• บุตรมีอายุ 25 ปีขึ้นไปในปีภาษีนั้น และเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
ในกรณีที่บุตรศึกษาในประเทศไทย ตั้งแต่ระดับอนุบาล-ปริญญาเอก สามารถลดหย่อนได้เพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท รวมเป็นคนละ 17,000 บาท
ทั้งนี้บุตรที่จะนำมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีนั้น จะต้องไม่มีรายได้ในภาษีเกิน 15,000 บาทขึ้นไป หรือรายได้ที่มีนั้นได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย เช่น บุตรที่อายุไม่เกิน 20 ปีและรับเงินปันผล ซึ่งเงินปันผลนั้นจะถือว่าเป็นเงินของผู้ปกครอง และไม่ถือว่าบุตรมีรายได้
4. ลดหย่อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยเป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้การเช่าซื้อบ้าน คอนโด หรือที่อยู่อาศัย โดยมีเงื่อนไขคือ
- ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐต่าง ๆ โดยทรัพย์สินที่กู้ ต้องใช้มาเป็นหลักในการค้ำประกันการกู้ (จำนอง) ด้วย
- ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่ บนที่ดินของตัวเองหรือกู้เพื่อซื้อคอนโดมิเนียม
- หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ก็ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนเช่นกัน
5. ลดหย่อนจากค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา
ลดหย่อนจากบิดา-มารดา (ตัวเอง) และบิดา-มารดาคู่สมรส ได้คนละ 30,000 บาท มากสุดไม่เกิน 120,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ บิดา-มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้ต้องให้บิดา-มารดาออกหนังสือรับรองการเลี้ยงดู ให้กับบุตรที่จะขอลดหย่อนภาษีด้วย เพราะลูกที่จะรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี จะสามารถใช้สิทธิ์ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
- ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา
6. ลดหย่อนจากประกันชีวิต
สำหรับการขอลดหย่อนด้วยการซื้อประกันชีวิตนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ
- ประกันชีวิตแบบทั่วไป
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และมีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสม ส่วนเบี้ยประกันเพิ่มเติมจำพวกประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ จะไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ส่วนผู้ที่คู่สมรสมีประกันชีวิตอยู่หรือซื้อประกันชีวิตให้คู่สมรสไว้ และคู่สมรสไม่มีรายได้ แต่ยังจ่ายเบี้ยประกันอยู่ สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท เพราะเมื่อไม่มีรายได้ จึงไม่จำเป็นต้องหักลดหย่อนภาษีนั่นเอง (ส่วนที่เหลืออีก 90,000 บาทเป็นการยกเว้นจากรายได้)
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ
ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปีต่อเนื่องไปจนถึง 85 ปี และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
7. ลดหย่อนจากเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา-มารดา
ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา-มารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดา-มารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป
8. ลดหย่อนจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ Long term equity fund (LTF)
LTF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว โดยเน้นลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ซื้อหน่วยลงทุน LTF จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นผลตอบแทนด้วย คือ สามารถซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น [ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๒๕๗)] แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
ทั้งนี้ ได้มีการปรับเงื่อนไขการถือครอง LTF ใหม่ โดยผู้ที่ซื้อ LTF ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป จะต้องถือครองไว้อย่างน้อย 7 ปี (หรือ 5 ปี 2 วัน) จากเดิม 5 ปี (หรือ 3 ปี 2 วัน) ซึ่งจะนับตามปี พ.ศ. เช่น ซื้อ LTF ปี 2559 จะต้องถือไว้จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นอย่างน้อย และไม่สามารถโอนหรือจำนำไปเพื่อเป็นหลักประกันได้
