โอนเงินจากต่างประเทศมาไทยแบบไหนดี ต้องทำยังไง มีวิธีไหนบ้าง ?

          ต้องการโอนเงินจากต่างประเทศมาไทย เลือกโอนแบบไหนดี แต่ละวิธีมีข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง หาคำตอบได้ที่นี่เลย
โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย

          สำหรับใครที่ต้องการจะโอนเงินจากต่างประเทศมาไทย ไม่ว่าจะเป็นคนอยู่ต่างประเทศ อยากโอนเงินกลับมาให้คนที่อยู่ไทย หรืออาจต้องการซื้อ-ขายสินค้ากับคนในประเทศไทย แต่ไม่รู้ว่ามีวิธีไหนที่สามารถโอนเงินจากต่างประเทศมาไทยได้บ้าง วันนี้เราจะมาแนะนำช่องทางต่าง ๆ ว่ามีวิธีไหนและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย
ทำยังไง มีวิธีไหนบ้าง

         ในการโอนเงินจากต่างประเทศมาไทยนั้น ส่วนใหญ่จะนิยมอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ คือ โอนผ่านธนาคารกับโอนผ่านบริการอื่น ๆ

โอนเงินผ่านธนาคาร

โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย

          เป็นการโอนเงินข้ามประเทศผ่านธนาคาร ผ่านระบบ SWIFT โดยผู้โอนเงินต้องไปเขียนคำขอการโอน พร้อมเตรียมเอกสารประกอบแล้วยื่นผ่านสาขาของธนาคารนั้น ๆ ในประเทศที่ตัวเองอยู่ หรือบางธนาคารอาจสามารถใช้วิธีส่งคำขอออนไลน์ผ่านหน้าเว็บไซต์หรือผ่านแอปพลิเคชันได้เลย

          ทั้งนี้ ในการโอนเงินจะต้องกรอกชื่อผู้รับโอน เลขที่บัญชี ชื่อธนาคาร และกรอกรหัส SWIFT Code หรือรหัสของธนาคารที่รับโอนด้วย เพื่อให้เจ้าของบัญชีในประเทศไทยรับเงินโอนเข้าบัญชีได้โดยไม่ต้องเปิดบัญชีในต่างประเทศ และในการโอนเงินข้ามประเทศจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับธนาคารที่ใช้บริการ

ข้อดี
  • มีขั้นตอนและการตรวจสอบอย่างละเอียด จึงมีความน่าเชื่อถือสูง ปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงในการโอนเงิน

  • ไม่จำกัดวงเงินการโอนเหมือนกับการโอนเงินผ่านตัวแทน

  • มีการกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมขั้นต่ำและสูงสุดชัดเจน เหมาะกับการโอนเงินจำนวนมาก

ข้อเสีย
  • หากเป็นช่วงที่ธนาคารปิดแล้วหรือตรงกับวันหยุดของธนาคารจะไม่สามารถโอนเงินได้

  • มักต้องใช้เวลาเฉลี่ย 2-5 วันทำการ กว่าเงินจะเข้าบัญชีปลายทาง

  • ผู้โอนเงินต้องมีบัญชีธนาคารที่ต่างประเทศด้วย และผู้รับเงินจำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารที่ประเทศไทยด้วย

  • บางธนาคารไม่สามารถส่งคำขอออนไลน์ได้ จำเป็นต้องเตรียมเอกสารไปยื่นที่สาขา

  • แต่ละธนาคารจะใช้อัตราเงินแลกเปลี่ยนของธนาคารตัวเองเป็นเกณฑ์ ซึ่งเรตมักต่ำกว่าอัตราแลกเปลี่ยนกลาง

  • อาจต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้ง 2 ฝั่ง คือทั้งจากธนาคารต้นทางและธนาคารปลายทาง

  • กรณีโอนเงินเป็นจำนวนไม่มาก ค่าธรรมเนียมอาจสูงกว่าเมื่อเทียบกับการโอนเงินผ่านตัวแทนบริการรับโอนเงิน

  • กรณีรับเงินโอนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากกว่าหรือเท่ากับ 50,000 USD จะต้องยื่นเอกสารประกอบเพิ่มเติม เพื่อยืนยันวัตถุประสงค์การรับเงินโอนตามเกณฑ์ของ ธปท.

