ประกันสุขภาพเหมาจ่าย คืออะไร
ก่อนอื่นต้องทราบว่า ประกันสุขภาพส่วนใหญ่จะให้ความคุ้มครองกรณีเป็นผู้ป่วยใน (IPD) หรือต้องเจ็บป่วยถึงขั้นนอนโรงพยาบาล ยกเว้นว่าแผนนั้นจะให้ความคุ้มครองผู้ป่วยนอก (OPD) มาด้วย หรือไม่เช่นนั้นเราก็ต้องซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมเอง
ทั้งนี้ ในแผนประกันสุขภาพจะแยกรายการค่าใช้จ่ายเป็นหมวดหมู่ เช่น ค่าห้อง ค่าแพทย์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ายา ค่ายากลับบ้าน ค่าห้องผ่าตัด ค่ารักษาพยาบาลผ่าตัดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็น “ประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่าย” จะกำหนดวงเงินแต่ละรายการเอาไว้ และเราจะเบิกได้ไม่เกินวงเงินดังกล่าว เช่น ให้ค่าแพทย์ 700 บาท/วัน ค่าบริการทางการแพทย์และค่ายา ไม่เกิน 20,000 บาท/ครั้ง ถ้าเราเข้าโรงพยาบาลแล้วมีค่าแพทย์ 1,000 บาท ค่าบริการทางการแพทย์ 40,000 บาท ส่วนเกินนี้เราต้องจ่ายเอง
ในขณะที่ “ประกันสุขภาพเหมาจ่าย” เป็นแบบประกันที่ไม่ได้กำหนดวงเงินแต่ละรายการ โดยจะเหมาจ่ายค่ารักษาให้ตามจริง แต่ไม่เกินวงเงินที่คุ้มครองต่อครั้ง ยกเว้นบางรายการอาจกำหนดวงเงินไว้ เช่น ค่าห้อง ค่ายากลับบ้าน ค่าล้างไตหรือทำเคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลมากกว่าแบบแยกค่าใช้จ่าย และผู้ทำประกันอาจจะไม่ต้องจ่ายส่วนเกินเลย
ประกันสุขภาพเหมาจ่าย มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร
ข้อดี
- มีวงเงินเหมาจ่ายค่ารักษาต่อปี และให้วงเงินสูง จึงค่อนข้างครอบคลุมค่ารักษาที่เกิดขึ้นจริง
- ลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนเกิน เมื่อต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน หรือมีการรักษาที่ซับซ้อน
- เคลมประกันง่าย เพราะแผนความคุ้มครองไม่ซับซ้อน
ข้อเสีย
- เบี้ยประกันค่อนข้างสูงกว่าแบบแยกค่าใช้จ่าย
- เบี้ยประกันปรับเพิ่มตามวงเงินคุ้มครองที่สูงขึ้นและอายุของผู้ทำประกัน
- ค่าห้องพักไม่ได้รวมอยู่ในวงเงินเหมาจ่าย จึงอาจต้องจ่ายเงินส่วนเกินเอง
- บางกรมธรรม์อาจกำหนดวงเงินคุ้มครองการรักษาต่อครั้ง
ก่อนซื้อประกันสุขภาพ ต้องดูอะไรบ้าง
1. พิจารณาสวัสดิการที่ตัวเองมีอยู่
สวัสดิการที่ว่าก็อย่างเช่น เรามีประกันสุขภาพสำหรับพนักงานของบริษัท หรือมีประกันสุขภาพเล่มเดิมอยู่ไหม ถ้าจะซื้อเพิ่มเติมก็ควรเลือกแผนประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองนอกเหนือจากเดิม หรืออาจพิจารณาเลือกซื้อแผนประกันสุขภาพแบบมีความรับผิดส่วนแรก (Deduction) เพื่อจะได้จ่ายค่าเบี้ยประกันถูกกว่าปกติ 30-80%
ความรับผิดส่วนแรก (Deduction) ตรงนี้หมายถึงการที่เราต้องจ่ายค่ารักษาส่วนแรกไปก่อน แล้วจึงจะเบิกเคลมส่วนที่เหลือจากประกันได้ เช่น ซื้อประกันที่มี Deduction 20,000 บาท หากเข้าโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด 80,000 บาท เราจะต้องจ่ายเงินเอง 20,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 60,000 บาท ประกันถึงจ่ายให้ ดังนั้นถ้าเรามีสวัสดิการบริษัทหรือประกันเล่มเดิมอยู่ก็สามารถเบิกจากเล่มเดิมก่อนได้โดยไม่ต้องจ่ายเอง
2. พิจารณาความเสี่ยงการเจ็บป่วยของตัวเอง
