วิธีคิดค่าโอที ทำงานวันหยุด-ล่วงเวลาแบบไหน ควรได้ค่าตอบแทนเท่าไร ?

สอนวิธีคิดค่าโอทีง่าย ๆ สำหรับการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด ทั้งพนักงานแบบรายเดือนและแบบรายวัน คิดค่าโอทียังไง มาดูกันเลย

โอที (OT : Overtime) เป็นค่าตอบแทนที่พนักงานและมนุษย์เงินเดือน ส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกันดี ซึ่งมันก็คือเงินที่ได้รับจากการทำงานนอกเหนือจากเวลาทำงานปกติ แต่ก็ยังมีลูกจ้างจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ค่อยรู้กฎหมายแรงงานว่าค่าโอทีนั้นคิดยังไงและจะต้องได้เท่าไร ทำให้อาจถูกนายจ้างเอาเปรียบด้วยการให้ค่าโอทีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรืออาจไม่ได้เลยสักบาท (ที่หลายคนเรียกกันว่าโอฟรี) วันนี้เราจึงนำวิธีคิดค่าโอทีมาฝากกัน รับรองว่าเข้าใจไม่ยากอย่างที่คิด

กฎหมายแรงงานให้ลูกจ้างทำงานกี่ชั่วโมง

วิธีคิดค่าโอที

สำหรับงานลูกจ้างทั่วไป ตามกฎหมายแรงงานกำหนดให้ทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หรือตามแต่ที่นายจ้างตกลงกับลูกจ้าง และต้องไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง ส่วนงานที่มีลักษณะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ให้มีเวลาทำงานปกติไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง และไม่เกินสัปดาห์ละ 42 ชั่วโมง

ทั้งนี้ในหนึ่งวันจะต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หลังจากที่ลูกจ้างทำงานติดต่อกันไม่เกิน 5 ชั่วโมง โดยอาจตกลงกันพักเป็นช่วง ๆ ก็ได้ สำหรับงานในร้านอาหารซึ่งเปิดให้บริการในแต่ละวันไม่ติดต่อกัน อาจพักเกินวันละ 2 ชั่วโมงก็ได้ ซึ่งหากเป็นงานที่มีลักษณะต้องทำติดต่อกันไปโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจจะไม่จัดเวลาพักให้ก็ได้ ส่วนในกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติ 2 ชั่วโมงขึ้นไป จะต้องให้ลูกจ้างได้พักก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาอย่างน้อย 20 นาที

สำหรับในกรณีวันหยุด ลูกจ้างจะต้องมีวันหยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน และมีวันหยุดตามประเพณีอย่างน้อยปีละ 13 วัน ส่วนวันหยุดพักผ่อนหรือลาพักร้อนนั้น ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี จะต้องมีวันหยุดพักผ่อนอย่างน้อยปีละ 6 วันขึ้นไป

ทำโอที ต้องเป็นแบบไหน

การทำโอทีหรือทำงานล่วงเวลา คือการทำงานในเวลาที่อยู่นอกเหนือเวลาทำงานปกติ เช่น ทำต่อจากหลังเวลาเลิกงาน หรือทำงานในวันหยุด โดยนายจ้างสามารถให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น และต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป 

ยกเว้นงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน เช่น กิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม และสถานพยาบาล ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน

ทั้งนี้การทำงานทำล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมทั้งสัปดาห์จะต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมง

วิธีคิดค่าโอทีในรูปแบบต่าง ๆ

วิธีคิดค่าโอที

การคำนวณค่าโอทีสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ 

1. กรณีทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ

คือการทำงานเกินจากวัน-เวลาทำงานปกติ ยกตัวอย่างเช่น ปกติทำงานเวลา 9.00-18.00 น. แล้วทำงานล่วงเวลาต่ออีก 2 ชั่วโมงจนถึง 20.00 น. จะมีวิธีคิดค่าโอทีดังนี้

  • พนักงานรายเดือน จะได้ค่าโอที ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมง 

ยกตัวอย่าง มีเงินเดือน 15,000 บาท บริษัทให้ค่าโอที 1.5 เท่า จึงใช้สูตรคำนวณ

(เงินเดือน ÷ 30 ÷ จำนวนชั่วโมงงานปกติต่อวัน) x 1.5 x จำนวนชั่วโมงที่ทำล่วงเวลา

เท่ากับ (15000 ÷ 30 ÷ 8) x 1.5 x 2 = 187.5 บาท

  • พนักงานรายวัน  จะได้ค่าโอที ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมง 

