เป็นหนี้นอกระบบทำไงดี ? 7 วิธีแก้ปัญหาหนี้ท่วมหัว แบบทำได้จริง !

          เป็นหนี้นอกระบบ ทำไงดี ? มาดูแนวทาง "ปลดหนี้นอกระบบ" แบบทำได้จริง สำหรับใครที่มีปัญหาหนี้สินเกินตัว เงินไม่พอใช้

หนี้นอกระบบ

          ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากเป็นหนี้หรอก โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ที่ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งเลวร้ายขนาดไหน เพราะหลายคนถูกเอาเปรียบจากดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติ จ่ายเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที แถมบางคนยังเจอระบบทวงหนี้ที่ตามทวงไม่เว้นวัน ถึงขั้นขู่ทำร้ายก็มี อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจะไม่มีทางออกของปัญหาเลยซะทีเดียว ใครอยากหลุดพ้นจากปัญหาหนี้สินสักที เรามีวิธีดี ๆ มาแนะนำ

1. เจรจากับเจ้าหนี้

          หากเริ่มรู้ตัวแล้วว่าภาระหนี้ที่แบกอยู่ เยอะจนจ่ายไม่ไหวแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำให้เร็วที่สุด คือเข้าไปเจรจา พูดคุยกับเจ้าหนี้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปก่อน โดยขอให้คงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม หรือขอลดดอกเบี้ยบางส่วนลงมาได้ไหม พร้อมรับปากจะไม่ผิดนัดและจ่ายเงินที่เหลือตามเวลาที่กำหนด

          ทั้งนี้ทั้งนั้น การเจรจาต่อรองคงต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ด้วย ว่ามีความกรุณาต่อเรามากน้อยแค่ไหน รวมถึงความสัมพันธ์ในอดีตที่เคยมีต่อกันมา หากเราเป็นลูกหนี้ชั้นดี ไม่ค่อยมีปัญหาในการจ่ายหนี้ โอกาสที่การเจรจาสำเร็จก็มีมากขึ้นตามไปด้วย   

หนี้นอกระบบ

2. ขอยืมเงินญาติพี่น้องคนสนิท

          เมื่อถึงคราวจนมุม เจอปัญหารุมเร้ารอบด้าน การขอยืมเงินจากคนรอบตัวเพื่อนำมาโปะหนี้ ก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี ควรจะเป็นการยืมจากพ่อ-แม่ ญาติพี่น้องที่สนิทกันจริง ๆ เพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็เชื่อว่าถ้าคุณอธิบายให้พวกเขารับรู้ถึงความเดือดร้อนและปัญหาที่เจอ ครอบครัวก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเท่าที่ช่วยได้อยู่แล้ว


3. นำสินทรัพย์ที่มีไปขาย

          ถ้าไปขอยืมเงินจากคนในครอบครัวแล้วไม่ได้ หรือไม่พอกับหนี้ที่ต้องจ่าย บางครั้งก็จำเป็นต้องตัดสินใจนำทรัพย์สินบางส่วนไปจำนำ หรือขายของมีค่าบางอย่างออกไป เพื่อนำเงินก้อนมาโปะหนี้ส่วนที่เหลือให้หมด โดยควรทยอยขายของที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกไปก่อน เช่น เครื่องประดับ กระเป๋า รองเท้าแบรนด์เนม นาฬิกา หรือถ้าจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องขายบ้าน ขายรถ ก็อาจจะต้องทำ เพราะอย่าลืมว่าสิ่งสำคัญตอนนี้คือการปลดหนี้ที่มีให้หมดไปก่อน หลังจากนั้นถึงค่อยพยายามทำงานเก็บเงินซื้อใหม่ก็ยังได้ 


