ลดหย่อนภาษี 2563 มีอะไรบ้าง เช็กสิทธิ์และคำนวณให้ดี ก่อนยื่นภาษี

          ลดหย่อนภาษี 2563 มีตัวช่วยให้มนุษย์เงินเดือนหลายรายการ ลองมาตรวจสอบก่อนยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2564 เพื่อใช้สิทธิ์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
          เมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลายคนก็คงต้องมองหาตัวช่วยมาลดหย่อนภาษี เพื่อให้เสียภาษีน้อยลงหน่อย ซึ่งในปี 2563 มีค่าลดหย่อนหลายตัวหายไป ขณะที่บางรายการมีการปรับเงื่อนไขบางอย่าง ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น กระปุกดอทคอมรวบรวมข้อมูลลดหย่อนภาษี ปี 2563 สำหรับมนุษย์เงินเดือน มาให้พิจารณาเลือกใช้สิทธิ์กันแล้ว  
ลดหย่อนภาษี 2563

ใครต้องยื่นภาษี 2563 บ้าง ?

          หากมีรายได้ตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด จะต้องยื่นแบบแสดงรายได้ ดังนี้
 

คนโสด
          - กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท

          - กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
         
คนมีคู่

          - กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 220,000 บาท

          - กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท

 หมายเหตุ หลายคนไม่รู้ว่าก่อนยื่นภาษีจะต้องทำยังไงบ้าง เตรียมตัวอย่างไร เข้ามาอ่านบทความนี้ก่อนเพื่อเตรียมตัวก่อนยื่นภาษี 6 วิธี คืนภาษี 2564 

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2563 เป็นเท่าไร ?

          จะคำนวณจากเงินได้สุทธิ (เงินได้พึงประเมิน หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว) หากมีเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท จะไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้ามีเงินได้สุทธิมากกว่า 150,000 บาท จะต้องจ่ายภาษีตามขั้นบันได 5-35% 
อัตราภาษี 63

          ดังนั้น คนที่มีเงินเดือนประมาณ 25,833 บาท และไม่มีรายได้อื่น ๆ หรือมีรายได้ตลอดทั้งปีรวมแล้วไม่เกิน 310,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนตัวรวม 160,000 บาทแล้ว จะเหลือเงินได้สุทธิ 150,000 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี

          อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีเงินเดือนเกิน 25,833 บาท หรือมีรายได้ตลอดทั้งปีมากกว่า 310,000 บาท ถ้ามีค่าลดหย่อนต่าง ๆ มาช่วย ก็อาจไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน จึงต้องลองคำนวณภาษีและหักค่าลดหย่อนกันดี ๆ

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2563

          หากอยากทราบรายได้สุทธิของตัวเอง ต้องนำรายได้ทั้งหมดมารวมกัน แล้วหาค่าลดหย่อนต่าง ๆ มาหักออกจากรายได้ทั้งหมด เหลือเท่าไรคือรายได้สุทธิที่เราจะนำไปคำนวณภาษีตามขั้นบันได 

​​​​​​​          ใครที่ยังคำนวณไม่เป็น ก็ลองมาดูวิธีคำนวณภาษีเงินได้ที่นี่

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นภาษี

รายการลดหย่อนภาษี 2563 มีอะไรบ้าง ?

          ในปี 2563 ยังคงมีตัวช่วยลดหย่อนภาษีอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่

          - 
กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
          - กลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
          - กลุ่มค่าลดหย่อนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
          - กลุ่มเงินบริจาค
          - กลุ่มค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

          ลองไปดูรายละเอียดของแต่ละกลุ่มกันเลย​​​​​​​

กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
ลดหย่อนภาษี

1. ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล
          จำนวน : 60,000 บาท
          เงื่อนไข : ลดหย่อนภาษีได้ทันทีที่ยื่นแบบฯ
 
2. ค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้
          จำนวน : 60,000 บาท

