เงินประกันสังคมได้คืนตอนไหนบ้าง เช็กสิทธิประกันสังคมที่ทุกคนควรรู้

          เงินประกันสังคมได้คืนตอนไหน หลังจากส่งเงินสมทบไปทุกเดือน แล้วจะมีกรณีไหนที่ทำให้เราได้เงินคืนจากประกันสังคมบ้าง
ประกันสังคม ได้เงินคืนตอนไหน

          อย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้ประกันตน ประกันสังคม มาตรา 33 ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สูงสุด 9,000 บาท/ปี ส่วนผู้ประกันตน ประกันสังคม มาตรา 39 ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสูงสุด 5,184 บาท/ปี ในขณะที่ประกันสังคม มาตรา 40 ส่งเงินสมทบสูงสุด 840-3,600 บาท/ปี ซึ่งเงินสมทบก้อนนี้จะถูกแบ่งสันปันส่วนเพื่อให้เกิดความคุ้มครองในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม หลายคนมีความสงสัยว่า ประกันสังคมจะได้คืนตอนไหน เมื่อไหร่ กรณีใดบ้าง ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันหน่อย

เงินประกันสังคมได้คืนไหม 

          โดยทั่วไปเงินประกันสังคมที่เราจ่ายไปนั้นไม่สามารถขอคืนได้แบบตรง ๆ เนื่องจากเป็นเงินที่ใช้เพื่อดูแลกรณีต่าง ๆ ให้ผู้ประกันตนตามแต่ละมาตรา เช่น มาตรา 33 และมาตรา 39 ก็จะมีสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลฟรี ณ โรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนไว้ เป็นต้น
          อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายกรณีที่เราสามารถขอเบิกเงินจากกองทุนประกันสังคมได้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เพื่อคุ้มครองตามสิทธิที่ผู้ประกันตนมี ดังนี้

เงินประกันสังคมได้คืนกรณีไหนบ้าง
มาตรา 33 และมาตรา 39 

เงินประกันสังคม ได้คืนตอนไหน

1. ส่งเงินสมทบเกิน

          ใครมีสิทธิ : เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 หรือมาตรา 40
          การส่งเงินสมทบประกันสังคมเกินอัตราที่กำหนดอาจเกิดได้จากกรณี เช่น
  • ในปีนั้นได้ทำงานกับนายจ้างหลายคนเลยถูกหักเงินสมทบซ้ำซ้อน 
  • มีความผิดพลาดในการคำนวณฐานเงินเดือน เช่น รวมรายได้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป หรือพิมพ์ตัวเลขผิด
  • สำนักงานประกันสังคมปรับลดอัตราส่งเงินสมทบเพื่อช่วยเหลือในกรณีต่าง ๆ เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม แต่เราจ่ายเงินในอัตราเดิมไปก่อนแล้ว 
          กรณีนี้เราสามารถขอคืนเงินสมทบส่วนเกินนั้นได้ โดยไปติดต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อยื่นเรื่องขอรับเงินส่วนที่ชำระเกินภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่นำส่งเงินสมทบหรือวันที่ได้รับแจ้ง หากไม่ได้ยื่นเรื่องภายใน 1 ปี จะไม่สามารถขอคืนเงินส่วนนี้ได้อีก

2. ว่างงาน ตกงาน

          ใครมีสิทธิ : เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน
          ผู้ประกันตน มาตรา 33 หรือก็คือมนุษย์เงินเดือนทั่วไป หากอยู่ในสถานะว่างงานจะได้รับเงินช่วยเหลือตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ
  • กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในระหว่างการว่างงาน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย ครั้งละไม่เกิน 180 วัน ซึ่งถ้าคิดจากฐานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท จะได้รับเงินชดเชยสูงสุด 7,500 บาท 
  • กรณีลาออกเอง จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในระหว่างการว่างงาน 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ซึ่งถ้าคิดจากฐานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท เท่ากับจะได้รับเงินชดเชยสูงสุดที่ 4,500 บาท

3. คลอดบุตร

          ใครมีสิทธิ : เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่คลอด กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และจะได้รับเงินดังนี้
  • ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ : จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,500 บาท
  • ค่าคลอดบุตร : เหมาจ่าย 15,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง
  • เงินสงเคราะห์กรณีหยุดงาน : สำหรับผู้ประกันตนหญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์จากการหยุดงาน ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 2 ครั้ง)

4. สงเคราะห์บุตร

          ใครมีสิทธิ : เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน โดยจะได้รับเงินเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อคน คราวละไม่เกิน 3 คน ตั้งแต่เด็กมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์