4. เมื่อได้เงินก้อนเข้ามา รีบนำไปปลดหนี้ทันที

          อย่างที่บอกไปคือแนะนำให้พยายามหาเงินก้อนมาโปะหนี้บางส่วนออกไปก่อน เพื่อช่วยลดภาระหนี้สิน ภาระดอกเบี้ยให้เบาลง และหากคุณได้เงินก้อนมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการหยิบยืมคนรู้จัก นำของมีค่าไปขาย หรืออาจจะเป็นการได้โบนัสปลายปี หรือถูกรางวัลอะไรมา ก็ควรรีบนำเงินก้อนนั้นไปชำระหนี้ให้ไว

          หากมีหนี้หลายก้อน ให้เลือกชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงสุดก่อน ที่เหลือค่อยทยอยโปะหนี้ก้อนอื่น ๆ ที่ดอกเบี้ยลดหลั่นกันไป อย่างไรก็ตาม ควรเลือกปิดหนี้ทีละก้อน อย่ากระจายเงินใส่หลาย ๆ ก้อน เพราะจะไม่ช่วยให้ภาระดอกเบี้ยที่เราต้องแบกในแต่ละเดือนลดลง  

หนี้นอกระบบ

5. หาแหล่งเงินกู้ในระบบ

          ปัจจุบันธนาคารหลายแห่งมีแนวทางช่วยเหลือผู้เป็นหนี้นอกระบบออกมาอยู่เรื่อย ๆ ลองเข้าไปติดต่อสอบถามธนาคารต่าง ๆ ดู ว่าจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง โดยแนวทางที่มักเลือกใช้กันก็อย่างเช่น 

          - ขอกู้สินเชื่อส่วนบุคคล
          สามารถทำได้กรณีที่เรายังมีเครดิตกับสถาบันการเงินดีอยู่บ้าง ซึ่งแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลจะสูงพอสมควร แต่ก็ยังถือว่าถูกกว่าดอกเบี้ยของเงินกู้นอกระบบ และการเป็นหนี้ในระบบยังไงก็ดีกว่าเป็นหนี้นอกระบบแน่นอน 

          - ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
          ข้อดีของสินเชื่อส่วนบุคคลคือได้เงินง่าย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ถ้าคุณยังพอมีบ้าน หรือที่ดิน อาจจะลองใช้วิธีกู้เงินแบบใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันก็จะดีกว่า เพราะได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ช่วยให้ภาระต่าง ๆ เบาลงได้เยอะทีเดียว 

          - สินเชื่อช่วยเหลือหนี้นอกระบบ ตามโครงการรัฐ
          ลองตรวจสอบดูว่าปัจจุบันมีธนาคารไหนปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือหนี้นอกระบบบ้าง เช่น ธนาคารออมสิน มีสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยให้กู้ตามความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1 ต่อเดือน ชำระคืนในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี

          - สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และพิโกพลัส

          หรือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (PICO Finance) เป็นสินเชื่อเงินสดที่ผู้ประกอบการรายย่อยในจังหวัดนั้น ๆ สามารถทำได้เองโดยถูกกฎหมาย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะอนุมัติเงินให้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยน้อยกว่าหนี้นอกระบบ โดยอัตราดอกเบี้ย รวมค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมจะไม่เกิน 36% ต่อปี และมีสัญญาชัดเจน

           กรณีพิโกพลัสจะกู้ได้ไม่เกิน 100,000 บาท แบ่งสัญญาเป็น 2 ส่วนคือ เงินกู้ 50,000 บาทแรก คิดดอกเบี้ยและค่าอื่น ๆ รวมไม่เกิน 36% ต่อปี ส่วนอีก 50,000 บาท คิดไม่เกิน 28% ต่อปี

           คนที่จะกู้เงินจากพิโกไฟแนนซ์ได้ต้องมีทะเบียนบ้านหรือมีถิ่นที่อยู่ (ทำงาน-พักอาศัย) ที่สามารถติดต่อได้ภายในจังหวัดที่บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และมีความสามารถในการชำระหนี้
 

