สงสัยกันไหม สามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถ้ามีหนี้สินต้องรับผิดชอบร่วมกันไหม แล้วจะแบ่งทรัพย์สินกันยังไง มาหาคำตอบกัน
หลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าการจดทะเบียนสมรส นั่นหมายถึงการเป็นคนคนเดียวกันไปแล้ว รวมไปถึงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่ทั้งคู่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน แล้วถ้าเป็นกรณีคู่สามี-ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสล่ะ แบบนี้หากมีหนี้สินหรือทรัพย์สินเกิดขึ้นมาจะจัดการกันยังไง กระปุกดอทคอม จึงได้หาคำตอบของเรื่องนี้มาคลายข้อสงสัยให้ชัดเจน
ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต้องรับผิดชอบหนี้สินของอีกฝ่ายไหม
สำหรับ "หนี้สิน" ของคู่สามี-ภรรยา เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ หนี้สินส่วนตัว และหนี้สินร่วม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. หนี้สินส่วนตัว
สรุป คือ หากหนี้สินดังกล่าวเป็นหนี้สินส่วนตัว อีกฝ่ายไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น ใครก่อคนนั้นรับผิดชอบฝ่ายเดียว
2. หนี้สินร่วม
เป็นหนี้ที่สามี-ภรรยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ประกอบด้วย หนี้เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูบุตร การรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว การศึกษาของบุตร หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส รวมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานที่ทั้งคู่ทำด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น
- กู้เงินโดยอีกฝ่ายให้ความยินยอม เพื่อนำไปใช้ประกอบธุรกิจร่วมกัน
- เงินกู้เพื่อการศึกษาของบุตร
- ค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ ของทั้งสองฝ่ายและบุตร
อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นหนี้สินร่วม ก็ไม่ได้หมายความว่าคู่สามี-ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าใครก่อคนนั้นรับผิดชอบฝ่ายเดียว ยกเว้นแต่เป็นกรณีที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้น ถึงจะต้องรับผิดชอบหนี้สินร่วมกัน
ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แบ่งทรัพย์สินยังไง
1. ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน
คือ ทรัพย์สินที่ทั้งสองร่วมกันหาจากการทำงาน ประกอบธุรกิจ หรือหาได้ระหว่างที่ใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน รวมถึงกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นแม่บ้านทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตร แม้จะไม่ได้ออกไปหารายได้ข้างนอก ก็ให้ถือว่าทรัพย์สินที่ทำมาหาได้เป็น "กรรมสิทธิ์ร่วม" ต้องแบ่งกันคนละครึ่ง แม้จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ตาม หากตกลงกันไม่ได้ อีกฝ่ายสามารถยื่นฟ้องศาลเพื่อบังคับให้อีกฝ่ายแบ่งทรัพย์สินให้กึ่งหนึ่งได้ หรือหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายมีสิทธิ์ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้
2. ทรัพย์สินที่ต่างคนต่างทำมาหาได้
สำหรับทรัพย์สินที่ต่างฝ่ายต่างทำมาหาได้ ก็อย่างเช่น เงินมรดก หรือเงินเดือนของแต่ละฝ่าย กรณีนี้หากทั้งคู่แยกทางกัน โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส การแบ่งทรัพย์สินจะเป็นของผู้ที่หาได้เพียงผู้เดียว อีกฝ่ายจะไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในทรัพย์สินนั้น
บุตรที่เกิดจากสามีภรรยาที่ไม่จดทะเบียนสมรส จะถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายแม่เท่านั้น ดังนั้น จึงมีสิทธิ์รับมรดกเฉพาะที่เป็นของฝ่ายแม่
ยกเว้นแต่กรณีที่พ่อจะจดทะเบียนรับรองบุตร ให้ใช้นามสกุลเดียวกัน หรือเป็นผู้แจ้งในสูติบัตรว่าตนเป็นบิดา รวมถึงการพิสูจน์ความเป็นพ่อ จากการส่งเสียเลี้ยงดู ค่าเล่าเรียน แบบเปิดเผย ก็จะทำให้ลูกมีสิทธิ์ได้รับมรดกจากผู้เป็นพ่อเช่นเดียวกัน
สรุปแล้วจะเห็นว่าหากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ภาระหนี้สินต่าง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนก่อ ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบเลย ต่างจากกรณีของทรัพย์สิน ที่หากเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ก็ต้องแบ่งครึ่งให้อีกฝ่ายด้วยนั่นเอง