เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เมื่อศึกษาหาข้อมูลตลอดจนพิจารณาข้อดีข้อเสียของการลงทุนในกองทุนรวมเสร็จสรรพแล้ว เกิดคิดอยากจะลงทุนกองทุนรวมเหมือนคนอื่น ๆ ดูสักตั้ง แต่ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ต้องเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไหน แล้วจะซื้อหน่วยลงทุนได้อย่างไรบ้าง ตามมาอ่านข้อมูลดี ๆ ที่มือใหม่ควรรู้กันได้เลย
จะเลือกกองทุนรวมประเภทไหนดี ?
เนื่องจากกองทุนรวมมีให้เลือกมากมายหลายประเภท มือใหม่อย่างเราอาจยังไม่รู้ว่าควรจะเลือกลงทุนกองทุนรวมไหนดีถึงเหมาะกับตัวเอง ถ้าอย่างนั้นลองมาดูหลักการพิจารณาเลือกกองทุนรวมกัน
1. ทำความเข้าใจประเภทต่าง ๆ ของกองทุนรวม เช่น
กองทุนรวมแต่ละประเภทมีรูปแบบเป็นอย่างไร สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ตลอดเวลา หรือต้องตามที่กำหนด ระยะเวลานานแค่ไหน
ผลตอบแทนของกองทุนนั้นเป็นอย่างไร
ความเสี่ยงของกองทุนรวมนั้นอยู่ในระดับไหน เราสามารถรับความเสี่ยงนั้นได้หรือไม่- มีสิทธิประโยชน์อะไรในการลงทุนหรือไม่ เช่น หักลดหย่อนภาษี ฯลฯ
นโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร
ใครเป็นผู้จัดการกองทุน มีความรู้ความเชี่ยวชาญมากขนาดไหน
ต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง ฯลฯ
2. ตรวจสอบสถานะทางการเงินของตัวเองว่าเหมาะสมกับการลงทุนประเภทไหน
3. ต้องรู้ว่าเราจะลงทุนเพื่ออะไร ต้องการได้ผลตอบแทนเร็ว แต่เสี่ยง หรือได้ผลตอบแทนช้า แต่เสี่ยงน้อยกว่า หรือต้องการสภาพคล่องในการขายคืน หรือซื้อแล้วถือไว้ระยะยาว เพื่อจะได้เลือกกองทุนรวมได้ตรงตามเป้าหมาย
4. พิจารณาสภาพคล่องในการซื้อขาย ราคาซื้อขายหน่วยลงทุนเป็นเท่าใด สามารถซื้อขายผ่านช่องทางใดบ้าง รวมทั้งอายุของกองทุนรวมตรงกับความต้องการใช้เงินในอนาคตหรือไม่
5. ต้องเข้าใจว่ากองทุนรวมที่มีความหลากหลาย จะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าการลงทุนประเภทเดียว แต่หากผู้ลงทุนมีความรู้ความชำนาญในหลักทรัพย์เฉพาะกลุ่ม ก็อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเฉพาะหลักทรัพย์นั้นก็ได้ เช่น หุ้นกลุ่มพลังงาน อสังหาริมทรัพย์
6. ดูทิศทางเศรษฐกิจในขณะนั้นด้วยว่าเหมาะสมกับการลงทุนหรือไม่ เพราะสภาวะเศรษฐกิจมีผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนประเภทต่าง ๆ
7. หากมีข้อสงสัยให้ขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากตัวแทนจำหน่ายนั้น
แล้วจะลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไหนดีล่ะ ?
