บิตคอยน์ (Bitcoin) คืออะไร โอกาสหรือความเสี่ยง เมื่อจะลงทุนเงินดิจิทัลในโลกออนไลน์

          บิตคอยน์ (Bitcoin) คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ใครเป็นผู้คิดค้น เล่นบิตคอยน์รวยจริงหรือ ทำไมถึงมีความสำคัญกับระบบการเงินโลก เรามาเริ่มทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กัน

บิทคอยน์

        ยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องกับสกุลเงินรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า "บิตคอยน์ (Bitcoin)" หลังจากมีการพูดถึงกันเป็นวงกว้างว่า บิตคอยน์อาจจะเปลี่ยนระบบการเงินของโลกไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งต้องบอกก่อนว่าบิตคอยน์ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะถูกคิดค้นมาตั้งแต่ปี 2552

          แต่สำหรับมือใหม่หลายคนอาจสงสัยอยู่ว่า บิตคอยน์คืออะไร มาจากไหน ใครเป็นผู้คิดค้น และมีความสำคัญยังไง วันนี้กระปุกดอทคอม มีคำตอบมาฝากกันครับ

บิทคอยน์ (Bitcoin)
 

บิตคอยน์ (Bitcoin) คืออะไร ?


          บิตคอยน์ (Bitcoin) คือ สกุลเงินสมมติที่ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบดิจิทัล เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยไม่ขึ้นกับสกุลเงินใด ๆ ไม่มีรูปร่างและไม่สามารถจับต้องได้เหมือนธนบัตรหรือเหรียญทั่วไป โดยบิตคอยน์มีหน่วยเงินตราเป็น BTC เหมือน ๆ กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ใช้หน่วยเงินตราเป็น USD สกุลเงินเยนของญี่ปุ่นที่ใช้ JPY หรือสกุลเงินบาทไทยที่ใช้เป็น THB นั่นเอง ซึ่งบิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และเริ่มถูกนำไปใช้แลกเปลี่ยนซื้อ-ขายสินค้ากันจริง ๆ ในโลกออนไลน์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
       
          ทั้งนี้ บิตคอยน์ถือว่าเป็นเงินตราอิเล็กทรอนิกส์ (Cryptocurrency) สกุลหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีสกุลเงินอื่น ๆ อีกมากมายที่ถูกคิดค้นขึ้นมา อาทิ สกุลเงิน Ethereum ที่ใช้ตัวย่อว่า ETH, สกุลเงิน Ripple ที่ใช้ตัวย่อว่า XRP และสกุลเงิน Litecoin ที่ใช้ตัวย่อว่า LTC แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบิตคอยน์ยังคงเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมสูงสุด
     
          โดยบิตคอยน์เริ่มมาเป็นกระแสในเมืองไทย เนื่องจากมีกลุ่มแฮกเกอร์ได้ปล่อยไวรัสเรียกค่าไถ่ "WannaCry" ซึ่งได้เรียกเก็บเงินกับผู้ที่ติดไวรัสเป็นสกุลเงินบิตคอยน์ ทำให้สกุลเงินนี้เป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก

บิทคอยน์ (Bitcoin)
 

บิตคอยน์ (Bitcoin) เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?


          บิตคอยน์เกิดจากแนวคิดที่ว่ามีคนต้องการระบบเงินใหม่ที่ไม่ถูกตรวจสอบขึ้นมา จากเดิมที่มีระบบธนาคารกลางเป็นผู้ดูแล และมีหน้าที่กำหนดมาตรฐาน รวมถึงมูลค่าของเงิน ทำให้ธุรกรรมทางการเงินทุกอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ในสายตาของธนาคารกลางนั่นเอง แต่กระบวนการเหล่านี้อาจจะไม่ค่อยถูกใจบรรดาธุรกิจใต้ดิน เพราะต้องระบุตัวตน เวลาโอนเงินก็ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้ถูกตรวจสอบได้ง่าย

          ดังนั้นจึงมีหลาย ๆ คนพยายามจะสร้างสกุลเงินใหม่ที่ไม่ผ่านระบบธนาคารกลาง และเป็นที่ยอมรับใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยมีโปรแกรมเมอร์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ใช้นามแฝงว่า ซาโตชิ นากาโมโต้ ได้สร้างระบบที่เรียกว่า "Blockchain" ออกมา ซึ่งเป็นระบบเพื่อป้องกันการเกิดภาวะเงินเฟ้อและเสื่อมค่าลงอย่างรวดเร็วของสกุลเงินดิจิทัลจากการปั๊มเงินออกมาเรื่อย ๆ ได้ตามใจชอบ โดยนำระบบการทำงานของอัลกอริทึมมาใช้ แล้วกำหนดปริมาณเงินในระบบไว้ไม่ให้เกิน 21 ล้านหน่วย ทำให้บิตคอยน์เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากมีระบบป้องกันเงินเฟ้อนั่นเอง

บิทคอยน์ (Bitcoin)
 

บิตคอยน์ (Bitcoin) ขุดยังไง เล่นแล้วรวยจริงหรือ ?