          เงื่อนไข :
             • สำหรับสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส
             • คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน ไม่ได้แยกยื่นแบบฯ
 
3. ค่าลดหย่อนบุตร
          จำนวน : ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (ไม่จำกัดจำนวนบุตร)

          เงื่อนไข :                  
               • หากเป็นบุตรตามกฎหมาย สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร
               • หากเป็นบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
               • หากมีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดมาหักก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหัก รวมกันได้ไม่เกิน 3 คน
               • กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่รวมเป็นจำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้

               นอกจากนี้ บุตรที่จะนำมาหักลดหย่อนภาษีต้องมีคุณสมบัติตามนี้ด้วย

               • บุตรมีอายุอยู่ระหว่างแรกเกิดจนถึง 20 ปี ในปีภาษีนั้น
               • ถ้าบุตรมีอายุระหว่าง 21-25 ปี ในปีภาษีนั้น ต้องกำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
               • ถ้าบุตรมีอายุ 25 ปีขึ้นไป ในปีภาษีนั้น ต้องเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
               • บุตรต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป (ยกเว้นเงินปันผล) หรือรายได้ที่มีนั้นได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย เช่น บุตรที่อายุไม่เกิน 20 ปี และรับเงินปันผล ซึ่งเงินปันผลนั้นจะถือว่าเป็นเงินของผู้ปกครอง และไม่ถือว่าบุตรมีรายได้
 
4. ค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตร
ค่าลดหย่อนบุตร

          จำนวน : หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท

          เงื่อนไข :          
   
          ผู้ที่มีเงินได้หรือคู่สมรส สามารถนำค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ดังนี้

          • เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจครรภ์ รับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด ค่ากินอยู่ในโรงพยาบาล

          • สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับค่าใช้จ่ายที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2563

          • หากเป็นค่าคลอดบุตรในการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน เช่น ตั้งครรภ์ปี 2563 แต่คลอดปี 2564 จะได้รับสิทธิลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริงในปีที่ใช้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท เช่น ในปี 2563 จ่ายค่าฝากครรภ์ไปจำนวน 10,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนภาษีปี 2563 ได้ 10,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 50,000 บาท สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเมื่อคลอดบุตรในปี 2564 ได้

          • หากจ่ายค่าฝากครรภ์หรือคลอดบุตรหลายคราวในปีภาษีเดียวกัน สามารถลดหย่อนภาษีได้คราวละไม่เกิน 60,000 บาท

          เช่น จ่ายค่าคลอดบุตรคนแรกในเดือนมกราคม 2563 จะสามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท และถ้าหากในเดือนธันวาคม 2563 มีการตั้งครรภ์และฝากครรภ์บุตรคนที่ 2 อีก ก็จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมอีกตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท รวมแล้วหากมีบุตร 2 คน ภายในปี 2563 จะสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท

          • กรณีคลอดบุตรแฝด สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์คราวเดียว

          • สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตรมาหักลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่

          • สามีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีค่าคลอดบุตรได้ไม่เกิน 60,000 บาท หากภรรยาไม่มีเงินได้

          • กรณีสามีและภรรยามีเงินได้ทั้งคู่ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีค่าตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้ 2 กรณี คือ
               - สามี-ภรรยา แยกยื่นภาษี : ภรรยาจะเป็นผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท ส่วนสามีไม่สามารถใช้สิทธิได้
               - สามี-ภรรยา ยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน : ผู้ที่ยื่นภาษีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท


          • สิทธิลดหย่อนภาษีดังกล่าว เมื่อนำไปรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรจากสวัสดิการภาครัฐและเอกชน ต้องไม่เกิน 60,000 บาท

          อธิบายง่าย ๆ ก็คือ หากใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรจากสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ / สิทธิประกันสังคม / สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับจากนายจ้างภาคเอกชนแล้ว จะสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้แค่ส่วนที่ยังไม่เกิน 60,000 บาทเท่านั้น

