x close

ค้นให้เจอ 3 "เหตุ" ทำให้เป็นหนี้ "เกินตัว"

          ลดรายจ่ายไม่จำเป็น ควบคุมภาระหนี้ไม่ให้ผ่อนเกินตัว และทำประกันป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

หนี้

          หลายครั้งที่ต้องกังวลใจเสมอ เมื่อกำลังจะสร้างภาระหนี้กับเรื่องอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการชำระหนี้ไม่ไหว หรือไม่แน่ใจว่าจะชำระหนี้ได้จนครบกำหนดหรือไม่ ยิ่งในปัจจุบันมีข่าวระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก แล้วเราจะมีวิธีป้องกันตัวเองจากภาวะหนี้ได้อย่างไร กระปุกดอทคอมนำข้อมูลจาก K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ที่จะบอกว่า "เหตุ" ที่อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ "หนี้เกินตัว" มีอะไรบ้าง เพื่อให้เรารู้ทันและวางแผนให้ดี ลดความกังวลที่จะชำระหนี้ไม่ไหว ดังนี้

1. จ่ายไม่ "อั้น" กับรายจ่ายประจำวัน

          สิ่งแรกที่อยากให้ทุกคนใส่ใจ คือ การรู้จัก "รายจ่าย" ของตัวเองให้ดีตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ เพราะเป็นความจริงมาก ๆ ที่เรามักไม่รู้ตัวเองกับนิสัยการใช้จ่าย คิดก่อนจ่าย หรือจริง ๆ แล้วจ่ายไม่อั้น ผลที่ได้คือ ยังไม่ถึงสิ้นเดือน เงินเดือนก็หมดแล้ว แม้พยายามจะนึกว่าใช้จ่ายเรื่องอะไรบ้าง ก็จำไม่ได้

          K-Expert จึงขอแนะนำให้ลองปรับพฤติกรรมใหม่ จด จด และจดสิ่งที่จะทำให้เรารู้สักทีว่าเราจ่ายอะไรไป จ่ายเท่าไร ทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย ให้รู้ดำรู้แดงไปเลยว่า เงินเราไปไหนบ้าง เผลอจ่ายกับเรื่องไม่จำเป็นไปบ้างไหม เผลอไปเท่าไร แล้วเราจะได้ลดรายจ่ายประเภทนั้นลง

          ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ามีภาระผ่อนหนี้อยู่ด้วย ดูว่าต้องจ่ายเดือนละเท่าไร ถ้ามากกว่า 40% ของรายได้ต่อเดือน อันนี้ไม่ใช่แค่ว่ามีหนี้จำนวนมากจนอาจทำให้รายจ่ายมากกว่ารายรับต่อเดือนแล้ว ยังอาจขอสินเชื่อครั้งต่อไปได้ยากอีกด้วย (สถาบันการเงินส่วนใหญ่ พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอกู้ที่ไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน) ดังนั้นกรณีนี้แนะนำว่าให้รีบลดภาระหนี้ต่อเดือนให้น้อยลง อย่าเพิ่งสร้างหนี้ก้อนใหม่

          จริง ๆ แล้ว สัดส่วนภาระหนี้ที่ K-Expert ขอแนะนำคือ ภาระหนี้เก่ารวมภาระหนี้ก้อนใหม่ที่กำลังจะขอ ไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน แบบนี้ถึงจะมั่นใจได้ว่าภาระหนี้ที่เรามีจะไม่ทำให้เราเดือดร้อน ได้กินข้าวครบ 3 มื้อ ใช้จ่ายได้ตามปกติ หรือไม่ต้องเจอเหตุการณ์ที่ต้องหาเงินก้อนอื่นมาช่วยชำระหนี้ในทุก ๆ เดือน
 
หนี้สิน

2. จ่ายไม่ "กัน" เผื่อรายจ่ายอนาคต

          หลายครั้งที่เราดูความสามารถชำระหนี้ของตัวเองเพียงเฉพาะเรื่องในปัจจุบัน แต่กลับลืม "กันเงินเผื่อ" ถึงเรื่องในอนาคตว่าจะมีรายจ่ายมากขึ้นจากเดิมหรือไม่ เช่น ถ้าวันนี้กำลังจะมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นในบ้าน รายจ่ายที่เกิดขึ้นอาจจะต้องมีเงินก้อนตั้งแต่คลอดและดูแลลูกน้อย ประมาณ 100,000 บาท และรายจ่ายดูแลลูกไปในทุก ๆ เดือน หรือแม้แต่การที่เรามีคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจะเกษียณอายุ ค่าใช้จ่ายในการดูแลท่าน ก็เป็นเรื่องที่เราต้องวางแผนเช่นกัน

