x close

เทคนิคเลือกซื้อประกันสุขภาพ ให้ได้ลดหย่อนภาษี

          ทำประกันสุขภาพเมื่อยังมีสุขภาพดี และศึกษาแบบประกันให้ดีก่อนซื้อ เพื่อเลือกได้ตรงตามความต้องการ
ประกันสุขภาพ

          เมื่อพูดถึงประกันสุขภาพ หลายคนคงคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำ ปีไหนไม่ป่วย ไม่ได้ใช้ ก็เหมือนจ่ายเงินทิ้งไปเปล่า ๆ หรือคิดว่า ตัวเองแข็งแรงดี ไม่เจ็บไม่ป่วยง่าย ๆ แต่ไม่มีใครสามารถคาดเดาอนาคตได้ว่า เหตุไม่คาดคิดจะเกิดกับตัวเราหรือไม่ โรคภัยไข้เจ็บสมัยนี้ก็มีโรคแปลก ๆ เกิดขึ้นมากมาย ป้องกันไว้ก่อนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี และที่สำคัญตอนนี้เบี้ยประกันสุขภาพสามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วย รายละเอียดเป็นอย่างไร K-Expert ธนาคารกสิกรไทย มีข้อมูลมาฝากกัน

ประกันสุขภาพสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างไร

          สำหรับผู้ที่ทำประกันสุขภาพมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 หรือกำลังตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพนั้น ที่ประชุม ครม. มีมติว่า เบี้ยประกันสุขภาพสามารถลดหย่อนภาษีได้ 1.5 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับค่าเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 1 แสนบาท โดยประกันสุขภาพที่นำมาลดหย่อนได้มีดังนี้

          1. การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
          2. การประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
          3. การประกันภัยโรคร้ายแรง
          4. การประกันภัยการดูแลระยะยาว

          จะเห็นได้ว่า หากซื้อประกันสุขภาพเอาไว้ แม้ไม่ได้ใช้ ก็ไม่ได้จ่ายเงินไปฟรี ๆ สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนภาษีได้ เรียกว่า ได้ทั้งความคุ้มครองสุขภาพ และได้ประหยัดภาษี
   
          ทั้งนี้ แนะนำให้เช็กกับบริษัทประกันก่อนว่า ประกันสุขภาพที่เราซื้อไว้ หรือสนใจจะซื้อนั้น สามารถลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การซื้อประกันสุขภาพ อยากให้มองว่า ซื้อเพื่อคุ้มครองสุขภาพ หรือช่วยบรรเทาค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยภาษีที่ประหยัดได้จากเบี้ยประกันเป็นผลพลอยได้ที่เพิ่มเข้ามา

ประกันสุขภาพ

ก่อนซื้อประกันสุขภาพต้องดูอะไรบ้าง

          สำหรับผู้ที่วางแผนจะซื้อประกันสุขภาพ มีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณา ดังนี้

          เช็กสวัสดิการ


          อันดับแรกดูก่อนว่า เรามีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเป็นอย่างไร ทั้งสวัสดิการจากที่ทำงาน สวัสดิการจากภาครัฐอย่างประกันสังคม เพียงพอหรือไม่หากเราเจ็บป่วย จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเองทุกครั้งไหม จ่ายเพิ่มในแต่ละครั้งเป็นจำนวนเงินเท่าไร เพราะหากการเจ็บป่วยในแต่ละครั้งต้องจ่ายเพิ่มทุกครั้งและไม่ใช่ครั้งละน้อย ๆ การซื้อประกันสุขภาพจะตอบโจทย์ ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายได้

          เช็กประกันที่เคยทำไว้

          ลองดูว่าประกันที่เราเคยทำไว้เป็นแบบไหน มีความคุ้มครองสุขภาพอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะบางครั้งเราซื้อแล้วก็เก็บเล่มกรมธรรม์ไว้อย่างดี ไม่เคยนำออกมาดู ซึ่งเราอาจเคยซื้อพ่วงกับประกันชีวิตไว้ก็ได้ ถ้ามีความคุ้มครองสุขภาพอยู่ด้วย ลองดูว่า ครอบคลุมอะไรบ้าง คุ้มครองโรคร้ายแรงไหม ยิ่งถ้าคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ก็ควรที่จะซื้อประกันโรคร้ายแรงไว้ด้วย หรือหากมีอยู่แล้ว แต่วงเงินไม่มากนัก อาจพิจารณาเพิ่มวงเงินให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายมากขึ้น

