กองทุน Thai ESG กองไหนดี ปี 2566 ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท

           กองทุน ESG หรือ Thai ESG กองทุนรวมลดหย่อนภาษี 2566 สำหรับคนอยากเซฟภาษี มาดูว่ามีกองไหนน่าสนใจบ้าง
กองทุน ESG

          สำหรับคนที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566 คงกำลังมองหาวิธีประหยัดภาษี ซึ่งปีนี้มีตัวช่วยลดหย่อนภาษี 2566 รายการใหม่ นั่นก็คือ กองทุนรวม Thai ESG ที่เพิ่งเสนอขายครั้งแรกในเดือนธันวาคม ใครอยากทราบว่ากองทุนรวมประเภทนี้มีเงื่อนไขอย่างไร ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร แล้วมีกองไหนบ้าง เรารวบรวมข้อมูลมาบอกแล้ว

Thai ESG คืออะไร

Thai ESG คืออะไร

          กองทุน Thai ESG หรือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน คือ กองทุนรวมลดหย่อนภาษีที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ที่เป็น ESG ประกอบด้วย Environment (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ปัจจุบันเป็นเมกะเทรนด์ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจสีเขียวที่คำนึงถึงการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยตระหนักรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น

กองทุน Thai ESG มีเงื่อนไขอย่างไร

          กองทุนรวม Thai ESG มีเงื่อนไขสำคัญดังนี้

  • ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท (วงเงินไม่รวมกับกองทุนรวม SSF RMF หรือกลุ่มลงทุนเพื่อการเกษียณ)

  • ซื้อแล้วต้องลงทุนระยะยาวไม่น้อยกว่า 8 ปี (นับแบบวันชนวัน)  

  • สามารถซื้อหน่วยลงทุนได้ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2575 เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี 2566-2575

ใครเหมาะกับการลงทุน Thai ESG

  • ผู้ที่มีฐานภาษีสูง และต้องการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจากการลงทุนในกองทุนรวม SSF RMF หรือในกลุ่มประกันและการลงทุนเพื่อการเกษียณ

  • ผู้ที่ต้องการลงทุนในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ไทยที่คำนึงถึง ESG เป็นเวลาอย่างน้อย 8 ปี 

  • มีอายุน้อยกว่า 45 ปี และไม่อยากลงทุนในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ไทยนานเกิน 10 ปี 

  • สามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้

วิธีเลือกกองทุนรวม Thai ESG

กองทุน Thai ESG

  • เลือกตามสินทรัพย์ที่ต้องการลงทุน : ปัจจุบันมีทั้งกองตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำที่สุด รองลงมาคือกองทุนรวมผสมที่เป็นการลงทุนระหว่างตราสารหนี้และหุ้น นอกจากนี้ก็ยังมีกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้น โดยมีให้เลือกทั้งแบบเชิงรุก (Active) และเชิงรับ (Passive)  

  • เปรียบเทียบสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตกองทุน : โดยพิจารณาว่ากองทุนรวมที่เราสนใจลงทุนในตราสารหนี้หรือหุ้นในธุรกิจประเภทใดบ้าง มีกลยุทธ์อย่างไร ลงทุนในหุ้นกี่ตัว และมีการกระจายหมวดอุตสาหกรรมมาก-น้อยแค่ไหน เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ต

  • นโยบายการจ่ายปันผล : พิจารณาว่าต้องการรับเงินปันผลระหว่างลงทุนหรือไม่ หากเลือกรับปันผลจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ส่วนกองทุนที่ไม่ปันผลจะใช้ชื่อว่า ชนิดสะสมมูลค่า เมื่อมีกำไรจะไม่จ่ายปันผลออกมา แต่เป็นการนำกำไรกลับเข้าไปลงทุนต่อ เพื่อสร้างพอร์ตให้โตต่อไปอีก

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : กองทุนรวมทุกประเภทจะมีค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการอยู่หลายส่วน โดยหากเป็นกองทุนตราสารหนี้และกองทุนรวมหุ้นแบบเชิงรับ (Passive) จะมีค่าธรรมเนียมถูกที่สุด แต่ถ้าเป็นกองทุนรวมหุ้นแบบเชิงรุก (Active) มักจะมีค่าธรรมเนียมสูงที่สุด 

          ทั้งนี้ กองทุนรวม Thai ESG เสนอขายครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป และมีให้เลือกอยู่หลายกอง วันนี้เรารวบรวมกองทุนรวม Thai ESG แยกตามประเภทสินทรัพย์มาให้พิจารณาบางส่วน

Thai ESG กองทุนรวมตราสารหนี้

กองทุนตราสารหนี้

          เหมาะกับคนที่ต้องการลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ

1. KKP GB THAI ESG กองทุนเปิดเคเคพี พันธบัตรรัฐบาลไทยเพื่อความยั่งยืน

          กองทุนรวมจากเกียรตินาคินภัทร เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐไทยกลุ่มความยั่งยืน เช่น ตราสารเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green bond) ตราสารเพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) ตราสารส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked bond) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 3

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี 

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.1926% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.2461% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารเกียรตินาคินภัทร

Thai ESG กองทุนรวมผสม

           สำหรับคนที่ต้องการลงทุนกระจายในหลายสินทรัพย์ทั้งตราสารหนี้และหุ้น เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน

1. SCBTM (ThaiESG) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ไทยผสมยั่งยืน (ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน)

          กองทุนรวมจากไทยพาณิชย์ที่เน้นลงทุนแบบผสมยืดหยุ่น 0-100% ทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุนของบริษัทที่มี ESG โดดเด่น

