Ethereum คืออะไร กับความน่าสนใจที่ไม่ใช่แค่คริปโทเคอร์เรนซี

          Ethereum คืออะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ต่างกับ Bitcoin ตรงไหน สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง มาทำความรู้จักกัน

 Ethereum

          หากใครติดตามวงการคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ต้องรู้จัก "Ethereum" หรือ "อีเธอเรียม" แน่นอน เพราะมีประเด็นให้พูดถึงกันตลอด ไม่แพ้สกุลเงินรุ่นพี่อย่าง Bitcoin แต่เชื่อว่าคงยังมีคนสงสัยว่า Ethereum มีความพิเศษและแตกต่างจากเงินดิจิทัลสกุลอื่นอย่างไร ทำไมหลายคนต่างจับตามองและได้รับความสนใจ วันนี้กระปุกดอทคอม มีคำตอบมาฝากกัน

Ethereum คืออะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?


          จริง ๆ แล้ว Ethereum ไม่ใช่สกุลเงินอย่างที่ทุกคนเข้าใจ แต่เป็นเครือข่ายระบบปฏิบัติการหนึ่งที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชน (Blockchain) และใช้สกุลเงินดิจิทัลที่เรียกว่า Ether (ETH) เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมบนเครือข่าย Ethereum และเนื่องจากสกุลเงิน ETH เกิดขึ้นมาพร้อมกับเครือข่าย Ethereum นั่นเอง คนจึงเรียก Ethereum ว่าเป็นสกุลเงินดิจิทัลไปด้วย

          ทั้งนี้ Ethereum ถูกพัฒนาขึ้นโดย วีตาลิค บูเจริน (Vitalik Buterin) เด็กหนุ่มอัจฉริยะชาวรัสเซีย ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยอยู่ในทีมพัฒนาของ Bitcoin ก่อนจะแยกตัวออกมาสร้าง Ethereum ในปี 2556 โดยทีมพัฒนาต้องการให้ Ethereum สามารถใช้งานได้ไม่ต่างกับ Bitcoin แต่ปรับปรุงข้อบกพร่องต่าง ๆ และเพิ่มความสามารถของเหรียญให้หลากหลายขึ้น ทำอะไรได้มากกว่า Bitcoin ซึ่งก็ทำได้จริง ๆ เพราะปัจจุบัน Ethereum สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจประเภทต่าง ๆ ไม่จำกัดแค่การใช้ในธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น

Ethereum กับ Bitcoin ต่างกันตรงไหน ?


Ethereum

          Ethereum กับ Bitcoin ต่างก็ทำงานอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain เช่นกัน โดยสามารถขุดเหรียญ ETH และ Bitcoin มาซื้อ-ขายเก็งกำไรได้ รวมถึงมีร้านค้าบางแห่งยอมรับให้สามารถนำมาซื้อสินค้าแทนเงินสดได้แล้วเช่นกัน แต่บิตคอยน์มีจำนวนเหรียญจำกัดเพดานไว้ที่ 21 ล้านเหรียญ ขณะที่ ETH มีจำนวนเหรียญไม่จำกัด

          อย่างไรก็ดี สิ่งที่ Ethereum แตกต่างจาก Bitcoin ก็คือ Ethereum ไม่ได้เป็นสกุลเงินเพียงอย่างเดียวเหมือน Bitcoin แต่มีรูปแบบเป็น Open Source ที่อนุญาตให้ทุกคนเข้ามาพัฒนา สร้างสกุลเงินใหม่ หรือเขียนข้อมูลต่าง ๆ ลงบนเครือข่ายได้ ภายใต้กฎ ERC20 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่นักพัฒนายอมรับร่วมกัน

          จุดนี้เองทำให้เราสามารถสร้างแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ไม่ต้องมีตัวกลางขึ้นมาบนเครือข่าย Ethereum ได้อีกชั้นหนึ่ง โดยเรียกแอปฯ เหล่านี้ว่า "Decentralized Application" หรือ "Dapps" จึงช่วยให้ Ethereum มีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย ต่างจาก Bitcoin ที่เน้นการทำธุรกรรมทางการเงินเพียงอย่างเดียว

          * บิตคอยน์ (Bitcoin) คืออะไร เงินยุคดิจิทัลในโลกออนไลน์...โอกาสหรือความเสี่ยง ?

