x close

กฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างต้องรู้ ลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อน ได้กี่วัน ยังได้รับค่าจ้างอยู่ไหม ?

          กฎหมายแรงงาน ฉบับล่าสุดที่มนุษย์เงินเดือนควรทำความเข้าใจ เราสามารถลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อนได้กี่วัน พร้อมทั้งเรื่องวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตามประเพณี
กฎหมายแรงงาน

          ลูกจ้าง พนักงาน มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องมีวันหยุดในการทำงาน และมีสิทธิ์ที่จะลาตามกฎหมายแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นลากิจ ลาป่วย ลาคลอด ลาพักร้อน (หยุดพักผ่อนประจำปี) ซึ่งตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า เราจะสามารถใช้สิทธิ์การลาแต่ละแบบได้กี่วัน แล้วจะยังได้รับค่าจ้างตามปกติในวันลาหรือไม่ ตามมาหาคำตอบกัน

ลากิจ ได้กี่วัน

  • ลูกจ้างสามารถลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน/ปี โดยนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติไม่เกิน 3 วันทำงาน/ปี 

  • กรณีบริษัทกำหนดให้ลากิจได้ 3 วัน/ปี แล้วลูกจ้างจำเป็นต้องลากิจเพิ่ม ก็สามารถลากิจได้โดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรืออาจใช้ลาพักร้อนแทน ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามกฎระเบียบและข้อบังคับขององค์กร

  • ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิ์ลากิจได้ แม้เป็นลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างประเภทอื่น 

  • บริษัทสามารถกำหนดสิทธิ์ลากิจให้ลูกจ้างกี่วันก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน/ปี

ลากิจธุระอันจำเป็น คืออะไร

กฎหมายแรงงาน

ภาพจาก : jekjob/Shutterstock.com

         บางคนอาจสงสัยว่า ลากิจฉุกเฉิน ลากิจธุระอันจำเป็น ต้องเป็นการลาแบบไหน ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า การลากิจธุระอันจำเป็น หมายถึง งานหรือภาระ หรือกิจธุระอันจำเป็นที่ตัวลูกจ้างจะต้องไปดำเนินการด้วยตนเอง บุคคลอื่นไม่สามารถกระทำแทนได้ เช่น

  • ลาไปทำบัตรประชาชน ใบขับขี่ ติดต่อราชการ

  • ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นของครอบครัว เช่น พาพ่อแม่ไปหาหมอ พาลูกไปหาหมอ

  • ลาไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล

  • ลาปฏิบัติธรรมทางศาสนาตามธรรมเนียมปฏิบัติ

  • ลาเข้าพิธีสมรส จัดงานสมรสของบุตร

  • ลาไปจัดงานศพของบุคคลในครอบครัว (พ่อ แม่ พี่น้อง สามี ภรรยา ลูก)

  • ลาไปงานรับปริญญาของตัวเอง

         ทั้งนี้ การลากิจดังกล่าวลูกจ้างจะต้องทำตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม หากเป็นกิจธุระอันจำเป็นจริง ๆ เช่น พ่อแม่ป่วยหนักต้องการไปดูใจ หรือลาไปจัดงานศพของบุคคลในครอบครัว แม้นายจ้างไม่อนุญาตให้ลา แต่การที่ลูกจ้างลาไปก็ไม่ถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ เนื่องจากถือเป็นเหตุอันสมควร นายจ้างจึงไม่สามารถเลิกจ้างพนักงานในกรณีนี้ได้ หากนายจ้างให้พนักงานลาออก นายจ้างอาจจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง

ลาป่วย ได้กี่วัน

กฎหมายแรงงาน

  • ลูกจ้างลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันทำงาน/ปี แต่หากเป็นการลาป่วยตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไป จะไม่ได้รับค่าจ้าง

  • การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป (นับเฉพาะวันทำงาน) นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์ได้ แต่หากไม่มีใบรับรองแพทย์จะต้องชี้แจงให้นายจ้างทราบ 

  • กรณีลูกจ้างไม่อาจทำงานได้เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยซึ่งเกิดจากการทำงาน หรือลาเพื่อคลอดบุตรไม่ถือเป็นวันลาป่วย

ลาพักร้อน ได้กี่วัน

กฎหมายแรงงาน

  • ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี จะมีสิทธิ์ลาพักร้อน หรือที่เรียกว่า วันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี โดยได้รับค่าจ้างในวันลาพักร้อน

  • บริษัทสามารถกำหนดสิทธิ์ลาพักร้อนให้ลูกจ้างมากกว่า 6 วันทำงาน/ปีได้

ไม่ใช้วันลาพักร้อนจะเก็บไว้ได้ไหม ?

         ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงล่วงหน้าตามกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัทนั้น ๆ โดยบางบริษัทอาจให้พนักงานสะสมหรือเลื่อนวันลาพักร้อนไปรวมหยุดในปีต่อ ๆ ไปได้ แต่ก็มีบางบริษัทที่ไม่ให้ทบวันลาพักร้อน จึงจำเป็นต้องใช้สิทธิ์ภายในปีนั้น

ลาคลอดบุตร ได้กี่วัน

กฎหมายแรงงาน

  • ลูกจ้างหญิงมีครรภ์สามารถลาเพื่อคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้เป็นจำนวน 45 วัน 

  • สามารถใช้สิทธิ์ลาคลอดได้ทั้งในกรณีไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร การคลอดบุตร และพักฟื้นหลังคลอดบุตร 
     

ประกันสังคม คลอดบุตร ให้สิทธิ์อะไรบ้าง คุณแม่ป้ายแดงควรรู้

ลาทำหมัน ได้กี่วัน

          ลูกจ้างสามารถลาหยุดเพื่อทำหมันได้ ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนด และออกใบรับรองให้ โดยยังมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันลานั้นด้วย

ลารับราชการทหาร ได้กี่วัน

          ลูกจ้างสามารถลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อตรวจสอบฝึกวิชาทหาร หรือทดลองความพรั่งพร้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารได้ โดยจะได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 60 วัน/ปี

ลาเพื่อฝึกอบรม ได้กี่วัน

กฎหมายแรงงาน

  • ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ต่อการแรงงานและสวัสดิการสังคม โดยต้องแจ้งเหตุในการลาให้นายจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันลา 

  • ในกรณีที่ปีนั้นลูกจ้างเคยได้รับอนุญาตให้ลามาแล้วไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือ 3 ครั้ง หรือแสดงได้ว่าการลาของลูกจ้างอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการประกอบธุรกิจของนายจ้าง นายจ้างอาจไม่อนุญาตให้ลาได้

  • ลูกจ้างจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่ลาเพื่อฝึกอบรม

กฎหมายแรงงาน ให้มีวันหยุดกี่วัน

  • ลูกจ้างจะต้องมีวันหยุดประจำสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน 

  • สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง อาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

กฎหมายแรงงาน
ให้มีวันหยุดตามประเพณีกี่วัน

กฎหมายแรงงาน

          ตามกฎหมายแรงงาน บริษัทจะต้องจัดให้มีวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยนับรวมวันแรงงานแห่งชาติของทุกปี เป็นวันหยุดตามประเพณีด้วย

          ทั้งนี้ วันหยุดตามประเพณีอาจพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น กรณีวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของพนักงานอยู่แล้ว ให้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป

          สำหรับคนที่ทำงานบริการ เช่น งานโรงแรม งานขนส่ง ร้านอาหาร ฯลฯ ที่ไม่สามารถหยุดในวันหยุดตามประเพณีได้ นายจ้างอาจตกลงให้ลูกจ้างไปหยุดชดเชยในวันอื่น หรือจ่ายค่าจ้างในการทำงานวันหยุดแทนก็ได้เช่นกัน

         เรื่องวันหยุดและการลาประเภทต่าง ๆ ทั้งลาพักร้อน ลาป่วย ลากิจ ล้วนเป็นสิทธิ์ที่พนักงานทุกคนควรทำความเข้าใจ ซึ่งบางบริษัทอาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างไปจากกฎหมายแรงงาน ดังนั้นอย่าลืมศึกษากฎระเบียบข้อบังคับของบริษัทด้วย เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเองไม่ให้ถูกนายจ้างเอาเปรียบ

บทความที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงาน

ขอบคุณข้อมูลจาก : ราชกิจจานุเบกษา (1), (2), สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน, ธรรมนิติ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างต้องรู้ ลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อน ได้กี่วัน ยังได้รับค่าจ้างอยู่ไหม ? อัปเดตล่าสุด 18 สิงหาคม 2566 เวลา 23:19:14 66,453 อ่าน
TOP