กองทุน SSF ตัวไหนดี 2566 จัดพอร์ตลงทุนพร้อมลดหย่อนภาษีได้ทั้งสายเซฟ สายเสี่ยง

           SSF กองไหนดี ใครกำลังต้องการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อวิธีลดหย่อนภาษี 2566 ตามมาศึกษากัน
กองทุน ssf

           กองทุนเพื่อการออม (Super Savings Fund) หรือ SSF เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยลดหย่อนภาษีสำหรับคนที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566 แต่กองทุน SSF ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่เราต้องรู้ก่อนลงทุน แล้วกองไหนให้ผลตอบแทนน่าสนใจบ้าง เรารวบรวมข้อมูลมาให้พิจารณาแล้ว

SSF คืออะไร

           SSF คือ Super Savings Fund เป็นกองทุนรวมเพื่อการออมที่ลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท เช่น ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนดัชนี ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ มีจุดประสงค์เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยใช้สิทธิได้ตั้งแต่ปี 2563-2567 หลังจากนั้นรัฐบาลจะประเมินผลอีกครั้งว่าจะต่ออายุหรือไม่

SSF มีเงื่อนไขอย่างไร ขายได้เมื่อไหร่

          เงื่อนไขสำคัญของกองทุนรวม SSF มีดังนี้

  • สามารถซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท เช่น ปี 2566 มีเงินได้พึงประเมิน 800,000 บาท เราจะสามารถซื้อกองทุนรวม SSF ได้ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี

  • ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หากปีใดมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ

  • ซื้อแล้วต้องถือครองไว้อย่างน้อย 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ เช่น ซื้อกองทุน SSF วันที่ 12 ธันวาคม 2566 จะครบกำหนด 10 ปี ในวันที่ 12 ธันวาคม 2573  

  • หากขายก่อนครบกำหนด 10 ปี เท่ากับทำผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี จะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นทั้งหมดทันที และต้องจ่ายเงินเพิ่มให้รัฐย้อนหลัง

วิธีเลือกกองทุนรวม SSF

กองทุน ssf ลดหย่อนภาษี

  • เลือกตามความเสี่ยงที่เรารับได้ : ใครอายุยังน้อย รับความเสี่ยงได้สูง และหวังผลตอบแทนสูง อาจเลือกกองทุน SSF ที่ลงทุนในหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทอง แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้ต่ำ กลัวขาดทุน หรือไม่มีความรู้ในการลงทุนมากนัก ก็ควรเลือกกองตลาดเงิน ตราสารหนี้ เป็นต้น แต่ผลตอบแทนก็จะน้อยลงไปด้วย

  • จัดพอร์ตลงทุนให้กระจายกันไป : ไม่จำเป็นต้องเน้นลงทุนในหุ้นไทย ตราสารหนี้ไทยอย่างเดียว อาจเลือกกองทุนที่ลงทุนในหุ้นประเทศต่าง ๆ หรือตราสารหนี้ต่างประเทศบ้าง เพื่อกระจายน้ำหนักของพอร์ต หรือจะเลือกตามธีมการลงทุนก็ได้ เช่น กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสุขภาพ กลุ่ม ESG กลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่มบล็อกเชน เป็นต้น

  • เปรียบเทียบสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตกองทุน : เปรียบเทียบสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตกองทุน : กองทุนรวมแต่ละกองจะนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ต่างกัน เช่น แม้เป็นกองทุนหุ้นไทยเหมือนกัน แต่ย่อมลงทุนในหุ้นไทยคนละตัว อีกทั้งให้น้ำหนักที่หุ้นตัวใดตัวหนึ่งไม่เท่ากันด้วย ซึ่งตรงนี้มีผลต่อกำไร-ขาดทุนของกองทุนนั้น เราควรศึกษาและเปรียบเทียบกองทุนที่เราสนใจว่ามีการลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ มีสัดส่วนการลงทุนเป็นอย่างไร โดยควรเลือกกองทุนที่ลงทุนในกลุ่มที่แตกต่างกันเพื่อกระจายความเสี่ยง

  • นโยบายการจ่ายปันผล : หากเลือกกองทุนแบบจ่ายปันผล เราจะได้เงินปันผลกลับคืนมาบางส่วนในช่วง 10 ปีที่ถือกองทุนอยู่ แต่เงินปันผลนั้นยังต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ส่วนกองทุนที่ไม่จ่ายปันผลก็จะไม่ถูกหักภาษี และมีโอกาสที่ราคากองทุนจะเพิ่มสูงได้มากกว่า เพราะไม่ต้องจ่ายกำไรออกมาให้ผู้ลงทุนทุก ๆ ปี เหมือนกับกองที่มีปันผล

