ไม่ยื่นภาษีได้ไหม จะมีผลอย่างไร ทำไมสรรพากรถึงรู้ว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ ?

          ถ้าไม่ยื่นภาษีจะมีผลอย่างไร มีโทษอะไรบ้าง หรือจะโดนย้อนหลังกี่ปี นี่อาจไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิด
ถ้าไม่ยื่นภาษี จะมีผลอย่างไร

          ไม่ยื่นภาษีได้ไหม ? หลายคนอาจเคยสงสัยเรื่องนี้ เพราะตัวเองอาจไม่เคยยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาก่อนเลย ด้วยความไม่รู้ หรือมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ หรือด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ดังนั้น เราจะมาไล่เรียงกันทีละประเด็น เช่น มีรายได้เท่าไรถึงต้องยื่นภาษี ถ้าไม่ยื่นภาษีจะมีผลอย่างไร โดนย้อนหลังไหม แล้วกรมสรรพากรมีวิธีตรวจสอบรายได้ของเราจากทางไหนได้บ้าง ใครคิดว่ากรมสรรพากรไม่มีทางรู้ คงต้องคิดใหม่เสียแล้ว

รายได้เท่าไรต้องยื่นภาษีเงินได้ฯ 

          หลักเกณฑ์การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากำหนดไว้ตามรายได้ดังนี้

คนโสด

  • ถ้ามีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท/ปี
  • ถ้ามีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท/ปี
  • กรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท/ปี

คนมีคู่

  • ถ้ามีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 220,000 บาท/ปี
  • ถ้ามีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท/ปี
  • กรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท
          อย่างไรก็ตาม การยื่นภาษีไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษีเสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่สามารถนำมาหักลดหย่อนจนไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีก็ได้

สรรพากรรู้รายได้ของเราได้ยังไง

ไม่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

          บางคนอาจคิดว่าถ้าเราไม่ยื่นภาษี ทางกรมสรรพากรก็คงไม่ทราบว่าเรามีรายได้เท่าไร แต่จริง ๆ แล้วกรมสรรพากรมีหลายช่องทางในการรับรู้รายได้ของเรา เช่น

1. ตรวจสอบจากข้อมูลใบ 50 ทวิ

          หรือหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ที่นายจ้าง ลูกค้าที่จ่ายค่าบริการ ให้เราต้องยื่นข้อมูลหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กรมสรรพากร

2. ตรวจสอบข้อมูลจากธนาคาร

          ธนาคารจะรายงานข้อมูลธุรกรรมทางการเงินบางประเภทให้กรมสรรพากร เช่น 
  • กรณีทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีเกิน 3,000 ครั้ง/ปี ต่อธนาคาร โดยไม่ต้องดูว่ามีมูลค่าเท่าไร
  • กรณีทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีเกิน 400 ครั้ง/ปี ต่อธนาคาร และมียอดเงินรวมตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป
  • หักภาษี ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคาร หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับเกิน 20,000 บาท/ปี รวมทุกธนาคาร

3. ตรวจสอบข้อมูลจากการลงทุน

          การลงทุนส่วนใหญ่จะหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้เมื่อต้องจ่ายผลประโยชน์ให้เรา เช่น เงินปันผลจากการลงทุนหุ้น กองทุนรวม รวมถึงดอกเบี้ยจากหุ้นกู้ พันธบัตรออมทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่จะถูกส่งให้กรมสรรพากร

4. ใช้ระบบ Big Data Analytics

          เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ นำมาเชื่อมโยงกันในการคัดกรองว่ารายได้และภาษีตรงกับความเป็นจริงไหม ใครเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงเลี่ยงภาษี
สรรพากรรู้รายได้ของเราได้อย่างไร

5. ใช้ระบบ Web Scraping ดึงข้อมูลจากเว็บไซต์

          ใช้สำหรับตรวจสอบกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ที่ขายสินค้าผ่านระบบ e-Commerce ต่าง ๆ เช่น Shopee, Lazada, TikTok ว่ามียอดซื้อ-ขายเท่าไร ได้รับค่านายหน้าหรือถูกหักค่าบริการเท่าไร ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็จะระบุข้อมูลการจ่ายเงินให้เราไว้ในใบกำกับภาษี ซึ่งต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรด้วยอีกทาง

6. สุ่มตรวจเอง

          เจ้าหน้าที่สรรพากรในพื้นที่ต่าง ๆ อาจลงพื้นที่ไปยังห้างร้านหรือร้านค้าริมทาง รวมถึงการตรวจสอบจากช่องทางออนไลน์ เช่น คนที่โพสต์เฟซบุ๊กหรือไลฟ์ขายของได้เยอะ หรือโชว์เงินว่ามีรายได้เยอะ แต่ไม่เคยมีข้อมูลการเสียภาษีมาก่อน หรือยื่นภาษีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ก็อาจถูกเรียกพบเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม

7. การเข้าร่วมโครงการของรัฐ

          เช่น ร้านค้าที่รับบัตรคนจน หรือโครงการในอดีตอย่างคนละครึ่ง เราชนะ ฯลฯ จะมีการบันทึกยอดขายต่าง ๆ ไว้ในระบบ

8. ได้รับการแจ้งเบาะแสมาโดยตรง

          หากใครพบเห็นการหลีกเลี่ยงภาษีก็สามารถแจ้งไปยังกรมสรรพากรได้ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร
แจ้งเลี่ยงภาษี

ภาพจาก : กรมสรรพากร

 ไม่ยื่นภาษีได้ไหม จะมีผลอย่างไร

          โดยทั่วไปแล้วคนที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 แม้รายได้ของเราอาจไม่ถึงขั้นที่ต้องเสียภาษีก็ตามก็ยังควรต้องยื่นภาษีตามขั้นตอน
          ทั้งนี้ หากยื่นภาษีแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพากรจะต้องยื่นภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี แต่ถ้ายื่นภาษีออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจะขยายเวลาออกไปอีก 8 วัน (ไม่นับวันหยุดราชการ)
          ดังนั้น ในการยื่นภาษี 2567 เราสามารถยื่นภาษีแบบกระดาษได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 และยื่นภาษีออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2568

ไม่ยื่นภาษีเจอโทษอะไรบ้าง ปรับเท่าไร

ไม่จ่ายภาษีโทษยังไง

          หากเราลืมยื่นภาษี หรือถูกกรมสรรพากรตรวจพบว่าไม่ได้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือเสียภาษีไม่ครบ จะมีโทษดังนี้

1. ยื่นแบบทัน แต่เสียภาษีไม่ครบ (เสียภาษีต่ำกว่าจำนวนที่ต้องจ่ายจริง)

  • เบี้ยปรับ 0.5-1 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ
  • เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องชำระ โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน)

2. ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 หรือยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา

  • มีโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
  • กรณีมีภาษีที่ต้องจ่าย ให้ชำระเงินภาษีพร้อมเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องชำระ โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน)

3. เจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียกและพบว่าไม่ได้ยื่นแบบฯ หรือยื่นแบบแต่ชำระภาษีต่ำไป

  • โทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท (กรณีไม่ได้ยื่นแบบฯ)
  • เบี้ยปรับ 1 เท่า หรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ
  • เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องชำระ โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน)

4. เจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียกและพบว่าเจตนาไม่ยื่นแบบฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี

  • โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • เบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ
  • เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องชำระ โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน)

5. จงใจแจ้งข้อความเท็จ/แสดงหลักฐานเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี

  • โทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี
  • โทษปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

ไม่เคยยื่นภาษีเลย จะโดนย้อนหลังไหม 

ไม่เคยยื่นภาษีจะโดนย้อนหลังไหม

          การไม่เคยยื่นภาษีอาจทำให้ถูกตรวจสอบย้อนหลังได้ โดยกรมสรรพากรมีอำนาจในการตรวจสอบย้อนหลังตามระยะเวลาดังนี้
  • ไม่เคยยื่นภาษีเลย : กรมสรรพากรมีสิทธิ์ตรวจสอบย้อนหลังได้สูงสุด 10 ปี
  • คนที่เคยยื่นภาษีมาก่อน : กรมสรรพากรมีสิทธิ์ตรวจสอบย้อนหลังได้ 2 ปี และอาจขยายได้ถึง 5 ปี ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงภาษี
          จะเห็นว่าการไม่ยื่นภาษี นอกจากต้องเสียภาษีย้อนหลังแล้ว ยังต้องเสียเบี้ยปรับและเสียเงินเพิ่ม หรืออาจถูกดำเนินคดีทางอาญาได้อีก อย่างที่เห็นข่าวอินฟลูเอนเซอร์หรือแม่ค้าออนไลน์หลายคนโดนภาษีย้อนหลังจนอ่วม ดังนั้น ถ้าตัวเองมีรายได้ควรรีบยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือหากไม่แน่ใจว่าต้องยื่นภาษีอย่างไร สามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่ หรือโทร. 1161 สอบถามกรมสรรพากรโดยตรงได้เลย

บทความที่เกี่ยวข้องกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร (1), (2), (3)
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไม่ยื่นภาษีได้ไหม จะมีผลอย่างไร ทำไมสรรพากรถึงรู้ว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ ? อัปเดตล่าสุด 26 มีนาคม 2568 เวลา 09:17:31 3,420 อ่าน
TOP
x close