หนี้ กยศ. วางแผนอย่างไรดี ให้มีเงินเหลือพอจ่าย !

          วิธีเก็บเงินชำระหนี้ กยศ. ไม่ได้ยากอย่างที่คิด มาดูกันว่ามีแนวทางอะไรบ้าง ที่จะช่วยปลดหนี้ก้อนนี้ !
กยศ.

          กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. นับว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ที่ทำให้เด็กไทยจำนวนมากมีทุนการศึกษาเพื่อเล่าเรียนต่อ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจน ที่มีปัญหาทางการเงิน รัฐบาลจึงเข้ามาสร้างโอกาสตรงจุดนี้ โดยการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เมื่อจบไปมีรายได้แล้วค่อยทยอยผ่อนชำระหนี้คืนได้ แต่กลับกลายเป็นว่า นักเรียน นักศึกษาที่กู้เงินไป มีสถิติการชำระเงินคืนน้อยมาก โดยพบว่า ปัจจุบันมีจำนวนลูกหนี้ค้างชำระถึง 2.2 ล้านราย ทำให้โครงการนี้มีหนี้เสียสูงถึง 74,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2562)
               
         ด้วยเหตุนี้เอง ทาง กยศ. จึงต้องหาวิธีเพื่อให้คนหันกลับมาชำระหนี้มากขึ้น ด้วยการบังคับใช้กฎหมายใหม่ให้นายจ้างสามารถหักเงินจากรายได้ของลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ในกองทุน กยศ. ในแต่ละเดือนได้อัตโนมัติจากบัญชีเงินเดือนลูกหนี้ โดยเริ่มแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา กับลูกหนี้ที่ทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ธนาคารพาณิชย์ และข้าราชการที่สังกัดหน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 3 แสนราย ด้วยวิธีหักเงินเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือนจากวงเงินชำระหนี้ต่อปี เช่น ปีแรกที่จะต้องจ่าย 1,500 บาท ก็นำมาหาร 12 ก็จะโดนหักเงินเฉลี่ยเดือนละ 125 บาท
               

          ดังนั้น ใครที่ติดชำระหนี้ของ กยศ. อยู่ ก็ควรที่ต้องรับผิดชอบซะนะ เพราะถือเป็นหนี้สินของเราที่จะต้องใช้ ไม่ใช่เงินให้เปล่าที่เรียนจบแล้วจบเลย ซึ่งถ้าจะว่ากันจริง ๆ หนี้ก้อนนี้ก็ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงเลย เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกมาก แถมยังกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้ถึง 15 ปีด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ คือ 1% เท่านั้น พร้อมกับให้เราสามารถชำระเงินก้อนเล็ก ๆ ได้ก่อนแล้วค่อยเพิ่มขึ้นตามระยะเวลา

         นั่นเท่ากับว่าหากเรารู้จักวางแผนการชำระหนี้ไว้ตั้งแต่ปีแรก ๆ ยังไงก็สามารถชำระหนี้ได้หมดโดยไม่ต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก แถมยังไม่ต้องเสียเบี้ยปรับกรณีค้างชำระให้กระเป๋าแห้ง แต่สำหรับใครที่ยังไม่ได้วางแผนว่าจะจัดการกับหนี้ก้อนนี้อย่างไร เริ่มซะตั้งแต่วันนี้ก็ยังไม่สายเกินไป ลองทำตามแนวทางง่าย ๆ ในการวางแผนการเงินเพื่อใช้หนี้ กยศ. ที่กระปุกดอทคอมหยิบมาแนะนำกันตามนี้
 
กยศ.

วิธีคำนวณเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละปี 

          ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่าเงินที่เราต้องจ่ายในแต่ละปี มีจำนวนเท่าไร เพื่อที่จะวางแผนกันได้ง่าย ๆ โดยปกติแล้ว การชำระหนี้จะเริ่มหลังจากเราเรียนจบ 2 ปี ตัวอย่างเช่น กู้ยืมเรียนปีสุดท้ายปีการศึกษา 2558 (พฤษภาคม 2558 – เมษายน 2559) และมีระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี ดังนั้น ผู้กู้ยืมจะครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกในปี 2561 (5 กรกฎาคม 2561)

          สำหรับอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1% ต่อปี (ยกเว้นปีแรกไม่ต้องเสียดอกเบี้ย) จากยอดเงินกู้คงเหลือ และหากมีการผิดนัดชำระหนี้ จะมีเบี้ยปรับ/ค่าธรรมเนียมซึ่งคิดจากยอดเงินที่ค้างชำระในแต่ละปี ตามนี้
          - กรณีค้างชำระไม่เกิน 1 ปี คิดที่ 12% ต่อปี
          - กรณีค้างชำระเกิน 1 ปีขึ้นไป คิดที่ 18% ต่อปี