1 ETH เท่ากับกี่บาท


           เหรียญ Ether เปิดซื้อ-ขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแรกไว้ที่ 1 ETH เท่ากับ 2.83 เหรียญสหรัฐ หรือราว 90 บาท แต่เมื่อกระแสคริปโทเคอร์เรนซีแพร่ไปทั่วโลก มูลค่าของ ETH ก็ขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไปแตะระดับสูงสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่กว่า 4 พันเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 130,000-145,000 บาท)

          ปัจจุบัน (เดือนกันยายน 2564) ราคา 1 ETH อยู่ที่ประมาณ 3,500 เหรียญสหรัฐ หรือราว ๆ 119,000 บาท ถือเป็นเหรียญที่มีการเติบโตสูงมาก เมื่อเทียบกับตอนเปิดตัวเหรียญครั้งแรกในปี 2558 โดย Ethereum มีมูลค่าทางการตลาด (Market cap) เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจาก Bitcoin

ethereum ราคา

ภาพจาก coinmarketcap.com

Ethereum น่าสนใจอย่างไร 


          ความสามารถของ Ethereum เป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะฉะนั้นมาดูกันว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ Ethereum มีความโดดเด่นและเป็นที่จับตามอง

1. ระบบ Smart Contract

Ethereum


          ระบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) นับว่าเป็นความเจ๋งและเป็นความสามารถเฉพาะตัวของ Ethereum ที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานเขียนโปรแกรมลงไปในข้อมูลของเหรียญได้ โดยจะเป็นการสร้างเงื่อนไขขึ้นมาตามที่เรากำหนด เมื่อมีใครทำตามเงื่อนไขนั้นสำเร็จก็จะได้รางวัลที่เรากำหนดไว้เป็นการตอบแทน ทำให้นักพัฒนาจำนวนมากหันมาสนใจ Ethereum และนำระบบ Smart Contract ไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายธุรกิจทั่วโลก เช่น การนำทรัพย์สินหรือสัญญาต่าง ๆ มาเข้าระบบ Smart Contract

          ตัวอย่างของการนำระบบ Smart Contract ไปใช้งานก็อย่างเช่น

          - การชำระค่าเช่าหอพัก โดยเป็นการทำสัญญาในระบบไว้ว่าให้ผู้เช่าโอนเงินจ่ายค่าเช่าภายในวันที่ 30 ของแต่ละเดือน ซึ่งหากมีการโอนเงินเข้ามา Blockchain จะบันทึกข้อมูลไว้ ผู้เช่าก็จะสามารถอาศัยในหอพักได้ตามปกติ แต่หากไม่มีการโอนเงินเข้ามา หรือโอนมาไม่ครบ ระบบก็จะทำการล็อกประตูอัตโนมัติ ไม่ให้ผู้เช่าเข้ามาใช้งานหอพักต่อได้ 

          - การชำระค่าบัตรเครดิต โดยผู้ใช้และธนาคารอาจมีการทำสัญญาร่วมกันไว้ว่าให้ระบบตัดเงินจากบัญชีผู้ใช้อัตโนมัติ เพื่อนำไปชำระค่าบัตรเครดิตทุกสิ้นเดือน โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปธนาคาร หรือโอนเงินด้วยตัวเอง