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 5

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : กองทุน SCBTM (ThaiESG) จ่ายปันผล แต่หากเป็นกองทุน SCBTM (ThaiESGA) แบบสะสมมูลค่า จะเป็นชนิดที่ไม่จ่ายปันผล

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.61% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.70% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารไทยพาณิชย์

2. KTAG70/30-ThaiESG กองทุนเปิดกรุงไทย ESG A Grade 70/30 (ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน)

         กองทุนเปิดจากหลักทรัพย์กรุงไทย กระจายพอร์ตลงทุนในหุ้นไทยที่มี ESG เรตติ้ง A ขึ้นไป ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 70% ส่วนอีกไม่เกิน 30% จะลงทุนในตราสาร เช่น ตราสารเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green bond) ตราสารเพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 5

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : ไม่กำหนด

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : จ่ายปันผลไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.60% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.78% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.กรุงไทย

3. MFLEX-ThaiESG กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีเฟล็กซีเบิลไทยเพื่อความยั่งยืน

          กองทุนจากเอ็มเอฟซีลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ เงินฝาก และอื่น ๆ โดยเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่ผู้ออกเป็นภาครัฐไทยหรือกิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน (Sustainability Project)

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 5

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 500 บาท 

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.605% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.เอ็มเอฟซี

Thai ESG กองทุนรวมตราสารทุน
แบบ Passive

กองทุนรวม Thai ESG

          กองทุนแบบเชิงรับ (Passive Fund) หรือเรียกว่ากองทุนรวมดัชนี (Index Fund) เน้นสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีอ้างอิงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ราคาจะเคลื่อนไหวไปตามตลาด จึงเป็นกองทุนรวมหุ้นที่มีความเสี่ยงในระดับเดียวกับดัชนี เหมาะกับคนอยากลงทุนระยะยาว

1. ES -SETESG -THAIESG - D กองทุนเปิดอีสท์สปริง SETESG (ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืนจ่ายเงินปันผล)

          กองทุนรวมจาก บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) เน้นลงทุนในหุ้นที่อิงตามดัชนี SETESG Index (SETESG TRI) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : ไม่กำหนด

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : จ่ายปันผลไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.50% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.6821% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม :  บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย)

2. K-TNZ ThaiESG กองทุนเปิดเค Target Net Zero หุ้นไทย ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน

          กองทุนรวม Thai ESG จากกสิกรไทย ลงทุนในหุ้นไทยขนาดใหญ่ในดัชนี SET100 ในบริษัทที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Target Net Zero) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV 

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 500 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.2675% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.4976% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.กสิกรไทย

3. SCBTP (ThaiESGA) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นไทยยั่งยืนพาสซีฟ (ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืนแบบสะสมมูลค่า)

          กองทุนรวมแบบ Passive จากไทยพาณิชย์ เน้นลงทุนในหุ้นไทยที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SETESG TRI ไม่ต่ำกว่า 80% และมุ่งให้กองทุนมีผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.75% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.84% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารไทยพาณิชย์

Thai ESG กองทุนรวมตราสารทุน
แบบ Active

          กองทุนแบบเชิงรุก (Active Fund) เป็นกองทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เหมาะกับคนที่รับความผันผวนได้ดีและหวังผลตอบแทนสูงกว่าดัชนี อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงขาดทุนก็จะสูงกว่า และค่าธรรมเนียมแพงกว่ากองทุนรวมประเภทอื่น

1. B-TOP-THAIESG กองทุนรวมบัวหลวงทศพลไทยเพื่อความยั่งยืน

          กองทุนรวมจาก บลจ.บัวหลวง เลือกลงทุนในหุ้น ESG ที่ผู้จัดการกองทุนคาดหมายว่าจะให้ผลตอบแทนรวมสูงสุด 10 อันดับแรก โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 500 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.6050% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.บัวหลวง

2. KFTHAIESGA กรุงศรีเอ็นแฮนซ์เซ็ทไทยเพื่อความยั่งยืน-ไทยเพื่อความยั่งยืนสะสมมูลค่า

          กองทุนรวมจากกรุงศรีที่ลงทุนให้หุ้น ESG โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ส่วนที่เหลือไม่เกิน 20% อาจลงทุนในโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) ที่ออกตามพระราชกำหนดว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็น green-project token และ/หรือ sustainability-project token และ/หรือ sustainability-linked token

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 500 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.6955% ต่อปี

  • ค่าธรรมเนียมรวม : ปัจจุบันเรียกเก็บ 0.8811% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.กรุงศรี

3. UTSEQ-THAIESG กองทุนเปิด ยูไนเต็ด หุ้นไทย ซัสเทนเนเบิล

          กองทุนรวมจากยูโอบีที่เน้นลงทุนหุ้นในดัชนี SETESG Index ประมาณ 60-80 บริษัท เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV 

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : ไม่กำหนด

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ : ปัจจุบันเรียกเก็บ 1.605% ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.ยูโอบี
           อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยงที่จะขาดทุน ผู้ลงทุนควรศึกษาเงื่อนไขพร้อมทั้งพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ประกอบการตัดสินใจลงทุน

บทความที่เกี่ยวข้องกับลดหย่อนภาษี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กองทุน Thai ESG กองไหนดี ปี 2566 ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท อัปเดตล่าสุด 15 ธันวาคม 2566 เวลา 13:35:01 25,469 อ่าน
TOP
x close