*ตัวอย่างการคำนวณลดหย่อนภาษีจาก LTF เช่น ผู้มีรายได้สุทธิ 3 ล้านบาทต่อปี หากสมมติว่าเสียภาษีในอัตราสูงสุดคือ 30% เมื่อคำนวณแล้วจะเท่ากับ 9 แสนบาท แต่เมื่อซื้อกองทุน LTF 15% ของรายได้เเล้ว จะสามารถซื้อกองทุน LTF ได้วงเงินสูงสุด 450,000 บาท จึงนำรายได้สุทธิ 3 ล้านนั้น หักลดหย่อนจากกองทุนออก 450,000 เท่ากับ 2,550,000 บาท ก็จะได้เงินสุทธิที่เหลือจริง แล้วจึงนำไปคำนวณการจ่ายภาษีที่ 2,550,000 X 30% = 765,000 บาท ซึ่งจะลดลงจากเดิมที่ต้องจ่ายภาษี 9 แสนบาท
9. ลดหย่อนจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF)
RMF เป็นกองทุนรวมที่จัดขึ้นเพื่อการออมและการลงทุนในระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมหลังเกษียณ โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลดหย่อนภาษีคือ หักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น [ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๒๕๙)]แต่ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ถ้ามีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว เมื่อนำมารวมกับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนใน RMF แล้วก็หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาทเช่นกัน
สามารถคิดตามสูตรได้คือ RMF + กบข. + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนครูโรงเรียนเอกชน + ประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท
10. ลดหย่อนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองทุนเงินออมของสมาชิก ซึ่งกำหนดให้สมาชิกของ กบข. ต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน กบข. 3% ในแต่ละเดือน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มให้อีก 3% ด้วยเช่นกัน โดยสมาชิกที่จ่ายเงินสมทบเข้า กบข. นี้จะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
11. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สมาชิกที่จ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้เมื่อรวมกับ RMF, กบข., กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
12. ลดหย่อนจากกองทุนการออมแห่งชาติ
ผู้ที่เป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีจากเงินสะสมเข้า กอช. ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินสะสมในลักษณะเดียวกันแล้ว ต้องไม่เกินกว่าจำนวนตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด
13. ลดหย่อนจากการจ่ายประกันสังคม
เงินสมทบกองทุนประกันสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงให้แก่บุคคลที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 9,000 บาท อันมาจากการคำนวณรายได้สูงสุดที่เดือนละ 15,000 บาท
14. ลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์
สืบเนื่องจากมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ซื้อบ้านให้กับประชาชนเมื่อปี 2558 โดยให้ประชาชนสามารถซื้อบ้านกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไปนั้น
ผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์หลังแรกในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท สามารถนำ 20% ของราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อมาเฉลี่ยลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี หรือเท่ากับลดหย่อนภาษีได้ปีละ 4% ของราคาบ้านเป็นเวลา 5 ปีนั่นเอง ซึ่งสิทธิ์การลดหย่อนส่วนนี้ จะแยกกับการลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ซื้อบ้านหรือคอนโดหลังแรกราคา 3 ล้านบาท จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี ปีละ 120,000 บาท โดยบ้านที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงวันที่ 13 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2558 จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้ของปี 2558-2562
ส่วนบ้านที่โอนกรรมสิทธิ์ในปี 2559 จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้ของปี 2559-2563 ซึ่งตอนที่ยื่นภาษีเพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนบ้านหลังแรกในรอบนี้จะกรอกเป็นค่าลดหย่อนในช่อง "เงินได้ที่จ่ายเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์" ซึ่งต่างจากมาตรการบ้านหลังแรกที่ออกมาในช่วงปี 2554-2555 ที่ตอนยื่นภาษีจะกรอกในช่อง "ภาษีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์"
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของรัฐที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้จาก ซื้อบ้านหลังแรกช่วยลดหย่อนภาษีได้ด้วย อ่านเงื่อนไขก่อนเลย
15. ลดหย่อนจากค่าเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ
สามารถใช้ลดหย่อนได้สูงสุด 60,000 บาท หากเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
ทั้งนี้ หากเป็นบุตรของผู้มีเงินได้ สามารถใช้สิทธิ์ควบคู่กับค่าลดหย่อนบุตรได้
- ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ
- ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ
16. ลดหย่อนจากเงินบริจาค
การบริจาคให้กับการกุศลต่าง ๆ สามารถลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือหลังหักลดหย่อนและยกเว้นกรณีอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น ไม่สามารถนำการบริจาคที่เป็นสิ่งของมาหักลดหย่อนได้ และหากต้องการลดหย่อนแบบคูณ 2 จะต้องเป็นการบริจาคเงินให้กับโรงเรียนรัฐ และโรงเรียนเอกชนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือสมาคมกีฬาที่ได้รับการอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทยแล้วเท่านั้น เช่น บริจาคให้โรงเรียนหรือสมาคมกีฬา 15,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนได้เป็น 30,000 บาท (15,000 x 2 = 30,000)
ทั้งนี้ การบริจาคที่จะนำมาใช้ลดหย่อนจะต้องมีใบเสร็จรับเงินบริจาค หรือใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อผู้บริจาคชัดเจนตรงกับชื่อ-นามสกุลของผู้เสียภาษี เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐาน และหากมีการบริจาคร่วมกันหลายคน ให้เฉลี่ยเงินบริจาคออกเป็นเท่า ๆ กันตามสัดส่วน
- รายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ให้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนเงินบริจาค
- รายชื่อหน่วยงานกีฬาที่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาค
- รายชื่อมูลนิธิสมาคม สถานสาธารณกุศล วัดวาอาราม ที่ใช้สิทธิ์ขอหักลดหย่อนเงินบริจาค
- รายชื่อสถานสงเคราะห์ สถานพักฟื้นบำบัดและฟื้นฟูเด็ก คนชรา คนพิการ ที่สามารถลดหย่อนเงินบริจาคได้
17. ลดหย่อนจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ
ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท จากทั้ง 2 เงื่อนไขรวมกันคือ
- ค่าบริการนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ (ค่าแพ็กเกจทัวร์) อันเกิดจากการใช้บริการบริษัททัวร์ หรือบริษัทนำเที่ยว ที่จดทะเบียนกับสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิ์ขอหักลดหย่อนค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้ที่กรมสรรพากร
- ค่าบริการที่พัก จะต้องเป็นค่าที่พักกับโรงแรมที่ได้จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติโรงแรม เรียบร้อยแล้วเท่านั้น ดังนั้นค่าที่พักบางแห่งอาจจะไม่สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ เช่น พักตามโฮมสเตย์ หรือบ้านพักต่าง ๆ แม้แต่บ้านพักตามอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ เพราะไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงแรมตามกฎหมาย โดยการนำหลักฐานสำคัญ คือใบเสร็จหรือหลักฐานการรับเงิน ที่ระบุชื่อผู้ชำระเงิน จำนวนเงิน และวันเดือนปีที่ชัดเจนมาแสดง
ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิ์ขอหักลดหย่อนค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้ที่กรมสรรพากร
18. ลดหย่อนจากการซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันสงกรานต์
เป็นมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายที่จะนำมาลดหย่อนภาษีได้ต้องเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเที่ยว-กิน-นอน ระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2559 และค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ
- ค่าใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยว เช่น ค่าแพ็กเกจทัวร์ในประเทศ, ค่ามัคคุเทศก์นำเที่ยว
- ค่าที่พัก ต้องเป็นโรงแรมในประเทศ แต่ไม่รวมการทำสปา หรือเล่นกีฬาทางน้ำ
- ค่าอาหารและเครื่องดื่มจากร้านอาหารหรือโรงแรม แต่ไม่รวมการซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งจะต้องคำนวณตามขั้นภาษีของคุณด้วยค่ะ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ดูได้จากตารางข้างล่างนี้ ซึ่งอัตราภาษีแบ่งเป็นขั้นตามรายได้สุทธิ
สรุปได้ว่าผู้มีเงินได้จะได้รับภาษีคืนเท่าไร ขึ้นอยู่กับฐานภาษีของตัวเอง เช่น ผู้ที่มีฐานภาษี 35% หากจ่ายเงินสำหรับการท่องเที่ยวและรับประทานอาหารไป 15,000 บาท จะได้ภาษีคืนถึง 5,250 บาทเลยทีเดียว ซึ่งเป็นอัตราคืนภาษีสูงสุดของนโยบายนี้ ขณะที่ผู้ที่มีฐานภาษี 5% หากจ่ายเงินค่าพักโรงแรมและการท่องเที่ยวไป 15,000 บาทเต็มจำนวน ก็จะได้ภาษีคืนเพียง 750 บาทเท่านั้น >> [อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ลดหย่อนภาษี สงกรานต์ เงื่อนไขเป็นอย่างไร ได้ลดภาษีเท่าไรนะ]
