5 คำถามที่ต้องถามตัวเอง ก่อนตัดสินใจซื้อกองทุนรวม

กองทุนรวม

          กำหนดเป้าหมายการลงทุน และศึกษาทำความเข้าใจกองทุนรวม เพื่อเลือกลงทุนได้เหมาะกับผลตอบแทนที่คาดหวัง และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

          "กองทุนรวม" คือทางเลือกในการลงทุนที่ไม่ได้เข้าใจง่ายอย่างที่หลายคนคิด แต่กองทุนรวม คือทางเลือกที่สะดวกและเหมาะกับคนที่มีข้อจำกัดในการลงทุนด้วยตัวเอง หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่ได้ต้องการลงทุนด้วยตัวเอง แต่ยังอยากใช้ประโยชน์จากการลงทุนในตราสารทางการเงินอยู่
 
          เมื่อกองทุนรวมมีความยากในการทำความเข้าใจ ทางเลือกหนึ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ลงทุนก็คือ การศึกษาและหาข้อมูลให้เพียงพอต่อการตัดสินใจก่อนลงทุน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ทำได้ แต่คนจำนวนมากเลือกที่จะลงทุนทั้งที่ยังไม่เข้าใจ หรือทั้งที่ยังเข้าใจไม่ถ่องแท้ การตั้งคำถามเพื่อให้ผู้แนะนำการลงทุนตอบ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนมีความกระจ่างและตัดสินใจได้อย่างถูกต้องมากขึ้น โดย K-Expert ธนาคารกสิกรไทยแนะนำ 5 คำถามด้วยกัน ดังนี้

กองทุนรวม

1. เป้าหมายการลงทุน

         
          คำถามนี้พิเศษและควรตั้งเป็นคำถามแรก และควรถามตัวเองในฐานะผู้ลงทุนก่อนที่จะนำไปถามผู้แนะนำการลงทุน นั่นคือ ผู้ลงทุนควรถามตัวเองให้ชัดก่อนว่ามีเป้าหมายในการลงทุนอย่างไร หรืออย่างน้อยเงินก้อนที่จะลงทุน ณ ขณะใดขณะหนึ่งนั้น คาดหวังอย่างไร

          เช่น มีเป้าให้สร้างรายได้ประจำตลอดระยะเวลาการลงทุน 5 ปี มีเป้าอยากให้เงินงอกเงยเพื่อที่จะนำไปลงทุนทำธุรกิจภายใน 3 ปี หรือต้องการใช้เป็นเงินออมเพื่อวัยเกษียณในอีก 15 ปี หรือแม้แต่เพื่อเป้าหมายในการลดหย่อนภาษีให้ได้สูงสุดในแต่ละปี เป็นต้น และให้นำเป้าหมายการลงทุนที่ตอบตัวเองได้แล้วไปถามกลับยังผู้แนะนำการลงทุนว่า ถ้าเป้าหมายเป็นเช่นนี้ ควรที่จะลงทุนในกองทุนรวมประเภทใดอย่างไร

          ขอย้ำว่าคำถามข้อนี้พิเศษและจำเป็นที่สุด ซึ่งในทาปฏิบัติบ่อยครั้งที่ผู้แนะนำการลงทุนก็จะตั้งคำถามนี้กับผู้ลงทุนก่อนอยู่แล้ว ดังนั้นก่อนเดินทางไปสอบถามหรือไปซื้อหน่วยลงทุนก็ควรมีเป้าหมายของเงินลงทุนเอาไว้ในใจเสมอ

2. สิ่งที่กองทุนลงทุน

          คำถามนี้ควรถามเพื่อทำความเข้าใจถึงสิ่งที่จะคาดหวังได้และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน เช่น เน้นลงทุนในตราสารหนี้ เน้นลงทุนในหุ้น หรือลงทุนแบบผสมในหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งกองทุนที่ลงทุนแบบผสม ก็ยังมีการกำหนดสัดส่วนลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้ที่แตกต่างกัน คำถามในกลุ่มนี้ยังหมายความรวมไปถึง ผลิตภัณฑ์ หรือบริษัทที่ออกตราสารการเงินแล้วกองทุนนำเงินไปลงทุนอยู่ สัดส่วนในอุตสาหกรรม หรือการเป็นตราสารในประเทศหรือต่างประเทศ

          สำหรับคำตอบที่ผู้ลงทุนจะได้รับถึงแม้จะอยู่ในหนังสือชี้ชวน แต่ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจ ควรสอบถามถึงสิ่งที่กองทุนนำเงินไปลงทุนให้ได้ในรายละเอียดสำคัญที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ออกตราสาร แนวโน้มของบริษัทที่กองทุนนำเงินไปลงทุน ความสามารถในการทำกำไรหรือความเสี่ยงของสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคตกับอุตสาหกรรมที่กองทุนให้ความสำคัญหรือให้สัดส่วนถือครองสูง ๆ หรือแม้แต่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายได้หรือความเสี่ยงของสิ่งที่กองทุนนำเงินไปลงทุนว่าเป็นอย่างไรด้วย
         
