ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงไป ส่งผลกระทบกับเงินในกระเป๋าของเราหรือไม่ ทำความเข้าใจกับสภาวะค่าเงินบาทอ่อนตัว ที่อาจเป็นวิกฤตของหลายคน แต่ก็เป็นโอกาสของอีกหลายธุรกิจ
ทุกครั้งที่มีข่าว "ค่าเงินบาทอ่อน" ย่อมส่งผลให้เกิดความกังวลขึ้นในภาคธุรกิจ การค้า การเงิน ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง ยิ่งทำให้ชาวบ้านอย่างเรา ๆ กังวลตามไปด้วยว่า การที่ค่าเงินบาทร่วงหนักขนาดนี้จะส่งผลกระทบกับเงินในกระเป๋าเราไปด้วยหรือไม่ หรือก่อนอื่น เราควรศึกษาก่อนว่า ค่าเงินบาทอ่อนคืออะไร เราควรปรับตัวอย่างไร และจะมองหาโอกาสเพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าของเราจากสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นวิกฤตนี้ได้หรือไม่ มาทำความเข้าใจกัน
ค่าเงินบาทอ่อน คืออะไร
ค่าเงินอ่อนตัว หมายถึง อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar) เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ทำให้เงินบาทมีค่าลดลง เช่น จากเดิม 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 30 บาท แต่เมื่อค่าเงินบาทลดลง 5 บาท ก็จะทำให้จากเดิมที่ต้องใช้เงิน 30 บาทในการแลกเปลี่ยนกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ กลับต้องใช้เงินเพิ่มเป็น 35 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่าเดิม
ค่าเงินบาทอ่อน สาเหตุเกิดจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
- มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสูง
- ชาวต่างชาติต้องการซื้อสินค้าไทยน้อยลง มาท่องเที่ยวในประเทศไทยน้อยลง ทำให้ความต้องการเงินบาทลดลงไปด้วย
- คนไทยต้องการขายเงินบาท แล้วนำไปซื้อเงินสกุลต่างประเทศ เพื่อนำไปลงทุนในต่างประเทศ
- ปริมาณเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาในประเทศลดลง หรือมีการไหลออกของเงินลงทุน เช่น ปรับลดการถือครองหุ้นไทย หรือพันธบัตรไทย แล้วนำเงินที่มาลงทุนกลับประเทศ
- มีการเก็งกำไรกับค่าเงิน
- เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น จากสัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในสหรัฐอเมริกา
- การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
ค่าเงินบาทอ่อน มีผลเสียหรือผลกระทบอย่างไรบ้าง
หากค่าเงินบาทอ่อนตัวเร็วเกินไปจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจหลายด้าน และมีผู้เสียประโยชน์หลายกลุ่ม อาทิ
นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเเพงขึ้น
โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เครื่องจักร
หรือปัจจัยการผลิตในสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ
รวมถึงอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนสินค้าแบรนด์เนม
สินค้าฟุ่มเฟือยหรูหรา ดังนั้น ช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อน
เราควรหยุดช้อปสินค้าดังกล่าว หรือซื้อเฉพาะตามความจำเป็น
นำเข้าน้ำมันเเพงขึ้น
ทำให้ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าขนส่งแพงขึ้น ผลกระทบต่อมาก็คือ
ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็ต้องใช้สินค้าแพงขึ้น
ถือเป็นผลโดยตรงที่เห็นชัดที่สุดกับประชาชนหลังการที่ค่าเงินบาทอ่อนลง
ปัญหาเรื่องการใช้หนี้ต่างประเทศ
ภาครัฐและเอกชนที่เป็นลูกหนี้ของต่างประเทศ
จะต้องใช้เงินมากขึ้นในการใช้หนี้เดิมที่มีอยู่ เช่น จากเดิม 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 30 บาท ถ้ากู้ยืมมา 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับเราเป็นหนี้ 30 ล้านบาท แต่หากเงินบาทอ่อนค่าเป็น 35 บาท เราจะต้องชดใช้หนี้เพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านบาท
