ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลอะไรกับเราบ้าง ?

          ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คำนี้หมายความว่าอย่างไร แล้วจะกระทบอะไรต่อเราบ้าง มีผลกับสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถหรือเปล่า มาคลายข้อสงสัยกัน 

ขึ้นดอกเบี้ย

          เมื่อได้ยินข่าวว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) หรือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของประเทศไทย ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากเป็นคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวเศรษฐกิจอยู่เสมอ คงสงสัยอยู่เหมือนกันว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลอะไรกับเราบ้าง ดอกเบี้ยที่ไปกู้ซื้อบ้าน-ซื้อรถ จะเพิ่มด้วยหรือเปล่า ของจะแพงขึ้นไหม กระปุกดอทคอม มีคำตอบเรื่องนี้มาฝาก

ดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร


          ก่อนอื่นทำความเข้าใจก่อนว่า ดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเป็นผู้กำหนดขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั่วไปแล้วช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา แบงก์ชาติมักจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและภาคเอกชนถอนเงินไปใช้จ่าย และลงทุนมากขึ้น เพราะฝากเงินไว้กับธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยนิดเดียว เป็นการช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
 
          กลับกันเมื่อเศรษฐกิจโตเกินไป เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง แบงก์ชาติก็จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดปริมาณเงินในระบบลง เป็นการจูงใจให้ประชาชนออมเงินมากขึ้น ก็จะทำให้การใช้จ่ายในครัวเรือนลดลง เมื่อดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น คนขอสินเชื่อน้อยลง การลงทุนต่าง ๆ ก็จะลดลง จึงช่วยชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้เงินเฟ้อลดลงได้

          อย่างไรก็ดี ดอกเบี้ยนโยบาย กับ ดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ที่ธนาคารคิดกับลูกค้า เป็นคนละตัวกัน แต่ปกติแล้วเมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สถาบันการเงินต่าง ๆ ก็มักจะมีการปรับดอกเบี้ยตามไปในทิศทางเดียวกัน   

ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลกระทบอะไรบ้าง ?


          การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่ละครั้ง จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมากในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการทำธุรกิจ การลงทุน ไม่เว้นแม้แต่คนอย่างเรา ๆ ทั่วไป เพราะฉะนั้น มาดูกันว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ จะส่งผลต่ออะไรบ้าง

• ดอกเบี้ยเงินฝาก 

ขึ้นดอกเบี้ย
 
         การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ธนาคารต่าง ๆ ทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามไปด้วย ผลที่ตามมา คือ คนอาจจะย้ายเงินจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่น เช่น หุ้น กองทุนรวม ทองคำ มาฝากกับธนาคารมากขึ้น เพราะได้ผลตอบแทนที่น่าสนใจและเสี่ยงน้อยกว่านั่นเอง 
 
• สินเชื่อบ้าน-สินเชื่อรถ

ขึ้นดอกเบี้ย

          เมื่อธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว ก็จะมีการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ตาม เพื่อรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยไว้ เพราะเป็นจุดที่สร้างกำไรให้ธนาคาร ทำให้คนที่กำลังผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือมีแผนจะกู้เงินอยู่ จะได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน เพราะหากธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็จะทำให้ภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายเพิ่มตาม หากสัญญาที่เราทำไว้เป็นแบบ "ดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว" (Floating Rate) ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับการกู้ซื้อบ้านและคอนโดมิเนียม แต่หากใครเป็น "ดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่" (Fixed Rate) ที่มักเป็นสัญญากู้ซื้อรถ ก็สบายใจได้ ไม่มีผลกระทบอะไรอยู่แล้ว 

• ผู้ประกอบการที่กู้เงินมาลงทุน

          บริษัทไหนที่กู้เงินกับธนาคารมาลงทุนอยู่ บอกได้เลยว่ามีผลแน่ ๆ เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น อีกทั้งอาจทำให้หลายธุรกิจชะลอการลงทุนในช่วงนี้ออกไปก่อน เพราะจะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยนั่นเอง

• ผลตอบแทนพันธบัตร

          พันธบัตรรัฐบาล หรือ ตราสารหนี้เอกชนต่าง ๆ มีผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น ดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรในอนาคตสูงขึ้นตามด้วยเช่นกัน 

• เงินเฟ้อ-ราคาสินค้า

ขึ้นดอกเบี้ย

          แม้การขึ้นดอกเบี้ย จะไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับราคาสินค้า หรืออัตราเงินเฟ้อ แต่ทั้งสองสิ่งมีความสัมพันธ์ที่เป็นวัฏจักรกันอยู่ ดังนี้

          เมื่อราคาสินค้าแพง (เงินเฟ้อสูง) > แบงก์ชาติจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย > ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง > ราคาสินค้าถูกลง (เงินเฟ้อต่ำ) > แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ > คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้เงินเฟ้อสูง วนเป็นวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ นั่นแปลว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ก็มีโอกาสที่จะทำให้ราคาสินค้าถูกลงได้ 

• ค่าเงิน 

          การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้เงินลงทุนของต่างชาติไหลเข้าไทยเยอะขึ้น จากผลตอบแทนเงินฝากและพันธบัตรที่น่าสนใจ ซึ่งจะส่งผลต่อไปถึงความต้องการเงินบาท เพราะหากจะมาลงทุนที่ไทย ก็ต้องแลกเป็นเงินบาท ทำให้มีโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศ ผลที่ตามมาคือ ธุรกิจส่งออกสินค้า จะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เพราะราคาสินค้าไทย จะดูแพงขึ้นในสายตาต่างประเทศ จากเงินบาทที่แข็งค่านั่นเอง
 
• ตลาดหุ้น

ขึ้นดอกเบี้ย

          อย่างที่บอกไปข้างต้น คือ ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้การลงทุนในพันธบัตร และการฝากเงิน ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น จึงมีผลให้บางคนอาจจะย้ายเงินจากตลาดหุ้นไปลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวได้ แต่ขณะเดียวกันก็จะมีหุ้นบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น หุ้นกลุ่มธนาคาร หุ้นกลุ่มประกันชีวิต เป็นต้น ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น 
 

          เห็นไหมว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากจะเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญของแบงก์ชาติแล้ว ยังมีผลต่อทุก ๆ คน จนคาดไม่ถึงอีกด้วย 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลอะไรกับเราบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 10 สิงหาคม 2565 เวลา 15:33:13 47,114 อ่าน
TOP
x close