x close

เบี้ยวหนี้ "ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย" แบบนี้จะเจออะไรบ้าง ?

          มีหนี้แต่ไม่ยอมจ่าย จะเจออะไรบ้าง ? ใครกำลังคิดจะก่อหนี้ แวะมาอ่านดูก่อน จะได้รู้ว่าการเป็นหนี้ไม่ได้สบายอย่างที่หลายคนคิด

เบี้ยวหนี้

          ขึ้นชื่อว่าการ "เป็นหนี้" คงไม่มีใครอยากจะเจอทั้งนั้น เพราะรู้กันอยู่ว่ามันทรมานและทำให้ชีวิตต้องเดือดร้อนขนาดไหน แต่เราก็ยังเห็นหลาย ๆ คนไม่เข็ดกับเรื่องนี้ ยังคงใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ขยันก่อหนี้ก่อสินไม่หยุด จนสุดท้ายไม่สามารถจ่ายไหว เกิดหนีหนี้ให้เห็นอยู่บ่อย ๆ นั่นก็เพราะบางคนอาจไม่ทันคิดว่าการเบี้ยวหนี้นั้น จะตามมาด้วยผลกระทบอื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนจะมีอะไรบ้างมาดูกัน

เบี้ยวหนี้

1. โดนติดตามทวงหนี้

          หากเราเริ่มค้างจ่ายหนี้ สิ่งที่จะต้องเจอแน่ ๆ ก็คือการโดนติดตามทวงหนี้จากเจ้าหนี้ ซึ่งช่วงแรก ๆ มักจะเป็นการส่งข้อความ SMS หรือส่งจดหมายมาเตือน แต่หากนานวันเข้าแล้วเรายังไม่จัดการละก็ อาจจะมีการโทรศัพท์เข้ามาทวงเป็นระยะ หรือยิ่งถ้าเป็นหนี้นอกระบบด้วยแล้ว ดีไม่ดีอาจมีคนมาทวงหนี้ถึงบ้านหรือที่ทำงานก็เป็นได้

2. เสียเครดิต

          การที่เราเบี้ยวหนี้ไปเฉย ๆ แบบไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย แน่นอนข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังเครดิตบูโร ซึ่งมีการบันทึกประวัติย้อนหลังไว้นานถึง 36 เดือน หรือ 3 ปี หลายคนอาจคิดว่าคงไม่มีผลอะไรมาก แต่หารู้ไม่ว่าประวัติเครดิตบูโรนี่แหละ เป็นส่วนสำคัญเลยที่ธนาคารต่าง ๆ ใช้พิจารณาปล่อยกู้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเรามีประวัติเครดิตที่ไม่ดี โอกาสที่ในอนาคตจะไปขอกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ คงไม่มีธนาคารไหนกล้าอนุมัติอีกแล้ว 
    
เบี้ยวหนี้

3. ถูกฟ้องดำเนินคดี

          สิ่งที่เจ้าหนี้จะดำเนินการต่อไปหากเรายังไม่ใช้หนี้คืนก็คือการฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเบื้องต้นเจ้าหนี้จะทำการนัดวันเวลาให้เราไปเจรจาไกล่เกลี่ย โดยอาจจะยื่นข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อช่วยลดภาระการใช้หนี้ เช่น ลดดอกเบี้ย หรือประนอมหนี้บางส่วนไว้ ตามแต่ที่ตกลงกันได้ แต่หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ก็คงจำเป็นต้องขึ้นศาลต่อสู้คดีกันต่อไป    

4. ขึ้นศาลต่อสู้คดี

          ถ้าเจรจาไกล่เกลี่ยแล้วก็ยังตกลงกันไม่ได้ ก็นั่งรอหมายศาลมาติดหน้าบ้านได้เลย ซึ่งกรณีนี้เจ้าหนี้มีโอกาสชนะเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ดี เราก็ควรที่จะไปศาลเพื่อต่อสู้คดีอยู่ดี เพราะอย่างน้อยก็ยังมีโอกาสขอลดหนี้บางส่วนลงได้ หรือหากหนี้ดังกล่าวมาด้วยความไม่เป็นธรรม เช่น คิดดอกเบี้ยที่สูงเกินจริง จ่ายเงินไปแล้วแต่กลับบอกว่ายังไม่ได้จ่าย หรือโดนข่มขู่จากเจ้าหนี้ ก็สามารถที่จะยื่นฟ้องเจ้าหนี้คืนได้เช่นกัน 

          แต่ถ้าเราปล่อยเฉยไม่เดินทางไปศาล จะถือว่าลูกหนี้ขาดนัด นั่นหมายความว่าศาลจะพิจารณาคดีด้วยการฟังความเจ้าหนี้เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีโอกาสให้เราได้ไกล่เกลี่ยอะไรเลย ซึ่งถ้าหนีหนี้แล้วยังมาหนีศาลอีก ก็คงไม่มีใครช่วยได้อีกแล้ว

