วิธีคิดดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษี ต้องทำยังไง มาลองคำนวณก่อนตัดสินใจฝากประจำ พร้อมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเงินฝากปลอดภาษี
หากใครกำลังมีความคิดที่อยากจะออมเงิน แต่ติดปัญหาคือมีเงินน้อย อยากออมยาว ๆ ก็ยังมีทางเลือกที่น่าสนใจอย่างเงินฝากปลอดภาษี ที่ไม่จำเป็นต้องออมครั้งละมาก ๆ เพราะเราสามารถเริ่มต้นจากการเก็บเงินทีละนิด ทำอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพื่อให้กลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ แต่ก่อนจะตัดสินใจออมกับเงินฝากปลอดภาษี ก็ควรรู้วิธีคิดดอกเบี้ยเงินฝากกันก่อน เพื่อที่จะได้วางแผนการเงินว่าควรเลือกฝากกับธนาคารไหน ฝากเท่าไรดี และจะได้รับดอกเบี้ยเท่าไร ซึ่งวันนี้เราได้นำความรู้เรื่องดังกล่าวมาฝากกันแล้ว
เงินฝากปลอดภาษี คืออะไร
เงินฝากปลอดภาษี คือ บัญชีเงินฝากประจำ ซึ่งมีให้เราเลือกฝากได้ตั้งแต่ 24 เดือน, 36 เดือน และ 48 เดือน ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ของแต่ละธนาคาร เมื่อเปิดบัญชีแล้วจะต้องฝากเงินทุกเดือน เดือนละเท่า ๆ กัน จนครบกำหนดระยะเวลาฝาก จึงจะได้รับดอกเบี้ยตามเงื่อนไข
ทั้งนี้ ดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝากปลอดภาษีมักจะสูงกว่าเงินฝากประจำทั่วไป และข้อสำคัญก็คือ ไม่ต้องเสียภาษี 15% เหมือนดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินฝากประจำด้วย เนื่องจากเป็นประเภทบัญชีที่ได้รับยกเว้นจากกรมสรรพากร ดังนั้นผู้ฝากบัญชีประเภทนี้จะได้รับผลตอบแทนแบบเต็ม ๆ หากฝากครบระยะเวลาตามเงื่อนไขที่กำหนด
เงินฝากปลอดภาษี
มีเงื่อนไขอย่างไร
-
ผู้ฝาก 1 ราย เปิดได้เพียง 1 บัญชีเท่านั้น (รวมกันทุกธนาคารและทุกรูปแบบระยะเวลา)
-
จำนวนเงินนำฝากขั้นต่ำ 500-1,000 บาท/เดือน (ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร) สูงสุดไม่เกิน 16,500-25,000 บาท/เดือน
-
ต้องฝากเงินในจำนวนเท่า ๆ กัน เดือนละ 1 ครั้ง วันที่เท่าไรก็ได้ (ขาดฝากได้ไม่เกิน 2 ครั้ง)
-
หากขาดฝากเกิน 2 ครั้ง จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามเงื่อนไขเงินฝากปลอดภาษี
-
หากถอนหรือปิดบัญชีก่อน 3 เดือน จะไม่ได้รับดอกเบี้ย (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร)
-
ไม่สามารถถอนก่อนครบกำหนดได้ หากถอนก่อนครบกำหนดต้องปิดบัญชีเท่านั้น
วิธีคิดดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษี
การคำนวณคิดดอกเบี้ยเงินฝากแบบปลอดภาษีนั้นไม่ได้เป็นการนำเงินที่ต้องฝากรวมทั้ง 12 เดือน มาคูณกับอัตราดอกเบี้ย แต่จะต้องคำนวณแยกตามยอดเงินต้นที่มีในแต่ละเดือน เนื่องจากมีการฝากเงินเพิ่มเข้าไปทุก ๆ เดือน โดยดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละเดือนก็จะได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามเงินต้นที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษีนั้นจะคิดจากเงินต้นเท่านั้น โดยไม่มีการนำดอกเบี้ยมาคิดรวม ซึ่งธนาคารจะคืนเงินต้นที่ฝากไว้ให้พร้อมกับดอกเบี้ยทั้งหมดในวันที่ครบกำหนด และการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษีนี้จะทำได้เพียงคำนวณคร่าว ๆ เท่านั้น เนื่องจากดอกเบี้ยที่ได้รับอาจคลาดเคลื่อนไปตามวันที่ฝากเงินในแต่ละเดือน เนื่องจากคิดคำนวณดอกเบี้ยเป็นรายวัน
ตัวอย่างวิธีคิดดอกเบี้ย
