ไขข้อสงสัย เพื่อนยืมเงินไม่คืนแจ้งความได้ไหม ถ้าไม่มีหนังสือกู้ยืมจะแคปแชตไว้ใช้ฟ้องศาลได้หรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ
เรียกได้ว่าเป็นปัญหาสุดหนักอกหนักใจกันเลยทีเดียว เมื่อให้คนอื่นยืมเงิน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ญาติ คนสนิท หรือใครก็ตาม ทั้งที่ตอนยืมก็รับปากไว้ซะดิบดีว่าถึงเวลาแล้วจะคืนให้ แต่สุดท้ายก็ไม่คืน ทวงเท่าไรก็ไม่ได้ แล้วแบบนี้จะสามารถแจ้งความเพื่อเรียกเงินคืนได้ไหมนะ ใครที่กำลังเผชิญกับคนเหนียวหนี้อยู่ก็ลองมาอ่านกันได้เลย
ยืมเงินแล้วไม่คืน แจ้งความได้ไหม ?
ในกรณีที่ให้คนอื่นยืมเงินไปแล้วอีกฝ่ายไม่ยอมคืน แล้วเราต้องการไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรงนี้ทางตำรวจจะไม่รับแจ้งความเพื่อดำเนินคดี เนื่องจากเป็นเรื่องการทำผิดสัญญากู้ยืม ซึ่งถือว่าเป็นคดีแพ่งที่ตำรวจไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุม สิ่งที่ทำได้ก็เพียงช่วยลงบันทึกประจำวันให้เราไว้เป็นหลักฐานในการนำไปดำเนินคดีทางแพ่งเอง
ยืมเงินแล้วไม่คืน ฟ้องศาลได้หรือไม่ ?
ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถแจ้งความได้ แต่เจ้าหนี้ก็ยังสามารถฟ้องศาลเพื่อเรียกเงินจากลูกหนี้ได้ โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า การกู้ยืมเงิน 2,000 บาทขึ้นไป จะต้องมีสัญญาการกู้ยืมจึงจะสามารถฟ้องศาลได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. กรณีมีสัญญาการยืมเงิน
ผู้ให้กู้จะต้องมีหนังสือสัญญากู้ยืมที่ระบุไว้ว่า สัญญาได้ทำขึ้นที่ไหน วันที่และเวลาในการทำสัญญา รายละเอียดของผู้ให้กู้และผู้กู้ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งจำนวนเงินที่ยืม กำหนดชำระคืน และลงลายมือชื่อของผู้กู้
2. กรณีไม่มีสัญญาการยืมเงิน
ผู้ให้กู้สามารถใช้หลักฐานการแชตในการฟ้องศาลได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 โดยต้องมีหลักฐานเป็นข้อความการสนทนาขอกู้ยืมเงินผ่านบริการแชตที่มีระบบปลอดภัยและเชื่อถือได้ เช่น Facebook, LINE และมีข้อความที่ระบุว่าใครเป็นผู้ขอยืม ยืมจำนวนเท่าไร จะใช้คืนเมื่อไร
นอกจากนี้ยังต้องมีชื่อบัญชีผู้ใช้ ชื่อจริง บัญชีธนาคารของผู้กู้ยืม และสลิปหลักฐานการโอนเงินที่ระบุวันเวลาที่โอนเงิน ซึ่งจะต้องเก็บหลักฐานไว้ทันทีที่มีการกู้ยืมเงิน และรักษาข้อมูลให้อยู่ในสภาพเดิม ไม่มีการตัดต่อแก้ไขวันที่หรือเวลาที่รับ-ส่งข้อความกัน
ยืมเงินไม่เกิน 2,000 ฟ้องศาลได้ไหม ?
