ประกันแบบผู้ป่วยใน แค่นอน 6 ชม. ก็เคลมได้จริงหรือ

          เมื่อนอนรักษาในโรงพยาบาลเกินกว่า 6 ชั่วโมง แล้วแพทย์ให้ความเห็นว่า หากกลับบ้านแล้วไม่ดี แพทย์ขอตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม หรือมีความจำเป็นทางการแพทย์ จะสามารถเคลมประกันสุขภาพแบบผู้ป่วยในได้
ประกันสุขภาพ

          โรคภัยไข้เจ็บ คงไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวเองและคนที่เรารัก เพราะนอกจากจะกังวลเรื่องการรักษาแล้ว ยังต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นด้วย สำหรับคนที่กังวลกับค่าใช้จ่ายก็มักจะทำประกันสุขภาพไว้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหรือช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา แต่ก็มีไม่น้อยเลยที่ต้องผิดหวังกับการเคลมประกัน โดยเฉพาะประกันสุขภาพแบบผู้ป่วยใน เพราะเข้าใจว่า แค่นอนรักษาในโรงพยาบาลเกินกว่า 6 ชั่วโมง ก็จะเคลมประกันได้ แต่แท้จริงแล้ว ยังมีเงื่อนไขของการเป็นผู้ป่วยในหรือต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มเติมอีก วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงนำข้อมูลจาก K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ที่ได้สรุปเงื่อนไขสำคัญ 3 ข้อ มาเอาไว้ใช้เป็นแนวทางง่าย ๆ ดังนี้ 

1. กลับบ้านแล้วไม่ดี

          แพทย์ให้ความเห็นว่า ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล หากกลับบ้านไปอาจเป็นอันตรายได้ หรือจำเป็นต้องรักษาที่ไม่ใช่แค่กินยาเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น  ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องเสียและอ่อนเพลียมาก จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด แพทย์จึงแนะนำให้นอนรักษาในโรงพยาบาล และต้องรักษาด้วยการฉีดยาและให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด แบบนี้ถือว่าเป็นการรักษาที่จำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาลก็สามารถเคลมได้
 
          แต่หากเป็นการนอนพักผ่อนจากอาการอ่อนเพลียและกินยาเพียงอย่างเดียว แม้จะเกิน 6 ชั่งโมง ก็ถือว่าไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล จึงเคลมไม่ได้

ประกันสุขภาพ

2. ขอวินิจฉัยเพิ่ม

           แพทย์ให้ความเห็นว่า ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลและตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมร่วมด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมีอาการแขนขาชา ร่างกายอ่อนล้าอย่างมาก แพทย์แนะนำว่าต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยให้น้ำเกลือและต้องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมร่วมด้วย แบบนี้สามารถเคลมได้

          หากทำ CT Scan เพียงอย่างเดียว ไม่มีอาการที่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล (ตามข้อ 1) ร่วมด้วย ก็จะเคลมไม่ได้ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยทำ CT Scan แล้วกลับบ้าน เมื่อทราบผลของการทำ CT Scan แล้วแพทย์พบสาเหตุของการเจ็บป่วย ต่อมาให้ความเห็นว่าจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรักษา เช่น ต้องผ่าตัด ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทำ CT Scan ในครั้งก่อนหากไม่เกิน 30 วัน นับย้อนหลังจากวันที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลก็สามารถเคลมได้

ประกันสุขภาพ

3. มีความจำเป็นทางการแพทย์

          เป็นการรักษาตามความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ โดยการรักษานั้นต้องใช้ยาหรืออุปกรณ์ที่แพทย์ให้ความเห็นว่าจำเป็นต่อการรักษาขณะนอนพักรักษาในโรงพยาบาล เช่น ค่าน้ำเกลือ ค่ายาชนิดรับประทาน ค่ายาฉีดเข้าเส้นเลือด ค่าอาหารทางเส้นเลือด หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการรักษาก็สามารถเคลมได้

          แต่หากเป็นอุปกรณ์ที่แค่เพิ่มความสะดวกสบายหรือตกแต่งเพื่อความสวยงาม ตัวอย่างเช่น แผ่นประคบเย็น เครื่องช่วยฟัง อุปกรณ์ค้ำยันต่าง ๆ เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดชีพจร อวัยวะเทียม อุปกรณ์เหล่านี้ถือว่าไม่จำเป็นต่อการรักษาจึงเคลมไม่ได้


          ดังนั้น เมื่อเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อดังกล่าวข้างต้น ที่ไม่ใช่แค่นอน 6 ชั่วโมงด้วยเหตุผลของตัวเอง แต่จำเป็นต่อการรักษาและเป็นคำแนะนำของแพทย์ ก็จะเคลมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงได้ แต่ต้องไม่เกินผลประโยชน์ที่ระบุในกรมธรรม์ตามตารางผลประโยชน์ด้วย หากใครมีหลายกรมธรรม์หรือหลายบริษัทประกันก็จะเคลมได้ไม่เกินตารางผลประโยชน์ในกรมธรรม์รวมกัน

          ทั้งนี้ ต้องไม่อยู่ในข้อยกเว้นของสัญญา ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ ระบุอยู่ในกรมธรรม์ ดังนั้น ผู้เอาประกันจำเป็นต้องเข้าใจทั้งเงื่อนไขความคุ้มครองและข้อยกเว้นของสัญญาประกันแต่ละสัญญาก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อจะได้ไม่ผิดหวังเมื่อต้องการเคลมประกัน
   
   
          K-Expert Action

          • ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขของแบบประกันสุขภาพที่สนใจ ก่อนตัดสินใจทำประกัน

          • พิจารณาความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประกันแบบผู้ป่วยใน แค่นอน 6 ชม. ก็เคลมได้จริงหรือ อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2564 เวลา 17:42:49 34,384 อ่าน
TOP
x close