x close

กองทุนรวม SSF ตัวไหนดี ส่องกองทุนลดหย่อนภาษี ผลตอบแทนดี ปี 2565

           กองทุนรวม SSF คืออีกหนึ่งตัวช่วยลดหย่อนภาษี ที่หลายคนสนใจ แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าจะซื้อตัวไหนดี ลองตามมาดูกันเลย
           ช่วงปลายปีแบบนี้ คนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ย่อมต้องมองหาวิธีลดหย่อนภาษี 2565 เพื่อจะได้จ่ายภาษีน้อยลง ซึ่งหลายคนอาจซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ กองทุนรวม RMF ฯลฯ ไปจนเต็มสิทธิ์แล้ว แต่ยังเหลือกองทุนรวม SSF ที่ยังไม่แน่ใจในเงื่อนไข หรือไม่รู้ว่าจะเลือกอย่างไรดี วันนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวม SSF มาบอกไว้ตรงนี้ แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยซื้อกองทุนรวม อยากให้ลองมาทำความเข้าใจแบบคร่าว ๆ กันก่อนว่า กองทุนรวม คืออะไรค่ะ
กองทุนรวม คืออะไร
กองทุนรวม SSF

          กองทุนรวม (Mutual Funds) คือ การนำเงินของผู้ลงทุนไปลงทุนให้สินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ตามนโยบายที่กองทุนรวมนั้นกำหนดไว้ โดยแต่ละกองก็จะมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารจัดการพอร์ตให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเราจะได้กำไรจากส่วนต่างของราคาซื้อ-ขาย หรือได้รับเงินปันผลของกองทุน ถ้ากองทุนนั้นมีนโยบายจ่ายเงินปันผล

          ทั้งนี้ กองทุนรวมมีอยู่ด้วยกันหลายประเภทตามนโยบายการลงทุน เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน (หุ้น) กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมแบบผสม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ แต่ที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้ก็คือ กองทุนรวมลดหย่อนภาษี อย่างกองทุนรวม SSF ค่ะ
 

รู้จักกองทุนรวม..การลงทุนน่าสนใจของวัยเริ่มต้นทำงาน

กองทุนรวม SSF คืออะไร
กองทุนรวม SSF

           กองทุน SSF หรือ Super Savings Fund เป็นกองทุนรวมเพื่อการออมที่ปรับรูปแบบมาจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF (Long Term Equity Fund) มีจุดประสงค์หลักเพื่อการออม ร่วมกับใช้ลดหย่อนภาษีของผู้มีรายได้ที่ต้องยื่นภาษีในแต่ละปี

           ทั้งนี้ เราสามารถซื้อกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน เมื่อซื้อแล้วต้องถือไว้นานอย่างน้อย 10 ปี (นับวันชนวัน) โดยไม่สามารถขายได้ หากขายก่อนครบกำหนดจะถือว่าทำผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี อาจจะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นทั้งหมดทันที และต้องจ่ายเงินเพิ่มให้รัฐย้อนหลังด้วย

           อย่างไรก็ตาม กองทุน SSF อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน ลองมาศึกษาและอ่านทำความเข้าใจเงื่อนไขของกองทุน SSF กันต่อได้ที่บทความนี้นะคะ
 

รู้จัก กองทุน SSF ตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่มาแทน LTF

วิธีเลือกกองทุนรวม SSF
           เนื่องจากปัจจุบันมีหลายกองทุน จึงเกิดเป็นคำถามว่า ควรเลือกซื้อกองทุน ssf ตัวไหนดี งั้นลองมาดูไอเดียในการเลือกกองทุนกัน

เลือกตามความเสี่ยงที่เรารับได้

          ก่อนลงทุนจะต้องทำแบบประเมินว่าเรารับความเสี่ยงต่อการขาดทุนได้แค่ไหน หากใครรับความเสี่ยงได้ต่ำ ไม่อยากเห็นเงินต้นสูญหาย ก็ควรเลือกกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารเงิน หรือตราสารหนี้เป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าผลตอบแทนที่ได้รับย่อมน้อยลงตามไปด้วย

          แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้มากขึ้น ก็อาจมองกองทุนที่เน้นตราสารทุน ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หรือถ้ายอมรับความผันผวนได้สูงมาก กองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ น้ำมัน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก

