เทคนิคเลือก RMF ลดหย่อนภาษีอย่างไรให้เหมาะกับตัวเรา

          ลงทุนประหยัดภาษีและเป็นแหล่งเงินได้ยามเกษียณด้วยกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็ม
RMF

          เมื่อพูดถึงการลงทุนลดหย่อนภาษี นอกจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) แล้ว ยังมีกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่งที่ลดหย่อนภาษีได้ นั่นคือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แต่หลายคนอาจมองข้าม RMF ไป เพราะคิดว่าต้องลงทุนยาวถึงอายุ 55 ปี แต่ที่จริงแล้ว RMF เป็นเงินเก็บก้อนสำคัญสำหรับชีวิตหลังเกษียณ ดังนั้น ยิ่งเริ่มลงทุนใน RMF เร็ว ก็ยิ่งมีเงินไว้ใช้หลังเกษียณมาก โดย K-Expert ธนาคารกสิกรไทยมีคำแนะนำการเลือก RMF มาดังนี้

          RMF มีนโยบายการลงทุนหลากหลาย ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำจนถึงความเสี่ยงสูง ดังนั้น ผู้ลงทุนควรเลือกลงทุนใน RMF ให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

รับความเสี่ยงได้สูง หรืออยู่ในช่วงวัยเริ่มต้นทำงาน

          เหมาะกับ RMF ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ โดยจะลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% ของเงินลงทุน นอกจากนี้ ยังมี RMF ที่เน้นลงทุนในทองคำ กองทุนประเภทนี้มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงจากการลงทุน โดยเฉลี่ยปีละ 8-12% แต่ต้องยอมรับโอกาสขาดทุนหรือความผันผวนที่สูงได้เช่นกัน

รับความเสี่ยงได้ปานกลาง หรืออยู่ในช่วงวัยกลางคน

          เหมาะกับ RMF ที่ลงทุนผสมในหุ้นและตราสารหนี้ โดยกองทุนอาจกำหนดสัดส่วนของการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ เช่น ลงทุนในหุ้นไม่เกิน 40% ของเงินลงทุน ที่เหลือลงทุนในตราสารหนี้หรือเงินฝาก นโยบายการลงทุนประเภทนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น ในขณะที่มีโอกาสรับผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว มีโอกาสรับผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5-7%
 
รับความเสี่ยงได้ต่ำ หรืออยู่ในช่วงวัยก่อนเกษียณ

          เหมาะกับ RMF ที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ เช่น RMF ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้อย่างพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ เหมาะกับผู้ลงทุนที่เน้นรักษาเงินต้น ไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากการลงทุนมากนัก หรือ RMF ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เงินฝาก ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี เหมาะกับผู้ที่ต้องการพักเงิน ซึ่งผู้ที่เลือกลงทุนใน RMF ที่มีความเสี่ยงต่ำควรยอมรับผลตอบแทนที่ไม่สูงมากได้ โดยมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 2-4%

           RMF

          RMF ทุกกองทุนไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เนื่องจาก RMF มีจุดประสงค์ที่ต้องการสนับสนุนการออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นแรงจูงใจ ดังนั้น การไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ก็เพื่อให้เงินที่เราลงทุนใน RMF เป็นเงินที่สะสมไว้เพื่อใช้จ่ายในบั้นปลายชีวิต

          ทั้งนี้ ระหว่างที่ลงทุนใน RMF ผู้ลงทุนสามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน RMF ที่ถือครองอยู่ได้ เช่น สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน RMF ที่ลงทุนในหุ้น ไปยัง RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น จึงอยากลดความเสี่ยงจากการลงทุนลง หรือต้องการปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนตามภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างเช่นช่วงตลาดหุ้นผันผวน หากผู้ลงทุนไม่มั่นใจกับ RMF ที่ลงทุนในหุ้นที่ถืออยู่ ก็สามารถสับเปลี่ยนไป RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ได้

          จะเห็นได้ว่า RMF มีความยืดหยุ่นในการลงทุนค่อนข้างมาก โดยสามารถเลือกได้ว่าจะลงทุนใน RMF ที่มีนโยบายการลงทุนแบบใดตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และสามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรเลือกลงทุนกับบริษัทจัดการ (บลจ.) ที่เปิดบริการสับเปลี่ยนกองทุนรวมระหว่าง RMF โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม

RMF

          สำหรับผู้ที่ตัดสินใจซื้อ RMF อย่าลืมพิจารณาเงื่อนไขในการลงทุน โดยมีเงื่อนไขหลัก ๆ 2 เรื่องด้วยกัน คือ จำนวนเงินลงทุน และระยะเวลาลงทุน


จำนวนเงินลงทุน

          สามารถลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาทต่อปี หรือ 3% ของเงินได้ และไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี โดยเมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
(กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร << อ่านเพิ่มได้ที่นี่)

ระยะเวลาลงทุน

          ต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็มนับจากวันที่ลงทุนวันแรก โดยไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกิน 1 ปีติดต่อกัน ทั้งนี้ การนับ 5 ปีจะนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุนคือ ปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีการลงทุนในปีนั้น

 
          RMF ถือว่าเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะได้ทั้งลดหย่อนภาษี และได้เก็บเงินเกษียณ ที่สำคัญสามารถเลือกนโยบายการลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในแต่ละช่วงชีวิต และแนะนำให้ลงทุนต่อเนื่องทุกปีเพื่อเป็นเงินสะสมเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ


          K-Expert Action

          • คำนวณรายได้ทั้งปีที่ต้องนำมายื่นเสียภาษี เพื่อจะได้ลงทุน RMF ไม่เกินสิทธิ

          • ลงทุน RMF ต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี เพื่อไม่ผิดเงื่อนไขการลงทุน

          • กันเงินสำรองไว้ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เมื่อต้องใช้เงินจะได้ไม่กระทบกับเงินที่ลงทุนอยู่ใน RMF


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทคนิคเลือก RMF ลดหย่อนภาษีอย่างไรให้เหมาะกับตัวเรา อัปเดตล่าสุด 26 ตุลาคม 2564 เวลา 17:44:00 15,502 อ่าน
TOP
x close