สรุปภาษีคริปโต เก็บอย่างไร เทรดขาดทุน สายขุด สายฟาร์ม ต้องเสียภาษีไหม

          ภาษีคริปโตเก็บอย่างไร ต้องจ่ายเท่าไรกันแน่ เคลียร์ให้ชัดหลังกรมสรรพากรออกคำแนะนำเรื่องการเสียภาษีคริปโต-โทเคน สำหรับนักลงทุน Cryptocurrency

คริปโต

          คงยากที่จะปฏิเสธแล้วว่าตอนนี้คนไทยหันมาเล่นคริปโต หรือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) กันมากขึ้น โดยเฉพาะเหรียญยอดฮิตอย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) ที่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง ทั้งจากนักเก็งกำไรและนักขุด ซึ่งก็มีไม่น้อยเลยที่ทำเงินก้อนโตได้จากการลงทุนในเงินดิจิทัล

          และอย่างที่เรารู้ ๆ กันแหละว่า เมื่อมีรายได้เข้ามา สิ่งที่ตามมาคงไม่พ้นเรื่องของภาษี จุดนี้จึงเป็นที่สงสัยของหลาย ๆ คนเลยว่า การลงทุนในรูปแบบนี้ต้องเสียภาษีอย่างไร มาดูกัน

Cryptocurrency เสียภาษีอย่างไร ?


          ช่วงแรกที่คนเพิ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดทรัพย์สินดิจิทัลใหม่ ยังไม่มีกฎหมายเพื่อการจัดเก็บภาษีชัดเจน จึงไม่ได้เสียภาษีตรงนี้ กระทั่งมีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้การถือ ครอบครอง หรือซื้อ-ขายทรัพย์คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือ โทเคนดิจิทัล (Digital Token) เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้ฯ และต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย

          ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา การเล่นคริปโต หรือโทเคนดิจิทัล ไม่ว่าจะบิตคอยน์ หรือเหรียญ ICO ต่าง ๆ จะต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด โดยเสียภาษี 2 ส่วน คือ

          1. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%
          2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามอัตราก้าวหน้า

ภาษีคริปโตต้องจ่ายในกรณีไหนบ้าง ?


          ตามที่กฎหมายระบุไว้ นักลงทุนจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% เมื่อได้กำไรหรือผลประโยชน์ส่วนเกินจากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล และต้องเสียเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ซึ่งหากมีรายได้จากคริปโตใน 5 รูปแบบนี้ ต้องเสียภาษี

1. มีกำไรจากการขาย จ่าย โอน แลกเปลี่ยน คริปโต หรือโทเคนดิจิทัล 

          เช่น การเทรดเหรียญ โอนเหรียญ จะต้องเสียภาษี คือ

          - ภาษี ณ ที่จ่าย :
เมื่อขายเหรียญได้ในราคาสูงกว่าต้นทุนที่ซื้อมา เราจะไม่ได้กำไรจากการขายเหรียญก้อนนั้นเต็ม ๆ แต่จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% ของกำไรที่ได้ทันที

          - ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : กำไรจากการขายหรือการโอนคริปโทเคอร์เรนซี ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี โดยไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้

2. มีรายได้จากการขุดคริปโต

          - ภาษี ณ ที่จ่าย : หากขุดเหรียญขึ้นมาเฉย ๆ ยังไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้านำเหรียญที่ขุดได้ไปขายแล้วได้กำไร จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

          - ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : เงินที่ได้จากการขุดเหรียญแล้วนำไปขาย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) กรณีเดียวกับการขุดเหมืองแร่ที่ต้องเสียภาษี แต่สามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความจำเป็นและสมควร โดยต้องเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและจัดทำบัญชีต้นทุน เช่น ค่าซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างพนักงาน ค่านายหน้า ค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าฝากเครื่องขุด ฯลฯ ที่เกิดขึ้นจริงในปีภาษี เอาไว้เป็นหลักฐานประกอบการหักค่าใช้จ่าย 