3. พิจารณางบประมาณที่ตัวเองจ่ายไหว
วิธีเลือกประกันสุขภาพเหมาจ่าย
1. เลือกประกันสุขภาพเหมาจ่ายแบบ New Health Standard
2. เช็กวงเงินความคุ้มครองต่อครั้งหรือต่อปี
3. เปรียบเทียบความคุ้มครองแต่ละแผน
สิ่งที่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน เช่น
- วงเงินความคุ้มครอง : วงเงินที่เบิกได้นั้นเป็นแบบต่อครั้งหรือต่อปี สูงสุดไม่เกินเท่าไร และมีเงื่อนไขอะไรบ้าง โดยในกรณีที่เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการป่วยโรคเดียวกันภายใน 90 วัน จะนับเป็นครั้งเดียวกันและรวมเป็นวงเงินเดียวกัน
- วงเงินค่าห้องพัก : ลองเช็กค่าห้องของโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือที่ใช้บริการอยู่บ่อย ๆ มาเทียบกับแผนประกันว่าให้ค่าห้องเพียงพอไหม ถ้าไม่พออาจต้องซื้อประกันชดเชยรายได้เพิ่มเติม
- อายุรับประกันและการต่ออายุ : ควรเลือกแผนที่ให้ความคุ้มครองจนถึงอายุ 80-90 ปี เพื่อจะได้มีความคุ้มครองในวัยที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย แต่หากไปเลือกทำประกันที่คุ้มครองแค่อายุ 50-60 ปี แล้วต่ออายุไม่ได้ คราวนี้เราจะเปลี่ยนไปทำประกันของบริษัทอื่นได้ยากขึ้น เนื่องจากอายุเพิ่มขึ้นและมักมีโรคประจำตัวที่ประกันไม่คุ้มครองแล้ว
- ความคุ้มครองโรคร้ายแรง : แผนประกันสุขภาพเหมาจ่ายให้ความคุ้มครองโรคร้ายแรงอยู่แล้ว เพียงแต่จะมีบางแผนที่เพิ่มวงเงินค่ารักษาให้เมื่อเป็นโรคร้ายแรงตามเงื่อนไข
- ความรับผิดชอบส่วนแรก (Deductible) : บางแผนไม่มีให้เลือกความรับผิดชอบส่วนแรก ดังนั้นถ้าใครอยากทำประกันแบบมีความรับผิดชอบส่วนแรกก็ต้องมองหาแผนที่มีให้เลือก โดยส่วนใหญ่จะให้ร่วมจ่ายตั้งแต่ 20,000 บาท 50,000 บาท ไปจนถึง 100,000 บาท
- ความคุ้มครองพิเศษเพิ่มเติม : แต่ละแผนมีความคุ้มครองอะไรรวมมาให้แล้วบ้างโดยไม่ต้องทำเพิ่ม เช่น ความคุ้มครองชีวิต วงเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก วงเงินค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอุบัติเหตุภายใน 24 ชั่วโมง ค่าตรวจสุขภาพ ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังออกจากโรงพยาบาล ค่าเวชภัณฑ์นอกร่างกาย ฯลฯ ซึ่งหากมีความคุ้มครองเหล่านี้มาให้ก็จะครอบคลุมมาก ทว่าราคาเบี้ยประกันก็จะสูงกว่าแผนประกันที่ไม่มีความคุ้มครองพิเศษเหล่านี้
4. พิจารณาบริษัทประกัน
เงื่อนไขสำคัญที่ควรรู้ก่อนทำประกันสุขภาพ
- ประกันสุขภาพที่รับประกันโดยบริษัทประกันชีวิต ส่วนใหญ่จะต้องทำพ่วงกับประกันชีวิตเป็นสัญญาหลักก่อน จึงสามารถทำประกันสุขภาพเป็นสัญญาเพิ่มเติมได้
- การรักษาตัวด้วยโรคเดิมภายใน 90 วัน ถือเป็นการรักษาครั้งเดียวกัน ดังนั้นจะนับวงเงินรวมกัน
- ผู้ทำประกันต้องมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งพิการ และไม่มีโรคประจำตัว ผ่านการพิจารณาตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด
- ไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนทำประกัน หรือบริษัทอาจคุ้มครองโดยเพิ่มเบี้ยประกัน
- ไม่คุ้มครองการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 30 วัน หลังจากกรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับครั้งแรก