เมื่อเลือกประเภทการลงทุนได้แล้ว ก็ถึงเวลาต้องเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซึ่งในประเทศไทยมี บลจ. อยู่หลายแห่ง แต่ละแห่งก็มีส่วนที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น หลัก ๆ แล้วเราต้องพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
1. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กำหนดไว้ และ กลต. ยังต้องดำเนินการเข้าตรวจสอบคุณสมบัติและระบบการปฏิบัติงานนั้นอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา เพื่อนักลงทุนจะสามารถมั่นใจได้
2. พิจารณาว่าบริการที่ บลจ. นั้นเสนอให้มีอะไรบ้าง เช่น มีการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตให้ผู้ลงทุนได้รับความสะดวกหรือไม่ มีการจัดสัมมนาให้ผู้ลงทุน มีคอลเซ็นเตอร์ให้โทรศัพท์สอบถามข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง หรือไม่เสียค่าใช้จ่าย ฯลฯ
3. ช่องทางการติดต่อ บลจ. นั้นมีมากแค่ไหน เช่น นอกจากประกาศราคาซื้อขายทางหนังสือพิมพ์แล้ว ยังมีการประกาศผ่านทางอินเทอร์เน็ตด้วยหรือไม่ ทำให้เราได้รับความสะดวกมากน้อยแค่ไหน
4. พิจารณาคุณภาพ และความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการบริหารจัดการการลงทุนนั้น ว่าผู้ที่ให้ข้อมูลเรามีความรู้ความเข้าใจมากแค่ไหน ติดตามภาวะการลงทุนอย่างต่อเนื่องหรือไม่
5. วิเคราะห์ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมนั้นว่า ที่ผ่านมากองทุนรวมนั้นให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนมากหรือน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของกลุ่มกองทุนรวมประเภทนั้น ต้องพยายามมองหากองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้น้ำหนักกับผลการดำเนินงานในอดีตมากนัก เพราะมิได้เป็นหลักประกันว่า กองทุนรวมนั้น ๆ จะให้ผลตอบแทนในอนาคตในลักษณะเดียวกันกับที่ผ่านมา เป็นเพียงแต่ข้อมูลสถิติให้ผู้ลงทุนได้นำไปใช้อ้างอิงประกอบการพิจารณาเท่านั้น เพราะต้องเข้าใจว่า บางช่วงกองทุนรวมหนึ่งอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม แต่ในบางช่วงอาจจะมีผลตอบแทนที่ย่ำแย่ได้ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ภาวะตลาด ภาวะดอกเบี้ย ฯลฯ ดังนั้น ควรดูผลตอบแทนในหลาย ๆ ช่วง เช่น ในรอบ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี เพื่อจะได้เห็นข้อมูลทั้งในช่วงที่อยู่ในภาวะปกติ และไม่ปกติ
จะซื้อขายหน่วยลงทุนอย่างไร ?
เมื่อเลือกกองทุนรวม และ บลจ. ได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะควักเงินออกมาซื้อขายหน่วยลงทุนกันแล้วล่ะ แต่จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ลองมาดูกัน
1. ติดต่อเจ้าหน้าที่การตลาดของ บลจ. หรือติดต่อไปยังผู้ทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุน ณ บริษัทนั้น เพื่อขอข้อมูลและหนังสือชี้ชวนมาศึกษาพิจารณาเองก่อนลงทุน หรือจะขอคำแนะนำแบบเฉพาะเจาะจงจากผู้ทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุนระดับหนึ่ง เพิ่มเติมด้วยก็ได้
2. เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ให้ติดต่อกับ บลจ. นั้นเพื่อเปิดบัญชี ด้วยการกรอกเอกสารคำขอเปิดบัญชีกองทุนรวม และคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน โดยต้องเตรียมหลักฐานไปยื่นประกอบด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเอกสารหลักฐานจะได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เงินสด สมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เพื่อใช้สำหรับรับเงินค่าขายกองทุน และเงินปันผล) ฯลฯ
3. ชำระเงินลงทุนในจำนวนที่เรากำหนดไว้
4. บลจ. จะออกหลักฐานยืนยันการลงทุนให้ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ
แบบ "สมุดบัญชีแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน" ลักษณะเหมือนกับสมุดบัญชีเงินฝาก หากจะขายคืนหน่วยลงทุนต้องนำสมุดนี้ติดตัวไปทำรายการด้วย ยกเว้นการซื้อหน่วยลงทุน ไม่จำเป็นต้องถือสมุดบัญชีฯ ไป
แบบไม่ใช้ "สมุดบัญชีแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน" ซึ่งบาง บลจ. อาจไม่มีการออกสมุดบัญชีฯ ให้ แต่จะออกเป็นหนังสือแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนนั้นแทน โดยส่งให้ทางไปรษณีย์ในภายหลัง ทั้งนี้ หากจะซื้อขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม ไม่จำเป็นต้องถือเอกสารนี้ไปด้วย เพียงแค่กรอกแบบฟอร์มซื้อขายก็ทำรายการได้แล้ว และเมื่อมีการทำรายการเพิ่มเติม บลจ. จะส่งหลักฐานเป็นกระดาษมาให้ทางไปรษณีย์
5. จัดเก็บรักษาใบหน่วยลงทุน หรือหนังสือแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนให้ดี อย่าให้สูญหาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการซื้อขายเปลี่ยนมือภายหลัง
เมื่อลงทุนไปแล้ว เราต้องทำอะไรต่ออีกไหม ?