กระจายพอร์ตการลงทุน

          ในกรณีที่เราได้ลงทุนในรูปแบบอื่นอยู่แล้ว หรือเคยซื้อ SSF เมื่อปีที่ผ่าน ๆ มา ปีนี้ก็ควรพิจารณาเลือกกองทุนรวม SSF ที่มีนโยบายการลงทุนแตกต่างไปจากการลงทุนที่เรามี เพื่อกระจายพอร์ตการลงทุนให้สมดุลกัน ไม่เน้นหนักไปที่ตัวใดตัวหนึ่ง เช่น ถ้ามีกองทุนหุ้นไทยอยู่แล้ว ก็อาจเลือกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศบ้าง หรือกองทุนดัชนี กองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนแบบผสมอื่น ๆ

ศึกษาและเปรียบเทียบแผนการลงทุนของแต่ละกอง

          แม้จะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในกลุ่มเดียวกัน เช่น ลงทุนในหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนกัน แต่ถ้าเจาะลึกลงไปจะเห็นว่า แต่ละกองทุนจะนำเงินไปลงทุนในหุ้นต่างประเภท เช่น หุ้นขนาดใหญ่ หุ้นขนาดกลาง หุ้นขนาดเล็ก หุ้นปันผล หุ้นเติบโต หรือลงทุนต่างกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น หุ้นในกลุ่มธุรกิจการเงิน ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจค้าปลีก ฯลฯ ทำให้สัดส่วนของพอร์ตการลงทุนแตกต่างกันมาก และส่งผลต่อกำไร-ขาดทุนในอนาคตด้วย ซึ่งตรงนี้เราต้องศึกษาให้ดี

เลือกตามธีมการลงทุน

           บางกองทุนอาจไม่ได้กระจายพอร์ตไปหลายธุรกิจ แต่เน้นลงทุนในประเภทธุรกิจเดียวกัน เช่น กลุ่มเทคโนโลยี, กลุ่ม Healthcare, กลุ่มสินค้า Hi-end, กลุ่มพลังงานสะอาด, กลุ่มสิ่งแวดล้อม, กลุ่ม ESG หรือการลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต ถ้าเราสนใจธุรกิจกลุ่มไหนก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนกลุ่มนั้น ๆ ได้

พิจารณาเรื่องเงินปันผล

          กองทุนรวมมีทั้งแบบที่จ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผลระหว่างปี ซึ่งถ้าเลือกแบบมีปันผล เราก็จะได้ผลตอบแทนคืนกลับมาบางส่วนในระหว่าง 10 ปีที่ถือครองอยู่ แต่ก็ต้องแลกกับการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ในขณะที่กองทุนไม่มีปันผลก็จะไม่ถูกหักภาษี และอาจมีโอกาสที่ราคากองทุนจะเพิ่มสูงได้มากกว่า เพราะไม่ต้องจ่ายกำไรออกมาให้ผู้ลงทุนทุก ๆ ปี เหมือนกับกองที่มีปันผลนั่นเอง

ดูผลการดำเนินงานย้อนหลัง

           ผลการดำเนินงานจะเป็นเครื่องชี้วัดความสามารถของผู้จัดการกองทุนที่คอยบริหารพอร์ตกองทุนนั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับกองทุนรวม SSF ปัจจุบันจะมีอายุแค่ประมาณ 2 ปี เนื่องจากเพิ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2563 จึงอาจจะยังไม่เห็นผลตอบแทนระยะยาวชัดเจนนัก
รวมกองทุน SSF ผลตอบแทนสูง ปี 2565
กองทุนรวม SSF

          ในที่นี้จะคัดเลือกกองทุนรวม SSF ที่ให้ผลตอบแทนสูงในรอบ 1 ปีย้อนหลัง มาแนะนำให้ทราบกัน โดยเป็นข้อมูลผลตอบแทน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งหากใครสนใจกองทุนไหนก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นั้นนะคะ

1. กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี มิด สมอล แค็ป (ชนิดเพื่อการออม) : M-MIDSMALL-SSF

         กองทุนรวม SSF ของ บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) (MFC) เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดกลางและเล็กที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ไม่น้อยกว่า 80% ถือเป็นกองทุนรวม SSF ที่ทำผลงานได้ดีอันดับต้น ๆ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

  • สัดส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุน 3 อันดับแรก

          1. หุ้นกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์
          2. หุ้นกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต
          3. หุ้นกลุ่มพลังงาน

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6
  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท
  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : จ่ายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ผลตอบแทน
      ★ ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุน : 7.19%
      ★ ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี : 7.56%

2. กองทุนเปิดเคเคพี ดิวิเดนด์ อิควิตี้ ชนิดเพื่อการออม : KKP DIVIDEND-SSF

           กองนี้เหมาะกับสายปันผล เพราะ KKP DIVIDEND-SSF จะนำเงินไปลงทุนในหุ้นไทยที่มีนโยบายจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ หรือหุ้นที่มีแนวโน้มหรือศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลในอนาคตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 80%

