วิธีคิดดอกเบี้ยทบต้น สูตรคำนวณง่าย ๆ ที่คนออมเงินหรือลงทุนควรรู้

          สอนวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้น สำหรับผู้ที่ออมเงินหรือลงทุน อยากรู้ว่าจะได้ดอกเบี้ยยังไงและเท่าไร ดูวิธีคำนวณได้ที่นี่เลย
ดอกเบี้ยทบต้น

          ใครฝากเงินหรือออมเงินกับธนาคารมานานแล้ว อาจสงสัยว่าดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นมีที่มายังไง คำนวณแบบไหน เนื่องจากระบบการคิดดอกเบี้ยเงินฝาก มีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อนสำหรับคนทั่วไป และเงินฝากส่วนใหญ่ก็มักจะคิดแบบดอกเบี้ยทบต้น ทำให้หลายคนคำนวณไม่ถูก แต่ในวันนี้เราจะมาสอนวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นกัน จะได้รู้ว่าเมื่อฝากเงินจนครบกำหนดแล้วจะมีเงินรวมทั้งหมดเท่าไรกันแน่ รวมถึงกรณีกู้เงินแล้วจ่ายล่าช้าจะถูกคิดดอกเบี้ยทบต้นอย่างไร

ดอกเบี้ยทบต้น คืออะไร

          ดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest) คือ ดอกเบี้ยที่ได้รับโดยการคำนวณจากเงินต้นที่รวมกับดอกเบี้ยของงวดก่อนหน้า ทำให้ได้ดอกเบี้ยในงวดถัดไปมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนเงินต้นที่เพิ่มขึ้น แม้อัตราดอกเบี้ยต่อปีจะยังคงเท่าเดิมก็ตาม

วิธีคิดดอกเบี้ยทบต้น มีสูตรคำนวณอย่างไร

ดอกเบี้ยทบต้น

          ในการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั้นจะเป็นการนำดอกเบี้ยที่ได้ในงวดนั้นไปรวมกับเงินต้นเดิม แล้วนำไปใช้เป็นเงินต้นใหม่เพื่อการคำนวณดอกเบี้ยในงวดถัดไป โดยการคิดดอกเบี้ยทบต้นเพื่อหาจำนวนเงินเมื่อรวมกับดอกเบี้ยในงวดสุดท้ายนั้น ให้ใช้วิธีคำนวณด้วยสูตรดังต่อไปนี้

เงินรวมดอกเบี้ยในงวดสุดท้าย = เงินต้น x (1 + อัตราดอกเบี้ย%) ยกกำลังจำนวนงวด

ตัวอย่างการคิดดอกเบี้ยทบต้นเงินฝาก

          ก่อนอื่นอยากให้ทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ กันก่อน โดยสมมติว่า ธนาคารคิดดอกเบี้ยปีละ 5% ถ้าฝากเงิน 1,000 บาท เมื่อครบ 1 ปี จะได้รับดอกเบี้ย 50 บาท และถ้าไม่มีการถอนดอกเบี้ยออกมาใช้จ่าย ดอกเบี้ย 50 บาทก็จะถูกรวมกับเงินต้นเป็น 1,050 บาท เพื่อนำไปคำนวณดอกเบี้ยในปีถัดไป หลังจากนั้นเมื่อครบปีที่ 2 ก็จะได้รับดอกเบี้ย 52.50 บาท โดยคิดจากอัตราดอกเบี้ย 5% ของเงิน 1,050 บาท

          จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยในปีที่ 2 นั้นเพิ่มขึ้นจากปีแรก 2.50 บาท ซึ่งถ้ายิ่งฝากเงินนาน ๆ เป็น 5 ปี 10 ปี 20 ปี หรือฝากเงินจำนวนมากขึ้น จะทำให้มีเงินออมเพิ่มขึ้นเยอะมาก ๆ และนี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่าพลังของดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง

ดอกเบี้ยทบต้น

          ส่วนใครอยากลองคำนวณดูว่า เมื่อฝากเงินจนครบกำหนดแล้วจะมีเงินออมรวมดอกเบี้ยทั้งหมดเท่าไร สามารถคำนวณได้ด้วยการใช้สูตรดังที่กล่าวไป

          ยกตัวอย่างเช่น ฝากเงิน 100,000 บาท เป็นเวลา 18 เดือน โดยธนาคารคิดดอกเบี้ยให้ทุก ๆ 6 เดือน ในอัตรา 2% ต่อปี และเนื่องจากคิดดอกเบี้ยทุก ๆ 6 เดือน ใน 1 ปี จึงมี 2 งวด เพราะฉะนั้นอัตราดอกเบี้ยจะเท่ากับ 2 ÷ 2 = 1% ต่องวด จากนั้นเมื่อคำนวณด้วยสูตรจะได้เท่ากับ

100,000 x (1 + 1%) ยกกำลัง 3 = 103,030.10

          ดังนั้นเมื่อครบระยะเวลา 18 เดือน จะมีเงินรวมทั้งสิ้น 103,030.10 บาท

* หมายเหตุ : ดอกเบี้ยเงินฝากที่คำนวณได้ยังไม่รวมกรณีถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

ตัวอย่างการคิดดอกเบี้ยทบต้นเงินกู้

          ในกรณีที่มีการกู้เงิน แต่ไม่จ่ายดอกเบี้ยภายในเวลาที่กำหนด จะก่อให้เกิดดอกเบี้ยคงค้าง ซึ่งจะตรงกันข้ามกับตอนที่นำเงินไปฝากก็คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ในแต่ละงวดจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนวิธีการคำนวณนั้น สามารถใช้สูตรเดียวกับการคิดดอกเบี้ยทบต้นเงินฝากได้เลย

          ยกตัวอย่างเช่น ขอกู้เงิน 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยปีละ 10% แต่เมื่อครบ 1 ปี ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ตรงเวลา ก็จะถูกคิดดอกเบี้ย 1,000 บาท ซึ่งจะถูกนำไปรวมกับยอดหนี้เป็น 11,000 บาท หลังจากนั้นในปีที่ 2 ถ้าหากยังไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ตรงเวลาอีก ก็จะถูกคิดดอกเบี้ยเป็น 1,100 บาท โดยคิดจากอัตราดอกเบี้ย 10% ของยอดหนี้รวม 11,000 บาทนั่นเอง

สูตรคํานวณดอกเบี้ยทบต้น Excel

          หากใครมีโปรแกรม Microsoft Excel อยู่ในคอมพิวเตอร์ สามารถนำสูตรคำนวณในหัวข้อด้านบนไปใส่ในช่องเซลล์เพื่อให้ Excel ทำการคำนวณหาจำนวนเงินรวมได้เช่นกัน

          ยกตัวอย่างเช่น 100,000 x (1 + 1%) ยกกำลัง 3 ก็ให้ใส่ว่า =100000*(1+1)^3 แล้วกด Enter ก็จะได้คำตอบออกมาเป็น 103,030.10 บาท ทันที

          ทั้งนี้ เนื่องจากการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั้นจำเป็นต้องมีการคิดเปอร์เซ็นต์ด้วย ซึ่งหากใครอยากรู้วิธีการคิดเปอร์เซ็นต์ สามารถเข้าไปอ่านกันได้ที่ : วิธีคิดเปอร์เซ็นต์ เรื่องง่าย ๆ ที่หลายคนมักปวดหัว

บทความที่เกี่ยวข้องกับวิธีคิดคำนวณสูตรต่าง ๆ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีคิดดอกเบี้ยทบต้น สูตรคำนวณง่าย ๆ ที่คนออมเงินหรือลงทุนควรรู้ อัปเดตล่าสุด 13 กรกฎาคม 2566 เวลา 17:16:26 84,565 อ่าน
TOP
x close