ยกตัวอย่าง ได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท บริษัทให้ค่าโอที 1.5 เท่า จึงใช้สูตรคำนวณ

(ค่าจ้างต่อวัน ÷ จำนวนชั่วโมงงานปกติต่อวัน) x 1.5 x จำนวนชั่วโมงที่ทำล่วงเวลา

เท่ากับ (300 ÷ 8) x 1.5 x 2 = 112.5 บาท

2. กรณีทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์

คือการทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ที่ปกติเป็นวันหยุด ยกตัวอย่างเช่น ปกติลูกจ้างหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ แต่นายจ้างให้มาทำงานในวันเสาร์อีก 1 วัน จะมีวิธีคิดค่าโอทีดังนี้

  • พนักงานรายเดือน ที่ปกติได้รับค่าจ้างในวันหยุดอยู่แล้ว จะได้ค่าโอทีอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมง

ยกตัวอย่าง มีเงินเดือน 15,000 บาท บริษัทให้ค่าโอทีในการทำงานวันหยุด 1 เท่า จึงใช้สูตรคำนวณ

(เงินเดือน ÷ 30 ÷ จำนวนชั่วโมงงานปกติต่อวัน) x 1 x จำนวนชั่วโมงที่ทำงาน

เท่ากับ (15000 ÷ 30 ÷ 8) x 1 x 8 = 500 บาท

  • พนักงานรายวัน ที่ปกติไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุด จะได้ค่าโอทีไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของค่าจ้างรายชั่วโมง

ยกตัวอย่าง ได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท บริษัทให้ค่าโอทีในการทำงานวันหยุด 2 เท่า จึงใช้สูตรคำนวณ

(ค่าจ้างต่อวัน ÷ จำนวนชั่วโมงงานปกติต่อวัน) x 2 x จำนวนชั่วโมงที่ทำงาน

เท่ากับ (300 ÷ 8) x 2 x 8 = 600 บาท

3. กรณีทำงานในวันหยุดตามประเพณีหรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี

วิธีคิดค่าโอที

คือการทำงานในวันหยุดตามประเพณีหรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งโดยปกติทั้งพนักงานรายเดือนและรายวันจะได้รับค่าจ้างอยู่แล้ว เช่น นายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดปีใหม่เป็นเวลา 1 วัน จะมีวิธีคิดค่าโอทีดังนี้

  • พนักงานรายเดือน จะได้ค่าโอทีไม่น้อยกว่า 1 เท่า ของค่าจ้างรายชั่วโมง

ยกตัวอย่าง มีเงินเดือน 15,000 บาท บริษัทให้ค่าโอทีในการทำงานวันหยุดปีใหม่ 1 เท่า จึงใช้สูตรคำนวณ

(เงินเดือน ÷ 30 ÷ จำนวนชั่วโมงงานปกติต่อวัน) x 1 x จำนวนชั่วโมงที่ทำงาน

เท่ากับ (15000 ÷ 30 ÷ 8) x 1 x 8 = 500 บาท

  • พนักงานรายวัน จะได้ค่าโอทีไม่น้อยกว่า 1 เท่า ของค่าจ้างรายชั่วโมง

ยกตัวอย่าง ได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท บริษัทให้ค่าโอทีในการทำงานวันหยุดปีใหม่ 1 เท่า จึงใช้สูตรคำนวณ

(ค่าจ้างต่อวัน ÷ จำนวนชั่วโมงงานปกติต่อวัน) x 1 x จำนวนชั่วโมงที่ทำงาน

เท่ากับ (300 ÷ 8) x 1 x 8 = 300 บาท

4. กรณีทำงานล่วงเวลาในวันหยุดทั้ง 3 ประเภท

คือการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดประจำสัปดาห์, วันหยุดตามประเพณี, วันหยุดพักผ่อนประจำปี เช่น ปกติลูกจ้างทำงานวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-18.00 น. แต่นายจ้างให้มาทำงานในเสาร์เวลา 20.00-22.00 น. จะมีวิธีคิดค่าโอทีดังนี้

