ภาษีครึ่งปี... มนุษย์เงินเดือน-ยูทูบเบอร์-ขายของออนไลน์ เช็กหน่อยใครต้องยื่น ภ.ง.ด.94 บ้าง

          ภาษีครึ่งปี ใครขายของออนไลน์ เป็นยูทูบเบอร์ ทำธุรกิจส่วนตัว ขายกองทุน LTF-RMF หรือมีรายได้อื่น ๆ นอกจากเงินเดือนในช่วงครึ่งปีแรก ต้องยื่น ภ.ง.ด.94 ด้วยนะ

ภาษีครึ่งปี

          หลายคนคงจะคุ้นเคยกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91) ซึ่งจะยื่นในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ของปีถัดไป เป็นอย่างดี แต่มีใครรู้ไหมว่าสำหรับคนที่มีรายได้จากทางอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือนประจำ ยังต้องมีการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี หรือ ภ.ง.ด.94 อีกด้วยนะ คงจะสงสัยแล้วสิว่า แบบนี้เราต้องยื่นภาษีครึ่งปีด้วยหรือเปล่า แล้วใครบ้างที่มีหน้าที่ต้องยื่น วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปคลายข้อสงสัย และทำความรู้จักกับภาษีครึ่งปีกัน  
 

ใครต้องยื่นภาษีครึ่งปีบ้าง

 
          การยื่นภาษีครึ่งปีจะทำได้ก็ต่อเมื่อเรามีรายได้เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก คือ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึง 30 มิถุนายน ของปีนั้น ๆ เกินกว่าอัตราที่กำหนดคือ

          - กรณีโสด มีรายได้ครึ่งปีมากกว่า 60,000 บาท

          - กรณีมีคู่สมรส ต้องมีรายได้รวมกันมากกว่า 120,000 บาท

          และที่สำคัญก็คือต้องเป็นรายได้ที่มาจากเงินได้ประเภทที่ 5, 6, 7 และ 8 ตามประมวลรัษฎากร จึงเข้าข่ายต้องยื่นภาษีครึ่งปี 
 

รายได้ประเภทไหนต้องยื่นภาษีครึ่งปี


ค่าเช่า (เงินได้ประเภทที่ 5)


          คือ รายได้ที่มาจากการปล่อยเช่าทรัพย์สินทุกประเภทที่เรามี ไม่ว่าเป็นบ้าน ที่ดิน หรือรถยนต์ หรือถ้านำทรัพย์สินของคนอื่นมาปล่อยเช่าต่อก็ถือว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 5 เช่นกัน  
 
          ทั้งนี้ สามารถนำรายได้จากค่าเช่ามาหักค่าใช้จ่ายได้ คือ
          - ค่าเช่าบ้าน อาคาร ตึก สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น แพ : หักค่าใช้จ่ายได้ 30% หรือหักตามจริง
          - ค่าเช่าที่ดินที่ใช้ในการทำเกษตรกรรม : หักค่าใช้จ่ายได้ 20% หรือหักตามจริง
          - ค่าเช่าที่ดินที่ไม่ใช้ในการทำเกษตรกรรม : หักค่าใช้จ่ายได้ 15% หรือหักตามจริง
          - ค่าเช่ายานพาหนะ : หักค่าใช้จ่ายได้ 30% หรือหักตามจริง
          - ค่าเช่าทรัพย์สินอื่น ๆ : หักค่าใช้จ่ายได้ 10% หรือหักตามจริง

ค่าวิชาชีพอิสระ (เงินได้ประเภทที่ 6)


          อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะว่า "วิชาชีพอิสระ" คือคนที่ทำฟรีแลนซ์ แต่วิชาชีพอิสระ ประกอบด้วย 6 สาขานี้เท่านั้น ได้แก่ แพทย์/พยาบาลที่มีใบประกอบโรคศิลปะ, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์ โดยเงินได้ที่ต้องยื่นภาษี จะอยู่ในรูปของค่าตอบแทนจากการประกอบวิชาชีพอิสระที่มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณหรือความยากง่าย หรือสรุปง่าย ๆ คือเป็นรายได้อื่น ๆ ที่เกิดจากการใช้ความรู้ในวิชาชีพ และไม่ใช่เงินเดือนประจำนั่นเอง

