x close

รู้ได้อย่างไรว่าเราแบกหนี้เยอะแล้ว ?

          การเป็นหนี้ไม่ได้เป็นเรื่องผิด หากเรามีเหตุผลที่ดีในการก่อหนี้ และรู้จักใช้หนี้ อีกทั้งหนี้จะช่วยทำให้เราถึงฝันได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม อย่าก่อหนี้จนทำให้ภาระหนี้มากดทับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของเรา

 
เป็นหนี้มากไปหรือยัง เช็กได้อย่างไร

          ช่วงที่ผ่านมา หากใครได้ติดตามข่าวอาจได้ยินข่าวที่ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า หนี้ครัวเรือนของไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี เนื่องจากอัตราการขยายตัวหนี้ครัวเรือนต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพี ซึ่งการที่ตัวเลขหนี้ลดลงก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถก่อหนี้เพิ่มได้ หลายคนคงสงสัยว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ตอนนี้ภาระหนี้ที่เรามีอยู่เยอะเกินไปหรือเปล่า และจริง ๆ แล้ว เราสามารถแบกหนี้ได้สูงสุดเท่าไร K-Expert มีคำตอบมาฝากกัน  

          โดยมาตรฐานในการขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน หรือเช่าซื้อรถยนต์ สถาบันการเงินมักใช้เกณฑ์ภาระหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน เว้นแต่ว่าคนนั้นจะมีรายได้อยู่ในระดับที่สูง ธนาคารอาจจะมีการให้สินเชื่อที่สูงกว่า 40% ของรายได้

          แต่จริง ๆ แล้ว เกณฑ์ภาระหนี้ต่อเดือนที่ K-Expert มองว่าเหมาะสม คือ ไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน เหตุผลที่แนะนำแบบนี้เพราะอย่าลืมว่า ถ้าเรากู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ไม่ใช่แค่ค่าผ่อนรายเดือนที่ตามมาเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะตามมาจากการซื้อบ้าน หรือซื้อรถด้วย อย่างบ้านเองก็จะมีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าประกัน ค่าส่วนกลาง ส่วนรถคงหนีไม่พ้นค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ค่าประกัน ค่าซ่อมรถ รวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้กับค่าผ่อนแต่ละเดือนเข้าด้วยกันแล้วก็ไม่น่าจะน้อยกว่า 40% ของรายได้ต่อเดือน

เป็นหนี้มากไปหรือยัง เช็กได้อย่างไร

          แม้สถาบันการเงินจะกำหนดเกณฑ์ภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนของแต่ละคนเอาไว้ แต่ส่วนใหญ่ก็มีสิทธิ์ที่จะมีภาระหนี้เกินเกณฑ์มาตรฐานได้เช่นกัน เป็นเพราะเรามีสินเชื่อพร้อมใช้ ที่เรียกกันติดปากว่า "บัตรเครดิต" นั่นเอง ซึ่งปกติแล้วบัตรเครดิตจะให้วงเงินที่เกินเงินเดือนของเราอยู่แล้ว ยิ่งถ้าใครถือบัตรหลายใบเท่ากับว่ามีสินเชื่อพร้อมใช้สูงกว่าความสามารถในการจ่ายคืนไม่รู้กี่เท่าตัว

          หากเราใช้และจ่ายเต็มทุกยอดที่เรียกเก็บก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อใดเรารูดซื้อของแล้วไม่สามารถจ่ายยอดเต็มได้ ยอดคงค้างนั้นคือ "หนี้" ทันที ซึ่งหนี้บัตรเครดิตไม่มีตารางผ่อนแน่นอนแบบการผ่อนบ้านหรือผ่อนรถ แถมบางคนชะล่าใจ จ่ายขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ ปล่อยให้หนี้ค่อย ๆ พอกพูน เพราะเมื่อจ่ายขั้นต่ำ บัตรเครดิตไม่ได้ให้จ่ายแค่เงินต้นเท่านั้น แต่จะคิดดอกเบี้ยเข้ามาด้วย ซึ่งหนี้ก้อนนี้จะส่งผลให้เรามีภาระหนี้เกินเกณฑ์มาตรฐาน และอาจนำไปสู่การเป็นหนี้ก้อนใหญ่จนไม่สามารถชำระคืนได้