- ไม่คุ้มครองการเจ็บป่วยดังต่อไปนี้ เนื้องอก ถุงน้ำ หรือมะเร็งทุกชนิด ริดสีดวงทวาร ไส้เลื่อนทุกชนิด ต้อเนื้อหรือต้อกระจก การตัดทอนซิลหรืออะดีนอยด์ นิ่วทุกชนิด เส้นเลือดที่ขา เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่เกิดขึ้นภายในระยะ 120 วัน หลังจากกรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับครั้งแรก
- เบี้ยประกันปรับเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุและความเสี่ยง
- เบี้ยประกันสุขภาพของตัวเองสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกินปีละ 100,000 บาท ส่วนเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา-มารดาสามารถใช้ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาท
ประกันสุขภาพเหมาจ่าย ตัวไหนดี
1. ประกันสุขภาพ AIA Health Saver จากเอ ไอ เอ
สัญญาเพิ่มเติม เอไอเอ เฮลธ์ เซฟเวอร์ เป็นแพ็กเกจประกันสุขภาพเหมาจ่ายแบบประหยัดของ AIA แต่ให้ความคุ้มครองค่อนข้างครบ โดยหากเลือกแผนที่ให้ความคุ้มครอง 500,000 บาท จะมีค่าห้องให้ 4,000 บาท/วัน และค่าห้อง ICU จ่ายให้เป็น 6 เท่า แต่จะเบิกค่าบริการทางการแพทย์ได้เพียง 50,000 บาท/ครั้ง เท่านั้น ส่วนค่ายากลับบ้านจะเคลมได้ 5,000 บาท/ครั้ง ยกเว้นกรณีผ่าตัดใหญ่ที่เหมาจ่ายค่ารักษาตามจริง
จุดเด่นของแผนนี้ก็คือ กรณีผ่าตัดเล็กแบบไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สามารถเบิกได้ 25,000 บาท/ครั้ง มีค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกให้ 1,500 บาท/ครั้ง เบิกได้สูงสุด 30 ครั้ง/ปี เหมาจ่ายให้ตามจริงเมื่อต้องล้างไตหรือทำเคมีบำบัด ในกรณีหากป่วยด้วยโรคร้ายแรงตามเงื่อนไขที่กำหนดจะเพิ่มค่ารักษาให้เป็น 1 ล้านบาท และยังได้รับเงินชดเชย 10,000 บาท สำหรับการเสียชีวิตทุกกรณี
-
อายุรับประกัน : 15 วัน - 75 ปี (ต่ออายุได้ถึง 98 ปี คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี)
-
แผนประกัน : มี 4 แผน ตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท
-
การประกันชีวิต : ต้องทำประกันชีวิตเป็นแผนหลักก่อน
-
ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : ไม่มีให้เลือก
2. ประกันสุขภาพ เฮลท์ ฟิต เบ๊า เบา จากไทยประกันชีวิต
แพ็กเกจประกันสุขภาพ แบบสบายกระเป๋าที่จ่ายเบี้ยประกันรายเดือนเริ่มต้นหลักร้อย โดยหากเลือกแพ็กเกจ 1 แผนที่ 4 จะให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลครั้งละ 500,000 บาท แต่ให้ผลประโยชน์สูงสุด 1 ล้านบาท/ปี มีค่าห้องให้ 4,000 บาท/วัน ค่าห้อง ICU 8,000 บาท/วัน ค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ จ่ายตามจริง ยกเว้นค่าบริการทางพยาบาลที่จำกัด 1,200 บาท/วัน และค่ายากลับบ้าน 1,000 บาท/ครั้ง
นอกจากนี้ ไทยประกันชีวิต เฮลท์ ฟิต เบ๊า เบา ยังมีค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ 10,000 บาท และมีประกันชีวิตที่คุ้มครอง 50,000 บาท รวมมาให้แล้วในแพ็กเกจ อย่างไรก็ตาม แผนนี้จะไม่มีค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก ค่าชดเชยรายวัน ความคุ้มครองโรคร้ายแรง แต่สามารถซื้อเพิ่มเติมได้ในราคาไม่แพงนัก
-
อายุรับประกัน : 11-64 ปี (ต่ออายุและคุ้มครองได้ถึง 99 ปี)