เงินฝากประจํา 24 เดือนปลอดภาษี
ยกตัวอย่างการฝากประจำปลอดภาษีระยะเวลา 24 เดือน ได้รับอัตราดอกเบี้ย 2% โดยฝากเดือนละ 10,000 บาท ทุกวันที่ 1 ของเดือน มีวิธีคำนวณดังต่อไปนี้
ดอกเบี้ยที่ได้ในเดือนนั้น = [(เงินต้นในเดือนนั้น x อัตราดอกเบี้ยต่อปี) / จำนวนวันในปีนั้น] x จำนวนวันในเดือนนั้น
ดอกเบี้ยเดือนที่ 1 = [(10,000 x 2%) / 365] x 31 = 16.98 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 2 = [(20,000 x 2%) / 365] x 28 = 30.68 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 3 = [(30,000 x 2%) / 365] x 31 = 50.95 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 4 = [(40,000 x 2%) / 365] x 30 = 65.75 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 5 = [(50,000 x 2%) / 365] x 31 = 84.93 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 6 = [(60,000 x 2%) / 365] x 30 = 98.63 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 7 = [(70,000 x 2%) / 365] x 31 = 118.90 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 8 = [(80,000 x 2%) / 365] x 31 = 135.89 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 9 = [(90,000 x 2%) / 365] x 30 = 147.94 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 10 = [(100,000 x 2%) / 365] x 31 = 169.86 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 11 = [(110,000 x 2%) / 365] x 30 = 180.82 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 12 = [(120,000 x 2%) / 365] x 31 = 203.83 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 13 = [(130,000 x 2%) / 365] x 31 = 220.82 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 14 = [(140,000 x 2%) / 365] x 28 = 214.79 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 15 = [(150,000 x 2%) / 365] x 31 = 254.79 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 16 = [(160,000 x 2%) / 365] x 30 = 263.01 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 17 = [(170,000 x 2%) / 365] x 31 = 288.76 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 18 = [(180,000 x 2%) / 365] x 30 = 295.89 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 19 = [(190,000 x 2%) / 365] x 31 = 322.73 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 20 = [(200,000 x 2%) / 365] x 31 = 339.72 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 21 = [(210,000 x 2%) / 365] x 30 = 345.20 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 22 = [(220,000 x 2%) / 365] x 31 = 373.69 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 23 = [(230,000 x 2%) / 365] x 30 = 378.08 บาท
ดอกเบี้ยเดือนที่ 24 = [(240,000 x 2%) / 365] x 31 = 407.67 บาท
เพราะฉะนั้นเมื่อนำดอกเบี้ยที่ได้ทั้ง 24 เดือนมาบวกรวมกันก็จะเป็น 5,010.41 บาท
หลังจากที่ได้เรียนรู้วิธีการคิดดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษีแบบคร่าว ๆ กันไปแล้ว หากใครอยากรู้ว่าในปี 2566 มีบัญชีเงินฝากปลอดภาษีของธนาคารไหนบ้างที่ให้ดอกเบี้ยน่าสนใจ สามารถเข้าไปดูกันได้เลยที่ : เงินฝากปลอดภาษี 2566 จัดอันดับ 10 ธนาคารให้ดอกเบี้ยสูงสุด