3. ได้คริปโทเคอร์เรนซีจากการทำงาน

          กรณีนี้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้

          - พนักงานได้รับเงินเดือนเป็นคริปโทเคอร์เรนซี ถือเป็นเงินได้ประเภท 40 (1)
          - ผู้รับจ้างได้รับค่าจ้างเป็นคริปโทเคอร์เรนซี ถือเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานประจำหรือชั่วคราว และถือเป็นเงินได้ประเภท 40 (2)
          - กรณีได้รับเงินเดือนตามมาตรา 40 (1) และยังได้รับค่าจ้างตามมาตรา 40 (2) จากนายจ้างรายเดียวกัน ให้ถือเป็นเงินได้ประเภท 40 (1)

          ทั้ง 3 กรณี สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และหากนายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้แล้ว สามารถนำภาษีดังกล่าวที่หักไว้มาใช้เป็นเครดิตภาษีในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ได้

4. ได้รับคริปโตมาฟรี หรือได้รับเป็นรางวัล

          กรณีไปเข้าร่วมกิจกรรมแล้วได้รับเหรียญแจกมาให้ฟรี ๆ หรือได้รับเป็นรางวัลส่งเสริมการขาย ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แต่ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ เนื่องจากเราได้รับมาฟรี  

5. ได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครองคริปโทเคอร์เรนซี

          อย่างกรณีฝากเหรียญไว้ค้ำประกันเพื่อรับผลตอบแทน เช่น Yield Farming หรือ Staking จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

          หากเป็นโทเคนดิจิทัล : จะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) ซึ่งถ้าผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นเสียภาษีแล้ว สามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณกำไรเมื่อมีการขายหรือแลกเปลี่ยนได้

          หากเป็นคริปโทเคอร์เรนซี : ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ซึ่งถ้าคริปโตที่ได้รับนั้นเสียภาษีแล้ว สามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณกำไรเมื่อมีการขายหรือแลกเปลี่ยนได้

บิทคอยน์
 

ได้กำไรต้องเสียภาษี แล้วถ้าขาดทุนล่ะ ?


          กรณีมีผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในปีเดียวกันกับกำไร สามารถนำมาหักออกจากกำไรได้ แต่ต้องเป็นธุรกรรมที่กระทำผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือต้องเทรดผ่าน Exchange ของไทย ที่ ก.ล.ต. รับรอง เท่านั้น จึงสามารถนำส่วนที่ขาดทุนมาหักกำไร แล้วค่อยนำไปคำนวณภาษีเงินได้ฯ

          ส่วนคนที่เทรดคริปโตปีที่แล้วขาดทุน พอปีนี้ได้กำไร แบบนี้จะเอาผลขาดทุนของปีก่อนมาหักลบกำไรไม่ได้ เพราะถือเป็นคนละปีภาษี

คิดต้นทุนคริปโตอย่างไร ?


          เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีต้นทุนเท่าไร กรมสรรพากรให้เราเลือกคำนวณต้นทุนได้ 2 วิธี คือ

1. วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average cost)

          คือ การคำนวณต้นทุนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล แต่ละประเภทแบบถัวเฉลี่ย เช่น

          - 3 กุมภาพันธ์ 2564 ซื้อคริปโต 10 เหรียญ ราคาเหรียญละ 20 บาท รวมเป็นเงิน 200 บาท
          - 5 มิถุนายน 2564 ซื้อคริปโต 5 เหรียญ ราคาเหรียญละ 8 บาท รวมเป็นเงิน 40 บาท
          เท่ากับต้นทุนเฉลี่ยของเหรียญนี้จากการซื้อ 2 ครั้ง อยู่ที่ (200+40)/15 = 16 บาท

