x close

วิธีคิดดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ทั้งแบบออมทรัพย์และฝากประจำ คำนวณได้ด้วยตัวเอง

สอนวิธีคิดดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ต้องคิดยังไงบ้าง มาดูกัน

คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารไว้ แต่ก็ไม่เคยรู้เลยว่าดอกเบี้ยที่ได้นั้นมีที่มายังไง คำนวณแบบไหน เนื่องจากระบบการคิดดอกเบี้ยเงินฝากนั้นมีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อนสำหรับคนทั่วไป จึงทำความเข้าใจได้ยาก แต่ในวันนี้เราจะมาสอนวิธีคิดดอกเบี้ยเงินฝากให้เข้าใจแบบง่าย ๆ กัน เพื่อทราบคร่าว ๆ ว่าในแต่ละปีจะได้ดอกเบี้ยมาก-น้อยแค่ไหน

วิธีคิดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์

ดอกเบี้ยเงินฝาก

ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จะคำนวณดอกเบี้ยให้เป็นรายวัน และจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากปีละ 2 งวด คือ เดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคม โดยดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละครั้งจะถูกนำไปรวมกับเงินฝากของเรา กลายเป็นเงินต้นใหม่ที่จะถูกนำไปคิดดอกเบี้ยในรอบต่อ ๆ ไป ทั้งนี้ การคิดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จะมีอยู่ 2 กรณี คือ 

1. ฝากเงินก้อนเดียวทิ้งไว้ โดยไม่ถอนออกมา

สมมติวันที่ 1 มกราคม ฝากเงินแบบออมทรัพย์ไว้ 10,000 บาท ในบัญชีที่คิดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี โดยไม่มีการถอนเงินออกหรือฝากเงินเพิ่ม รวมทั้งไม่ได้ถอนดอกเบี้ยออกมาใช้ในระหว่างปี หากฝากเงินไว้จนถึงสิ้นปีคือวันที่ 31 ธันวาคม จะสามารถคำนวณดอกเบี้ยที่จะได้รับด้วยสูตรดังนี้

ดอกเบี้ย = [(เงินต้น x อัตราดอกเบี้ย (%) x จำนวนวันที่ฝากในงวดนั้น) / จำนวนวันทั้งปี]

โดยแบ่งคำนวณเป็น 2 ส่วน คือ

  • ดอกเบี้ยงวดครึ่งปีแรก = [(10,000 x 0.25% x 181) / 365] = 12.39 บาท
  • ดอกเบี้ยงวดครึ่งปีหลัง = [(10,012.39 x 0.25% x 184) / 365] = 12.61 บาท

เพราะฉะนั้นรวมดอกเบี้ยที่ได้รับทั้งปีคือ 12.39 + 12.61 = 25 บาท

หรือถ้าใครต้องการคิดดอกเบี้ยเป็นรายเดือนก็ใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน โดยเปลี่ยนตัวเลขจำนวนวันให้เท่ากับจำนวนวันที่ฝากเงิน 

2. ฝากแบบมีการถอนออกและฝากเพิ่ม

กรณีนี้ต้องคิดดอกเบี้ยทีละก้อนแล้วนำมารวมกัน สมมติวันที่ 1 มกราคม ฝากเงินแบบออมทรัพย์ไว้ 10,000 บาท และในวันที่ 1 มีนาคม ได้ฝากเพิ่มอีก 10,000 บาท หลังจากนั้นในวันที่ 1 พฤษภาคม ถอนเงินออก 5,000 บาท จะสามารถคำนวณดอกเบี้ยที่จะได้รับในงวดสิ้นเดือนมิถุนายน ด้วยสูตรดังนี้

ดอกเบี้ย = [(เงินคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ย (%) x จำนวนวันที่ฝากในงวดนั้น) / จำนวนวันทั้งปี]

โดยแบ่งคำนวณเป็น 3 ส่วน คือ

  • ดอกเบี้ยตั้งแต่ 1 มกราคม - 28 กุมภาพันธ์ = [(10,000 x 0.25% x 59) / 365] = 4.04 บาท
  • ดอกเบี้ยตั้งแต่ 1 มีนาคม - 30 เมษายน = [(20,000 x 0.25% x 61) / 365] = 8.35 บาท
  • ดอกเบี้ยตั้งแต่ 1 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน = [(15,000 x 0.25% x 61) / 365] = 6.26 บาท

เพราะฉะนั้นรวมดอกเบี้ยที่ได้รับในงวดนี้คือ 4.04 + 8.35 + 6.26 = 18.65 บาท

ทั้งนี้ สำหรับดอกเบี้ยออมทรัพย์ ถ้าทั้งปีได้ดอกเบี้ยรวมทุกบัญชี ทุกธนาคาร เกิน 20,000 บาท จะถูกหักภาษี 15% ยกเว้นบุคคลธรรมดาที่ฝากเงินกับธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จะได้รับการยกเว้นภาษีในส่วนนี้