          เหตุผลที่ต้องเป็น 6 วิชาชีพอิสระนี้ เนื่องจากเป็นการจ่ายตามความยากง่ายของผลงานที่รับจ้าง ไม่เหมือนเงินเดือนทั่วไป โดยแต่ละวิชาชีพสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้

          - แพทย์ประกอบโรคศิลปะ : หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือหักตามจริง
          - นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์ : หักค่าใช้จ่ายได้ 30% หรือหักตามจริง

ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ (เงินได้ประเภทที่ 7)


          เป็นรายได้ที่มาจากการว่าจ้างรับเหมาที่เราต้องเป็นผู้จัดหาทั้งแรงงาน เครื่องมือ และวัสดุต่าง ๆ เองทั้งหมด ตามแบบที่ลูกค้าสั่ง จะหักได้ 60% หรือตามจริง แต่ถ้ามีการรับเหมาแค่ค่าแรง แล้วลูกค้าเป็นคนซื้อวัสดุเองจะไม่ใช่เงินได้ประเภทที่ 7 แต่จะไปเข้าข่ายเงินได้ประเภท 2 ที่เป็นค่าจ้างทั่วไปแทน หรือหากรับเหมาในรูปแบบธุรกิจและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการสูง จะอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8

เงินได้จากการทำธุรกิจและเงินได้อื่น ๆ ที่ไม่เข้าพวก (เงินได้ประเภทที่ 8)

         
ขายของออนไลน์

          คือ เงินได้ที่มาจากการทำธุรกิจ และเงินได้ที่ไม่เข้ากลุ่มไหนเลยในเงินได้ทั้ง 7 ประเภท เช่น
            - เงินที่ได้มาจากการประกอบธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา เช่น เปิดร้านขายอาหาร ร้านขายของ ร้านตัดผม หรือขายของออนไลน์ เป็นยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ สตรีมเมอร์
            - รายได้จากการเป็นนักร้อง นักแสดง ดารา
            - รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดก
            - เงินปันผลที่ได้จากกองทุนรวม
            - เงินที่ขายกองทุนรวม LTF หรือ RMF เช่น ถ้าขายกองทุน LTF หรือ RMF ไปในช่วงเดือมกราคม-มิถุนายน หากจำนวนเงินที่ได้รับเกินเกณฑ์ที่กำหนดก็ต้องยื่นภาษีด้วยเช่นกัน แม้ว่าการขาย LTF หรือ RMF จะถูกเงื่อนไข

          โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ดังนี้

          - นักแสดงสาธารณะ : เงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท หัก 60% แต่ถ้าเงินได้เกิน 300,000 บาท หัก 40% และรวมหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ไม่เกิน 600,000 บาท

          - ร้านอาหาร การทำเกษตรกรรม ขนส่ง การทำอุตสาหกรรม การทำพาณิชย์ ขายของออนไลน์ และรายได้อื่น ๆ : หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือหักตามจริง

           ตรวจสอบเงินได้ประเภทที่ 5-8 ที่ต้องยื่น ภ.ง.ด.94 อย่างละเอียดที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร 

          ส่วนใครที่มีเงินได้ที่มาจากทางอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินได้ 4 ประเภทที่บอกมานั้น ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าจ้างทั่วไป ค่าลิขสิทธิ์ ดอกเบี้ยและเงินปันผล แม้จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกก็ตาม สบายใจได้เพราะไม่ต้องมีหน้าที่ไปยื่นภาษีครึ่งปีให้ยุ่งยาก รอยื่นทีเดียวได้ตอนปลายปีเลย

ยื่นภาษีครึ่งปี 2567 ได้ถึงเมื่อไร


          โดยปกติแล้ว ภาษีครึ่งปีจะเปิดให้ยื่นวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน ของทุกปี แต่หากยื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จะขยายระยะเวลาออกไปอีก 8 วัน

ภาษี

ลดหย่อนภาษีครึ่งปีได้หรือไม่


          เป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ สำหรับการยื่นภาษี นั่นคือ "ค่าลดหย่อน" เพราะเป็นสิทธิประโยชน์ที่ช่วยทำให้เราเสียภาษีน้อยลง หรืออาจจะไม่ต้องเสียเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นเรามาดูกันดีกว่ามีรายการอะไรบ้างที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีได้ ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในช่วงครึ่งปี สามารถแบ่งรูปแบบการลดหย่อนภาษีให้เข้าใจง่าย ๆ ได้เป็น 3 กลุ่มตามนี้
 