          ทั้งนี้ ทาง กยศ. จะให้ตารางสรุปมาว่าในแต่ละปี เราต้องชำระเงินเป็นจำนวนเท่าไร โดยไม่ต้องเสียเวลาคำนวณด้วยตัวเองให้ยุ่งยาก ซึ่งจะมีการคิดต้นคิดดอกและจำนวนเงินกู้ในแต่ละปีมาให้เราดูเลยเป็นขั้นบันได โดยเริ่มจากจำนวนเงินน้อย ๆ ในช่วงแรก จนปีหลัง ๆ จะจ่ายแพงขึ้น โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบยอดหนี้ด้วยตัวเอง ได้ตามช่องทางนี้

          - กรณีทำสัญญากับธนาคารกรุงไทย
           - กรณีทำสัญญากับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

          นอกจากนี้ ใครที่ใช้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ยังสามารถเข้าไปเช็กผ่านแอปพลิเคชัน "กยศ. - กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา" ได้อีกด้วย สามารถดาวน์โหลดได้ที่ Google Play 

          ตัวอย่างการคำนวณอัตราการผ่อนชำระ 15 ปี
กยศ.
ตารางแสดงการผ่อนชำระเงินต้น และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละปี ของยอดเงินกู้ 1 แสนบาท

กยศ.

วิธีวางแผนชำระหนี้

          เมื่อรู้แล้วว่ายอดชำระในแต่ละปีเราอยู่ที่เท่าไร ก็จะทำให้สามารถวางแผนการเงินได้ง่ายขึ้น โดยเราจะเลือกผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนหรือรายปีก็ได้ ตามยอดชำระขั้นต่ำในแต่ละปีที่ กยศ. กำหนด ทั้งนี้ จะพบได้ว่าปัญหาส่วนหนึ่งของผู้กู้ที่ไม่ยอมจ่ายหนี้ มักเกิดจากการขาดวินัยทางการเงิน รวมถึงไม่มีการวางแผนจัดการที่เป็นระบบมากพอ เพราะฉะนั้นเรามาดูกันว่าจะมีวิธีวางแผนปลดหนี้ กยศ. ได้อย่างไรบ้าง
 
          1. แยกเงินที่ต้องจ่ายหนี้ ออกมาก่อนทุกเดือน
         
          เรารู้ได้อยู่แล้วว่าในแต่ละปีต้องจ่ายหนี้จำนวนเท่าไร ทำให้สามารถนำมาหารออกมาเป็นรายเดือนได้ ดังนั้นเมื่อได้รับเงินเดือนมา ก็ลองใช้วิธีแยกรายจ่ายส่วนนี้มาฝากไว้กับธนาคารหรือเก็บไว้กับตัวเพื่อป้องกันการนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่าย แค่นี้ก็จะช่วยให้เรามีเงินเพียงพอใช้หนี้ได้ง่าย ๆ ซึ่งเมื่อคิดเป็นรายเดือนแล้วจำนวนเงินที่ต้องดึงออกมาไม่ได้มากเลย

          ยกตัวอย่างเช่น สมมติมีหนี้ กยศ. อยู่ 1 แสนบาท โดยปกติในปีแรก เราจะโดนเรียกเก็บที่อัตรา 1.5% ของยอดหนี้รวม นั่นก็คือประมาณ 1,500 บาท และเมื่อนำมาหาร 12 เดือน จะตกแค่เดือนละ 125 บาทเท่านั้น สำหรับบางคนแค่งดทานกาแฟร้านดังแก้วเดียวเองก็มีเงินมาใช้หนี้ กยศ. แล้ว

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีถัด ๆ ไป จะมีการเรียกชำระเงินในอัตราที่สูงขึ้น แต่ก็เป็นระดับที่ค่อยเป็นค่อยไป และเพิ่มขึ้นตามฐานเงินเดือนของเราอยู่แล้ว

กยศ.