  • พนักงานรายเดือน จะได้ค่าโอทีไม่น้อยกว่า 3 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมง

ยกตัวอย่าง มีเงินเดือน 15,000 บาท บริษัทให้ค่าโอทีในการทำงานล่วงเวลาวันเสาร์ 3 เท่า จึงใช้สูตรคำนวณ

(เงินเดือน ÷ 30 ÷ จำนวนชั่วโมงงานปกติต่อวัน) x 3 x จำนวนชั่วโมงที่ทำล่วงเวลา

เท่ากับ (15000 ÷ 30 ÷ 8) x 3 x 2 = 375 บาท

  • พนักงานรายวัน จะได้ค่าโอทีไม่น้อยกว่า 3 เท่า ของค่าจ้างรายชั่วโมง

ยกตัวอย่าง ได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท บริษัทให้ค่าโอทีในการทำงานล่วงเวลาวันเสาร์ 3 เท่า จึงใช้สูตรคำนวณ

(ค่าจ้างต่อวัน ÷ จำนวนชั่วโมงงานปกติต่อวัน) x 3 x จำนวนชั่วโมงที่ทำล่วงเวลา

เท่ากับ (300 ÷ 8) x 3 x 2 = 225 บาท

หมายเหตุ : สถานประกอบการบางแห่งอาจให้ค่าล่วงเวลาพนักงานในอัตราที่มากกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของบริษัทนั้น ๆ

งานประเภทไหนไม่ได้ค่าโอที ?

อย่างไรก็ตาม ในงานบางประเภทแม้จะมีการทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด ลูกจ้างก็จะไม่มีสิทธิได้รับค่าโอที นอกเสียจากว่านายจ้างจะตกลงให้ค่าโอทีแก่ลูกจ้างเองตามแต่ตกลง โดยงานประเภทที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมายแรงงานมีดังนี้

1. ลูกจ้างที่มีอำนาจในการจ้างงานพนักงาน การเลิกจ้างพนักงาน การให้บำเหน็จต่าง ๆ อย่างขึ้นเงินเดือนหรือโบนัส เช่น ผู้จัดการ (Manager) หรือผู้อำนวยการ (Director) เป็นต้น

2. งานเร่ขายหรือชักชวนซื้อสินค้า ซึ่งนายจ้างได้จ่ายค่านายหน้าจากการขายสินค้าให้แก่ลูกจ้าง เช่น พนักงานขาย ตัวแทนขาย ที่ได้ค่าคอมมิชชั่น ค่าอินเทนซีพต่าง ๆ จากยอดขาย เป็นต้น

3. งานขบวนการจัดงานรถไฟ ซึ่งได้แก่งานที่ทำบนขบวนรถและงานอำนวยความสะดวกแก่การเดินรถ

4. งานเปิดปิดประตูน้ำหรือประตูระบายน้ำ

5. งานอ่านระดับน้ำและวัดปริมาณน้ำ

6. งานดับเพลิงหรืองานป้องกันอันตรายสาธารณะ

7. งานที่มีลักษณะหรือสภาพต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้ เช่น พนักงานขาย พนักงานดูแลลูกค้า ที่ต้องออกไปพบลูกค้านอกสถานที่บ่อย ๆ ซึ่งลักษณะงานจะไม่สามารถกำหนดเวลาตายตัวได้

8. งานอยู่เวรเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันมิใช่หน้าที่การทำงานปกติของลูกจ้าง

9. งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทั้งนี้ลูกจ้างที่นายจ้างให้ทำงานตามข้อ 3-9 มีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ

เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับวิธีคิดค่าโอทีที่เราได้นำมาฝากกัน เข้าใจไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะ เพียงเท่านี้ก็จะได้รู้แล้วว่าค่าโอทีที่นายจ้างให้นั้นเหมาะสมตามกฎหมายแรงงานแล้วหรือยัง

บทความที่เกี่ยวข้องกับเงินเดือนและค่าตอบแทน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีคิดค่าโอที ทำงานวันหยุด-ล่วงเวลาแบบไหน ควรได้ค่าตอบแทนเท่าไร ? อัปเดตล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 12:06:10 184,707 อ่าน
TOP
x close