โอนเงินผ่านตัวแทนบริการรับโอนเงิน

โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย

           การโอนเงินผ่านตัวแทนผู้ให้บริการอื่น ๆ จะมีข้อดีกว่าการโอนผ่านธนาคารหลายประการ เช่น รองรับสกุลเงินมากกว่า สามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ใช้เวลาในการโอนรวดเร็วกว่า และบางแห่งก็ไม่จำเป็นต้องมีบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยมีให้เลือกใช้ได้หลายบริการ ตัวอย่างเช่น Western Union, PayPal, MoneyGram, Wise, Remity โดยมีรายละเอียดของแต่ละบริการดังต่อไปนี้

1. Western Union

โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย

ภาพจาก : Hadrian / Shutterstock.com

          บริการส่งเงินทางออนไลน์ข้ามประเทศที่สามารถทำได้ผ่านแอปฯ Western Union หรือผ่านเว็บไซต์ wu.com โดยผู้โอนเงินสามารถเลือกส่งเงินด้วยบัตรเครดิต บัตรเดบิต หักจากบัญชีธนาคารโดยตรง หรือชำระเป็นเงินสดที่สาขาและสำนักงานตัวแทนของ Western Union ผู้ส่งจะเสียค่าธรรมเนียมการโอนเงิน 99 บาท และบวกค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับวิธีชำระเงินและวิธีรับเงินปลายทาง

          ส่วนผู้รับเงินสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินสดที่สำนักงานตัวแทน หรือรับเป็นเงินโอนเข้าบัญชีธนาคาร โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

  • ข้อดี :

          ◇ สะดวก เพราะให้บริการกว่า 200 ประเทศทั่วโลก มีเครือข่ายมากกว่า 550,000 ราย
          ◇ มีธนาคารในประเทศไทยรองรับหลายแห่ง เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น รวมทั้งไปรษณีย์ไทย
          ◇ ไม่ต้องใช้บัญชีธนาคาร สามารถนำเงินสดไปโอนที่เคาน์เตอร์ได้เลย
          ◇ สามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
          ◇ รองรับทั้งช่องทางผ่านเว็บไซต์ โทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชัน หรือผ่านเอเจนซี่

  • ข้อเสีย :

          ◇ ค่าธรรมเนียมสูง โดยขึ้นอยู่กับวิธีการรับเงิน
          ◇ อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้จะต่ำกว่าอัตราแลกเปลี่ยนกลาง จึงอาจได้รับเงินสดในจำนวนที่น้อยกว่า

2. PayPal

โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย

ภาพจาก : alexdov / Shutterstock.com

         PayPal เป็นบัญชีออนไลน์ที่ผูกกับบัญชีธนาคาร บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตของเรา ไว้ใช้ชำระเงินค่าซื้อสินค้า-บริการออนไลน์ แต่ก็สามารถใช้โอนเงินข้ามประเทศได้ด้วยการเข้าบัญชี Paypal ของตัวเอง แล้วโอนเงินเข้าบัญชี Paypal ของผู้รับเงิน

  • ข้อดี :

          ◇ สมัครง่าย ใช้งานผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันได้
          ◇ รู้อีเมลของผู้รับก็โอนเงินได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องใช้บัญชีธนาคาร
          ◇ เหมาะกับการใช้จ่ายซื้อสินค้า เพราะรองรับสกุลเงินมากกว่า 100 สกุลเงิน และไม่เก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อสินค้า (ยกเว้นมีการแปลงสกุลเงิน)

  • ข้อเสีย :