          หลักฐานที่ใช้ลดหย่อนภาษี :
              - ใบรับรองแพทย์
              - ใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าได้จ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรให้แก่สถานพยาบาล
 

5. ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป
          จำนวน : 30,000 บาทต่อคน (เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนบุตรอีก 30,000 บาท เท่ากับลดหย่อนบุตรคนที่ 2 รวม 60,000 บาท)

          เงื่อนไข :
             - ต้องเป็นบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่คลอดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
             - ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
             - นับลำดับของบุตรทุกคน ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม

          เท่ากับว่า หากเราคลอดบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป จะสามารถหักค่าลดหย่อนได้ถึง 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท + ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป 30,000 บาท + ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร 60,000 บาท)
 
6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา
          จำนวน : ลดหย่อนจากบิดา-มารดา (ตัวเอง) และบิดา-มารดาคู่สมรส ได้คนละ 30,000 บาท มากสุดคือ 4 คน ไม่เกิน 120,000 บาท

          เงื่อนไข :
             • บิดา-มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
             • หากเป็นบิดา-มารดาของคู่สมรส จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ก็ต่อเมื่อคู่สมรสต้องไม่มีรายได้
             • บิดา-มารดาออกหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ให้กับบุตรที่จะขอลดหย่อนภาษีด้วย
             • หากมีลูกหลายคนจะสามารถใช้สิทธิได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เช่น หากลูกคนโตใช้สิทธินี้ไปแล้ว ลูกคนอื่น ๆ ก็ไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้อีก
7. ค่าอุปการะคนพิการหรือคนทุพพลภาพ
          จำนวน : 60,000 บาทต่อคน

          เงื่อนไข :
             • ต้องเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
             • ผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี

          ทั้งนี้ หากผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา-มารดา-บุตร-คู่สมรสของผู้มีเงินได้ ก็สามารถใช้สิทธิควบคู่กันได้เลย เช่น บิดาอายุเกิน 60 ปี เป็นผู้พิการ ไม่มีรายได้ เราสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด (30,000+60,000 บาท) เท่ากับ 90,000 บาท

          หรือหากคู่สมรสเป็นผู้พิการและไม่มีรายได้ ก็สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 + ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000)
กลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
ลดหย่อนภาษีประกัน

1. ประกันสังคม

          จำนวน : ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
 

2. ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต

          จำนวน : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

          เงื่อนไขประกันชีวิต :
             • ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
             • มีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสม (เงินปันผลหรือเบี้ยคืนรายปี)
             • ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย
             • หากเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี ถือว่าผิดเงื่อนไข จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
             • หากเราซื้อประกันชีวิตให้คู่สมรสไว้ และคู่สมรสไม่มีรายได้ แต่ยังจ่ายเบี้ยประกันอยู่ ก็ยังสามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายไปมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท

          เงื่อนไขเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต :
             • ต้องเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิต (ปัจจุบันมี 2 ธนาคาร คือ ออมสิน และ ธ.ก.ส.)
             • ฝากเงินตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
             • ผู้มีเงินได้เป็นผู้จ่ายเงินฝากเท่านั้น
             • กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี ต้องไม่เกิน 20% ของเงินฝากรายปี
             • มีหลักฐานจากธนาคารผู้รับฝากเงิน
             • หักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่ฝากเงินจริง แต่เมื่อรวมกับเงินที่ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

          ตัวอย่างเช่น หากจ่ายเบี้ยประกันชีวิตในปีนั้นไปแล้ว 70,000 บาท เราจะมีสิทธิ์นำเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตไปลดหย่อนภาษีได้อีกเพียง 30,000 บาท
 

3. ประกันสุขภาพตัวเอง
          จำนวน : ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิต และเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท (เริ่มตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป จากเดิมให้ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท)

          เงื่อนไข : ประกันสุขภาพที่นำมาลดหย่อนได้ มีดังนี้
             • ประกันให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
             • ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
             • ประกันภัยโรคร้ายแรง
             • ประกันภัยการดูแลระยะยาว

             อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ตรวจสอบกับบริษัทประกันก่อนว่า ประกันสุขภาพที่เราสนใจจะซื้อหรือที่มีอยู่แล้วนั้นสามารถลดหย่อนภาษีได้หรือไม่
 
4. ประกันสุขภาพบิดา-มารดา

         จำนวน : ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

         เงื่อนไข
             • บิดา-มารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป
             • บิดาหรือมารดาต้องอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 180 วัน ในปีภาษีนั้น
             • ลูกที่จะใช้สิทธิต้องเป็นบุตรตามกฎหมายเท่านั้น บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิได้
             • ลูกสามารถใช้สิทธิได้หลายคน โดยหารเฉลี่ยกัน เช่น ลูก 2 คน ร่วมกันซื้อประกันสุขภาพให้บิดา จำนวน 15,000 บาท ดังนั้น ลูกแต่ละคนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพบิดาไปลดหย่อนภาษีได้คนละ 7,500 บาท

         อย่างไรก็ตาม แบบประกันสุขภาพของบิดา-มารดาที่นำมาลดหย่อนภาษีได้จะต้องเป็นความคุ้มครองด้านใดด้านหนึ่งใน 4 ด้านเท่านั้น คือ

          • คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล หรือจ่ายเงินชดเชย จากการเจ็บป่วยทั่วไป
          • คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล หรือจ่ายเงินชดเชย จากกรณีอุบัติเหตุ
          • คุ้มครองกรณีที่เป็นโรคร้ายแรง
          • ประกันคุ้มครองการพยาบาลสำหรับการเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care)
 

5. ประกันชีวิตบำนาญ

          จำนวน : 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

          เงื่อนไข :
             • ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป

             • ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย

             • จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น

             • เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันที่จ่ายให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

          • หากมีประกันชีวิตแบบทั่วไปอยู่แล้ว แต่ยังไม่ครบ 1 แสนบาท สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปรวมกับสิทธิลดหย่อนประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ครบ 1 แสนบาทก่อน ส่วนที่เหลือก็ยังสามารถนำมาลดหย่อนโดยใช้สิทธิเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้ 15% ของเงินได้ที่เสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
 

6. กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund) หรือ กองทุนรวม SSF
ลดหย่อนภาษี

          กองทุน SSF หรือ Super Savings Fund เป็นกองทุนรวมเพื่อการออมที่ลงทุนหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนดัชนี ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ปรับรูปแบบมาจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF (Long Term Equity Fund) ที่ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก

          จำนวน : สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

          เงื่อนไข :
             • ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2563 จึงจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในปี 2563 ได้
             • ต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปี (วันชนวัน) โดยไม่สามารถขายได้ หากขายก่อนครบกำหนด จะถือว่าทำผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี และต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้น
             • จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
 

7. กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (Super Savings Fund Extra) หรือ กองทุนรวม SSFX

          กองทุน SSFX เป็นกองทุนพิเศษที่ให้ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมในช่วงปี 2563 เพื่อเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งมีเงื่อนไขบางข้อที่เหมือนและต่างจากกองทุน SSF ปกติ 

          จำนวน : เพิ่มจากวงเงินเดิมอีก 200,000 บาท ดังนั้น เราสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากการซื้อกองทุน SSF และ SSFX รวม 400,000 บาท (SSF 200,000 + SSFX 200,000)

          เงื่อนไข :
          • ต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2563 
          • ซื้อแล้วต้องถือครอง 10 ปีเต็ม เหมือนกับกองทุน SSF ปกติ
          • กองทุน SSFX ต้องมีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 65% (เหมือนกับ LTF) ต่างจากกองทุน SSF ปกติ ที่สามารถลงทุนได้หลากหลายกว่า ไม่จำกัดว่าต้องเป็นหุ้นไทยเท่านั้น
          • การซื้อกองทุน SSFX 200,000 บาท จะไม่รวมกับ SSF กองปกติ และไม่รวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ
 