  • พิจารณาผลการดำเนินงานย้อนหลัง : ผลการดำเนินงานจะเป็นเครื่องชี้วัดความสามารถของผู้จัดการกองทุนที่คอยบริหารพอร์ตกองทุนนั้น อย่างไรก็ตาม ผลงานในอดีตไม่ได้การันตีผลตอบแทนในอนาคต

          คราวนี้มาดูกันว่าถ้าอยากซื้อกองทุน SSF จะเลือกกองไหนดี วันนี้รวบรวมตัวอย่างกองทุนรวม SSF ที่ให้ผลตอบแทนน่าสนใจในแต่ละสินทรัพย์มาให้พิจารณา (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2566)

SSF กองทุนรวมตลาดเงิน

กองทุน ssf ตัวไหนดี

          กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) เป็นกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำที่สุด (ระดับ 1-2) เพราะเน้นลงทุนในเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ซึ่งมีความผันผวนต่ำ เหมาะกับคนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง หรือยังไม่แน่ใจว่าจะลงทุนสินทรัพย์ประเภทไหนดี จึงใช้เป็นที่พักเงินในระยะสั้น ๆ เพื่อดูทิศทางของตลาด เนื่องจากซื้อง่ายขายคล่อง

1. KKP MP-SSF กองทุนเปิดเคเคพี มันนี่ โพสิทีฟ ชนิดเพื่อการออม

          KKP MP-SSF จาก บลจ.เกียรตินาคินภัทร เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของภาครัฐในประเทศไทย เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตร ธปท. บัตรเงินฝาก และเงินฝาก

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 1

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 100 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง : 1.47%

  • ผลตอบแทน 3 ปีย้อนหลัง : 0.69%

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารเกียรตินาคินภัทร

2. MMGOVSSF กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี พันธบัตรตลาดเงิน ชนิดเพื่อการออม

          กองทุนจาก บลจ.เอ็มเอฟซี เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของภาครัฐในประเทศ ที่จะครบกำหนดชำระคืนไม่เกิน 397 วัน อาทิ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 1

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 100 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง : 1.22%

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.เอ็มเอฟซี

3. 1AM-DAILY-SSF กองทุนเปิดวรรณเดลี

         กองทุนเปิดวรรณเดลี จาก บลจ.วรรณ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น และตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นที่ได้เรตติ้งระดับ A ขึ้นไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 2

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง : 1.31%

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.วรรณ

SSF กองทุนรวมตราสารหนี้

           กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) เป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ (ระดับ 3-4) มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐและเอกชน เช่น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล เงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นต้น เหมาะกับคนที่ไม่ชอบความเสี่ยง

1. LHSTPLUS-ASSF กองทุนเปิด แอล เอช ตราสารหนี้ระยะสั้น พลัส ชนิดเพื่อการออมและสะสมมูลค่า

          กองทุนรวมตราสารหนี้จาก บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ เงินสดของรัฐหรือเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ โดยลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 79% ของ NAV  

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 4

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : ไม่กำหนด

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง : 1.55%

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

2. KKP ACT FIXED-SSF กองทุนเปิดเคเคพี แอ็กทิฟ ฟิกซ์ อินคัม ชนิดเพื่อการออม

          เน้นลงทุนในตราสารภาครัฐ และตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเอกชน และ/หรือเงินฝาก ทั้งในและต่างประเทศ โดยกองทุนจะลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 79% ของ NAV

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 4

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง : 1.93% 

  • ผลตอบแทน 3 ปีย้อนหลัง : 1.62%

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารเกียรตินาคินภัทร

3. K-FIXEDPLUS-SSF กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ พลัส ชนิดเพื่อการออม

           กองทุนรวมตราสารหนี้จากกสิกรไทย ที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนต่างประเทศ และในจำนวนนี้มีตราสารหนี้กลุ่มตั้งแต่ BB+ ลงมาไม่เกิน 20% ของ NAV

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 4

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 500 บาท 

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง : 1.73% 

  • ผลตอบแทน 3 ปีย้อนหลัง : 0.44%

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.กสิกรไทย

SSF กองทุนรวมผสม

           กองทุนรวมผสม (Mixed Fund) มีความเสี่ยงระดับ 5 เป็นกองทุนที่กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภททั้งตราสารหนี้และหุ้น ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของการลงทุน จึงผันผวนน้อยกว่ากองทุนรวมหุ้น และให้ผลตอบแทนมากกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ในระยะยาว