          ◇ ผู้โอนเงินต้องมีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต
          ◇ ผู้รับเงินต้องมีบัญชี PayPal ด้วยเช่นกันถึงสามารถรับเงินที่โอนมาได้
          ◇ ต้องทำการโอนเงินผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันด้วยตัวเอง จึงควรระวังเรื่องความผิดพลาดในการกรอกข้อมูล
          ◇ มีค่าใช้จ่ายในการแปลงสกุลเงิน 3-4% ของมูลค่าเงินที่โอน
          ◇ มีค่าธรรมเนียมแอบแฝง ซึ่งผู้โอนจะไม่ทราบว่าถูกหักค่าธรรมเนียมไปเท่าไร แต่จะทราบเมื่อผู้รับเงินถอนเงินออกมาได้ไม่เต็มจำนวน เท่ากับว่าผู้รับเงินจะเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมทั้งหมด
          ◇ ต้องระวังมิจฉาชีพใช้อีเมลปลอมเพื่อหลอกลวงเงิน

3. MoneyGram

โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย

ภาพจาก : chrisdorney / Shutterstock.com

          บริการส่งเงินข้ามประเทศที่สามารถทำธุรกรรมได้ผ่านสาขาตัวแทนของ MoneyGram ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หรือทางออนไลน์ โดยสามารถเลือกให้ผู้รับมารับเงินที่สาขาก็ได้ หรือจะโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้รับ หรือถ้าหากต้องการโอนเข้ากระเป๋าเงินออนไลน์จะต้องมีเบอร์โทรศัพท์พร้อมรหัสประเทศของผู้รับด้วย

  • ข้อดี :

          ◇ มีสาขาให้ใช้บริการได้หลายแห่ง ทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของ รวมทั้งธนาคารในประเทศไทย เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารออมสิน
          ◇ ไม่ต้องใช้บัญชีธนาคาร สามารถนำเงินสดไปโอนที่เคาน์เตอร์ได้เลย
          ◇ สามารถรับเงินได้ในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากมีการทำธุรกรรมการโอนแล้ว
          ◇ สามารถรับเงินโอนจากต่างประเทศที่ตู้ ATM ของธนาคารไทยพาณิชย์ได้ สูงสุด 30,000 บาท/รายการ และฟรีค่าธรรมเนียม

  • ข้อเสีย :

          ◇ กรณีทำรายการด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์จะต้องระวังเรื่องความผิดพลาดในการกรอกข้อมูล
          ◇ มีค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง และมีค่าธรรมเนียมแอบแฝง
          ◇ อัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าราคาตลาด

4. Wise

โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย

ภาพจาก : viewimage / Shutterstock.com

          ชื่อเดิมคือ TransferWise เป็นบริการโอนเงินข้ามประเทศที่สามารถทำได้ทางออนไลน์ หรือผ่านแอปฯ Wise โดยสามารถเลือกรูปแบบการโอนเงินได้ทั้งการโอนแบบส่วนบุคคลจากบัญชีตัวเอง โอนจากบัญชีธุรกิจ และโอนให้ตัวเอง คนอื่น หรือโอนเพื่อชำระค่าบริการให้ธุรกิจ

  • ข้อดี :

          ◇ ทำธุรกรรมออนไลน์ได้ผ่านเว็บไซต์หรือผ่านแอปพลิเคชัน
          ◇ ค่าธรรมเนียมถูกกว่าเจ้าอื่น เริ่มต้น 0.41% ของมูลค่าที่โอน
          ◇ ระบบจะคำนวณค่าธรรมเนียมทั้งหมด พร้อมกับแจ้งจำนวนเงินโอนและจำนวนเงินที่จะได้รับให้ทราบก่อนตัดสินใจโอน
          ◇ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนกลางของตลาด ไม่มีบวกเพิ่ม
          ◇ ไม่เสียค่าธรรมเนียมการโอนจากธนาคารต้นทางและปลายทาง
          ◇ อาจได้รับเงินทันที หรือภายใน 1-2 วัน (ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ)