          - พอ 10 กรกฎาคม 2564 ขายคริปโต 10 เหรียญ ราคาเหรียญละ 30 บาท ได้เงินมา 300 บาท

          เมื่อคิดจากต้นทุน 16 บาท แสดงว่า เหรียญที่ขายไปครั้งนี้จำนวน 10 เหรียญ มีมูลค่า 160 บาท เมื่อขายได้ 300 บาท จึงมีกำไร 300-160 = 140 บาท

          ทั้งนี้ กรณีมีคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลหลายประเภท ให้คำนวณต้นทุนแยกตามเหรียญนั้น ๆ

2. วิธีเข้าก่อน-ออกก่อน (FIFO)

          คือ การคำนวณต้นทุนจากเหรียญที่ซื้อมาก่อนก็จะขายออกไปก่อนตามลำดับ ดังนั้นเหรียญที่เหลืออยู่ ณ วันสุดท้าย ก็คือคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่ซื้อมาครั้งหลังสุด เช่น

          - 3 กุมภาพันธ์ 2564 ซื้อคริปโต 10 เหรียญ ราคาเหรียญละ 20 บาท รวมเป็นเงิน 200 บาท
          - 5 มิถุนายน 2564 ซื้อคริปโต 5 เหรียญ ราคาเหรียญละ 8 บาท รวมเป็นเงิน 40 บาท
          - 10 กรกฎาคม 2564 ขายคริปโต 10 เหรียญ ราคาเหรียญละ 30 บาท ได้เงินมา 300 บาท

          ดังนั้น 10 เหรียญที่ขายไป จะมาจากต้นทุนที่เราซื้อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 คือต้นทุนอยู่ที่ 200 บาท เท่ากับว่าจะได้กำไรจากขายครั้งนี้ 300-200 = 100 บาท

* หมายเหตุ
          - เราสามารถเลือกวิธีคำนวณต้นทุนแบบใดก็ได้ แต่เมื่อเลือกวิธีใดแล้วต้องใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี
          - ต้นทุนยังรวมถึงค่าซื้อและค่าใช้จ่ายในการได้เหรียญมา เช่น ค่าธรรมเนียมและค่าโอน เป็นต้น
          - กรณีถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไปแล้ว สามารถนำเงินที่ถูกหักไว้ มาใช้เป็นเครดิตภาษีในการยื่นแบบภาษีได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถนำไปใช้เป็นต้นทุนได้อีก

ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าไร ?

 
          สำหรับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการลงทุนบิตคอยน์ หรือเงินดิจิทัลอื่น ๆ ก็จะอิงตามฐานภาษีทั่วไป คือ มีเงินได้สุทธิมากกว่า 150,000 บาทต่อปีขึ้นไป โดยสามารถตรวจสอบฐานภาษีที่ต้องจ่ายได้ตามนี้

ภาษีบิทคอยน์

          เช่น ปีนี้ได้กำไรจากการลงทุนรวม 200,000 บาท นำมารวมกับรายได้จากเงินเดือน 300,000 บาท เท่ากับว่าเรามีรายได้ทั้งหมด 500,000 บาท ถ้ามีตัวช่วยลดหย่อนภาษีหรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไปเท่าไรแล้วก็หักลบกันไป เหลือเงินได้สุทธิเท่าไรก็จ่ายภาษีไปตามอัตราก้าวหน้า

          ดังนั้น ถ้าใครมีกำไรเป็นหลักล้านก็มีโอกาสต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 20-35% เลยทีเดียว

ปี 2564 ต้องยื่นภาษีคริปโตแล้วนะ


          ถ้าดูจากแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ปีภาษี 2564 จากเว็บไซต์กรมสรรพากร จะพบว่าประโยชน์ใด ๆ จากคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) ซึ่งเราจะต้องกรอกข้อมูลเงินได้ทั้งหมดที่ได้กำไรจากคริปโทเคอร์เรนซี ในปี 2564 เพื่อคำนวณภาษี

ภาษีคริปโต
ภาพจาก : กรมสรรพากร

ภาษีคริปโต
ภาพจาก : กรมสรรพากร

          แต่หากได้รับคริปโตมาด้วยวิธีอื่น ๆ ก็ให้กรอกข้อมูลให้ตรงกับประเภทเงินได้ เช่น กรณีมีเงินได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซี ที่ได้จากการขุด (Mining) ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)

ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อไร ?