          หลังจากที่บิตคอยน์เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมีหลายคนเริ่มเห็นโอกาสในการทำกำไร ซึ่งก็มีคนที่ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยกับบิตคอยน์ไปไม่น้อยเลยทีเดียว โดยการลงทุนในบิตคอยน์นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธีหลัก ๆ ดังนี้

          1. การขุด (Mining)

          อย่างที่บอกไปข้างต้นคือ บิตคอยน์ถูกดูแลภายใต้ระบบ Blockchain ที่ทำงานโดยอัลกอริทึม "การขุดคอยน์" อธิบายง่าย ๆ ก็คล้าย ๆ กับการที่เราเข้าไปขุดทองในเหมือง แต่แค่เปลี่ยนรูปแบบมาทำในระบบคอมพิวเตอร์แทน โดยจะต้องนำคอมพิวเตอร์ของเราไปเป็นเซิร์ฟเวอร์ให้ระบบบิตคอยน์ใช้ในการเก็บธุรกรรมต่าง ๆ จึงจะได้รับค่าตอบแทนคือเงินบิตคอยน์ แต่การจะได้ค่าตอบแทนนั้นจะต้องแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์ให้ได้ ซึ่งต้องแข่งกับคนอื่น ถ้าทำสำเร็จเราก็จะเป็นเจ้าของบิตคอยน์ที่เกิดขึ้นมาใหม่จากการขุดนั่นเอง

          สำหรับความยาก-ง่ายของการขุดขึ้นอยู่กับจำนวนบิตคอยน์ที่เหลืออยู่ในระบบที่ถูกกำหนดสูงสุดไว้ที่ 21 ล้านหน่วย เพราะฉะนั้นยิ่งจำนวนบิตคอยน์เหลือน้อย การแก้สมการก็ยิ่งยากมากขึ้น รวมถึงความแรงของการประมวลผลคอมพิวเตอร์เราด้วยที่ต้องมากขึ้นตามความยากของการขุด ทำให้เราเห็นข่าวเรื่องที่คนหันมาซื้อการ์ดจอแรง ๆ เพื่อมาแข่งกันขุดบิตคอยน์นั่นเอง คอมพิวเตอร์ของใครแรงกว่าก็จะมีโอกาสแก้สมการได้เร็วกว่า ส่วนจำนวนเงินที่ได้จากการขุดถูกกำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งช่วงแรกจะได้ครั้งละ 50 BTC โดยจำนวนเงินที่ได้จะค่อย ๆ ลดลงครึ่งหนึ่งทุก 4 ปี โดยตั้งแต่ปี 2020 จะเหลือแค่ 6.25 BTC และในปี 2024 จะเหลือเพียง 3.125 BTC

          ทั้งนี้ จากข้อมูลในเดือนพฤศจิกายน 2567 มีการขุดไปแล้ว 19.8 ล้าน BTC จึงเหลืออยู่ในระบบเพียง 1.1 ล้าน BTC ดังนั้นโอกาสรวยจากการขุดหาบิตคอยน์จึงยากมากขึ้น 

บิทคอยน์ (Bitcoin)

          2. เทรดบิตคอยน์

          หากใครที่ไม่มีคอมพิวเตอร์แรง ๆ หรือเครื่องขุด ASIC ไปขุดบิตคอยน์ เราอาจใช้วิธีเทรดบิตคอยน์ตามตลาดซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ก็ได้ เริ่มจากสมัครสมาชิกในเว็บไซต์ที่ได้รับใบอนุญาตจากศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ซึ่งมีอยู่มากมาย (ตรวจสอบรายชื่อทั้งหมดได้ที่นี่)

          เมื่อสมัครสมาชิกแล้วเราสามารถฝากเงินเข้าพอร์ต แล้วซื้อบิตคอยน์ไว้เก็งกำไรเหมือนกับการซื้อหุ้นอย่างไรอย่างนั้น จะถือสั้น ถือยาว ก็แล้วแต่สไตล์ของเรา ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นอยู่กับกลไกการตลาดกำหนด คือช่วงเวลาไหนที่ได้รับความนิยมสูง มูลค่าของบิตคอยน์ก็จะสูงขึ้นตาม

         นอกจากการขุดแล้ว เรายังสามารถสร้างกำไรในรูปแบบอื่น ๆ ได้อีก เช่น การให้กู้ยืมบิตคอยน์ การ Staking คือ ล็อกเหรียญของเราไว้ ไม่นำไปใช้เพื่อรับดอกเบี้ย เป็นต้น

1 บิตคอยน์ เท่ากับกี่บาท ?