  • ข้อเสีย :

          ◇ ต้องทำรายการด้วยตัวเองผ่านหน้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน จึงต้องระวังเรื่องความผิดพลาด
          ◇ ไม่สามารถโอนแบบใช้เงินสดได้ ผู้โอนต้องมีบัญชีธนาคารในประเทศที่เราโอนเงิน และผู้รับเงินต้องมีบัญชีธนาคารที่จะรับเงิน
          ◇ การโอนไปยังบางธนาคารในไทย จำกัดการโอนไม่เกินครั้งละ 49,999 บาท
          ◇ ยังไม่มีบริการในรูปแบบภาษาไทย

5. Remity

โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย

ภาพจาก : rafapress / Shutterstock.com

          บริการโอนเงินแบบดิจิทัลที่โอนเงินข้ามประเทศได้รวดเร็ว โดยผู้ส่งจำเป็นจะต้องมีบัญชี Remity แต่ผู้รับไม่จำเป็นต้องมีบัญชี Remity ซึ่งสามารถเลือกได้ทั้งแบบรับเป็นเงินสด เงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือรับเงินผ่านแอปฯ บนมือถือ

  • ข้อดี :

          ◇ สมัครง่าย ทำการโอนเงินได้สะดวกผ่านช่องทางออนไลน์
          ◇ สามารถโอนเงินจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตได้
          ◇ ค่าธรรมเนียมถูก โอนเงินได้รวดเร็ว
          ◇ ผู้รับสามารถเลือกรับเงินสดที่จุดบริการได้ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ
          ◇ บางประเทศมีบริการ Delivery ส่งเงินสดให้ถึงหน้าบ้าน

  • ข้อเสีย :

          ◇ จำกัดวงเงินการโอน (ขึ้นอยู่กับระดับการยืนยันตัวตน)
          ◇ อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้จะต่ำกว่าอัตราแลกเปลี่ยนกลาง
          ◇ การรับเงินในประเทศจีน, โคลอมเบีย, แอฟริกาใต้ และเกาหลีใต้ จะมีขั้นตอนพิเศษเพิ่มเติม

โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย ใช้เวลากี่วัน

โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย

          หากใช้วิธีโอนเงินผ่านธนาคารจากต่างประเทศมาไทย มักต้องใช้เวลาเฉลี่ย 2-5 วันทำการ กว่าเงินจะเข้าบัญชีปลายทาง

          แต่ถ้าใช้บริการโอนเงินผ่านผู้ให้บริการอื่น ๆ มักจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที หรืออาจจะได้รับเงินเข้าทันทีหลังจากทำการโอนแล้ว แต่ในบางกรณีอาจใช้เวลา 1-5 วัน ขึ้นอยู่กับวิธีส่งเงินและวิธีรับเงินที่เลือก

โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย
เสียค่าธรรมเนียมเท่าไร

          การคิดค่าธรรมเนียมในการโอนเงินจากต่างประเทศมาไทยนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนี้

  • ผู้ให้บริการแต่ละราย เช่น บางธนาคารจะกำหนดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำไว้ที่ 0.25% ของมูลค่าเงินโอน หรือขั้นต่ำ 200-300 บาท และสูงสุดไม่เกินที่กำหนด หากเป็นตัวแทนโอนเงินอื่น ๆ ก็จะมีค่าธรรมเนียมโอนเงินและค่าบริการอื่น ๆ แตกต่างกันไป

  • จำนวนเงินที่โอน

  • ประเทศที่ส่งเงิน-รับเงินปลายทาง

  • วิธีที่ใช้ในการโอนและวิธีรับเงินปลายทาง แต่ละแบบจะคิดค่าธรรมเนียมไม่เท่ากัน

  • อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน ณ เวลาที่โอนเงิน รวมถึงค่าธรรมเนียมในการแปลงสกุลเงิน