19. ลดหย่อนจากการซื้อสินค้าโอทอป (OTOP)
เป็นมาตรการช้อปช่วยชุมชน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นของไทย (OTOP) โดยให้ประชาชนที่ซื้อสินค้าโอทอป (OTOP) ระหว่างวันที่ 1-31 สิงหาคม 2559 สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท [อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม นักช้อปเฮอีก ! รัฐไฟเขียว ซื้อสินค้าโอทอป ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000]
20. ลดหย่อนจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ ช่วงเดือนธันวาคม (เพิ่มเติม)
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 เห็นชอบให้สามารถนำค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคม 2559 มาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งถ้ารวมกับมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเดิม (ตามข้อ 17) ที่กำหนดวงเงินไว้ที่ 15,000 บาท จะทำให้ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงเดือนธันวาคมนี้ จะได้รับการลดหย่อนภาษีได้ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวที่จะนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้น ต้องเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศ และจ่ายให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และค่าที่พักในโรงแรมให้ผู้ประกอบการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม (ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าเช่ารถ ค่าเช่าเรือ ค่าเข้าชมการแสดง ค่าอาหารในโรงแรม ค่าซื้อสินค้า ไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้)
นอกจากนี้ต้องเป็นการซื้อแพ็กเกจทัวร์หรือจ่ายค่าที่พักในเดือนธันวาคม 2559 เพื่อเข้าพักภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เท่านั้น หากจ่ายเงินก่อน แล้วเดินทางหรือเข้าพักในปี 2560 จะถือว่าไม่เข้าข่าย
ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิ์ขอหักลดหย่อนค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้ที่กรมสรรพากร
21. ลดหย่อนจากมาตรการช้อปช่วยชาติ 2559
เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงสิ้นปี คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติมาตรการช้อปช่วยชาติแล้ว ให้นำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ ในช่วงวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559 มาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ
- ผู้ซื้อสินค้าและบริการเป็นบุคคลธรรมดา ไม่รวมคณะบุคคล
- มาตรการนี้ใช้ได้กับบุคคลธรรมดาที่เคยมีการจ่ายภาษีเดิมอยู่แล้วเท่านั้น
- ใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2559 ที่จะยื่นแบบในต้นปี 2560
- ซื้อสินค้าและชำระค่าบริการ ระหว่างวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559
- ซื้อสินค้าและบริการในประเทศ จากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- สินค้าหรือบริการนั้นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7%
- กรณีสินค้าหรือบริการได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่สามารถนํามาหักลดหย่อนได้
- ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท (รวม VAT แล้ว)
- ได้รับเงินคืนตามฐานภาษีเงินได้ที่จ่ายให้กับกรมสรรพากร ไม่ได้คืนเท่ากับราคาสินค้าที่ซื้อ
- ต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่ง ป.รัษฎากร คือ มีชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในใบกำกับภาษี
อ่านเงื่อนไขและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ [ช้อปช่วยชาติ 2559 เคลียร์ทุกข้อสงสัย ! ซื้ออะไรลดหย่อนภาษีได้-ไม่ได้]
หลังจากทราบเงื่อนไขเเละหลักเกณฑ์การลดหย่อนภาษีทั้งหมดแล้ว ผู้เสียภาษีทุกคนก็เตรียมสำรวจตัวเองได้เลยว่าเราเข้าหลักเกณฑ์การลดหย่อนภาษีข้อใดบ้าง ทำตามหลักเกณฑ์ใดได้บ้าง และอย่าลืมตรวจเช็กเอกสารต่าง ๆ ที่ต้องใช้สำหรับแนบไปให้ครบถ้วน เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ ลดภาระการจ่ายภาษี ของทุกคนกันด้วย สำหรับใครที่ต้องการดาวน์โหลดแบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อนภาษี สามารถเข้าไปดูได้ที่ กรมสรรพากร
***หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 15.38 น. วันที่ 13 ธันวาคม 2559
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
กรมสรรพากร