          การยื่นภาษีเงินได้ฯ แบ่งเป็น 2 กลุ่มตามประเภทของเงินได้ ดังนี้

1. ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94)

          สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ที่ได้มาในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ของปีภาษีนั้น และต้องยื่นแบบในเดือนกรกฎาคม-กันยายน ของปีเดียวกัน ประกอบด้วย
          - เงินได้จากการขุดเหรียญ แล้วนำไปขายได้กำไร
          - ได้รับผลตอบแทนจากการนำคริปโทเคอร์เรนซีไปหาประโยชน์ เช่น การทำ Yield Farming หรือ Staking
          - ได้รับเหรียญแจกมาให้ฟรี ๆ หรือได้รับเป็นรางวัลส่งเสริมการขาย

2. ยื่นภาษีประจำปี (ภ.ง.ด.90/91)
         
          สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (1), (2), 4), (8) ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากกำไรทั้งปี โดยต้องยื่นแบบในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ในปีถัดไป

          นั่นหมายความว่า ผู้ที่มีเงินได้ตามมาตรา 40 (8) จะต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง

ถ้าเสียภาษีเกิน ก็ขอคืนเครดิตภาษีได้ !


          เนื่องจากกำไรที่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไปแล้ว แต่บางคนอาจมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเสียภาษี 15% ดังนั้น การยื่นภาษีบุคคลธรรมดาก็สามารถขอคืนเครดิตภาษีได้ และแน่นอนว่าสำหรับคนที่มีรายได้สูงที่มีฐานภาษีมากกว่า 15% ก็ย่อมต้องจ่ายภาษีเพิ่มด้วยตามฐานภาษีของตัวเอง

ใช้หลักฐานอะไรยื่นภาษีบ้าง ?

        
          เราต้องประเมินเองว่ามีกำไรจากการขายคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ในปีนั้น เป็นจำนวนเงินเท่าไร และควรเตรียมหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ต้นทุนในการซื้อและราคาขายเหรียญไว้ โดยมีข้อมูลระบุถึงการทำธุรกรรมซื้อ-ขาย ดังนี้

          - จำนวนที่ซื้อหรือขาย
          - มูลค่าของคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ณ วันที่ทำธุรกรรม
          - อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิง
          - รายละเอียดผู้ซื้อหรือผู้ขาย สำหรับการซื้อ-ขายคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล (ถ้ามี) โดยอาจขอให้  Exchange รวบรวมข้อมูลการซื้อ-ขายคริปโทเคอร์เรนซีของเราไว้ เพื่อใช้ในการประเมินเงินได้ของตัวเอง
          - หลักฐานใบกำกับภาษี หรือใบเสร็จค่าใช้จ่าย
          - หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ถ้ามี)

ภาษีคริปโต ไม่ยื่นกรมสรรพากรได้ไหม ?


          หลายคนที่ลงทุนมักจะคิดว่ากรมสรรพากรคงไม่รู้หรอกว่ามีกำไรจากเทรด เลยคิดว่าไม่ต้องยื่นภาษีก็คงไม่เป็นไร แต่อย่าลืมว่ายังไงเราก็ต้องเอาเหรียญที่มีไปแลกเป็นเงินบาท และโอนเข้าบัญชีธนาคาร เพราะฉะนั้นจะโดนตรวจสอบได้นะว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือเปล่า