5. ทุพพลภาพ

          ใครมีสิทธิ : เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนประสบเหตุ
          ในกรณีที่ผู้ประกันตนสูญเสียอวัยวะ หรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะ หรือของร่างกาย หรือสูญเสียภาวะปกติของจิตใจ จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงถึงขนาดไม่อาจประกอบการงานตามปกติได้ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 
          กรณีทุพพลภาพซึ่งไม่เกิดจากการทำงาน
  • หากทุพพลภาพรุนแรงจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ทุกเดือน ตลอดชีวิต
  • หากทุพพลภาพไม่รุนแรงจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 30 หรือในส่วนที่ลดลง แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 เดือน ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด
          กรณีเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพจากการทำงาน
  • กรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน และแพทย์สั่งให้หยุดงาน ไม่สามารถมาทำงานได้ ได้รับค่าทดแทนจำนวน 70% ของค่าจ้างรายเดือน ตั้งแต่วันแรกที่หยุดงาน
  • กรณีสูญเสียอวัยวะ ได้รับเงินค่าทดแทน จำนวน 70% ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
  • กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทดแทน จำนวน 70% ของค่าจ้างรายเดือน ตลอดชีวิต
  • กรณีถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย ได้รับเงินค่าทดแทน จำนวน 70% ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
เงินประกันสังคมได้คืนเมื่อไหร่

ภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม

6. บำเหน็จชราภาพประกันสังคม

          ใครมีสิทธิ : เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง โดยได้จ่ายเงินสมทบมาตั้งแต่ 1 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน (15 ปี) จะได้รับเงินดังนี้
  • จ่ายเงินสมทบ 1-11 เดือน : ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่จ่ายเข้ากรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ เฉพาะส่วนของผู้ประกันตนเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งคิดเป็น 3% ของฐานเงินเดือน 1,650-15,000 บาท
  • จ่ายเงินสมทบ 12-179 เดือน : ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ที่ตัวเองและนายจ้างจ่ายไว้ทั้งหมด ซึ่งคิดเป็น 6% ของฐานเงินเดือน 1,650-15,000 บาท พร้อมกับผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่ประกันสังคมนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน

7. บำนาญชราภาพประกันสังคม

          ใครมีสิทธิ : เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง โดยได้จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี จะได้รับเงินดังนี้
  • จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน : ได้รับเงินเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
  • จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน : ได้รับเงินเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และได้รับเงินเพิ่มอีกปีละ 1.5% สำหรับทุก ๆ 12 เดือน ที่จ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมจาก 180 เดือน เช่น ถ้าส่งเงินสมทบมา 192 เดือน (16 ปี) จะได้เงินบำนาญ 21.5% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
เงินชราภาพประกันสังคม

ภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม

8. เสียชีวิต

          ใครมีสิทธิ : เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ก่อนเสียชีวิต โดยผู้จัดการศพหรือทายาทจะได้รับเงินดังนี้
  • เงินบำเหน็จชราภาพ หรือเงินบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน : จะได้รับเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ รวมทั้งระยะเวลาที่ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญไปแล้ว
  • เงินค่าทำศพ : จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ จำนวน 50,000 บาท 
  • เงินสงเคราะห์กรณีตาย : 
    • หากก่อนตายได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน
    • หากก่อนตายได้ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน
เงินประกันสังคมได้คืนตอนไหน

ภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม

ภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม

เงินประกันสังคมได้คืนกรณีไหนบ้าง
มาตรา 40 

เงินคืนประกันสังคม มาตรา 40

1. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย

  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 หรือทางเลือกที่ 2 : ได้รับเงินชดเชย 50-300 บาทต่อวัน (ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก)
  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 : ได้รับเงินชดเชย 200-300 บาทต่อวัน (ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก)

2. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ

  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 หรือทางเลือกที่ 2 : ได้รับเงินชดเชย 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานาน 15 ปี (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ)
  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 : ได้รับเงินชดเชย 500-1,000 บาทต่อเดือน ตลอดชีวิต (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ)

3. เงินค่าทำศพกรณีเสียชีวิต

  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 หรือทางเลือกที่ 2 : ทายาทได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท และหากจ่ายเงินสมทบมาครบ 60 เดือน ก่อนเสียชีวิต จะได้เพิ่มอีก 8,000 บาท
  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 : ทายาทได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท

4. เงินบำเหน็จชราภาพ

  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 : รับบำเหน็จชราภาพ 50 บาทต่อเดือน คูณด้วยระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบเพื่อกรณีชราภาพ และบวกด้วยเงินผลกำไรที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน
  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 : รับบำเหน็จชราภาพ 150 บาทต่อเดือน คูณด้วยระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบเพื่อกรณีชราภาพ บวกด้วยเงินผลกำไรที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน และหากจ่ายเงินสมทบมาแล้วครบ 180 เดือน จะได้รับเงินก้อนอีก 10,000 บาท

5. เงินสงเคราะห์บุตร

          ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรคนละ 200 บาทต่อเดือน (คราวละไม่เกิน 2 คน) สำหรับบุตรแรกเกิดถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์

          สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากประกันสังคมมีอยู่หลายด้าน ใครเป็นผู้ประกันตนมาตราไหน ควรศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขอย่างถี่ถ้วน เพื่อใช้สิทธิที่มีได้อย่างถูกต้อง

บทความที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม (1), (2), (3)
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เงินประกันสังคมได้คืนตอนไหนบ้าง เช็กสิทธิประกันสังคมที่ทุกคนควรรู้ อัปเดตล่าสุด 9 ธันวาคม 2567 เวลา 17:40:14 13,896 อ่าน
TOP
x close