          - ธุรกิจเช่ารถ อาจมีการออกแบบให้รถยนต์เชื่อมต่อกับระบบ Blockchain ไว้ และจอดทิ้งโดยไม่ต้องมีคนมาคอยเฝ้าก็ได้ เพราะเมื่อมีลูกค้าเห็นรถและสนใจที่จะเช่า ก็เพียงแค่โอนเงินเข้ามาในบัญชีที่เราระบุไว้ ระบบ Smart Contract จะตรวจสอบและเปิดประตูให้ลูกค้าสามารถขับรถออกไปได้เลย

          - NFT (Non-fungible token) คือ เหรียญโทเคนที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหนึ่งเดียวในโลก ไม่สามารถทำซ้ำได้ เช่น งานศิลปะ ที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่ง หนังสือเล่มแรกที่มีลายเซ็นของนักเขียน รวมทั้งพวกของสะสม หรือไอเทมเกมต่าง ๆ ซึ่งเราสามารถนำมาเก็บไว้ในเครือข่าย Ethereum เพื่อใช้เหรียญ ETH ซื้อ-ขายบนแพลตฟอร์มได้

          นอกจากนี้ Smart Contract ยังนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์, โอนเงินข้ามประเทศ, การขอใบอนุญาตต่าง ๆ หรือแม้แต่การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งสัญญาที่เขียนใน Smart Contract จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เหมือนสัญญาที่เขียนในกระดาษ

2. ความนิยมในการระดมทุนผ่าน ICO

          ICO หรือ Initial Public Offering เป็นรูปแบบการระดมทุนแนวใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยจะเป็นการออกเหรียญดิจิทัลชนิดใหม่ขึ้นมา แล้วเปิดขายให้ผู้ที่สนใจนำเงินมาลงทุน เพื่อนำเงินที่ระดมทุนได้ไปต่อยอดธุรกิจ หรือโครงการที่อยากจะทำ และด้วยความสามารถของ Smart Contract นี่แหละ จึงทำให้นักพัฒนาสามารถใช้ Ethereum ออกเหรียญชนิดใหม่เป็นของตัวเองขึ้นมาได้ ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งมีคนใช้ Ethereum ระดมทุนทำ ICO มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อมูลค่าของ Ethereum มากเท่านั้น

          ในประเทศไทยก็มีบริษัทหลายแหล่งเลือกระดมทุนแบบ ICO ด้วยการออกเหรียญผ่านระบบของ Ethereum ไม่ว่าจะเป็น Omise ผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ ที่ออกเหรียญดิจิทัลที่ชื่อ OmiseGo (OMG) หรือ Jmart บริษัทค้าปลีกสินค้าเทคโนโลยี ที่ออกเหรียญดิจิทัลที่ชื่อ JFinCoin 

3. ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทใหญ่ทั่วโลก

          Enterprise Ethereum Alliance (EEA) เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของบริษัทยักษ์ใหญ่และสตาร์ทอัปชั้นนำทั่วโลก เพื่อร่วมกันวิจัยพัฒนา Ethereum ให้ใช้ได้กับธุรกรรมของแต่ละบริษัท ซึ่งมีบริษัทชื่อดังของโลกร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ทั้ง Microsoft, JP Morgan, Toyota และ Intel ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ Ethereum เป็นสกุลเงินที่หลายคนให้การยอมรับ และมองว่ามีเสถียรภาพกว่าสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ จากการที่มีบริษัทชั้นนำเหล่านี้ร่วมพัฒนาอยู่ด้วยนั่นเอง ขณะที่สถาบันการเงินในต่างประเทศก็มีโอกาสใช้บล็อกเชนของ Ethereum ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ มากขึ้น

Ethereum ขุดอย่างไร ลงทุนอย่างไรได้บ้าง


          เราสามารถลงทุนใน Ethereum ได้หลายรูปแบบ อาทิ

1. การขุด (Mining)