          โดยกรมสรรพากรอาจส่งจดหมายมาบอกให้เราอธิบายที่มาของเงินได้ พร้อมโดนภาษีย้อนหลัง ค่าปรับและเงินเพิ่มก้อนโตก็เป็นไปได้ ซึ่งสำหรับคนที่เคยยื่นภาษีเงินได้ฯ อยู่แล้ว กรมสรรพากรจะมีอำนาจในการขอตรวจสอบย้อนหลังได้ 2 ปี และถ้าสรรพากรสงสัยว่าเราจะหนีภาษีก็สามารถขอขยายเวลาตรวจสอบย้อนหลังได้เป็น 5 ปี แต่หากเป็นคนที่ไม่เคยยื่นภาษีเงินได้ฯ เลย ตรงนี้สรรพากรสามารถขอตรวจสอบย้อนหลังได้ถึง 10 ปี

          ดังนั้น ถ้ามีรายได้แล้วไม่ยื่นภาษีฯ คือผิด และมีโทษปรับ เสียเงินเพิ่ม รวมทั้งโทษจำคุกในกรณีจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือฉ้อโกง หรือเจตนาละเลยไม่ยื่นภาษี

คริปโต

รวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาษีคริปโต


1. ถือคริปโตหรือโทเคนไว้เฉย ๆ ยังไม่ได้ขาย จะเสียภาษีไหม ?
 

          แม้ราคาเหรียญจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าต้นทุน แต่ถ้าถือเหรียญไว้โดยยังไม่ได้โอน จะยังไม่ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ฌ) จึงยังไม่ถูกนำไปรวมคำนวณภาษี

2. แลกเปลี่ยนคริปโตมาเป็นเงินบาท เสียภาษีไหม ?

          ถ้าแลกเงินมาได้เกินกว่าที่ลงทุน เช่น นำเงิน 100 บาท ไปซื้อคริปโตได้ 1 เหรียญ ต่อมานำเหรียญดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนกลับเป็นเงินบาทได้ 150 บาท เงินส่วนที่ได้กำไรมา 50 บาท ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ฌ) และต้องนำไปเสียภาษี 

3. นำคริปโตสกุลหนึ่ง ไปแลกเปลี่ยนเป็นอีกสกุลหนึ่ง ต้องจ่ายภาษีไหม ?

          ถือเป็นการโอนเหรียญ ดังนั้นถ้าแลกแล้วได้กำไรจะต้องเสียภาษี ยกตัวอย่าง

          นาย ก. ซื้อเหรียญ A มาในราคา 100 บาท และนาย ข. ซื้อเหรียญ B ราคา 50 บาท ต่อมาทั้งคู่นำเหรียญมาแลกเปลี่ยนกัน ณ วันที่แลกเหรียญ A และเหรียญ B ในราคา 150 บาท ถือว่า

          - นาย ก. มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร จากส่วนที่เกินกว่าส่วนที่ลงทุน 50 บาท

          - นาย ข. มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร จากส่วนที่เกินกว่าส่วนที่ลงทุน 100 บาท

4. ซื้อ-ขายเพื่อเป็นช่องทางเข้า-ออกเงินบาท จาก Exchange ไทย ไปยังต่างประเทศ คิดภาษีไหม ?

          เช่น แลกเงินบาทเป็น BTC บน Exchange ในประเทศ เพื่อโอนไปยัง Exchange ต่างประเทศ และซื้อ-ขายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นในต่างประเทศ แบบนี้ต้องเสียภาษีในกรณีเงินที่ใช้จำหน่าย จ่าย โอน แลกเปลี่ยน มีกำไร

5. กรณีเทรดในกระดานต่างประเทศ เช่น เทรด Binance ต้องเสียภาษีในไทยไหม ?