ทำความเข้าใจ กองทุน SSF-SSFX ตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่มาแทน LTF

8. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF)
          จำนวน : หักลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท 

         เงื่อนไข :
          • เมื่อซื้อ RMF รวมกับกองทุนรวม SSF + กบข. + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนครูโรงเรียนเอกชน + ประกันชีวิตแบบบำนาญ + กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
          • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ
          • ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี
          • ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็ม นับจากวันที่ลงทุนวันแรก โดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน คือ ปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีการลงทุนในปีนั้น
          • ต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
 

9. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

          จำนวน : ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท ส่วนจำนวนเงินที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่ต้องเสียภาษี

          เงื่อนไข :
             • เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กองทุนรวม RMF, กบข., กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 

(อ่านเพิ่มเติม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร)

10. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
          จำนวน : ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี

          เงื่อนไข :
          • เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 
11. กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน
          จำนวน : ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี

          เงื่อนไข :
          • เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กบข., RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 
12. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
          จำนวน : ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท

          เงื่อนไข :
          • เมื่อรวมกับกองทุนรวม SSF, กบข., RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กลุ่มค่าลดหย่อนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
ลดหย่อนภาษี

1. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย

          จำนวน : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

          เงื่อนไข :

             • ดอกเบี้ยจากเงินกู้การเช่าซื้อบ้าน คอนโด หรือที่อยู่อาศัย

             • ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐต่าง ๆ โดยทรัพย์สินที่กู้ต้องใช้มาเป็นหลักในการค้ำประกันการกู้ (จำนอง) ด้วย

             • ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่บนที่ดินของตัวเอง หรือกู้เพื่อซื้อคอนโดมิเนียม

             • หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

             • กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ก็ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนเช่นกัน
 

2. ซื้อบ้านหลังแรก ปี 2559

          จำนวน : ไม่เกิน 20% ของราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยนำมาเฉลี่ยลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี หรือเท่ากับลดหย่อนภาษีได้ปีละ 4% ของราคาบ้านเป็นเวลา 5 ปี

          ยกตัวอย่างเช่น ซื้อบ้านหรือคอนโดหลังแรกราคา 3 ล้านบาท โอนกรรมสิทธิ์วันที่ 20 มีนาคม 2559 จะสามารถนำค่าบ้าน 20% คือ 600,000 บาท มายื่นลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2559-2563) คิดเป็นปีละ 120,000 บาท

          เงื่อนไข

          • ต้องเป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์หลังแรกในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท และโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2559 

กลุ่มเงินบริจาค
เงินบริจาค

          แบ่งเป็นกลุ่มเงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และกลุ่มเงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง

เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

1. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา
          จำนวน : 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่นก่อนหักลดหย่อนเงินบริจาค เช่น หากบริจาคเงินให้สถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด 3,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่า คือ 6,000 บาท

         เงื่อนไข :
            • ต้องเป็นสถานศึกษาที่ ศธ. กำหนด
            • ต้องบริจาคและบันทึกข้อมูลผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น

          ตรวจสอบรายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ให้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนเงินบริจาค
 
2. เงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ
          จำนวน : 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

         เงื่อนไข :
           • เป็นการบริจาคให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ของราชการ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา องค์การมหาชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ
           • ต้องมีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือมีการบันทึกข้อมูลบริจาคผ่านระบบ e-Donation ซึ่งส่งข้อมูลถึงกรมสรรพากรโดยตรง

          ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลของทางราชการที่หักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 2 เท่า  
 
3. เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬา

          จำนวน : 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

         เงื่อนไข :
           • เป็นการบริจาคเงินให้หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย
           • มีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือมีการบันทึกข้อมูลบริจาคผ่านระบบ e-Donation ซึ่งส่งข้อมูลถึงกรมสรรพากรโดยตรง