          1. กลุ่มที่ลดหย่อนได้ครึ่งเดียวของการใช้สิทธิเต็มปี

          - ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ลดหย่อนได้ 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)

          - คู่สมรสไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้เฉพาะมาตรา 40 (1)-(4) ลดหย่อนได้ 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)

          - คู่สมรสมีเงินได้ มาตรา 40 (5)-(8) ถ้าคำนวณภาษีรวมกัน นำไปหักลดหย่อนส่วนตัวได้ 30,000 บาท และหักลดหย่อนคู่สมรสของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท แต่ถ้าแยกกันยื่นภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนส่วนตัวฝ่ายละ 30,000 บาท แต่จะหักลดหย่อนส่วนของคู่สมรสอีกไม่ได้

          - ค่าเลี้ยงดูบุตร ได้คนละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท)

          - ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา ได้คนละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท)

          - ค่าเลี้ยงดูบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ได้คนละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท)

          - ค่าเลี้ยงดูผู้พิการหรือทุพพลภาพ ได้คนละ 30,000 บาท (เต็มปี 60,000 บาท)
 
          2. ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยอดลดหย่อนสูงสุดจะน้อยกว่าแบบเต็มปี

          กลุ่มนี้จะเป็นการลดหย่อนโดยใช้เบี้ยประกันชีวิต และลดหย่อนจากดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนสามารถใช้สิทธิได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 95,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าแบบเต็มปีที่ลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท
 
          3. ลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงในช่วงครึ่งปีแรก และยอดลดหย่อนสูงสุดเท่ากับแบบเต็มปี

          - ซื้อกองทุนรวม SSF ได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีช่วงครึ่งปีแรก และไม่เกิน 200,000 บาท

          - ซื้อกองทุน RMF, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีช่วงครึ่งปีแรก และไม่เกิน 500,000 บาท

          - เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีช่วงครึ่งปีแรก และไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับเงินลงทุนใน RMF, เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

          - เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท

          - เงินประกันสังคม ได้ตามที่จ่ายจริง

          - เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน

          - เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อ

ยื่นภาษีออนไลน์ ภาษีครึ่งปี 2567 ได้อย่างไร


         สามารถยื่นภาษีครึ่งปีผ่านออนไลน์ได้ โดย

          - เข้าเว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ ของกรมสรรพากร 
          - ล็อกอินเข้าสู่ระบบ หรือสมัครสมาชิกเพื่อเข้าสู่ระบบ 
          - เลือกยื่นแบบ ภ.ง.ด.94
          - กรอกข้อมูลรายได้ รวมทั้งค่าลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ที่เรามี
          - ตรวจสอบข้อมูลภาษีที่จ่ายไปแล้ว หรือต้องชำระเพิ่ม
          - กดบันทึกร่าง
          - กดยืนยันการยื่นแบบ

          ทั้งนี้ การยื่นภาษีครึ่งปีผ่านออนไลน์จะใช้วิธีเดียวกับการยื่นภาษีประจำปี ซึ่งสามารถศึกษาขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์ทั้งหมดได้ที่นี่ >> ขั้นตอนยื่นภาษีออนไลน์ ง่าย ๆ มือใหม่ก็ทำได้ 

ยื่นภาษีครึ่งปีแล้ว ต้องยื่นภาษีปลายปีอีกไหม


          แม้ว่าเราจะได้ยื่นภาษีครึ่งปีกันไปแล้ว แต่เมื่อถึงเวลายื่นภาษีประจำปีในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ก็ยังคงต้องมีหน้าที่ไปยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ส่วนบุคคลประจำปีเหมือนเดิม โดยจะเป็นการสรุปเงินได้ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ไม่ใช่ยื่นแค่เงินได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนะ ดูขั้นตอนการยื่นภาษีส่วนบุคคลได้ที่นี่
 