1. KT-GCINCOME-SSF กองทุนเปิดเคแทม โกลบอล เครดิต อินคัม ฟันด์ ชนิดเพื่อการออม

          กองทุนรวมผสมจาก บลจ.กรุงไทย มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยลงทุนในกองทุน Schroder International Selection Fund Global Credit Income (Class C) เฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV รวมทั้งเงินฝากธนาคารและทรัพย์สินอื่น ๆ

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 5

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : ไม่กำหนด

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : จ่ายเงินปันผล

  • ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง : 2.00%

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.กรุงไทย

2. BCAP-GW75 SSF กองทุนเปิดบีแคป โกลบอล เวลท์ 75 เพื่อการออม

          กองทุนรวมผสมจาก บลจ.บัวหลวง เน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหุ้น สินทรัพย์ทางเลือก กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่เกิน 75% ของ NAV

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 5

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 500 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง : -0.81%

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.บัวหลวง

SSF กองทุนรวมตราสารทุน

กองทุน ssf ตัวไหนดี 2566

          กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) มีระดับความเสี่ยงอยู่ที่ 6-7 เหมาะกับสายเสี่ยงสูงที่ยอมรับความผันผวนของราคาได้ เพื่อแลกกับโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุนประเภทต่าง ๆ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) หน่วยลงทุนของกองทุนรวม โดยมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่า 65%

1. ASP-DIGIBLOC-SSF กองทุนเปิด แอสเซทพลัส ดิจิทัล บล็อกเชน เพื่อการออม

          กองทุนรวมตราสารทุนจาก บลจ.แอสเซท พลัส เน้นลงทุนหุ้นในกลุ่มบริษัทเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชน ผ่านกองทุนรวม VanEck Digital Transformation ETF

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง : 100.86%

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.แอสเซท พลัส

2. TNEXTGEN-SSF กองทุนเปิด ทิสโก้ Next Generation Internet

          กองทุนรวมจาก บลจ.ทิสโก้ เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ ARK Next Generation Internet ETF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธีม Next Generation Internet ที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีจากฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ไปยัง Cloud Computing

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง : 54.24%

ข้อมูลเพิ่มเติม : ธนาคารทิสโก้

3. TLUSNDQ-H-SSF กองทุนเปิดทาลิส หุ้นยูเอส เอ็นดีคิว-เฮดจ์ ชนิดเพื่อการออม

          กองทุน SSF จาก บลจ.ทาลิส ลงทุนในดัชนี NASDAQ ของสหรัฐอเมริกา ผ่านกองทุน Invesco NASDAQ 100 ETF (กองทุนหลัก) และมีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 6

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง : 31.02%

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.ทาลิส

SSF กองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก

           เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่ระดับ 8 เพราะลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาผันผวนสูงมาก เช่น ทองคำ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ ตราสารอนุพันธ์ เป็นต้น รวมทั้งมีความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนหรือการลงทุนในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

1. SCBGOLDH-SSF กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ THB เฮดจ์ (ชนิดเพื่อการออม)

          กองทุนรวมจากไทยพาณิชย์ ลงทุนในทองคำแท่งผ่านหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำต่างประเทศ คือ SPDR Gold Trust และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในสกุลเงินต่างประเทศที่กองทุนถืออยู่เทียบกับสกุลเงินบาท ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนในต่างประเทศ

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 8

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : จ่ายปันผล

  • ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง : 9.13% 

  • ผลตอบแทน 3 ปีย้อนหลัง : 0.83%

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.ไทยพาณิชย์

2. PRINCIPAL iPROPEN-SSF กองทุนเปิดพรินซิเพิล เอ็นแฮนซ์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซ์ อินคัม SSF

          กองทุนรวมจาก บลจ.พรินซิเพิล ที่เน้นลงทุนทั้งในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และ/หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ทั้งในและต่างประเทศ

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : 8

  • จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ : 1,000 บาท

  • นโยบายการจ่ายเงินปันผล : ไม่มี

  • ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง : -4.11% 

  • ผลตอบแทน 3 ปีย้อนหลัง : -3.28%

ข้อมูลเพิ่มเติม : บลจ.พรินซิเพิล
            อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในอดีตไม่การันตีผลตอบแทนในอนาคต ดังนั้น ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจเงื่อนไขต่าง ๆ ตลอดจนความเสี่ยงของกองทุนรวม และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อย่างเต็มที่

บทความที่เกี่ยวข้องกับลดหย่อนภาษี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กองทุน SSF ตัวไหนดี 2566 จัดพอร์ตลงทุนพร้อมลดหย่อนภาษีได้ทั้งสายเซฟ สายเสี่ยง อัปเดตล่าสุด 12 ธันวาคม 2566 เวลา 13:18:54 40,833 อ่าน
TOP
x close