- แผนประกัน : มี 4 แผน ตั้งแต่ 250,000-500,000 บาท
-
การประกันชีวิต : คุ้มครองชีวิต 50,000 บาท
-
ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : เลือกได้ทั้งแบบไม่มีและมี 20,000 บาท
3. ประกันสุขภาพลักซ์ชัวรี่ แคร์ จากซัมซุงประกันชีวิต
ความน่าสนใจของแผนนี้คือ นอกจากจะเหมาจ่ายเกือบทุกรายการแล้ว ยังมีค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกให้ 2,000 บาท/ปี คุ้มครองค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูหลังนอนโรงพยาบาลถึง 15 ครั้ง/ปี สูงกว่าค่ายอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่ให้แค่ 2 ครั้ง/ปี และยังเหมาจ่ายค่าผ่าตัดจากความผิดปกติที่เกิดจากโรคหรืออาการหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งไม่มีในแผนประกันของค่ายอื่น นอกจากนี้กรณีเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากประสบอุบัติเหตุร้ายแรงและโรคร้าย ยังได้รับวงเงินเพิ่ม 2 เท่า ทั้งค่ารักษาพยาบาลเป็น 1 ล้านบาท ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการในโรงพยาบาล
-
อายุรับประกัน : 30 วัน - 65 ปี (ต่ออายุได้ถึง 98 ปี ให้ความคุ้มครองถึงอายุ 99 ปี)
-
แผนประกัน : มี 7 แผน ตั้งแต่ 500,000 - 30 ล้านบาท
-
การประกันชีวิต : ต้องทำประกันชีวิตเป็นแผนหลักก่อน
-
ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : เลือกได้ทั้งแบบไม่มี และมี 25,000 / 50,000 บาท
4. ประกันสุขภาพ BLA Happy Health จากกรุงเทพประกันชีวิต
BLA Happy Health จากกรุงเทพประกันชีวิต เป็นอีกหนึ่งแผนที่คนสนใจ เพราะให้ความคุ้มครองโดยไม่จำกัดวงเงินสูงสุดต่อปี และไม่จำกัดค่าห้อง ยกตัวอย่างแผนที่ 1 ให้ค่ารักษาพยาบาล 500,000 บาท/ครั้ง ในปีนั้นป่วยกี่ครั้งก็เบิกได้ไม่จำกัด แต่ถ้าป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง จะเพิ่มวงเงินคุ้มครองให้เป็น 550,000 บาท จ่ายค่าห้องให้ตามจริงเมื่อพักในห้องพักเดี่ยวมาตรฐานทุกโรงพยาบาล เบิกค่ายากลับบ้านได้ไม่เกิน 5,000 บาท/ครั้ง ส่วนค่ารักษาพยาบาล ค่าแพทย์ ค่าบริการอื่น ๆ เหมาจ่ายตามจริงเกือบทั้งหมด
สำหรับคนที่เลือกทำประกันแบบไม่มีความรับผิดส่วนแรก และไม่เคลมประกันเมื่อนอนโรงพยาบาล (หรือเคลมประกันบริษัทอื่นแทน) ยังจะได้รับเงินชดเชยรายวัน วันละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 10 วัน/ปีกรมธรรม์
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแผนนี้เน้นคุ้มครองผู้ป่วยในเป็นหลัก จึงไม่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก เช่น ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟู หลังการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยใน การบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุภายใน 24 ชั่วโมง แต่ก็ยังมีวงเงินสำหรับล้างไตหรือทำเคมีบำบัดมาให้ 50,000 บาท/ปี
-
อายุรับประกัน : 11-80 ปี และสามารถซื้อความคุ้มครองต่อไปได้เท่ากับระยะเวลาเอาประกันภัยของสัญญาประกันชีวิต สูงสุดถึงอายุ 99 ปี
-
แผนประกัน : มี 3 แผน คือ แผน 5 แสนบาท, แผน 1 ล้านบาท, แผน 5 ล้านบาท
-
การประกันชีวิต : ต้องทำประกันชีวิตเป็นแผนหลักก่อน
-
ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : เลือกได้ทั้งแบบไม่มี และมี 30,000 / 50,000 บาท
5. ประกันสุขภาพเหมาจ่าย เอ็กซ์ตร้า จากเมืองไทยประกันชีวิต
แผนประกันสุขภาพเหมาจ่ายจากเมืองไทยประกันชีวิต ที่ให้ความคุ้มครองสูงสุด 500,000 บาท/ครั้ง (กรณีเลือกแผน 3) และไม่จำกัดวงเงินสูงสุดต่อปี ให้ค่าห้อง 4,000 บาท/วัน ค่ายากลับบ้าน 1,000 บาท/ครั้ง เหมาจ่ายตามจริงสำหรับค่ารักษาพยาบาล ค่าแพทย์ ค่าบริการทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม แผนนี้จะไม่คุ้มครองการรักษาแบบผู้ป่วยนอกทั้งหมด เช่น ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุที่เป็นผู้ป่วยนอก รวมทั้งการผ่าตัดที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล การล้างไต ทำเคมีบำบัด ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นต้น ทำให้เบี้ยประกันค่อนข้างถูกกว่าค่ายอื่น
-
อายุรับประกัน : 11-90 ปี (ต่ออายุได้ถึงอายุ 98 ปี คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี)
-
แผนประกัน : มี 3 แผน ความคุ้มครองตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท/ครั้ง
-
การประกันชีวิต : ต้องทำประกันชีวิตเป็นแผนหลักก่อน
-
ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : ไม่มีให้เลือก
6. ประกันสุขภาพอีซี่ อี-เฮลท์ จาก FWD
ประกันสุขภาพ อีซี่ อี-เฮลท์ จาก FWD สามารถซื้อได้เฉพาะทางออนไลน์เท่านั้น โดยให้ความคุ้มครองสูงสุด 500,000 บาท/ปี (แผน 1) ค่าห้อง 1,500 บาท สูงสุด 365 วัน ส่วนอื่น ๆ เหมาจ่ายตามจริงทุกรายการ ทั้งค่าห้อง ICU ค่าแพทย์ ค่ารักษา ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ายา ค่ายากลับบ้าน ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกเมื่อประสบอุบัติเหตุ ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟู ค่าล้างไต ทำเคมีบำบัด
นอกจากนี้ หากใครสุขภาพดี ไม่มีการเคลมในปีนั้น ๆ จะได้รับส่วนลด 10% ของเบี้ยประกันปีถัดไป และในกรณีเสียชีวิตไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ ยังมีความคุ้มครองให้ 150,000 บาท
-
อายุรับประกัน : 20-60 ปี (ต่ออายุได้ถึงอายุ 79 ปี ระยะเวลาคุ้มครองถึงอายุ 80 ปี)
-
แผนประกัน : มี 3 แผน คือ 500,000-1,500,000 บาท
-
การประกันชีวิต : มีความคุ้มครองชีวิต 150,000 บาท รวมอยู่ในแพ็กเกจแล้ว จึงไม่ต้องทำประกันชีวิตเพิ่มเติม
-
ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) : ไม่มีให้เลือก
บทความที่เกี่ยวข้องกับประกัน
- ประกันมะเร็ง เจอ จ่าย จบ ที่ไหนดี ปี 2566 ทำง่าย ไม่พ่วงประกันชีวิต
- ประกันชีวิต ลดหย่อนภาษี 2565 แบบออมทรัพย์ 10 ปี ตัวไหนดี ให้ผลตอบแทนสูง
- ประกันสุขภาพเหมาจ่ายที่ไหนดี ปี 2566 เปรียบเทียบแผนค่ารักษา 1 ล้านบาท
- เจาะลึกกรมธรรม์ประกันชีวิต ผู้รับประโยชน์เป็นใครได้บ้าง ?
- จ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว ทำไงได้บ้าง พร้อมวิธีคำนวณว่าได้เงินคืนเท่าไร
- เช็กลิสต์ ! เรื่องอะไรต้องคิด ก่อนทำประกันสุขภาพ
- ประกันแบบผู้ป่วยใน แค่นอน 6 ชม. ก็เคลมได้จริงหรือ
- บาดเจ็บขึ้นมา จะเคลมประกันอย่างไร ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ?