ไขข้อสงสัย ลูกจ้างมาสาย หักเงินได้ไหม จะผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่ และถ้ามาสายเป็นประจำจะมีโอกาสโดนไล่ออกหรือเปล่า หาคำตอบได้ที่นี่
เชื่อว่าใครที่เป็นมนุษย์เงินเดือนหรือทำงานออฟฟิศ ต่างก็น่าจะเคยไปทำงานสายกันมาบ้าง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองหรือย่านที่การจราจรค่อนข้างติดขัด คำนวณเวลาการเดินทางได้ลำบาก เมื่อไปถึงไม่ทันเวลาก็โดนตำหนิหรือโดนหักเงินอีก ซึ่งหลายคนที่เคยได้ยินมาว่าการหักเงินนั้นผิดกฎหมายแรงงานจึงเกิดความสงสัยว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แล้วทำไมนายจ้างส่วนใหญ่จึงสามารถหักเงินลูกจ้างที่มาสายได้ วันนี้เราจะชวนไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลย
มาสาย หักเงินได้ไหม ?
หากอ้างอิงตามมาตรา 76 ในกฎหมายแรงงาน ซึ่งระบุไว้ว่า ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด นั่นก็หมายความว่าการหักเงินจากการมาสายนั้นถือว่าผิดกฎหมายแรงงาน
แต่นายจ้างสามารถใช้วิธีไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างที่มาทำงานไม่ครบตามเวลาทำงานที่ตกลงไว้ได้ เนื่องจากถือเป็นค่าจ้างที่ยังไม่ได้จ่ายให้กับลูกจ้าง และจะจ่ายให้ตามเวลาที่ลูกจ้างได้ทำงานจริง โดยหักเวลาที่มาสายออกแล้วเท่านั้น จึงไม่ถือว่าเป็นการหักเงิน
การหักเงินมาสาย มักมีวิธีคิดอย่างไร ?
หลักการคิดสำหรับหักเงินมาสายแบบ No Work No Pay (ไม่ทำงานก็ไม่จ่ายเงิน) ที่นายจ้างมีสิทธิ์ทำได้และมีความเป็นธรรมโดยไม่ผิดกฎหมายแรงงาน อาจใช้วิธีคำนวณด้วยการนำเงินเดือนมาหารเพื่อหาว่ามีอัตราค่าจ้างอยู่ที่นาทีละกี่บาท จากนั้นนำระยะเวลาที่ลูกจ้างมาสายสะสมในตลอดช่วงเดือนนั้น ๆ มาคูณกับอัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อนาที ได้ผลลัพธ์ออกมาเท่าไรก็หักไปตามจริง
(เงินเดือน ÷ จำนวนวันของเดือนนั้น ๆ ÷ จำนวนชั่วโมงที่ทำงานต่อวัน ÷ 60 นาที) x จำนวนนาทีที่มาสายของเดือนนั้น ๆ = เงินที่หัก
ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างเงินเดือน 15,000 บาท มาสายรวม 20 นาที ในเดือนมิถุนายนซึ่งมี 30 วัน โดยลูกจ้างทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ให้สามารถคำนวณเงินหักได้เป็น (15,000 ÷ 30 ÷ 8 ÷ 60) x 20 = 20.83 หรือประมาณ 21 บาท
อย่างไรก็ตาม หากบริษัทไหนมีการหักมาสายเกินจริง เช่น มาสาย 1 ชั่วโมง แต่หักไป 1 วัน แบบนี้ถือว่าผิดกฎหมาย
มาสายบ่อย ๆ จะโดนไล่ออกหรือไม่ ?
นอกจากการตักเตือน หรือไม่ให้สิทธิประโยชน์บางอย่างแก่พนักงานที่มาสายแล้ว นายจ้างยังสามารถกำหนดบทลงโทษแก่ลูกจ้างที่มาสายได้ตามความเหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น บางบริษัทอาจกำหนดกฎระเบียบไว้ว่า หากมาสาย 3 ครั้งใน 1 เดือน นายจ้างจะออกหนังสือเตือน แต่ถ้าหลังจากนั้นลูกจ้างคนเดิมยังคงมาสายอีกบ่อย ๆ ถือว่าลูกจ้างละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งนายจ้างเป็นประจำ นายจ้างจึงมีสิทธิ์ที่จะไล่ลูกจ้างคนดังกล่าวออกได้
ด้วยข้อมูลทั้งหมดข้างต้นนั้น น่าจะทำให้หลายคนหายสงสัยกันแล้วว่า นายจ้างสามารถหักเงินลูกจ้างที่มาทำงานสายได้หรือไม่ แต่ไม่ว่านายจ้างจะหักเงินหรือไม่ก็ตาม การไปทำงานไม่สาย ตรงต่อเวลา ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำอยู่แล้วล่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : labour.go.th, (2), ราชกิจจานุเบกษา, เฟซบุ๊ก ทนายคู่ใจ, เฟซบุ๊ก ทนายรัชพล ศิริสาคร Fanpage, เฟซบุ๊ก กฎหมายแรงงาน