ในกรณีเงินที่ให้กู้ยืมมีจำนวนไม่เกิน 2,000 บาท กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำหลักฐานการกู้ยืมต่อกัน ซึ่งก็หมายความว่า ถึงแม้จะเป็นการตกลงยืมเงินกันด้วยวาจา เมื่อเกิดการผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญากัน ผู้ให้กู้ก็สามารถฟ้องศาลได้ตามกฎหมาย แต่ก็อาจต้องพิจารณาจำนวนเงินที่ให้ยืมไปด้วยว่าคุ้มที่จะฟ้องหรือไม่ เนื่องจากการฟ้องต้องมีค่าทนายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งถ้าเงินที่ให้กู้ยืมไปเป็นจำนวนน้อย เจ้าหนี้ก็อาจไม่คุ้มที่จะฟ้องนั่นเอง
ยืมเงินแล้วไม่คืน ผิดกฎหมายข้อไหนบ้าง ?
กรณียืมเงินแล้วไม่คืนจะเข้าข่ายผิดสัญญาทางแพ่ง ตามมาตรา 213 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเจ้าหนี้สามารถยื่นฟ้องต่อศาลให้มีคำสั่งบังคับให้ลูกหนี้คืนเงินให้ได้
และในกรณีที่มีการฟ้องร้องต่อศาลเกิดขึ้นแล้ว แต่ลูกหนี้ยังไม่ยอมชำระเงินคืนตามตกลง อีกทั้งยังมีพฤติกรรมซุกซ่อน ขายทรัพย์สิน หรือโอนย้ายทรัพย์สินของตัวเองไปให้บุคคลอื่น เพื่อเลี่ยงการจ่ายหนี้ อาจมีความผิดฐานทางอาญา มาตรา 350 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ยืมเงินแล้วไม่คืน มีอายุความกี่ปี
การฟ้องศาลเพื่อเรียกเงินคืนตามสัญญากู้ยืมจะมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระเงินกู้ยืมคืน แต่หากในสัญญากู้ยืมมีการตกลงกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแบบเป็นงวด ๆ กรณีนี้จะมีอายุความเพียง 5 ปี
ถ้าฟ้องศาลแล้วจะมีกระบวนการอย่างไร ?
ในกระบวนการฟ้องศาลอาจมีการเจรจาประนอมหนี้ เช่น ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้เป็นเงินก้อน แต่ลูกหนี้เจรจาขอผ่อนชำระ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ว่าจะยอมหรือไม่
และถ้าหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะไม่มีเงินมากพอที่จะชำระ เจ้าหนี้จะต้องไปสืบทรัพย์เองว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์อะไรบ้าง อาศัยอยู่ที่ไหน และทำงานที่ไหน เพื่อยื่นศาลให้ทำการยึดทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน แล้วนำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ แต่ในกรณีที่เป็นเงินเดือน รายได้ต่าง ๆ จะถูกอายัดได้บางส่วนตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้ลูกหนี้ยังเหลือเงินไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินบางอย่างอาจไม่สามารถยึดหรืออายัดได้ ถ้าอยากทราบว่ามีอะไรบ้างก็สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้ที่ : เจ้าหนี้-ลูกหนี้ รู้ไว้ไม่เสียหาย ! ทรัพย์สินอะไรยึดได้-ยึดไม่ได้
บทความที่เกี่ยวข้องกับหนี้สิน
- เบี้ยวหนี้ "ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย" แบบนี้จะเจออะไรบ้าง ?
- สามีภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส หนี้สิน-ทรัพย์สิน จัดการยังไง ?
- เป็นหนี้นอกระบบทำไงดี ? 7 วิธีแก้ปัญหาหนี้ท่วมหัว แบบทำได้จริง !
- ค้นให้เจอ 3 "เหตุ" ทำให้เป็นหนี้ "เกินตัว"
- รู้ได้อย่างไรว่าเราแบกหนี้เยอะแล้ว ?
- คลินิกแก้หนี้ 2565 อัปเดตเงื่อนไขใหม่ ใครอยากปลดหนี้มาทางนี้ !
- 7 วิธีปฏิเสธเพื่อนขอยืมเงิน บอกปัดยังไงดี ไม่ให้เสียน้ำใจ
- ระวัง ! แชตยืมเงิน ใช้ฟ้องศาลได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : กองปราบปราม, สำนักงานกิจการยุติธรรม (1), (2), ธนาคารแห่งประเทศไทย