          K-Expert ขอแนะนำวิธีคิดภาระหนี้เพื่อจะได้นำไปคิดคำนวณสถานะหนี้ของตัวเอง ณ วันนี้ได้ สิ่งที่ต้องทำคือ รวบรวมภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยของเราออกมา เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งหนี้เหล่านี้ เราจะรู้ภาระผ่อนต่อเดือนที่แน่นอน สำหรับหนี้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ไม่ได้มีกำหนดผ่อนต่อเดือนที่แน่นอน ดังนั้น ถ้าเราไม่ได้จ่ายยอดเต็ม แต่จ่ายขั้นต่ำ หรือจ่ายเพียงบางส่วนในแต่ละเดือน ก็ให้คิดคำนวณออกมาว่า เราตั้งใจจะผ่อนจ่ายเดือนละเท่าไร

          หลังจากนั้นให้นำยอดภาระผ่อนต่อเดือนของหนี้ทั้งหมดของเรา หารด้วยรายได้ต่อเดือน เพื่อคำนวณเปอร์เซ็นต์ภาระหนี้ต่อรายได้ของเรา โดยสามารถเขียนเป็นสมการได้ดังนี้

เป็นหนี้มากไปหรือยัง เช็กได้อย่างไร               
          เช่น ตอนนี้ผ่อนบ้านอยู่เดือนละ 10,000 บาท แล้วเรารูดบัตรเครดิตซื้อของไป 30,000 บาท เมื่อถึงกำหนดชำระไม่สามารถจ่ายยอดเต็มได้ โดยจะผ่อนเดือนละ 3,000 บาท เท่ากับว่าเรามีภาระผ่อนต่อเดือนอยู่ที่ 13,000 บาท หากเงินเดือนของเราอยู่ที่ 25,000 บาท แสดงว่า เรามีภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนคิดเป็น 52% ของรายได้ต่อเดือน

          วิธีนี้จะทำให้เรารู้ทันทีว่า ตอนนี้เรากำลังแบกหนี้เยอะเกินไปหรือเปล่า

          เหตุที่เราไม่ควรก่อหนี้ให้มากเกินไป เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าในอนาคตจะมีเหตุฉุกเฉินที่จะต้องทำให้ก่อหนี้เพิ่มหรือไม่ และหากเรามีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินก็จะยิ่งลำบาก แต่ถ้าเรามีเงินสำรองฉุกเฉินไว้สัก 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน จะช่วยให้เรายังมีโอกาสขอสินเชื่อมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ไม่อย่างนั้น เราอาจมีปัญหาเรื่องการขอสินเชื่อเพิ่มเติม หรือแย่ไปกว่านั้นอาจจะต้องไปใช้หนี้นอกระบบ ซึ่งรู้ ๆ กันอยู่ว่าจะยิ่งสร้างปัญหาหนี้ให้เพิ่มขึ้นไปอีก

          เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมตรวจสอบภาระหนี้อย่างสม่ำเสมอ และ "ตั้งสติ" ก่อนสร้างหนี้ เท่านี้เราก็จะห่างไกลจากสภาวะหนี้ท่วมหัวได้แล้ว   

K-Expert Action

          • เมื่อรูดบัตรเครดิตไปเท่าไร ให้กันเงินเท่ากับจำนวนที่รูดบัตรไปทุกครั้ง เพื่อเตรียมจ่ายแบบเต็มจำนวนและตรงเวลา
          • เรียงลำดับหนี้จากหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไปต่ำสุด และเลือกปิดหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดก่อน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ได้อย่างไรว่าเราแบกหนี้เยอะแล้ว ? อัปเดตล่าสุด 5 กรกฎาคม 2562 เวลา 16:05:03 18,919 อ่าน
TOP