ปัญหาเรื่องการท่องเที่ยว และการไปศึกษายังต่างประเทศ
เนื่องจากค่าเดินทาง ค่าที่พัก การช้อปปิ้ง
หรือค่าใช้จ่ายจากต้นทุนด้านการศึกษาจะสูงข้น ทำให้ต้องจ่ายเงินมากขึ้น
ดังนั้น การเดินทางไปต่างประเทศในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนลงเช่นนี้
ควรไปเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ เช่น ไปเพื่อติดต่อธุรกิจการค้า
ค่าเงินบาทอ่อน มีผลดีกับใคร ในด้านไหนบ้าง
คราวนี้มาดูว่า ใครหรือธุรกิจประเภทไหนที่จะได้รับผลดีจากการที่เงินบาทอ่อนค่า
ผู้ที่ทำธุรกิจส่งออก
เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกถึง
75% การส่งออกเปรียบเสมือนหัวใจของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อค่าเงินลดลง
ผู้ส่งออกก็จะได้กำไรมากขึ้น
เช่น จากเดิมขายส่งออกสินค้าชิ้นละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ แลกเป็นเงินไทยได้ 3,000 บาท แต่หากค่าเงินบาทอยู่ที่ 35 บาท การขายสินค้า 1 ชิ้น จะได้เงินเพิ่มเป็น 3,500 บาท จึงถือเป็นช่วงเวลาทองสำหรับผู้ส่งออกและการค้าขายกับต่างประเทศที่จะเร่งทำกำไร
การท่องเที่ยว
เมื่อค่าเงินอ่อนตัวลง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการท่องเที่ยวในเมืองไทยถูกลง
ก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
สร้างโอกาสทางการค้าให้กับธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศ ทั้งสายการบิน
การเดินทางรูปแบบต่าง ๆ ธุรกิจโรงแรม ที่พัก บังกะโล รวมถึงอาหารการกิน
ของฝาก ของที่ระลึก ได้ใช้โอกาสทองนี้ทำกำไร
เพิ่มยอดขายอสังหาริมทรัพย์จากชาวต่างชาติ
เมื่อค่าเงินบาทถูกลง นักท่องเที่ยวและนักลงทุนชาวต่างชาติ
จะนิยมซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทำให้ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ เช่น
คอนโด บ้านพักตากอากาศ สามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากจีน ฮ่องกง สิงคโปร์
เป็นลูกค้าหลักที่เข้ามาซื้อคอนโดในกรุงเทพฯ และภูเก็ต เก็บไว้
เพื่อใช้เป็นที่พักยามมาเที่ยวเมืองไทย
กลุ่มธุรกิจที่มีการขายสินค้าอิงเป็นเงินสกุลดอลลาร์
หากธุรกิจใดที่ซื้อขายกับต่างชาติโดยใช้สกุลเงินดอลลาร์
ก็สามารถนำมาเเลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
เมื่อค่าเงินอ่อนตัวลง กำไรก็ย่อมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เช่น
กลุ่มก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี
นักลงทุน หรือนักเก็งกำไร
ผู้ที่ซื้อเงินดอลลาร์เก็บไว้ตอนที่ค่าเงินบาทแข็ง
เมื่อค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ก็สามารถนำเงินดอลลาร์ กลับมาขาย แลกเป็นเงินบาท
ได้กำไรเพิ่มมากขึ้น
คนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ หรือคนที่อยู่ในไทย แต่รับเงินเป็นสกุลต่างประเทศ
คนกลุ่มนี้สามารถนำรายได้ที่ได้รับมาเป็นสกุลเงินต่างประเทศ กลับมาแลกเป็นเงินบาทได้จำนวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินบาทอ่อนตัว หรือแข็งค่าเร็วเกินไป จะเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะเข้ามาดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากจนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
บทความที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ
- ค่าเงินบาทแข็งขนาดนี้ จะไปเที่ยวที่ไหนดี ?
- ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลอะไรกับเราบ้าง ?
- ลดดอกเบี้ยนโยบาย มีผลอย่างไร จะกระทบกับเงินของเราไหม ?
- เงินเฟ้อ คืออะไร ? ส่งผลกระทบอย่างไรกับ "เรา"
- ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลอะไรกับเราบ้าง ?
- ลดดอกเบี้ยนโยบาย มีผลอย่างไร จะกระทบกับเงินของเราไหม ?
- เงินเฟ้อ คืออะไร ? ส่งผลกระทบอย่างไรกับ "เรา"