          ประเด็นนี้ต้องพิจารณา 2 เรื่อง คือ

          - พิจารณาว่าเป็นแหล่งเงินได้ในหรือนอกประเทศ โดยดูจากกระเป๋า Wallet ที่ใช้ในการซื้อ-ขายคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลนั้นอยู่ที่ประเทศใด

          - หากเป็นแหล่งเงินได้ในประเทศก็ต้องเสียภาษีในประเทศไทย แต่หากเป็นแหล่งเงินได้ต่างประเทศ จะเสียภาษีก็ต่อเมื่อในปีภาษีนั้นเราอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 180 วัน และได้โอนเงินกลับเข้ามาที่ประเทศไทยในปีภาษีเดียวกัน แต่ถ้าโอนจาก Exchange ต่างประเทศมาเข้าธนาคารไทย คนละปีภาษีกับปีที่เกิดรายได้ขึ้น แบบนี้จะไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมายื่นคำนวณเพื่อเสียภาษี

6. ขายเหรียญได้กำไร แต่ยังไม่ได้โอนออกจากพอร์ต คิดภาษีด้วยหรือเปล่า ?

          เคสนี้ก็ถือว่ามีเงินได้แล้ว ไม่ว่าจะนำเงินออกจากพอร์ตแล้วหรือไม่ ดังนั้นเราต้องยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90 ในปีที่ขายแล้วได้กำไร

7. ถ้าขุดเหรียญด้วย และได้เหรียญสกุลเดียวกันมาจากวิธีอื่นด้วย จะต้องเสียภาษีอย่างไร ?

          สำหรับนักขุดที่ขายเหรียญได้กำไรจะถือเป็นเงินได้ประเภท 40 (8) และหากยังได้รับเหรียญสกุลเดียวกันมาจากช่องทางอื่นด้วย เช่น มีคนโอนมาให้ ได้รับเป็นรางวัล ได้รับเป็นค่าจ้าง ฯลฯ ที่ถือเป็นเงินได้ประเภท 40 (1) หรือ 40 (2) จะต้องจัดทำบัญชีต้นทุนแยกตามวิธีการที่ได้มาเพื่อยื่นภาษี

          ทั้งนี้ หากเหรียญสกุลนั้นทั้ง 2 กลุ่มมาอยู่ใน Wallet เดียวกัน แล้วขายออกไป เราสามารถเลือกได้ว่าการขายเหรียญนั้นเป็นการขายเหรียญที่ซื้อมาหรือได้รับจากการขุด
 

          จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวคงพอเป็นแนวทางให้นักลงทุนทำความเข้าใจและสามารถยื่นภาษีคริปโตได้ถูกต้อง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสายขุด สายเทรด สายฟาร์ม หรือได้รับเหรียญมาจากช่องทางใด ๆ ที่ทำให้ได้กำไร อย่าลืมดำเนินการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ครบถ้วน



บทความที่เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี
          - วิธียื่นภาษีคริปโต 2564 คิดคำนวณอย่างไรเมื่อเทรดได้กำไร-ขาดทุน
          - บิตคอยน์ (Bitcoin) คืออะไร โอกาสหรือความเสี่ยง เมื่อจะลงทุนเงินดิจิทัลในโลกออนไลน์ 
          - Ethereum คืออะไร กับความน่าสนใจที่ไม่ใช่แค่คริปโทเคอร์เรนซี
          - NFT คืออะไร รู้จักช่องทางสร้างรายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังมาแรง !
          - ขั้นตอนยื่นภาษีออนไลน์ ง่าย ๆ มือใหม่ก็ทำได้ 
          - ลดหย่อนภาษี 2564 มีอะไรบ้าง รู้ไว้ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
          - ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นมีวิธีคำนวณอย่างไร มาดูกันเลย
          - เงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี แล้วแบบนี้ยังต้องยื่นภาษีด้วยไหม ?


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565


 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปภาษีคริปโต เก็บอย่างไร เทรดขาดทุน สายขุด สายฟาร์ม ต้องเสียภาษีไหม อัปเดตล่าสุด 9 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 16:12:46 46,988 อ่าน
TOP
x close