ข้อควรระวัง
ในการโอนเงินจากต่างประเทศมาไทย

โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย

          ทุกครั้งที่ทำการโอนเงินจากต่างประเทศมาไทย มีสิ่งที่ต้องตระหนักและควรระวังดังต่อไปนี้

  • ตรวจสอบว่าผู้ให้บริการรองรับสกุลเงินที่เราต้องการโอนหรือไม่ และจำกัดวงเงินสูงสุดในการโอนเงินและรับเงินปลายทางคือเท่าไร

  • ผู้ให้บริการสามารถโอนไปยังประเทศที่เราต้องการส่งเงินไปได้หรือไม่

  • เปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละผู้ให้บริการ เพราะเรตไม่เท่ากัน และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

  • เปรียบเทียบอัตราค่าธรรมเนียมรวมทั้งหมดที่ต้องจ่ายของแต่ละผู้ให้บริการ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ค่าบริการออนไลน์ ค่าแปลงสกุลเงิน ฯลฯ ซึ่งบางแห่งอาจมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงเพิ่มเติม ทำให้ได้รับจำนวนเงินไม่เท่ากัน

  • อย่าลืมเช็กว่าฝ่ายผู้โอนเงินหรือผู้รับเงินที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม

  • ตรวจสอบประวัติของผู้ให้บริการว่ามีความน่าเชื่อหรือไม่ มีระบบรักษาความปลอดภัยแข็งแกร่งแค่ไหน

  • เก็บเอกสารและหลักฐานการโอนเงินไว้ให้ดี

สรุป ! โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย แบบไหนดี

          จากข้อมูลข้างต้นอาจบอกได้ว่า หากต้องการโอนเงินจำนวนมาก การเลือกใช้บริการโอนเงินผ่านธนาคารจะปลอดภัยและสะดวกกว่า อีกทั้งอาจเสียค่าธรรมเนียมต่ำกว่าการใช้บริการตัวแทน เนื่องจากธนาคารมักจะกำหนดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำและสูงสุดเอาไว้ ไม่ว่าจะโอนเงินมากแค่ไหนก็จะเสียค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราสูงสุด ส่วนข้อเสียคือ ผู้โอนเงินต้องมีบัญชีธนาคารที่ต่างประเทศ และสามารถโอนเงินได้เฉพาะวันทำการของธนาคารเท่านั้น ในขณะที่ผู้รับต้องรอนานหลายวันถึงจะได้รับเงิน

          แต่สำหรับคนที่ต้องการโอนเงินจำนวนไม่มาก หรือต้องการโอนเงินด่วน การเลือกโอนเงินผ่านบริการของตัวแทนต่าง ๆ จะประหยัดค่าธรรมเนียมกว่า สามารถโอนได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเงินถึงมือผู้รับปลายทางเร็วกว่า นอกจากนี้ยังเหมาะกับคนที่อยู่ต่างประเทศเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารที่ต่างประเทศได้ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีโอนเงินผ่านตัวแทน ซึ่งหลาย ๆ บริษัทก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัญชีธนาคาร จึงสะดวกกว่าพอสมควร

          ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกโอนเงินจากต่างประเทศมาไทยด้วยวิธีใด ก่อนทำการโอนก็ต้องไม่ลืมที่จะตรวจเช็กให้ดีว่าโอนไปให้ถูกบัญชี ถูกคนแล้วหรือไม่ และจำนวนเงินตรงกับที่ต้องการโอนไหม เพื่อที่จะได้ไม่ผิดพลาดมีปัญหาในภายหลัง

บทความที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงิน

ขอบคุณข้อมูลจาก : westernunion.com, paypal.com, moneygram.co.th, wise.com, remitly.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โอนเงินจากต่างประเทศมาไทยแบบไหนดี ต้องทำยังไง มีวิธีไหนบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 18 กันยายน 2566 เวลา 13:25:35 66,573 อ่าน
TOP
x close