          มูลค่าของบิตคอยน์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเหมือนสกุลเงินอื่น ๆ ตามกลไกตลาด หรือที่เราเรียกว่าหลัก Demand Supply คือ ช่วงไหนที่ความต้องการบิตคอยน์มีมากกว่าปริมาณบิตคอยน์ที่มีในระบบก็จะส่งผลให้มูลค่าบิตคอยน์เพิ่มขึ้น เช่น ในช่วงที่มัลแวร์เรียกค่าไถ่ด้วยเงินบิตคอยน์ กลับกันหากบิตคอยน์ในระบบมีมากเกินความต้องการก็จะทำให้มูลค่าลดลง

           ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนแรกของบิตคอยน์ถูกกำหนดขึ้นในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ 1 BTC เท่ากับ 0.000764 USD กระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2553 บิตคอยน์สามารถเพิ่มมูลค่าอย่างรวดเร็วเป็น 1 BTC เท่ากับ 0.50 USD และค่อย ๆ มีมูลค่าขึ้นมาเรื่อย ๆ 

          โดยราคาบิตคอยน์ดีดตัวขึ้นแรงในช่วงปี 2560 และทำสถิติไว้ราว 20,000 USD ต่อ 1 BTC หรือกว่า 600,000 บาท เลยทีเดียว จากการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุน แม้จะมีกระแสคำเตือนต่าง ๆ จากนักวิเคราะห์ว่าอาจเกิด "ภาวะฟองสบู่" กับตลาดบิตคอยน์ ก่อนที่สุดท้ายบิตคอยน์จะร่วงลงอย่างหนักตลอดปี 2561-2562 ทำจุดต่ำสุดที่ประมาณ 3,200 USD ส่งผลให้นักลงทุนขาดทุนยับเยิน

          ราคาบิตคอยน์ยังผันผวนต่อเนื่อง จนประมาณกลางปี 2563 ราคาเริ่มดีดตัวกลับขึ้นมาเรื่อย ๆ และสร้างสถิติใหม่ในเดือนธันวาคม 2563 ที่มีมูลค่าทะลุไปกว่า 27,000 USD ต่อ 1 BTC หรือกว่า 800,000 บาท เลยทีเดียว ก่อนจะพุ่งแตะหลักล้านเป็นครั้งแรกในวันที่ 3 มกราคม 2564 โดยทำสถิติสูงสุดที่ 34,800 USD คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.01 ล้านบาท 

          กระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บริษัท เทสลา อิงค์ ของอีลอน มัสก์ ค่ายรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของโลก ได้เข้าซื้อบิตคอยน์มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท) และประกาศว่าจะให้ลูกค้าใช้เงินบิตคอยน์ซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้ด้วย เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นไปเกิน 47,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.4 ล้านบาท) ต่อ 1 บิตคอยน์ ทำนิวไฮอีกครั้ง และยังคงพุ่งต่อเนื่องในเดือนเมษายน 2564 เมื่อทะยานไปแตะระดับ 2 ล้านบาท ต่อ 1 บิตคอยน์ เรียบร้อย

          ทว่าในเดือนพฤษภาคม 2565 ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีกลับถูกเทอย่างหนัก ทำให้ราคาเหรียญต่าง ๆ ดิ่งลงเหวไปตาม ๆ กัน แม้กระทั่งบิตคอยน์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาด หรือ มาร์เกตแคป สูงที่สุดก็ยังต้านไม่ไหว จนราคาหลุด 1 ล้านบาท

          ในช่วงปลายปี 2566 ราคาบิตคอยน์กลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้งต่อเนื่องไปถึงปี 2567 และทำจุดสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่ราคาประมาณ 73,835 ดอลลาร์สหรัฐ อานิสงส์จากการเกิดขึ้นของกองทุน Spot Bitcoin ETF ในสหรัฐอเมริกา 

          ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2567 หลังจากการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา และโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะ บิตคอยน์ ยังคงสร้างสถิติราคาสูงสุดตลอดกาลครั้งใหม่ (All Time High) โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 บิตคอยน์ทำราคาสูงสุดอยู่ที่ 89,604.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 BTC หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.1 ล้านบาทเลยทีเดียว

บิตคอยน์ (Bitcoin) ผิดกฎหมายไหม เป็นที่ยอมรับหรือยัง ?