  • สัดส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุน 3 อันดับแรก

          1. หุ้นกลุ่มธนาคาร
          2. หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
          3. หุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6
  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 100 บาท
  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : จ่ายปันผล
  • ผลตอบแทน

         ★ ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุน : 8.34%
         ★ ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี : 8.34%

3. กองทุนเปิด แอล เอช สแทรทิจี อิควิตี้ ชนิดเพื่อการออมและสะสมมูลค่า : LHSTRATEGY-ASSF

         LHSTRATEGY-ASSF จาก บลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด เป็นกองทุนรวม SSF ที่ลงทุนในหุ้นทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ/หรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ไม่น้อยกว่า 80% โดยเน้นการลงทุนด้วยการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์ที่กองทุนลงทุนให้มีความผันผวนต่ำ เพื่อลดความผันผวนของการลงทุนโดยรวมของกองทุนให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด

  • สัดส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุน 3 อันดับแรก

          1. เงินฝากธนาคาร
          2. หุ้นกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค
          3. หุ้นกลุ่มธุรกิจพาณิชย์

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6
  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : ไม่กำหนด
  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่จ่ายปันผล
  • ผลตอบแทน

          ★ ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุน : 8.45%
          ★ ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี : 6.57%

4. กองทุนเปิด แอสเซทพลัส สมอล แอนด์ มิด แคป อิควิตี้ ชนิดเพื่อการออม : ASP-SME-SSF

         กองนี้เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีการเติบโตต่อเนื่องแบบก้าวกระโดดของหุ้นไทยขนาดเล็กและขนาดกลาง (Small – Mid Cap) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ไม่น้อยกว่า 65% โดยมี บลจ.แอสเซท พลัส จำกัด เป็นผู้จัดการกองทุน

  • สัดส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุน 3 อันดับแรก

          1. เงินฝาก/ตั๋วแลกเงิน
          2. หุ้นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
          3. หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6
  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1 บาท
  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่จ่ายปันผล
  • ผลตอบแทน

          ★ ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุน : 16.06%
          ★ ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี : 4.28%

5. กองทุนเปิดพรินซิเพิล เซ็ท 50 อินเด็กซ์เพื่อการออม SSF : PRINCIPAL SET50SSF-SSF

          คนที่ไม่ชอบหุ้นที่มีความผันผวนสูง กองนี้น่าจะตอบโจทย์ เพราะเป็นกองทุนรวมดัชนีที่ลงทุนในหุ้นที่อยู่ใน SET50 ไม่น้อยกว่า 80% ผลตอบแทนจึงใกล้เคียงไปตามการเคลื่อนไหวของดัชนี SET50

  • สัดส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุน 3 อันดับแรก

         1. หุ้นกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค
         2. หุ้นกลุ่มธนาคาร
         3. หุ้นกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6
  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท
  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่จ่ายปันผล
  • ผลตอบแทน

          ★ ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุน : 8.08%
          ★ ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี : 4.94%

           ทั้งนี้ ต้องขอย้ำว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่ได้การันตีว่าจะทำให้เราได้กำไรในอนาคต เพราะกองทุนรวมมีโอกาสขาดทุนได้เสมอหากมีปัจจัยลบเข้ามากระทบ เช่น สถานการณ์บ้านเมือง สภาพเศรษฐกิจ นโยบายทางการเงิน ค่าเงินดอลลาร์ รวมทั้งข่าวในแง่ลบของบริษัทที่กองทุนรวมนั้นถือหุ้นอยู่ ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้ดี และติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอยู่เสมอนะคะ
         หมายเหตุ : การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากกองทุนรวม SSF หรือ RMF ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ผู้ซื้อจะต้องแจ้งความประสงค์กับ บลจ. ภายในวันที่ 31 ธันวาคมของปีนั้น ๆ ว่าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เพื่อให้ บลจ. นำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรโดยตรง หากผู้ซื้อไม่แจ้งกับ บลจ. ก็จะไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี ทั้งนี้ ผู้ซื้อไม่ต้องแจ้งทุกปี หรือทุกครั้งที่ซื้อ แต่ให้แจ้งเพียงปีเดียวคือครั้งแรกที่ซื้อเท่านั้น และจะสามารถใช้สิทธิดังกล่าวไปได้ตลอดทุกปี

บทความที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม และลดหย่อนภาษี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กองทุนรวม SSF ตัวไหนดี ส่องกองทุนลดหย่อนภาษี ผลตอบแทนดี ปี 2565 อัปเดตล่าสุด 4 พฤศจิกายน 2565 เวลา 06:25:53 38,499 อ่าน
TOP