          เช็กความสามารถในการจ่ายเบี้ย

          ข้อนี้เรียกว่าสำคัญมาก คือ เงินในกระเป๋าเรานั่นเอง เพราะประกันสุขภาพถือเป็นเบี้ยทิ้งปีต่อปี หากเราไม่เจ็บป่วย ไม่ได้ใช้บริการประกันสุขภาพเลย พอครบปีความคุ้มครองก็หมดไป แต่ต้องบอกว่า เงินที่จ่ายเป็นค่าเบี้ย เปรียบเหมือน ซื้อยันต์ป้องกันภัยช่วยให้อุ่นใจ หากเจ็บป่วย ก็มีคนช่วยจ่าย ไม่ต้องควักเงินในกระเป๋าตัวเองจ่ายเต็ม ๆ และถ้ารอให้เจ็บป่วย หรือเป็นโรคใดเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยซื้อประกัน บริษัทประกันอาจไม่รับ หรือรับทำแต่ไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนก็ได้ โดยเงินที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันไม่ควรเกิน 10% ของรายได้ เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าใช้จ่ายประจำวันหรือเป้าหมายการเงินอื่น ๆ ของเรา

          เช็กแบบประกันที่เหมาะกับตัวเรา

          เมื่อตัดสินใจจะทำประกันสุขภาพให้ตัวเอง ก็ควรเลือกแบบประกันที่เหมาะกับตัวเรามากที่สุด โดยหลัก ๆ แล้ว ประกันสุขภาพ สามารถแบ่งเป็น "แบบแยกค่าใช้จ่าย" และ "แบบเหมาจ่าย" โดยแบบแยกค่าใช้จ่ายจะระบุวงเงินค่ารักษาในแต่ละรายการ เช่น ค่าห้อง ค่าแพทย์ ค่าพยาบาล ค่าผ่าตัด ฯลฯ หากมีค่าใช้จ่ายรายการไหนที่เกิดขึ้นสูงเกินวงเงินที่ระบุในกรมธรรม์ จะต้องจ่ายส่วนเกินเพิ่มเอง

          ผู้ที่ต้องการทำประกันแบบนี้ แนะนำให้ดูว่า ค่าห้องของโรงพยาบาลที่คาดว่าหากเจ็บป่วยจะเข้ารับการรักษาอยู่ที่เท่าไร ก็เลือกค่าห้องในแบบประกันให้สอดคล้องกัน ยิ่งเลือกค่าห้องในอัตราสูงเท่าไร วงเงินค่ารักษารายการอื่น ๆ ก็จะสูงตามไปด้วย

          สำหรับแบบเหมาจ่าย มักไม่จำกัดวงเงินค่ารักษาในแต่ละรายการ (อาจมีบางกรมธรรม์จำกัดค่าใช้จ่ายบางรายการ เช่น ค่าห้อง) โดยจะกำหนดมาให้ว่าใน 1 ปี สามารถเคลมค่ารักษาได้ในวงเงินเท่าไร ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ต้องการทำประกันให้ครอบคลุมค่ารักษาที่อาจเกิดขึ้นมากที่สุด แต่ต้องจ่ายเบี้ยที่สูงขึ้น เพราะโดยทั่วไปประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายจะมีค่าเบี้ยประกันที่สูงกว่าแบบแยกค่าใช้จ่าย

          การซื้อประกันสุขภาพเหมือนซื้อความอุ่นใจให้ตัวเอง เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเราบ้าง และที่สำคัญ ซื้อตอนยังแข็งแรงดี เพราะถ้าสุขภาพไม่แข็งแรงหรือป่วยเป็นโรคใดแล้ว อาจทำประกันไม่ได้แล้วก็ได้

          K-Expert Action

          • ศึกษาแบบประกัน รายละเอียดความคุ้มครองให้ดีก่อนซื้อ เพื่อเลือกได้ตรงตามความต้องการของตัวเอง
          • ทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมจากสวัสดิการ หรือความคุ้มครองที่มีอยู่ เพื่อไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันที่สูงเกินไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทคนิคเลือกซื้อประกันสุขภาพ ให้ได้ลดหย่อนภาษี อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2564 เวลา 17:36:42 26,124 อ่าน
TOP