          ด้วยความนิยมที่สูงขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลในประเทศไทย ทำให้เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกมาให้ความชัดเจนแล้วว่าสามารถซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยได้อย่างถูกกฎหมาย ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดยต้องผ่าน 7 สกุลเงินดิจิทัลที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งบิตคอยน์ก็เป็นหนึ่งในนั้น 

           - รู้จัก 7 สกุลเงินดิจิทัลที่ "ก.ล.ต." อนุญาตให้ซื้อ-ขายได้

          อย่างไรก็ตาม ธนาคาร สถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ต้องการระดมทุนและให้บริการแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ จะต้องยื่นขออนุญาตจากทาง ก.ล.ต. ก่อน

          ขณะเดียวกันปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยอมรับบิตคอยน์อย่างถูกกฎหมาย อาทิ ประเทศในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการหลายรายที่ยอมรับการชำระสินค้าเป็นเงินสกุลบิตคอยน์ เช่น KFC, Burger King, Dell, Expedia, Greenpeace, Wikipedia รวมทั้ง PayPal

บิทคอยน์ (Bitcoin)

บิตคอยน์ (Bitcoin) โอกาสหรือความเสี่ยง ?


          สำหรับการใช้บิตคอยน์ หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ นำมาซึ่งความสะดวกในหลายด้าน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องพกเงินสด อยากโอนให้ใครบนโลกนี้ก็ทำได้ง่าย ๆ ไม่ต่างจากการส่งอีเมล และนับวันสกุลเงินดิจิทัลก็ค่อย ๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น
       
          แต่ความเสี่ยงของเงินสกุลนี้ก็ยังมีอยู่มากเช่นกัน โดยเฉพาะค่าเงินที่ผันผวนเป็นอย่างมาก โดยบิตคอยน์เคยร่วงถึง 20% ภายใน 2 วัน และเคยร่วงถึง 800 USD ภายในชั่วโมงเดียว ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเงินสกุลปกติ หรือการลงทุนในหุ้นที่เฉลี่ยต่อวันจะเปลี่ยนแปลงไม่ถึง 5% 
    
          นอกจากนี้เหรียญคริปโตยังเป็นช่องทางการฟอกเงินอีกหนึ่งรูปแบบ รวมทั้งยังเป็นช่องทางให้เกิดการโจรกรรมทางอินเทอร์เน็ต เพราะไม่มีการระบุข้อมูลของผู้ใช้ การจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษจึงทำได้ยากนั่นเอง ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย จากการที่บิตคอยน์ไม่มีตัวตนจริง จึงมีโอกาสสูญหายได้หากถูกโจมตีจากไวรัสที่ต้องการเข้ามาป่วนระบบ รวมถึงการที่ธนาคารกลางของประเทศหลายประเทศยังไม่สามารถควบคุมปริมาณเงินในระบบให้มีเสถียรภาพได้ด้วย


          ต้องบอกว่าปัจจุบันบิตคอยน์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากชีวิตประจำวันของทุกคนต้องข้องเกี่ยวกับระบบอินเทอร์เน็ตแน่นอน และบิตคอยน์คงจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ กับระบบการเงินของโลกในอนาคต ซึ่งการเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องนี้เอาไว้ก็ไม่เสียหาย เพราะใครจะไปรู้ว่าอนาคตข้างหน้า "บิตคอยน์" อาจกลายเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้กันอย่างแพร่หลายก็ได้ แต่สำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนหรือเก็งกำไรควรจะต้องศึกษาข้อมูลและหาความรู้เพิ่มเติมอย่างละเอียด ไม่เช่นนั้นอาจจะหมดตัวได้ง่าย ๆ


บทความที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซี

          - คริปโต คืออะไร…สรุป 10 เรื่อง Cryptocurrency แบบง่าย ๆ ฉบับมือใหม่ควรรู้
          - ขุดบิตคอยน์ (Bitcoin) ทำยังไง ทำไมคนทั่วโลกสนใจเป็นชาวเหมือง ?
          - Ethereum คืออะไร กับความน่าสนใจที่ไม่ใช่แค่คริปโทเคอร์เรนซี
          - วิธียื่นภาษีคริปโต 2564 คิดคำนวณอย่างไรเมื่อเทรดได้กำไร-ขาดทุน
          - NFT คืออะไร รู้จักช่องทางสร้างรายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังมาแรง !



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บิตคอยน์ (Bitcoin) คืออะไร โอกาสหรือความเสี่ยง เมื่อจะลงทุนเงินดิจิทัลในโลกออนไลน์ อัปเดตล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2567 เวลา 12:03:20 538,634 อ่าน
TOP
x close