          โดยเราจะต้องนำรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนภาษีของทั้งปีมายื่นในแบบ ภ.ง.ด.90 อีกครั้ง ส่วนภาษีที่จ่ายไปแล้วในช่วงครึ่งปี ก็ให้นำมาแสดงอีกครั้งด้วย กรมสรรพากรจะได้รู้ว่าเราเสียภาษีไปเท่าไรแล้ว เพราะเราสามารถนำภาษีที่เสียไปแล้วมาเป็นเครดิตออกจากภาษีสิ้นปีได้ด้วย
 
          ยกตัวอย่างเช่น เราได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีไปแล้ว 10,000 บาท พอสิ้นปีมาคำนวณภาษีใหม่ได้จำนวน 15,000 บาท เราก็จ่ายส่วนต่างภาษีที่เพิ่มขึ้นอีก 5,000 บาท นั่นเอง
 
          แต่ถ้าเป็นกรณีที่เราคำนวณภาษีทั้งหมดทั้งปีได้แค่ 5,000 บาท แต่จ่ายตอนครึ่งปีไปแล้ว 10,000 บาท ก็สามารถขอเงิน 5,000 บาท ที่ชำระภาระเกินไว้ได้เหมือนกัน

 

ภาษีครึ่งปี 2567 ไม่ยื่นได้ไหม


          สำหรับใครที่เข้าเกณฑ์ต้องยื่นภาษีครึ่งปี ถ้าถามว่าไม่ขอยื่นได้ไหม ไปยื่นตอนสิ้นปีครั้งเดียวเลยได้หรือเปล่า ต้องบอกตรง ๆ เลยว่า "ไม่ได้" ซึ่งหากกรมสรรพากรตรวจพบว่าไม่ชำระภาษี จะมีบทลงโทษเป็นเงินส่วนเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ค้างจ่าย (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) และโทษปรับอีกไม่เกิน 2,000 บาท อีกด้วย

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2567


          อัตราการเสียภาษีบุคคลธรรมดาปี 2567 หากเรามีเงินได้สุทธิต่อปีไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่หากมีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 บาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษีตามขั้นบันไดที่อัตรา 5% จนถึง 35% ตามนี้
 
ภาษีครึ่งปี


          สรุปแล้วจะเห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีรายได้ แล้วต้องยื่นภาษีครึ่งปีกันหมด เพราะกฎหมายกำหนดไว้ให้เฉพาะคนที่มีรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนด และต้องเป็นเงินได้ประเภท 5, 6, 7, 8 เท่านั้น หากใครที่เข้าข่ายแต่ยังไม่ได้ดำเนินการก็รีบไปยื่นได้เลย ส่วนใครที่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องยื่นภาษีครึ่งปีหรือเปล่า หรืออยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ กรมสรรพากร โทร. 1161


อ่านเพิ่มเติม ยื่นภาษี 2567  


บทความที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

          - ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นมีวิธีคำนวณอย่างไร มาดูกันเลย
          - เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี เช็กเลย...ถ้ามีรายได้เท่านี้ ต้องเสียภาษีกี่บาท   
          - 6 วิธีขอคืนภาษี  แบบได้รับเงินเร็วทันใจ ไม่ต้องรอนาน       
          - 10 ขั้นตอนง่าย ๆ ยื่นภาษีออนไลน์ มือใหม่ทำตามได้             
          - ขายของออนไลน์เสียภาษีอย่างไร ? วิธีคำนวณง่าย ๆ ก่อนยื่นภาษี        
          - แยกยื่นภาษีสามี-ภรรยา VS รวมยื่น แบบไหนเหมาะกับใคร        
          - หักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว จะต้องยื่นคำนวณภาษีอีกไหม       
          - ยื่นภาษีผิดทำไงดี ไม่ต้องตกใจไป แค่ยื่นใหม่ก็จบแล้ว !        
          - ผ่อนภาษี ได้ 3 งวด ทางเลือกง่าย ๆ ของคนจ่ายภาษี       

 


ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร, กรมสรรพากร 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาษีครึ่งปี... มนุษย์เงินเดือน-ยูทูบเบอร์-ขายของออนไลน์ เช็กหน่อยใครต้องยื่น ภ.ง.ด.94 บ้าง อัปเดตล่าสุด 9 ตุลาคม 2567 เวลา 11:54:51 289,568 อ่าน
TOP
x close