วิธีคิดดอกเบี้ยเงินฝากประจำ

ดอกเบี้ยเงินฝาก

ดอกเบี้ยเงินฝากประจำมักจะมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ แต่จะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ อย่างไรก็ตาม หากมีการถอนเงินก่อนครบกำหนดอาจไม่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราแบบฝากประจำ แต่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากออมทรัพย์แทน 

สมมติเปิดบัญชีเงินฝากประจำ 6 เดือน ในวันที่ 1 มกราคม เป็นจำนวน 10,000 บาท ได้อัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี ดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละงวดจะถูกเก็บไว้ในบัญชีฝากประจำทุก 6 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้วถ้าเราไม่ได้ถอนเงินต้นหรือดอกเบี้ยออกมา เงินก้อนนี้ก็จะถูกนำไปเป็นเงินทบต้นเพื่อคิดดอกเบี้ยในงวดต่อ ๆ ไป และจะสามารถคำนวณดอกเบี้ยที่จะได้รับหลังหักภาษีแล้วเมื่อถอนเงินในวันที่ 1 มกราคมของปีถัดไป ตามสูตรดังนี้

ดอกเบี้ยในงวดนั้น = (เงินต้น x อัตราดอกเบี้ยหลังหักภาษี x จำนวนวันในงวดนั้น) / จำนวนวันทั้งปี

อัตราดอกเบี้ยหลังหักภาษี = 0.5 - 15% = 0.425% ต่อปี

  • ดอกเบี้ยงวด 6 เดือนแรก = (10,000 x 0.425% x 181) / 365 =  21.07 บาท
  • ดอกเบี้ยงวด 6 เดือนหลัง = (10,021.07 x 0.425% x 184) / 365 = 21.46 บาท
เพราะฉะนั้นรวมดอกเบี้ยที่ได้รับในปีนี้คือ 21.07 + 21.46 = 42.53 บาท

วิธีคิดดอกเบี้ยเงินฝากแบบขั้นบันได

ดอกเบี้ยเงินฝาก

เงินฝากแบบขั้นบันได (Step Up) เป็นเงินฝากประจำที่คิดดอกเบี้ยให้เป็นช่วง ๆ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นขั้นบันได เราจะต้องคิดดอกเบี้ยทีละช่วงตามจำนวนวันที่ฝากในช่วงนั้น และส่วนใหญ่จะเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น คือไม่นำดอกเบี้ยที่ได้รับในงวดก่อนหน้ามารวมเป็นเงินต้นในงวดถัดไป เพราะเมื่อครบกำหนดรับดอกเบี้ยในแต่ละช่วง ธนาคารจะโอนดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของเราเลย ทั้งนี้ แนะนำให้ตรวจสอบกับธนาคารอีกทีว่ามีการจ่ายดอกเบี้ยในรูปแบบใด

ตัวอย่างเช่น ฝากเงิน 10,000 บาท แบบขั้นบันได เป็นระยะเวลา 12 เดือน โดยได้อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 0.25% ต่อปี และเพิ่มขึ้นอีก 0.25% ในทุก ๆ 3 เดือน โดยเริ่มต้นฝากวันที่ 1 มกราคม จะสามารถคำนวณดอกเบี้ยที่จะได้รับเมื่อถอนเงินในวันที่ 1 มกราคมของปีถัดไป ด้วยสูตรดังนี้

ดอกเบี้ยในงวดนั้น = (เงินต้น x อัตราดอกเบี้ยงวดนั้น (%) x จำนวนวันในงวดนั้น) / จำนวนวันทั้งปี

  • ดอกเบี้ยงวดที่ 1 = (10,000 x 0.25% x 90) / 365 = 6.16 บาท
  • ดอกเบี้ยงวดที่ 2 = (10,000 x 0.50% x 91) / 365 =  12.46 บาท
  • ดอกเบี้ยงวดที่ 3 = (10,000 x 0.75% x 92) / 365 = 18.90 บาท
  • ดอกเบี้ยงวดที่ 4 = (10,000 x 1.00% x 92) / 365 = 25.20 บาท

เพราะฉะนั้นรวมดอกเบี้ยที่ได้รับในปีนี้คือ 6.16 + 12.46 + 18.90 + 25.20 = 62.72 บาท โดยคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงคือ 0.625% ต่อปี

ทั้งนี้ เนื่องจากการคิดดอกเบี้ยจำเป็นต้องมีการคิดเปอร์เซ็นต์ด้วย ซึ่งถ้าหากใครยังไม่ค่อยมั่นใจเรื่องวิธีการคิดเปอร์เซ็นต์ก็สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมกันได้ที่ : วิธีคิดเปอร์เซ็นต์ เรื่องง่าย ๆ ที่หลายคนมักปวดหัว

บทความที่เกี่ยวข้องกับบัญชีเงินฝาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีคิดดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ทั้งแบบออมทรัพย์และฝากประจำ คำนวณได้ด้วยตัวเอง อัปเดตล่าสุด 17 พฤษภาคม 2565 เวลา 13:47:06 197,713 อ่าน
TOP