เบี้ยผู้สูงอายุ ลงทะเบียนรอบใหม่วันไหน ถ้าอยากสมัครต้องทำอย่างไรบ้าง มาเช็กเงื่อนไขและคุณสมบัติก่อนไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีการเปิดลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรอบใหม่ เพื่อให้ผู้ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามเกณฑ์เงื่อนไข หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เคยลงทะเบียน ได้มาสมัครรับเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นสวัสดิการจากภาครัฐที่ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องรายได้ ดังนั้น คนที่มีประกันสังคม หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็สามารถรับเบี้ยผู้สูงอายุได้
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมีคำถามเกี่ยวกับการรับเบี้ยผู้สูงอายุ ได้เงินเท่าไหร่ ถ้าลงทะเบียนวันนี้จะได้รับเงินตอนไหน เราจึงรวบรวมข้อมูลมาบอกกัน
เบี้ยผู้สูงอายุรอบใหม่
ลงทะเบียนเมื่อไหร่
โดยปกติแล้วการเปิดลงทะเบียนเบี้ยผู้สูงอายุจะดำเนินการก่อนล่วงหน้าที่จะถึงปีงบประมาณถัดไป ดังนั้น ในการลงทะเบียนรอบใหม่ครั้งนี้จะเป็นการลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณ 2569 คือ
กรณีมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่เคยลงทะเบียน
- ลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2567 และเดือนมกราคม-กันยายน 2568
- ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนตุลาคม 2568 เป็นต้นไป (ไม่มีการจ่ายย้อนหลัง)
กรณีจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ 2569 (เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2509)
- ลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2567 และเดือนมกราคม-กันยายน 2568
- จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุในเดือนถัดไปจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เช่น เกิดเดือนมีนาคม 2569 ก็จะได้รับเบี้ยยังชีพในเดือนเมษายน 2569 เป็นเดือนแรก
เบี้ยผู้สูงอายุ ใครสมัครได้บ้าง
คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนเบี้ยผู้สูงอายุ
- มีอายุครบหรือมากกว่า 60 ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2569 คือ ต้องเกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2509 (สำหรับผู้ที่ทราบแค่ปีเกิด แต่ไม่ทราบวันเกิด/เดือนเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคม ของปีนั้น ๆ)
- มีสัญชาติไทย
- มีภูมิลำเนาอยู่ในเขต สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามทะเบียนบ้าน
- ไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาก่อน ยกเว้นกรณีเพิ่งย้ายภูมิลำเนามาใหม่ สามารถมาลงทะเบียนใหม่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามทะเบียนบ้านใหม่ได้ เช่น เคยลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ปีนี้ย้ายทะเบียนมาอยู่กรุงเทพมหานคร ก็ให้มาลงทะเบียนใหม่ที่กรุงเทพมหานคร
- ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ อปท. อาทิ เงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ รวมถึงเงินอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐจัดให้เป็นประจำ (ยกเว้นผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์)
เบี้ยผู้สูงอายุ ได้เท่าไหร่
ปัจจุบันการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุยังเป็นขั้นบันไดตามอายุ ดังนี้
- ผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน
- ผู้ที่มีอายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน
- ผู้ที่มีอายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือน
- ผู้ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน
เบี้ยผู้สูงอายุ ลงทะเบียนที่ไหน
ผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขสามารถลงทะเบียนได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามภูมิลำเนาของตัวเอง คือ
- กรุงเทพฯ : สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวัน-เวลาราชการ
- ต่างจังหวัด : สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวัน-เวลาราชการ
เอกสารที่ต้องใช้
ลงทะเบียนผู้สูงอายุ
สำหรับผู้สูงอายุที่เดินทางมาลงทะเบียนเอง
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
- ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่เป็นปัจจุบัน
- สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ พร้อมสำเนา สำหรับกรณีขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร
สำหรับผู้สูงอายุที่มอบอำนาจให้ผู้อื่นมาลงทะเบียนแทน
หากผู้สูงอายุไม่สามารถมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้คนอื่นมายื่นคำขอรับเงินแทนได้ โดยต้องใช้เอกสารดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้สูงอายุ หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
- ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่เป็นปัจจุบัน
- สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ พร้อมสำเนา ของผู้สูงอายุ สำหรับกรณีขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร
- หนังสือมอบอำนาจ (แบบฟอร์มมอบอำนาจขึ้นอยู่กับการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)
- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้รับมอบอำนาจ
หมายเหตุ : สำเนาทุกฉบับต้องลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง หากผู้สูงอายุไม่สามารถเขียนได้ให้พิมพ์ลายมือแทน
ลงทะเบียนแล้วจะได้รับเงินเมื่อไหร่
การลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะเป็นการลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อรับเงินในปีงบประมาณถัดไป ดังนั้น ผู้ที่ลงทะเบียนในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2567 และเดือนมกราคม-กันยายน 2568 จะได้รับเงินตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569 เป็นต้นไป คือช่วงเดือนตุลาคม 2568 - กันยายน 2569 ซึ่งจะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุครั้งแรกในเดือนถัดจากวันที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เช่น
- เกิดวันที่ 2-31 ตุลาคม 2508 จะได้รับเงินครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2568
- เกิดวันที่ 2-31 มกราคม 2509 จะได้รับเงินครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2569
- เกิดวันที่ 2-30 มิถุนายน 2509 จะได้รับเงินครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2569
แต่หากเกิดตรงกับวันที่ 1 ก็จะได้รับเงินในเดือนเกิดนั้นเลย เช่น
- เกิดวันที่ 1 ธันวาคม 2508 จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2568
- เกิดวันที่ 1 เมษายน 2509 จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุครั้งแรกในเดือนเมษายน 2569
- เกิดวันที่ 1 กันยายน 2509 จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุครั้งแรกในเดือนกันยายน 2569
ส่วนผู้สูงอายุที่เกิดก่อนวันที่ 2 ตุลาคม 2508 แต่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน และเพิ่งมาลงทะเบียนครั้งแรกหลังอายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2568 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้สูงอายุที่เคยลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพไว้แล้ว เงินยังคงโอนเข้าตามปกติโดยไม่ต้องไปลงทะเบียนซ้ำอีก ยกเว้นคนที่เพิ่งย้ายที่อยู่อาศัย ให้รีบไปติดต่อสำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอในพื้นที่ใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้าไป เพื่อรับเบี้ยผู้สูงอายุได้อย่างต่อเนื่อง
บทความที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ
- ขอคืนเงินประกันสังคม บำเหน็จ บำนาญชราภาพ ก่อนอายุ 55 ปี ได้ไหม ถ้าตกงาน หรือลาออก ?
- เงินชราภาพ บำเหน็จ-บำนาญประกันสังคม ขอคืนได้เมื่อไหร่ ใครมีสิทธิ์บ้าง ?
- ประกันชีวิตผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ไหนดี มีโรคประจำตัวก็ทำได้ ไม่ต้องตรวจสุขภาพ
- วัยเกษียณทําอะไรดี รวม 20 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงาก็ได้ สร้างรายได้เสริมก็ดี !
ขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กรมกิจการผู้สูงอายุ, กองสวัสดิการสังคม อบต.ทุ่งควายกิน จ.ระยอง, กองสวัสดิการสังคม อบต.โนนรัง