อีเธอร์เลียม

          ETH เป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิทัลที่สามารถขุดได้เช่นกัน ซึ่งวิธีการขุดก็ไม่ได้ต่างจาก Bitcoin เลย เพราะมีระบบ Blockchain ทำงานอยู่เบื้องหลังเหมือนกัน โดยนักขุดจะต้องทำการแก้โจทย์สมการในแต่ละ Block ไปเรื่อย ๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีสเปกสูง ๆ เพราะยิ่งเครื่องของเรามีกำลังแรงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ขุดเหรียญออกมาจำนวนเยอะ ๆ ได้ในเวลาอันสั้น หรือใครจะเช่าเหมืองคนอื่นขุดแบบ Cloud Mining ก็ได้เช่นกัน และหากแก้สมการสำเร็จก็จะได้เหรียญ ETH เป็นการตอบแทน
 
          * ขุดบิตคอยน์ (Bitcoin) ทำยังไง ทำไมคนทั่วโลกสนใจเป็นชาวเหมือง ? 

2. เทรดด้วยสกุลเงินอื่น (Trading)

          ใครอยากลงทุน ETH แต่ไม่ชอบความยุ่งยากในการหาคอมพิวเตอร์แรง ๆ ไปขุดเหรียญ ก็สามารถลงทุนแบบสายเทรดได้ โดยการนำเงินสกุลอื่น ๆ ไปแลก ETH มาเก็บไว้ เพื่อเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกของตลาด ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายเว็บไซต์เลยที่เปิดให้บริการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยน ETH

3. ซื้อกองทุนที่ลงทุนใน Ethereum

          ในต่างประเทศมีกองทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนใน Ethereum โดยเฉพาะ เช่น กองทุน Ethereum ETF ของประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นกองทุน Ethereum แรกของโลก รวมทั้งกองทุน Ethereum ETP ในฝั่งยุโรป

4. ลงทุน DeFi

          DeFi (Decentralized Finance) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่คล้ายกับการทำธุรกรรมกับธนาคาร เพียงแต่ทั้งหมดเป็นการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกดิจิทัล ไม่มีตัวกลางเหมือนธนาคาร โดยเราสามารถฝากเงินหรือล็อกเงินดิจิทัลไว้เพื่อรับดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม (Yield Farming / Staking) ให้คนอื่นกู้ยืม (Lending) หรือจะจำนองสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้ ซึ่ง DeFi ส่วนใหญ่จะดำเนินการบนเครือข่าย Ethereum นี่ล่ะ เนื่องจากมี Smart Contract ในการกำหนดสัญญาเงื่อนไขต่าง ๆ 


Ethereum กับความเสี่ยงและข้อจำกัด


 Ethereum

          แม้หลายคนอาจมองว่าอนาคตของ Ethereum น่าจะยังสดใสและไปได้อีกไกล แต่ก็ต้องยอมรับว่าการลงทุนใน Ethereum และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ยังมีความเสี่ยงที่สูงอยู่ รวมทั้งมีข้อจำกัดบางประการที่ควรศึกษาไว้ก่อนลงทุน

          - ราคาที่ผันผวน

          หากเรานั่งดูกราฟราคาของ Ethereum นับตั้งแต่เปิดการซื้อ-ขาย ก็จะพบเลยว่าราคามีความผันผวนสูงมากไม่ต่างจากสกุลเงินดิจิทัลชนิดอื่นเลย เรื่องนี้จึงยังเป็นสิ่งที่หลายคนกังวล บวกกับการประเมินมูลค่าของเงินดิจิทัลก็ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และไม่มีใครประเมินได้ว่ามูลค่าที่แท้จริงของ Ethereum ที่ควรจะเป็นคือเท่าไหร่กันแน่

          - ค่าธรรมเนียมสูง

          เนื่องจากมีผู้ทำธุรกรรมจำนวนมาก ดังนั้นการประมวลผลเพื่อตรวจสอบแต่ละธุรกรรมจึงต้องใช้เวลานาน แต่ถ้าใครยอมจ่ายค่าธรรมเนียม หรือที่เรียกว่า Gas fee ให้นักขุดแพงกว่า ก็จะได้รับการยืนยันให้ก่อน เปรียบเหมือนการประมูลแย่งกันทำธุรกรรม เลยทำให้ค่า Gas สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทุกคนยอมจ่ายเพื่อให้งานเดิน ส่วนคนที่ไม่จ่ายก็ต้องรอต่อไป โดยไม่รู้ว่าธุรกรรมของเราจะได้รับการยืนยันเมื่อไร อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 Ethereum ได้อัปเกรดตัวเอง โดยสร้าง EIP-1559 ขึ้นมาเพื่อทำให้ค่า Gas ผันผวนน้อยลง ซึ่งต้องติดตามว่าจะแก้ปัญหานี้ได้มาก-น้อยแค่ไหน

          - ความสามารถในการรองรับธุรกรรมจำนวนมาก ๆ

          แน่นอนว่ายิ่งมีคนใช้งานบนระบบของ Ethereum มากขึ้น ย่อมเป็นผลดีแน่นอน แต่ปัญหาคือ Ethereum จะมีศักยภาพรองรับคำสั่งที่พร้อมกันเป็นจำนวนมาก ๆ ได้ดีพอหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้ก็เคยทำให้ระบบของ Ethereum เกิดปัญหามาแล้ว นำมาซึ่งการพัฒนาเป็น Ethereum 2.0 หรือ ETH2 เปลี่ยนจากการใช้กลไก Proof of Work มาเป็น Proof of Stake ช่วยให้ประมวลผลได้เร็วขึ้น โดยประหยัดพลังงานมากกว่า และสามารถยืนยันธุรกรรมได้เร็วกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ Ethereum 2.0 ยังอยู่ในช่วงพัฒนาระบบ

          - ยังไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

          แม้ในประเทศไทยจะมีศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) คอยควบคุมดูแลอยู่ แต่ถ้าพูดถึงการนำสกุลเงินดิจิทัลไปใช้จริง ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับ โดยธนาคารแห่งประเทศไม่สนับสนุนให้ใช้คริปโตมาชำระเงินในกฎหมาย เนื่องจากมองว่าสกุลเงินดิจิทัลมีราคาผันผวน มีความเสี่ยงด้านไซเบอร์ และอาจถูกใช้ในการฟอกเงินได้ นำมาซึ่งการจัดทำโครงการซีบีดีซี (CBDC : Central Bank Digital Currency) คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางแต่ละประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้เงินดิจิทัลในอนาคต
 

         จะเห็นว่าตอนนี้โลกการเงินดิจิทัลไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และกำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องนี้เอาไว้บ้างก็ไม่เสียหาย ส่วนใครที่คิดจะเข้าไปลงทุนในธุรกิจนี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเงินดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนลงทุน ไม่อย่างนั้นอาจหมดตัวเอาได้ในพริบตา


บทความที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency

          - บิตคอยน์ (Bitcoin) คืออะไร เงินยุคดิจิทัลในโลกออนไลน์...โอกาสหรือความเสี่ยง ?
 
          - ขุดบิตคอยน์ (Bitcoin) ทำยังไง ทำไมคนทั่วโลกสนใจเป็นชาวเหมือง ?
 
          - เล่นคริปโต เทรดบิตคอยน์ต้องเสียภาษีไหม ไขข้อสงสัยให้นักลงทุน !
 
          - ก.ล.ต. ร่างกฎคุมนักลงทุน คริปโทเคอร์เรนซี ต้องมีรายได้เกิน 1 ล้านต่อปี - ผ่านบททดสอบ
 
          - ธปท. ยืนยัน ยังไม่สนับสนุนคริปโต ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย พร้อมยก 3 เหตุผล


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 17 กันยายน 2564


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Ethereum คืออะไร กับความน่าสนใจที่ไม่ใช่แค่คริปโทเคอร์เรนซี อัปเดตล่าสุด 17 กันยายน 2564 เวลา 17:32:08 103,723 อ่าน
TOP
x close