หนี้นอกระบบ

6. กู้เงินจากสลากออมทรัพย์ หรือประกันชีวิต

          รู้ไหมว่าเราสามารถกู้เงินจากสลากออมทรัพย์ของเราได้ด้วย โดยส่วนใหญ่จะกู้ได้ไม่เกิน 90-95% ของสลาก และดอกเบี้ยก็ไม่ได้สูงมาก เพราะถือว่าเป็นการกู้เงินของตัวเอง

          หรือถ้าเราเคยทำประกันชีวิตแบบที่มีมูลค่าเวนคืนเงินสด เช่น แบบสะสมทรัพย์ แบบตลอดชีพ แบบบำนาญ และจ่ายเบี้ยประกันเกิน 2 ปีแล้ว สามารถนำกรมธรรม์ไปติดต่อบริษัทประกันชีวิตเพื่อขอกู้เงินได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะกู้ได้ประมาณ 80% ของมูลค่าเวนคืนเงินสด ขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ชำระเบี้ย และขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทรับประกันและแบบของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ


7. เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

          การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน เป็นวิธีที่จะทำให้คุณสามารถค่อย ๆ ปลดหนี้ได้ในระยะยาว และยังช่วยให้ไม่กลับมาเป็นหนี้อีกครั้ง ซึ่งทุกคนเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการสำรวจการใช้เงินของตัวเองในแต่วัน ว่าหมดไปกับเรื่องอะไรบ้าง มีอะไรที่จำเป็น หรืออะไรที่เกินความจำเป็น สามารถตัดออกไปได้โดยไม่กระทบกับการใช้ชีวิต ก็ควรที่จะตัดออกไป เช่น ช้อปปิ้งให้น้อยลง ทำอาหารกินเองแทนการออกไปกินข้างนอก หันมาชงกาแฟดื่มเองแทนการซื้อตามร้านดังอย่างเดียว หรือลดการเที่ยวสังสรรค์ลงบ้าง เพื่อลดรายจ่ายต่าง ๆ ลง และแนะนำให้จดบันทึกรายรับ-รายจ่ายแต่ละวันไปเลย จะได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วเราฟุ่มเฟือยไปกับเรื่องอะไรบ้าง

          อีกสิ่งที่สำคัญและต้องทำให้ได้ก็คือ ต้องหยุดก่อหนี้เพิ่ม ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากวังวนแห่งการเป็นหนี้ เพราะถ้าคุณยังมีหนี้เหลืออยู่ แต่ยังขยันก่อหนี้เพิ่ม ไม่ว่าจะใช้วิธีอะไรก็ไม่มีทางจ่ายหนี้ได้หมดแน่นอนจากดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ
         
          ส่วนใครที่ปลดภาระหนี้ได้เเล้วก็อย่าเพิ่งดีใจจนคิดจะไปสร้างหนี้ก้อนใหม่ และให้จำไว้ว่า "การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ" โดยเฉพาะหนี้นอกระบบด้วยแล้ว ที่หากใครเผลอเข้าไปสู่วงจรนี้ คงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความสุข และความมั่นคงให้ชีวิตได้ 

โดนเจ้าหนี้โกง หรือต้องการขอความเป็นธรรม ทำอย่างไรได้บ้าง ?


ทวงหนี้

          ปัญหาที่ผู้กู้เงินนอกระบบมักจะเจอ ก็คือโดนเจ้าหนี้เอาเปรียบ ทั้งการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินจริง จ่ายเงินไปแล้ว แต่กลับบอกว่ายังไม่ได้จ่าย จ่ายเงินไปเท่าไหร่ จำนวนหนี้ก็ไม่ลดลงเสียที หรือบางคนโดนข่มขู่จากเจ้าหนี้ ซึ่งหากใครตกเป็นเหยื่อแบบนี้ สามารถขอความช่วยเหลือได้จากช่องทางต่อไปนี้

1. ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม

          โดยมีหน้าที่คือ
          - รับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากปัญหาหนี้นอกระบบ
          - ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหนี้
          - นำมาตรการทางภาษีมาบังคับใช้กับเจ้าหนี้
          - ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าหนี้นอกระบบ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
          - ประสานจัดหาแหล่งทุนของรัฐ เช่น กองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน สำนักบริหารจัดการธนาคารที่ดิน สถาบันการเงิน
          - ประสานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
          - เข้าร่วมในการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้
          - อบรมให้ความรู้ทางกฎหมายเพื่อมิให้ลูกหนี้ตกเป็นเหยื่อในการทำสัญญากู้ยืม  

          ช่องทางติดต่อ : โทร 0 2575 3344 หรือ 0 2831 9888 ต่อ 1033, 1202

2. ศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

          ทำหน้าที่เป็นคนกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยเจ้าหนี้-ลูกหนี้

          ช่องทางติดต่อ : สามารถยื่นคำร้องขอได้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในพื้นที่ หรือที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ถนนแจ้งวัฒนะ โทร. 1111 กด 77

3. ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย

          ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของประชาชนในทุกเรื่อง รวมทั้งปัญหาหนี้นอกระบบ ร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อปราบปรามและไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้นอกระบบในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

          ช่องทางติดต่อ : ปรึกษาขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดทั่วประเทศ หรือ โทร. 1567

4. ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

          สามารถขอคำปรึกษาและร้องเรียนปัญหาหนี้นอกระบบได้ โดยสามารถร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ 1359.go.th 

          ช่องทางติดต่อ : โทร. 1359 หรือ 08 8223 5070, 08 2290 7011, 06 4072 0894 และ 09 7325 0245

5. ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

          ช่วยประสานงานกับตำรวจทุกท้องที่ กรณีที่ลูกหนี้ถูกคุกคามจากเจ้าหนี้จนไม่สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ

          ช่องทางติดต่อ : โทร. 1599

6. มูลนิธิสุภา วงค์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้

          โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จะช่วยเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้

          ช่องทางติดต่อ : โทร. 08 1776 3606

7. สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

          ให้คำปรึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับหนี้

          ช่องทางติดต่อ : โทร. 0 2522 7124 ถึง 27 หรือ 0 2522 7143 ถึง 47

8. สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด

          โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดจะช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย สำหรับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้น้อย จะมีคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบในทุกจังหวัดช่วยฝึกอบรมอาชีพ ฝีมือแรงงาน และให้ความรู้ทางการเงิน

          ช่องทางติดต่อ :
          - ลูกหนี้นอกระบบที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานอัยการสูงสุด โทร. 0 2142 1444  หรือสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (ส่วนกลาง) โทร. 0 2142 2034

          - ต่างจังหวัดสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ แต่ละจังหวัด (หมายเลขโทรศัพท์ของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ แต่ละจังหวัด สามารถค้นหาได้จากที่นี่

 
          ทั้งนี้ ตามกฎหมาย กำหนดให้เจ้าหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาห้ามคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี หากฝ่าฝืนลูกหนี้สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้เลย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ส่วนกรณีทวงหนี้โหด ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ก็สามารถแจ้งดำเนินคดีได้เช่นกัน โทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท


          ใครกำลังประสบปัญหาเป็นหนี้นอกระบบอยู่ ก็ลองนำวิธีที่เราแนะนำไปปรับใช้กันดู เชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้หลายคนหลุดพ้นจากภาระหนี้สินล้นพ้นตัวไปได้ ที่สำคัญเมื่อแก้ปัญหาได้แล้ว ก็ขอให้รักษาวินัยทางการเงินที่ดีเอาไว้ และไม่ก่อหนี้เกินตัว จนเป็นปัญหาอีกในอนาคต
 


*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564

 
ขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เป็นหนี้นอกระบบทำไงดี ? 7 วิธีแก้ปัญหาหนี้ท่วมหัว แบบทำได้จริง ! อัปเดตล่าสุด 25 สิงหาคม 2564 เวลา 16:00:20 215,945 อ่าน
TOP
x close