          ตรวจสอบรายชื่อหน่วยงานด้านกีฬาที่หักลดหย่อนได้ 2 เท่า

          ตรวจสอบรายชื่อหน่วยรับบริจาคที่ใช้ระบบ e-Donation 
 

4. เงินบริจาคเพื่อการพัฒนาสังคม 
ยกตัวอย่างเช่น
  • กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น
  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก  
  • โครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนหรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม 
  • กองทุนยุติธรรม
  • การจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน 
          จำนวน : 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
 

เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ตามปกติ (เท่าที่จ่ายจริง)

ลดหย่อนภาษี บริจาค

ภาพจาก ShutterStockStudio / Shutterstock.com

1. เงินบริจาคทั่วไป
          จำนวน : ตามที่บริจาคจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น

         เงื่อนไข
           • เป็นการบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ให้แก่วัดวาอาราม มูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล สถานสงเคราะห์ ฯลฯ

          ตรวจสอบรายชื่อมูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล ที่หักลดหย่อนเงินบริจาคได้

          ตรวจสอบรายชื่อสถานสงเคราะห์ สถานพักฟื้นบำบัดและฟื้นฟูเด็ก คนชรา คนพิการ ที่หักลดหย่อนเงินบริจาคได้
 
2. เงินบริจาคให้พรรคการเมือง
          จำนวน : ตามจำนวนที่บริจาคจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 10,000 บาท
กลุ่มค่าลดหย่อน
ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
ช้อปดีมีคืน

          จำนวน : ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท 

          เงื่อนไข

           • สำหรับการซื้อสินค้าระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563

           • ต้องเป็นการซื้อสินค้า ดังนี้
             1. สินค้าและบริการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเป็นหลักฐานการซื้อสินค้าได้

             2. หนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์ รวมทั้ง e-Book (ยกเว้นนิตยสารและหนังสือพิมพ์) จากร้านที่เป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือ E-Book ที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป หรือใบเสร็จรับเงินได้  

             3. สินค้าโอทอป (OTOP) ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน และมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ระบุว่าเป็นรายการซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
ช้อปดีมีคืน

กรณียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

          * กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้พิการ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผู้อยู่ในไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
 

          * กรณีเป็นผู้สูงอายุ มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
 

          * กรณีมีเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น ใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล โดยแนะนำให้สมัครสมาชิกที่เว็บไซต์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วดาวน์โหลดเอกสารไปใช้ยื่นสรรพากร โดยที่เราไม่ต้องคำนวณให้ยุ่งยาก หรือหากยื่นภาษีทางออนไลน์ ก็สามารถดาวน์โหลดไฟล์ไปใส่ในเว็บไซต์ยื่นภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากรได้เลย

สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2563
ลดหย่อนภาษี 2563

ลดหย่อนภาษี 2563

ลดหย่อนภาษี 2563

ลดหย่อนภาษี 2563

ลดหย่อนภาษี 2563

          หลังจากที่อ่านข้อมูลการลดหย่อนภาษีแล้ว ต่อไปเราก็มาเริ่มการยื่นภาษีกันได้เลย โดยกรมสรรพากรได้เปิดเว็บไซต์สำหรับให้เราได้เข้าไปยื่นภาษีเงินได้กัน แบบที่ไม่ต้องเดินทางออกนอกบ้านเสี่ยงกับโควิด 19 ได้ที่นี่ ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์ โดยกระปุกดอทคอมได้นำวิธีการยื่นภาษีออนไลน์เอาไว้ให้ดูกันแล้ว เข้าใจง่าย ยื่นภาษีครั้งแรก ก็ทำได้

ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสรรพากร, กรมสรรพากร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลดหย่อนภาษี 2563 มีอะไรบ้าง เช็กสิทธิ์และคำนวณให้ดี ก่อนยื่นภาษี อัปเดตล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14:56:32 523,897 อ่าน
TOP
x close