กองทุนรวม

3. ความเสี่ยงของกองทุน

          คำถามนี้ถือเป็นคำถามสำคัญที่มีคนจำนวนน้อยมากจะสนใจ เพราะส่วนใหญ่จะมุ่งถามถึงแต่ผลตอบแทน และความเสี่ยงในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ระดับความเสี่ยงตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. จาก 1-8 เพราะในความจริงตัวเลขกำกับความเสี่ยง ตัวอย่างเช่น กองทุนระดับ 5 ไม่ได้หมายความว่าเป็นความเสี่ยงปานกลางแต่อย่างใด แต่เป็นกองทุนผสมที่มีสัดส่วนหุ้นได้ ซึ่งในปัจจุบันเราอาจเห็นกองทุนระดับ 5 บางกองที่ระบุความยืดหยุ่นของสัดส่วนตราสารมีสัดส่วนหุ้นในบางช่วงเวลาได้ถึง 90% ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่ากองทุนนั้นเสี่ยงปานกลาง

          การถามเรื่องความเสี่ยงกับกองทุนจึงจำเป็น เช่น การถามในเชิงเปรียบเทียบระหว่างกองทุนหุ้นที่มีนโยบายต่างกัน ยกตัวอย่างระหว่างกองทุนหุ้นที่บริหารแบบ Active กับกองทุนที่บริหารแบบ Passive กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ กับกองทุนหุ้นขนาดเล็ก กองทุนตราสารหนี้ในประเทศกับกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศแบบมีการป้องกันค่าเงินกับแบบไม่มี เหล่านี้มีความเสี่ยงที่ต่างกันทั้งสิ้น ถ้าจะเปรียบเทียบกัน ผู้ลงทุนควรรู้ให้ชัดเจนก่อนว่ากองทุนที่ตัดสินใจซื้อมีความเสี่ยงเรื่องใดและเข้าใจความเสี่ยงนั้นดีแล้วใช่หรือไม่

4. ผลตอบแทนของกองทุน

          คำถามแรกสำหรับใครหลายคนแต่สำหรับผมมันคือคำถามลำดับกลาง ๆ ที่ผู้ลงทุนควรถามหาคำตอบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจมิใช่ถามเพื่อใช้เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจ เพราะไม่มีกองทุนรวมใดสามารถยืนยันหรือคาดการณ์ผลตอบแทนในอนาคตได้อย่างแม่นยำ และไม่มีกองทุนใดจะมีผลตอบแทนดีได้ตลอดเวลา

          การถามถึงผลตอบแทนมีด้วยกัน 2 มิติ ที่เป็นที่นิยมกันคือ มิติของการเปรียบเทียบกับผลตอบแทนของตลาดของตราสารที่กองทุนนั้นไปลงทุน เช่น กองทุนรวมหุ้น หากเทียบกับผลตอบแทนของตลาดหุ้นโดยเฉลี่ยสมมติผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ของตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 11% ต่อปี เช่นนี้ถ้าหากกองทุนรวมหุ้น ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ปี อยู่ในระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ยหรือมากกว่า ก็สามารถบอกได้ว่าอยู่ในระดับที่ดีไว้ใจได้ (ซึ่งความเป็นจริงก็หาได้ไม่ง่าย)

          ในอีกมิติคือการเปรียบเทียบระหว่างกองทุน ซึ่งการเปรียบเทียบนี้จำเป็นจะต้องเทียบกับกองทุนที่มีนโยบายเดียวกันและเทียบที่ช่วงเวลาเดียวกัน เช่น ถ้าเป็นกองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ก็ต้องเปรียบเทียบกับกองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ เทียบผลตอบแทน ณ วันที่เดียวกัน เป็นต้น

กองทุนรวม

5. เงื่อนไขการลงทุน

          ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขเพื่อให้ได้ประโยชน์ทางภาษี กรณีลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เงื่อนไขการซื้อ การขาย ค่าธรรมเนียม ระยะเวลาการได้เงินคืนหลังจากขาย จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ นโยบายการจ่ายปันผล ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ถ้าไม่เข้าใจ ผลลัพธ์สุดท้ายที่มักจะพบเจอก็คือการทำผิดเงื่อนไขจนทำให้เสียโอกาสในการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น

 
          คำถาม 5 ข้อ ที่ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งในการต้องสอบถามให้กระจ่ายก่อนตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าผู้แนะนำการลงทุนจะอธิบายอย่างไร การตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะอยู่ที่ผู้ลงทุนเองเสมอ ดังนั้นถ้าหากยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนหรือเพียงพอ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรีบร้อนลงทุน


          K-Expert Action

          • ก่อนลงทุน กันเงินสำรองเก็บในเงินฝากหรือกองทุนรวมตลาดเงินประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เมื่อต้องใช้เงิน จะได้ไม่กระทบกับเงินลงทุนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

          • สมัครแผนการลงทุนสม่ำเสมอ (Saving Plan) เพื่อลงทุนในกองทุนรวมทุกเดือน ช่วยสร้างวินัยการลงทุน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 คำถามที่ต้องถามตัวเอง ก่อนตัดสินใจซื้อกองทุนรวม อัปเดตล่าสุด 22 ตุลาคม 2564 เวลา 15:37:47 7,645 อ่าน
TOP
x close