เบี้ยวหนี้

5. โดนยึด-อายัดทรัพย์สิน

          เมื่อเจ้าหนี้ดำเนินการฟ้องร้องจนชนะคดีแพ่งแล้ว หากเรายังไม่ไปชำระหนี้ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด ก็จะมีการออกหมายบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินลูกหนี้ แน่นอนว่ารวมถึงเงินเดือนด้วย หากคุณเป็นพนักงานเอกชนและมีเงินเดือนเกิน 2 หมื่นบาท โดยจะมีเจ้าพนักงานของกรมบังคับคดี เป็นผู้ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เพื่อนำไปขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้จนครบตามจำนวน

          สำหรับทรัพย์สินที่เจ้าหนี้สามารถยึดหรืออายัดจากลูกหนี้ได้นั้น สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่นี่

          - เจ้าหนี้-ลูกหนี้ รู้ไว้ไม่เสียหาย ! ทรัพย์สินอะไรยึดได้-ยึดไม่ได้

6. ล้มละลาย

          การถูกฟ้องล้มละลายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อศาลพิจารณาแล้วว่าเรามีหนี้สินล้นพ้นตัว จนไม่สามารถชำระคืนได้ หลังจากที่เราถูกดำเนินการยึดทรัพย์สินไปแล้ว แต่มูลค่าก็ยังไม่พอจ่ายหนี้ และมีจำนวนหนี้เกินกว่า 1 ล้านบาท ถ้าเป็นแบบนี้เราก็จะถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลายได้เลย

          เมื่อถูกสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย นั่นหมายถึงว่าเราได้กลายเป็นคนที่ล้มเหลวด้านการเงินอย่างสมบูรณ์แบบก็ว่าได้ เพราะไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินได้เลย แม้แต่เปิดบัญชีธนาคารก็ทำไม่ได้ นอกจากนี้ การเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องขออนุญาตก่อนทุกครั้ง ซึ่งต้องรอเวลาถึง 3 ปี ถึงจะพ้นสถานะล้มละลาย โดยจำเป็นต้องไปรายงานตัวต่อศาลเป็นประจำด้วย ถ้าไม่ไปรายงานตัวก็มีโอกาสที่ศาลจะเพิ่มเวลาเป็น 5 ปี หรือ 10 ปีก็ได้    

เบี้ยวหนี้

ข้าราชการถูกฟ้องล้มละลาย จะเป็นยังไง

          ประเด็นที่ร้อนแรงในตอนนี้กับกรณีข้าราชการครูรวมตัวกันประท้วงขอพักหนี้ จนมีหลายคนสงสัยว่าถ้าข้าราชการถูกฟ้องดำเนินคดีล้มละลายขึ้นมา นอกจากจะทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้ และห้ามเดินทางไปต่างประเทศแล้ว ยังจะมีผลกระทบอะไรเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า

          สำหรับผลที่จะตามมาหากข้าราชการล้มละลาย อันดับแรกคือ จะขาดคุณสมบัติการเป็นข้าราชการ และถูกสั่งให้ออกจากราชการทันที นั่นหมายถึงการหมดสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญอีกด้วย ใครที่หวังจะมีเงินบำนาญไว้ใช้ยามเกษียณ ก่อนจะเป็นหนี้ก็ลองคิดดูให้ดี ๆ ว่าตัวเองมีความสามารถจ่ายคืนไหม 

ถูกฟ้องไม่จ่ายหนี้ติดคุกไหม

          เป็นเรื่องที่คนสงสัยกันเยอะว่าถ้าถูกฟ้องเรื่องหนี้สินมีโอกาสติดคุกไหม คำตอบคือ ไม่สามารถถูกจับ หรือถูกคุมขังได้ เนื่องจากเป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา แต่อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ก็ไม่ควรที่จะหนีศาลอยู่ดี เพราะอย่างที่บอกคือเราจะเสียสิทธิ์ในการโต้แย้งหรือขอประนอมหนี้นั่นเอง

          เห็นไหมว่าการเป็นหนี้แล้วไม่ยอมจ่ายนั้น ล้วนเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย จนอาจทำให้ชีวิตบางคนพังเลยก็ได้ ดังนั้น ก่อนจะก่อหนี้ ควรจะคิดให้ดี ๆ ว่าเราสามารถหาเงินมาคืนได้ไหม จะได้ไม่ต้องมาปวดหัวหรือนั่งกลุ้มใจกันทีหลัง ส่วนใครกำลังมองหาวิธีปลดหนี้ ลองดูตามนี้เลย


 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เบี้ยวหนี้ "ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย" แบบนี้จะเจออะไรบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2565 เวลา 17:24:20 239,487 อ่าน
TOP