          กันเงินล่วงหน้าสำหรับค่าใช้จ่ายอนาคตเหล่านี้ให้ดี ตั้งแต่วันที่เราตัดสินใจทำสินเชื่อระยะยาว และที่สำคัญ อย่าขอสินเชื่อจนต้องผ่อนเต็มกำลังจ่ายในแต่ละเดือน เพราะนอกเหนือจากเงินผ่อนต่อเดือน ยังต้องคิดถึงรายจ่ายที่จะตามมาจากการซื้อสินทรัพย์เหล่านั้นด้วย เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ เราจะได้ไม่ต้องมาปวดหัวและเหนื่อยกับการพยายามหารายได้ที่ยังไม่แน่นอนมาใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งถ้าแย่หน่อย เราอาจช็อตเงินจนต้องกู้สินเชื่อเร่งด่วน (ดอกเบี้ยสูงมาก ๆ) มาใช้แทน ยิ่งสร้างภาระให้ตัวเองที่สูงขึ้นไปอีก ดังนั้นทำเรื่องภาระหนี้ระยะยาวให้แน่นอนที่สุดตั้งแต่วันที่เรายังตัดสินใจได้
 
หนี้สิน

3. จ่ายไม่ "เผื่อ" เหตุการณ์เสียตังค์

          เรื่องที่อยากให้ "คิดเผื่อ" อีกเรื่อง คือ เรื่องที่เป็นความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราทำงานอยู่ดี ๆ เกิดล้มหมอนนอนเสื่อ นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน เกิดรายจ่ายก้อนโต การทำประกันคุ้มครองชีวิตหรือสุขภาพ ให้บริษัทประกันช่วยจ่ายให้ จะช่วยเราได้มาก ๆ สร้างความสบายใจให้เรารักษาตัวได้เต็มที่ไม่ต้องรีบออกจากโรงพยาบาล เพราะกลัวไม่มีเงินจ่าย

          นอกจากนี้ ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เราอาจเป็นอะไรไปก่อนอายุขัยที่ควรจะเป็น ภาระหนี้ก้อนโตที่ยังจ่ายไม่หมดจากการซื้อบ้านในฝันให้ครอบครัว อาจกลายเป็นการส่งต่อภาระหนี้ก้อนโตให้คนที่บ้านแทน ดังนั้นควรคิดเผื่อสำหรับการมีภาระหนี้ระยะยาว เช่น สินเชื่อบ้าน คือ การซื้อประกันคุ้มครองภาระหนี้ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นหรือไม่ เราจะสบายใจหายห่วงว่า ภาระหนี้บ้านที่เหลือจะมีบริษัทประกันช่วยจ่าย จากการทำประกัน MRTA ตั้งแต่วันที่เราซื้อบ้าน

          ทำเรื่องภาระหนี้ให้แน่นอน จากการคิดเผื่อเรื่องที่ไม่แน่นอน ทั้ง "อั้น" รายจ่ายประจำวัน "กัน" รายจ่ายในอนาคต และป้องกัน "เผื่อ" รายจ่ายฉุกเฉิน แค่นี้เรื่องหนี้ก็จะได้อยู่ในระดับที่เราจ่ายได้ จ่ายไหว ไปจนถึงวันที่ครบกำหนดจ่าย
 
          K-Expert Action

          · กันเงินสำรองเผื่อใช้ยามฉุกเฉินประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เก็บในเงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เมื่อต้องใช้เงินจะได้มีเงินสำรองให้ใช้จ่ายทันที

          · กันเงินสำหรับค่าผ่อนหนี้และค่าใช้จ่ายคงที่ในแต่ละเดือนออกมาก่อนนำเงินไปใช้จ่าย ป้องกันการลืมจ่าย และรู้ว่าแต่ละเดือนเหลือเงินให้ใช้จ่ายได้แค่ไหน
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ค้นให้เจอ 3 "เหตุ" ทำให้เป็นหนี้ "เกินตัว" อัปเดตล่าสุด 8 กันยายน 2563 เวลา 13:39:40 76,912 อ่าน
TOP