          2. สร้างวินัยในการออมเงิน
         
          สำหรับใครที่ไม่อยากหักเงินออกมาก่อนทุกเดือน ก็ใช้วิธีเก็บเงินแทนก็ได้ โดยอาจจะเลือกเก็บเงินทุก ๆ วันใส่กระปุกออมสินไว้ เมื่อเก็บเงินได้ครบตามจำนวน ก็จะได้นำเงินก่อนนั้นไปชำระหนี้ ซึ่งตามตัวอย่างข้างต้น ที่ในปีแรกเราจะต้องชำระหนี้อยู่ที่ 125 บาท/เดือน แสดงว่าในแต่ละวันเราต้องเก็บเงินหยอดกระปุกแค่ 5 บาทเท่านั้น
 
          3. รีบใช้หนี้ให้หมดเร็วขึ้น
         
          แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยของ กยศ. จะเป็นแบบคงที่ไปตลอด ทำให้หลายคนอาจจะมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบใช้หนี้ให้หมดก่อนกำหนด แต่หากใครมีเงินออมเหลือเก็บ หรือได้โบนัสประจำปี การเจียดเงินส่วนหนึ่งมาชำระหนี้ให้มากขึ้น ก็เป็นทางเลือกที่ทำได้ เพราะจะทำให้เราหมดภาระโดยเร็ว และไม่ต้องมาคอยห่วงว่าในปีถัด ๆ ไปจะไม่มีเงินมาชำระหนี้ก้อนนี้ ซึ่งการจ่ายเงินเกินในแต่ละปี ทาง กยศ. จะนำไปหักยอดในปีสุดท้าย เช่น ถ้าในปีแรกเราจ่ายเกินยอดมา 5,000 บาท กยศ. จะเอาส่วนเกินนี้ไปหักงวดของปีที่ 15 และหากยอดชำระของปีที่ 15 หมด ก็จะมาหักของปีที่ 14 ขึ้นมาเรื่อย ๆ
         
          นอกจากนี้ หากใครชำระหนี้ก่อนกำหนด ในช่วง 2 ปีแรกหลังจบการศึกษา ยังได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเสียดอกเบี้ยด้วย ทำให้ภาระที่เราต้องจ่ายลดลงตามไปด้วยนั่นเอง

กยศ.

เก็บเงินอย่างไรดี ให้เหลือจ่ายหนี้ กยศ.

          เมื่อมีแผนในการชำระหนี้ที่ชัดเจนแล้ว ลำดับต่อไปก็คือ การหารายได้มาชำระหนี้ก้อนนั้น ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธีตามสิ่งที่แต่ละคนถนัด เรามาดูกันว่ามีแนวทางไหนบ้างที่สามารถเลือกนำไปประยุกต์ใช้กันได้
 
          1. หารายได้เสริม
         
          งานประจำที่ทำอยู่ อาจให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ดังนั้นการหารายได้เพิ่มเติมก็เป็นอีกวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยได้ โดยอาจจะเริ่มจากการมองหาสิ่งที่ตัวเองถนัดหรือมีความสนใจ เพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ซึ่งนอกจากจะมีรายได้เข้ามาแล้ว ยังเป็นงานอดิเรกผ่อนคลายจากงานประจำได้อีกด้วยนะ

          - ขายของกินอะไรดี 15 ของกินเล่นทำง่าย ๆ น่าขาย ได้กำไรงาม
          - 25 วิธีหารายได้เสริมช่วงวันหยุด คนทำงานประจำ ตังค์ไม่พอใช้ เร่เข้ามา !
          - 30 งานทำที่บ้านก็ดี เป็นอาชีพเสริมก็รวย อาชีพหลักก็ปัง !
          - 10 งานฟรีแลนซ์ออนไลน์น่าสนใจ หาเงินง่าย ๆ ที่บ้าน

          2. ฝากบัญชีธนาคารแบบประจำ

          แค่นำเงินไปฝากธนาคาร รูปแบบเงินฝากประจำ ก็สามารถทำให้เงินที่เรามีอยู่งอกเงย และเพียงพอต่อการชำระหนี้ได้ เพราะโดยปกติแล้วบัญชีเงินฝากประจำให้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณปีละ 0.8-2% แม้จะเป็นอัตราที่ไม่ได้สูงมาก แต่ก็เพียงพอที่จะนำรายได้จากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้ มาโปะดอกเบี้ยในแต่ละปีที่ต้องใช้ให้ กยศ. ที่คิดเพียงปีละ 1%
         
          อย่างไรก็ตาม การเลือกฝากบัญชีเงินฝากประจำ ต้องดูให้ดี ๆ ว่าระยะเวลาเงินฝากที่กำหนด ทันต่อการที่เราจะถอนเงินออกมาชำระหนี้ไหม เนื่องจากบัญชีเงินฝากประจำมีการกำหนดระยะเวลาฝากเงินขั้นต่ำตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ย

          โดยเราอาจจะวางแผนฝากเงินไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เพื่อที่จะได้รับดอกเบี้ยจากทางธนาคารพอดี เมื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายน (ธนาคารจะมีการจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนมิถุนายนและธันวาคม) จะสามารถนำเงินไปชำระได้ทันภายในวันที่ 5 กรกฎาคม ของทุกปี

กยศ.