เมื่อเจียดเงินในกระเป๋าเข้าสู่กองทุนรวมไปแล้ว ก็ใช่ว่าจะปล่อยให้ บลจ. ดูแลเงินของเราไปตามมีตามเกิดเสียเพียงฝ่ายเดียว แต่เรายังต้องติดตามในอีกหลาย ๆ เรื่อง เพื่อให้เงินของเราได้ผลตอบแทนกลับมามากที่สุด นั่นก็คือ
1. ติดตามมูลค่าหน่วยลงทุนสุทธิ (Net Asset Value) หรือ NAV อยู่เสมอ ว่าราคาขยับขึ้นลงอย่างไร เพื่อใช้ในการตัดสินใจว่าจะซื้อเพิ่ม หรือขายคืนหน่วยลงทุนนั้น โดยสามารถติดตามได้ทั้งทางเว็บไซต์ ระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ หรือการรายงานผลของ บลจ.
2. ลองคำนวณผลตอบแทนที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของ NAV อย่างคร่าว ๆ เพื่อความถูกต้อง โดยสามารถดูสูตรการคำนวณได้ที่ tsi-thailand.org อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลที่ได้จะเป็นบวก หรือลบ ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า บลจ. นั้นเก่งหรือไม่เก่ง เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาด้วย
3. เปรียบเทียบผลตอบแทนกับตัวชี้วัด (Benchmark) ว่าเอาชนะ Benchmark ได้มากน้อยแค่ไหน เช่น
ถ้าลงทุนกองทุนรวมหุ้นก็ต้องเปรียบเทียบผลตอบแทนกับ SET Index
ถ้าลงทุนกองทุนรวมตลาดเงิน ก็จะต้องเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเฉลี่ย 3 ธนาคาร
ถ้าลงทุนกองทุนที่เกี่ยวกับพันธบัตรก็ต้องเปรียบเทียบกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลนั้น
4. ลองประเมินดูว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมนั้นให้ผลตอบแทนเป็นไปตามที่มุ่งหมายไว้หรือไม่ อย่างไร หากได้ผลตอบแทนไม่ตรงเป้า เราก็มีสิทธิ์พิจารณาปรับเปลี่ยนการลงทุนในกองทุนรวมเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสม
5. ติดตามข่าวสารสภาวะทางเศรษฐกิจ การตลาด ฯลฯ อยู่เสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้กระทบต่อการลงทุนของเรา
6. หากจะขายกองทุนให้นำหลักฐาน เช่น สมุดกองทุน บัตรประจำตัวประชาชน ไปทำธุรกรรมด้วยตัวเองที่ บลจ. นั้น แต่ถ้าสมัครซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ก็สามารถเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อทำธุรกรมได้เลย
หลังจากได้ลองอ่านดูแล้ว เห็นไหมว่าการลงทุนในกองทุนรวมไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่ถ้ามือใหม่คนไหนยังไม่แน่ใจจะลองลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อยก่อน เพื่อความอุ่นใจก็ได้เช่นกัน ควบคู่ไปกับการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ เราก็สามารถลงทุนกองทุนรวมได้อย่างมั่นใจแล้ว
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน, thaimutualfund.com, morningstarthailand.com