          3.  ซื้อกองทุนรวม

          การซื้อกองทุนรวม เพื่อสำรองเงินไว้ชำระหนี้ ควรจะเลือกประเภทกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีอายุลงทุนที่สั้น โดยอาจจะเลือกประเภทกองทุนรวมตลาดเงินก็ได้ เพราะเป็นกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หรือตราสารทางการเงินในประเทศ ที่มีอายุสั้นไม่เกิน 1 ปี อีกทั้ง ยังเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด ทำให้โอกาสผิดนัดชำระหนี้น้อย เงินต้นที่เราลงไปจะได้ไม่สูญหายไป

          แถมยังมีข้อดีตรงที่มีเงินแค่หลักร้อยก็ลงทุนได้ ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนเงินฝากประจำ สามารถซื้อ-ขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ แต่จะได้รับเงินในอีก 1 วันทำการที่สั่งขายหน่วยลงทุน อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ซื้อง่าย ขายคล่อง ฝากได้ ถอนได้ไม่ต่างจากบัญชีออมทรัพย์ แม้จะได้รับเงินช้ากว่าเงินฝากออมทรัพย์อย่างน้อย 1 วันทำการ แต่มีโอกาสได้ดอกเบี้ยพอ ๆ กับเงินฝากประจำเลยทีเดียว
 
          - กองทุนตลาดเงิน ตัวช่วยปั้นเงินล้าน
 
          4. ลดรายจ่ายจากของฟุ่มเฟือย
         
          การลดรายจ่ายเป็นอีกวิธีง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ โดยอาจเริ่มต้นจากลดการซื้อของฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น รวมทั้งยังมีอีกหลากหลายวิธีที่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นทำอาหารทานเอง ใช้รถสาธารณะแทนการขับรถไปทำงาน ลดการเที่ยวลงบ้าง ส่วนใครที่ทำงานไกลบ้านต้องเช่าที่พักอยู่ ก็อาจจะลองหาที่พักใหม่ที่มีราคาถูกลง แค่นี้ก็ช่วยให้เราประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้มากทีเดียว
 
กยศ.

          5. ลดการผ่อนสินค้า
          
          ของใช้รุ่นใหม่ ๆ ที่ออกมาล่อตาล่อใจ ล่อเงินออกจากกระเป๋า จนเราเผลอใจรูดบัตรผ่อนสินค้าไปหลายชิ้น นี่ก็คือตัวการสำคัญที่ทำให้เรามีภาระทางการเงินมากขึ้น แต่ถ้าเราอดใจไว้สักหน่อย ไม่ก่อหนี้เพิ่มขึ้นมาอีก เราก็จะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอีกตั้งเยอะ หรือถ้าหากอยากได้สิ่งของชิ้นนั้นจริง ๆ อาจจะเลือกใช้วิธีค่อย ๆ เก็บเงินสดไปซื้อ นอกจากไม่ทำให้หนี้เราเพิ่มแล้ว ยังเป็นการฝึกนิสัยการออมอีกด้วยนะ
 
          6. จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย
               
          การจดรายรับ-รายจ่ายในแต่ละวันอย่างละเอียด ทำให้เรารู้สถานะทางการเงินของตัวเองในปัจจุบัน ว่ามีรายจ่ายอะไรที่จำเป็นและไม่จำเป็นสามารถตัดทิ้งไปได้บ้าง เพื่อที่จะนำมาต่อยอดวางแผนการชำระหนี้ได้ด้วยเหมือนกัน

          เห็นไหมว่าการใช้หนี้ กยศ. ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแค่รู้จักวางแผน และเริ่มต้นมีวินัยทางการเงิน ถึงตรงนี้ก็อยากจะขอฝากทุกคนให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อหนี้ กยศ. ด้วย เมื่อยืมไปแล้ว ก็ควรจะชำระคืนตามระยะเวลากำหนด เพื่อที่โครงการดี ๆ แบบนี้จะยังคงอยู่ต่อไป สร้างโอกาสให้กับน้อง ๆ รุ่นหลัง ๆ ของเราได้มีเงินทุนกู้ยืม ได้ศึกษาเล่าเรียนเหมือนที่เราเคยได้โอกาสนั้นมา ส่วนใครที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชำระหนี้ กยศ. สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือ โทร. 0-2016-4888

***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 17 มิถุนายน 2562


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หนี้ กยศ. วางแผนอย่างไรดี ให้มีเงินเหลือพอจ่าย ! อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2564 เวลา 14:48:13 75,440 อ่าน
TOP
x close